Screen Shot 2556-08-06 at 3.55.09 PM

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านที่รัก หลังจากคุณนายเขียนตอน “แต่งบ้านจากศูนย์ถึงสวย” แล้วนั้น คุณนายก็ปิ๊งไอเดียค่ะ ว่าก่อนจะมาถึงขั้นตอนการตกแต่งบ้านให้สวยงามนั้น คุณภาพงานของตัวบ้านที่ได้รับก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการอยู่อาศัยในระยะยาว ฉะนั้นการตรวจรับบ้านก่อนโอนให้ถี่ถ้วนรอบคอบจึงเป็นสิ่งจำเป็น วันนี้คุณนายจึงขอเขียนเรื่องวิธีการตรวจรับบ้านนะคะ

1

หลายๆครั้งคุณผู้อ่านคงเคยได้ผ่านตากับคู่มือตรวจรับบ้านกันมาแล้วใช่ไหมคะ แต่มันช่างละเอียด ชวนมึน วันนี้คุณนายจึงขอสรุปแผนการตรวจรับบ้านแบบโปรเป็นเวอร์ชั่น ย่อ รวบรัด อ่านง่าย ทำได้เลย มาติดตามกันนะคะ J

ขั้นที่1 : เตรียมพร้อมก่อนตรวจบ้าน

อันดับแรกเลย ก่อนที่เราจะไปตรวจของใดๆ เราต้องรู้ก่อนใช่ไหมคะว่าเงื่อนไขของสินค้าชิ้นนั้นเป็นเช่นไร การตรวจบ้านก็เหมือนกันค่ะ เราก็ต้องทำการศึกษาเงื่อนไขต่างๆที่ระบุไว้ในสัญญา และรายละเอียดของสิ่งของรายการต่างๆที่เราจะได้รับ สรุปเป็นข้อมูลคร่าวๆ ก่อนที่เราจะไปตรวจรับบ้าน ยกตัวอย่างเช่น ปั๊มน้ำ แทงค์น้ำ เขามีให้เลยไหม ถ้าไม่มีให้ แล้ววันตรวจรับบ้านเขาจะมีมาติดตั้งให้เราชั่วคราวเพื่อทำการทดสอบระบบน้ำใช่ไหม เรื่องนี้ก็โทรไปคุยไปนัดกันล่วงหน้าได้เลยค่ะ จะได้ไม่เป็นการเสียเวลา

Tip เล็กๆน้อยที่คุณนายจะขอแนะนำ ก่อนที่เราจะนัดวันตรวจรับบ้าน เราควรเลือกวันที่เรามีเวลาทั้งวันจริงๆนะคะ แนะนำให้ไปช่วงเช้า เพื่อจะได้มีเวลาตรวจสอบในส่วนต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ค่ะ ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ เวลาตรวจเราจะได้แสงธรรมชาติซึ่งจะช่วยให้เรามองเห็นจุดบกพร่องต่างๆของบ้านอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการตรวจสอบงานพื้นผิว

ขั้นที่2 : วางแผนตรวจรับบ้าน/เตรียมอุปกรณ์

หลังจากเราได้ทำการนัดแนะ วันตรวจบ้านกับทางโครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราก็จะไปแบบงงๆกันไม่ได้นะคะ โดยเฉพาะหลังจากที่อ่านคอลัมน์ ของคุณนายแล้ว J

ก่อนอื่นเลย เราต้องทำการเรียงลำดับความคิดของเราก่อนว่าเราจะต้องตรวจจุดไหนบ้าง ไม่งั้นพอไปถึงเราก็จะเดินไปเดินมา เกิดอาการสับสนเพราะสิ่งที่ให้ตรวจมันมีเยอะ ลืมทำนู่นทำนี่ได้ค่ะ

คุนนายขอสรุปเป็น 9 ลำดับหัวข้อใหญ่ๆไว้ให้เลยนะคะ นั่นก็คือ

1.พื้นที่นอกตัวบ้าน 2.โครงสร้างบ้าน 3. หลังคา 4. งานพื้น 5. งานผนัง 6. ฝ้าเพดาน 7. ช่องเปิด 8. ระบบไฟฟ้า 9. ระบบสุขาภิบาล

หลังจากเราเรียงลำดับความคิดของเราไว้แล้วว่าเราจะตรวจอะไรบ้าง เราก็อาจจะเตรียมอุปกรณ์ในการตรวจบ้านไปด้วย  แต่หลายๆอย่างเราก็หยิบยืมเอาที่โครงการก็ได้นะคะ บางทีโครงการมีให้อยู่แล้วก็ไม่ต้องหอบไปค่ะ หรือการตรวจสอบระบบไฟ ให้เจ้าหน้าที่โครงการทำให้ดูก็จะเป็นการปลอดภัยกว่าค่ะ

2

ขั้นที่ 3 : ลงมือตรวจรับบ้าน

หลังจากเราวางแผนและเตรียมความพร้อมกันมาแล้ว หัวข้อนี้คุณนายก็จะมาพูดถึง วิธีการตรวจรับ ในแต่ละส่วนของบ้านกันค่ะ

1.พื้นที่นอกบ้าน

3

ก่อนอื่นคุณนายขอแนะนำนายแบบของเรา คุณหมู ดราฟท์แมนฝีมือดีจาก บริษัทสวนหลวงบ้านและที่ดินค่ะ จริงๆแกไม่อยากออกสื่อเลยค่ะ แต่โดนคุณนายบังคับ ช่วยปรบมือเป็นกำลังใจให้คุณหมูที่จะมาสาธิตการตรวจบ้านให้เราดูด้วยนะคะ – ขอบคุณค่ะ  ^_^

รั้วและประตูถือเป็นส่วนแรกที่เราเจอ เราก็ตรวจสอบมันเป็นอย่างแรกกันเลยค่ะ ในกรณีที่เป็น ประตูบานเปิด ประตูที่ดีควรจะเปิดได้สะดวกไม่รู้สึกหนักและติดอะไร ในอีกทางนึงก็คือต้องไม่ลื่นหลวมจนเกินไป ไม่เคลื่อนตัวได้เองในกรณีที่ปล่อยมือออกจากรั้วประตู

ถ้าเป็นประตูบานเลื่อนอย่างเช่นในภาพด้านบน เวลาเลื่อนไม่ควรมีความรู้สึกฝืดๆ คุณผู้อ่านลองเลื่อนดูหลายๆครั้งนะคะ จนแน่ใจว่าไม่ตกราง หากเป็นประตูรั้วเหล็ก การตรวจเช็คการทาสีป้องกันสนิมว่าทั่วทุกจุดไหมก็สำคัญค่ะ ต้องไม่เห็นส่วนใดๆของประตูที่มีส่วนของเนื้อเหล็กโดยที่ไม่มีสีเคลือบอยู่

4

จุดต่อไปนะคะ ก็จะเป็นบริเวณรั้วบ้าน รั้วต้องไม่ลาดเอียง สามารถนำไม้ยาวที่เราเตรียมมามาวัดแนวระนาบได้ค่ะ นอกจากนั้นต้องไม่มีรอยร้าว

หลังจากนั้นเราก็มาดูสภาพการถมดินกันต่อเลย แนวการถมดินโดยรวมควรจะเรียบ ไม่มีหลุมมีแอ่งหรือเนินสูงจนไม่เป็นระเบียบ และปูนที่หลงเหลือจากการก่อสร้างทั้งหลายก็ไม่ควรจะหลงเหลืออยู่นะคะ เพราะมันจะไม่ดีต่อต้นไม้ของเรา

5

ตรวจบ่อพัก รอบพื้นที่ตัวบ้านว่าไม่มีวัสดุหลงเหลือจากการก่อสร้างเข้าไปอุดตัน ลานจอดรถ จะต้องมีความลาดเอียงที่เหมาะสมไม่มีหลุมทำให้น้ำกักขัง วิธีตรวจสอบสามารถทำได้โดยการนำถังน้ำที่เตรียมมาเทน้ำลงเพื่อตรวจสอบวิถีของน้ำ และส่วนของรางระบายน้ำหน้าบ้านว่า สามารถรับน้ำทั้งหมดที่ระบายออกจากตัวบ้านโดยไม่ท่วมขัง

6

และหากโครงการไหนใจดีแถมอุปกรณ์ดีๆมาให้ เราก็ควรจะตรวจสอบสภาพการใช้งานของสิ่งเหล่านั้นด้วยนะคะ ยกตัวอย่างเช่นถังขยะฝังกำแพง เราก็ควรจะเช็คการเปิดปิดฝา บานพับ หรือบานประตูด้านหน้า ว่าตัวล็อคมีประสิทธิภาพดีไหม

2.โครงสร้างบ้าน

การตรวจสอบโครงสร้างในวันตรวจรับโอนนั้นก็จะทำได้เพียงระดับนึงเท่านั้นค่ะ เพราะส่วนโครงสร้างๆจริงๆ เราจะไม่สามารถมองทะลุผ่าน Finishing หรือส่วนปิดผิวตกแต่งไปได้ สิ่งที่เราสามารถสังเกตได้ ก็คือ รอยร้าวต่างๆที่เกิดขึ้น รอยร้าวสามารถเป็นได้ทั้งรอยร้าวที่เกิดจากโครงสร้างหรือว่ารอยร้าวจากการฉาบผิวผนัง

รอยร้าวที่เกิดจากโครงสร้าง จะต้องเป็นรอยร้าวที่เกิดขึ้นบริเวณกลางคานและเสา และค่อนข้างจะมีขนาดใหญ่ บางครั้งจะมองทะลุเห็นชั้นผนังด้านใน แต่ในกรณีที่รอยร้าวมีลักษณะแตกลายงาย หรือเป็นรอยขนแมว แบบนั้นจะเกิดจากพื้นผิวฉาบ สามารถเก็บงานได้ไม่ยาก   ส่วนรอยร้าวอีกแบบหนึ่งจะเป็นรอยร้าวที่เกิดจากโครงสร้างรองค่ะ อาจจะเกิดตามวงกบต่างๆ บริเวณช่องเปิด เป็นแนวแทยงมุม 45 องศา ออกไปจากมุมของประตูหรือหน้าต่าง ซึ่งมักเกิดจากการที่ไม่ได้มีการฝังเหล็กตะแกรงไว้ที่บริเวณมุมของช่องเปิด

อีกอย่างนึงที่ท่านผู้อ่านควรจะสังเกต ก็คือ รูปร่างของ เสา คาน ต่างๆว่าปกติ ไม่คดงอ หรือโค้ง แอ่นหากในบ้านมีการใช้โครงเหล็ก อย่างเช่นในส่วนของบันได เราต้องตรวจสอบให้ดีว่าผิวของโครงเหล็กทั้งหมด เคลือบด้วยสีกันสนิม และสีใดๆก็ตามที่ทาทับจะต้องมิดทุกส่วน ไม่มีจุดที่ผิวเหล็กโดนอากาศ ซึ่งจะเป็นสาเหตุการเกิดสนิมและผุกร่อนได้ง่ายค่ะ

ส่วนถ้าบ้านใด เป็นงานโครงไม้ ต้องแน่ใจเลยนะคะ ว่าไม้ทั้งหมด ลงน้ำยากันปลวกในทุกๆด้าน และต้องไม่มีรอยผุ และรอยกัดแทะของมอด

3.หลังคา

หลังคาก็เปรียบเสมือนเป็นร่มคันใหญ่ๆให้กับบ้านของเรานะคะ กันแดด กันฝน ฉะนั้นเราก็จำเป็นจะต้องทดสอบหน้าที่ของมัน หากวันที่ท่านตรวจรับบ้านไม่ตรงกับหน้าฝน ท่านสามารถทดสอบได้โดยการให้เจ้าหน้าที่ช่วยฉีดน้ำขึ้นไปบนหลังคาให้ดู

วิธีการสังเกตรอยรั่ว เราต้องเข้าไปดูจากในบ้าน ซึ่งเราสามารถสังเกตได้จากฝ้าเพดานชั้นบน เพื่อดูผิวหลังคาจากภายใน ในกรณีที่หลังคารั่ว จะมีคราบน้ำหรือรอยด่างตามบริเวณ ขอบฝ้าเพดาน

7

อีกอย่างนึงที่คุณนายอยากให้คุณผู้อ่านทั้งหลายสังเกต นั่นก็คือ ชายคาค่ะ งานกระเบื้องที่ปิดรอบชายคาหลังคาจะต้องเรียบร้อย หากบ้านถูกออกแบบให้มีรูระบายอากาศที่ชายคาฝ้าก็ต้องสังเกตดูด้วยว่ามีมุ้งหรือตาข่ายกันแมลงติดตั้งรึป่าว ไม่เช่นนั้นละก็อาจมีน้องนกมาทำรังอยู่บนฝ้าชั้นบนกันอย่างสนุกสนาน

4.งานพื้น

อันดับแรกคือตรวจสอบว่ามีการปูกระเบื้องแน่นดี ไม่ร่อน สามารถทดสอบด้วยการนำเหรียญ สุ่มเคาะตามแต่ละจุด (ไม่ต้องเคาะโป๊กๆเอาเป็นเอาตายนะคะ เคาะเบาๆเพื่อฟังเสียงก็พอ) และสังเกตฟังเสียงที่สะท้อนกลับ หากแผ่นไหนที่มีเสียงกลวงๆเสียงก้องมากกว่าปกติเหมือนเป็นโพรง โดยในหนึ่งแผ่นมีส่วนที่กลวงเมากกว่าประมาณ 30% ของแผ่นควรให้โครงการแก้ไขเพื่อป้องกันการร่อนและแตกร้าวของกระเบื้องในอนาคตค่ะ

8

เคาะแล้วจะทำท่าเงี่ยหูฟังแบบนายแบบของเราก็เท่ไปอีกแบบนะคะ

หลังจากนั้นให้ลองเดินให้รอบบ้านดูว่า ผิวเรียบดีไหม ไม่มีจุดใดมีเผยอหรือมีมุมแหลมโผล่ออกมา ในเรื่องของความสวยงามก็ให้ดูว่าสีของกระเบื้องโดยรวมดูสม่ำเสมอดี สีไม่โดด รอยยาแนวเป็นเส้นตรงและร่องห่างสม่ำเสมอสวยงาม

9

ส่วนงานพื้นในห้องน้ำ โดยเฉพาะบริเวณส่วนเปียก การตรวจสอบความลาดเอียงเป็นประเด็นสำคัญ เพราะว่าเราจำเป็นจะต้องระบายน้ำออกเวลาเราใช้งาน เราสามารถทดสอบได้โดย การเทน้ำและสังเกตทิศทางการไหลค่ะ เฝ้ารอดูว่า น้ำไหลระบายดีไหม มีน้ำกักขังอยู่ในจุดไหนของพื้นที่นั้นรึเปล่า

10

พื้นบันได ก็เป็นอีกที่นึงที่จำเป็นจะต้องไปทดสอบ ให้คุณผู้อ่านลองเดินเหยียบในทุกๆขั้นดูค่ะ บันไดที่ดีไม่ควรจะมีเสียงดังผิดปกติเวลาเดินขึ้นลง จะต้องไม่รู้สึกถึงความสั่นของโครงสร้าง ลองโยกราวบันไดโดยให้ใช้แรงประมาณเวลาเราจะล้มแล้วเกาะยึดบันไดไว้ (ไม่ต้องโยกแบบจะให้มันสั่นคลอนให้ได้นะคะ คุณนายกลัว^^) หากมีข้อผิดสังเกตใดๆให้รีบแจ้งทางโครงการทันทีค่ะ

11

ตรวจกันจนตาลายกันรึยังคะ ไม่ต้องเครียดนะคะ ไปตรวจบ้านควรไปแบบมีความสุข ค่อยๆตรวจ ชิวๆ ตรงไหนเห็นยังไม่เรียบร้อย ยังไม่ดี ก็ให้คุยกับทางโครงการเพื่อทำการแก้ไข เรื่องที่ควรเน้นก็พวก สิ่งที่มีผลต่อความเป็นปกติในการใช้ชีวิตภายในบ้านค่ะ เช่น งานโครงสร้าง งานระบบที่ต้องใช้ได้จริง ไม่รั่ว ไม่ซึม ระบายน้ำได้ดี ส่วนเรื่องของความสวยงามก็ให้เป็นเรื่องรองๆไปค่ะ

เมื่อเราทำการตรวจสอบแล้วก็ให้ทำบันทึกการตรวจสอบ และบันทึกรายการแก้ไขต่างๆนะคะ เพราะเดี๋ยวจะลืม ใช้เทปที่เราเตรียมมา มาร์คจุดไว้ตามตำแหน่งที่ต้องการให้แก้ไข และถ่ายภาพเก็บไว้ค่ะ

12

สำหรับการตรวจรับบ้านในหัวข้อถัดๆไป คุณนายขอเขียนต่อในตอนหน้าแล้วกันนะคะ  อย่าลืมติดตามกันในตอนต่อไปนะคะ

 

XOXO

คุณนายสวนหลวง

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก