สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านที่รัก หลังจากที่คราวที่แล้วคุณนายได้เขียนเกี่ยวกับวิธีตรวจรับบ้านไปแล้วใน 4 หัวข้อแรก เข้าไปอ่านตอนแรกได้ตามนี้เลยค่ะ ตรวจรับบ้านอย่างโปรตอนที่ 1 วันนี้เราก็จะมาต่อตอน 2 กันนะคะ ครั้งนี้เราก็จะมาเจาะลึกกันในเรื่องของ การตรวจงานผนัง ฝ้าเพดาน ช่องเปิด ระบบไฟฟ้า และระบบสุขาภิบาล กันค่ะ วิธีตรวจบ้านจะแอดว้านซ์ กว่าครั้งที่แล้วไหม ติดตามอ่านกันได้เลยค่ะ J
5.งานผนัง
งานผนังนั้น มีความแตกต่างกันบ้าง ขึ้นอยู่กับประเภทของวัสดุที่ใช้ก่อผนัง ของแต่ละบ้านในแต่ละโครงการ อาจจะเป็นผนังก่ออิฐมอญ อิฐมวลเบา หรือผนังรับแรงสำเร็จรูป (Pre cast)
อันดับแรกที่เราควรจะสังเกตกันก่อนเลยนะคะ นั่นคือ สังเกตว่าแนวผนังได้ดิ่งได้ฉากกับพื้นรึเปล่า วิธีสังเกตที่ง่ายที่สุดให้ดูแนวผนังที่ลงมาต่อกับกระเบื้องพื้นค่ะ ว่าเส้นกระเบื้องนั้นตรงสม่ำเสมอดี ถ้าแนวผนังไม่ได้ดิ่งเศษแผ่นสุดท้ายของกระเบื้องที่ชนผนังก็จะเป็นตัวฟ้องค่ะ หรือถ้าปูลามิเนต บัวผนังก็จะเป็นตัวฟ้องได้เช่นกันค่ะ ถ้าผนังเบี้ยวมากๆ จะทำให้เกิดร่องของผนังกับบัวพื้นในจุดที่ผนังเอียง
ผิวผนังก็เป็นอีกรายละเอียดหนึ่งที่เราควรจะสังเกตค่ะ ท่านผู้อ่านทั้งหลายควรจะตรวจดูงานผิวปูนว่าเรียบสม่ำเสมอดีไหม ไม่มีส่วนไหนมีลักษณะปูดหรือบุบลงไป เราสามารถตรวจสอบระนาบผนังได้ โดยการใช้ไม้ตรงค่อนข้างยาว ทาบลงบนผิวผนังและขยับไปมา
อันนี้จริงๆไม้จะดูสั้นไปซักหน่อยนะคะ ถ้าได้ไม้ยาวๆกว่านี้จะดีมากค่ะ ^_^ (ในตอนนี้คุณนายขอแนะนำนายแบบ และผู้ชำนาญการเพิ่มขึ้นมาอีกคนนึงนะคะ คือคุณคิมผู้ควบคุมงานจาก บริษัทสวนหลวงบ้านและที่ดินค่ะ)
จากนั้นก็สังเกตรอยแตกร้าวตามแนวผนังค่ะ รอยแตกร้าวมีได้ทั้งแบบที่เป็นการแตกร้าวของโครงสร้าง หรือการฉาบปูน ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นรอยแตกร้าวจากการฉาบผิวค่ะ แต่หากคุณผู้อ่านเกิดข้อสงสัยให้ มาร์ค จุดไว้และแจ้งทางโครงการให้ช่วยตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง
อีกข้อนึงที่ลืมไม่ได้เลยค่ะ การทาสีผนัง ในแต่ละโครงการก็จะได้สีเกรดไม่เหมือนกันนะคะ เราก็ต้องมาตรวจสอบสภาพกันนิดนึง ว่าสีมีความสม่ำเสมอดีหรือไม่ ทาครบเที่ยวหรือไม่ ไม่เป็นรอยจ้ำๆดำๆด่างๆ
ส่วนวัสดุงานกรุผนังประเภทอื่นๆ อย่างเช่นกระเบื้อง สามารถใช้วิธีเดียวกับการทดสอบพื้นกระเบื้องได้เลยค่ะ (ย้อนกลับไปอ่านวิธีตรวจรับบ้านอย่างโปรครั้งที่แล้วนะคะ)
หากในกรณีที่บางบ้านมีงานบัว ตามขอบพื้นขอบผนัง สามารถตรวจสอบได้โดยการใช้ไม้บรรทัดสอดเข้าไปใต้แนวบัว หากไม้บรรทัดเข้าไปในร่องใต้บัวแสดงว่า การติดตั้งบัวนั้นไม่สนิทตลอดทั้งแนว หรือมีการโค้งตัว คดงอ ควรจะแจ้งทางโครงการมาแก้ไขค่ะ
6.งานฝ้าเพดาน
ฝ้าเพดานเป็นส่วนที่อยู่สูงทำให้เราไม่สามารถปีนบันไดขึ้นไปตรวจสอบอย่างละเอียดได้ในทุกๆจุด สิ่งที่เราทำได้ในอันดับแรกคือ ใช้สายตามองกวาดรอบๆ ว่ามีระดับที่เท่ากันทั้งห้อง ไม่มีรอยสูงๆต่ำๆ ไม่มีรอยคราบน้ำซึ่งเกิดจากการรั่วซึมของท่อน้ำชั้นบน
ในกรณีที่เป็นฝ้าชนิดแบบฉาบเรียบจะต้องมองไม่เห็นรอยยาแนวของแผ่น ในส่วนที่เป็นบริเวณรอยต่อฉาบไม่ควรจะมีรอยปูดบวม ออกมาจากพื้นที่อื่น
ส่วนงานฝ้าเพดานทีบาร์ ทีบาร์ควรจะอยู่ในแนวตรงไม่เกยกัน แผ่นกระเบื้องซีเมนต์และแผ่นยิบซั่มบอร์ด ที่ใส่ในช่องต้องมีขนาดเท่ากับช่องฝ้าเพดาน ไม่ควรจะมีช่องว่างระหว่างแผ่นกับทีบาร์
ฝ้าเพดานอีกชนิดนึงคือ ฝ้าเพดานซีเมนต์บอร์ดชนิดต่างๆ เราก็จำเป็นจะต้องตรวจสอบรอยต่อระหว่างแผ่นเช่นกัน ว่าไม่มีรูไม่มีร่อง และตามมุมของแผ่นฝ้าก็ต้องไม่มีรอยแตกหรือบิ่น
7.ช่องเปิด
พอพูดถึงช่องเปิดท่านผู้อ่านสงสัยกันไหมคะว่ามีอะไรบ้าง รวมช่องสารพัดที่เปิดได้เลยค่ะ ช่องประตู ช่องหน้าต่าง ช่องแสง ช่องระบายอากาศ บานเกล็ด เป็นส่วนที่เราต้องมาดูกันอย่างละเอียดเลยทีเดียวค่ะ
ที่สำคัญมากๆเลยคือ ต้องตรวจสอบตามกรอบหรือรอบๆช่องเปิดนั้นว่า ได้ระดับแนวดิ่งที่ไม่โย้ หรือบิดเบี้ยวไปทางใดทางหนึ่ง สามารถตรวจสอบได้โดยการมองจากระยะไกล
ต่อมาเราก็มาสังเกตเรื่องของวัสดุที่ใช้ทำกรอบช่องเปิดกันค่ะ ยกตัวอย่างเช่นในกรณีช่องประตูเราจะเรียกว่า วงกบ เราต้องทดสอบโดยการปิดบานหรือปิดประตูของช่องเหล่านั้นว่าแนบสนิทดีหรือไม่ หลังจากนั้นเราก็ต้องทำการทดสอบบานเปิด โดยการเปิดปิดดูหลายๆรอบ ถ้าเป็นบานเลื่อนให้ทดสอบเลื่อนดูว่ารางของบานเปิดไม่มีปัญหาติดขัด ไม่ตกราง ตัวบานเองก็ต้องไม่บิดเอียงหรือ บิ่นตามแนวขอบ ส่วนถ้าบริเวณไหนเป็นช่องกระจก อย่าลืมตรวจสอบว่าบานกระจกนั้นต้องไม่มีรอยร้าว
หลังจากที่เราเช็คบานเปิดเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆที่อยู่บนบานเปิดเหล่านั้นเช่นกันค่ะ ซึ่งจะรวมไปถึงลูกบิดประตู กลอน และตัวล็อคต่างๆ เป็นส่วนที่คุณผู้อ่านหลายๆคนอาจจะมองข้ามมันไป เราสามารถทดสอบการติดตั้งของตัวลูกบิดเหล่านั้นว่ามีประสิทธิภาพไหม ได้โดยการดึงและบิดลูกบิดด้วยแรงที่มากกว่าปกติ เพื่อทดสอบว่า ลูกบิดมีความแข็งแรง และจะไม่หลุดจากตัวบานในอนาคต ลองบิดดูสัก 2-3 ครั้งนะคะ
หลังจากนั้นให้ลองใส่กลอนและตัวล็อคทุกๆตัว ตามช่องบานเปิด โดยที่กลอนจะต้องสับได้อย่างลงตัวนะคะ ไม่มีความฝืดหรือติดอะไร อย่าลืมตรวจสอบมือจับประตูกันด้วยนะคะ
สิ่งที่สำคัญมากและมักเป็นปัญหากวนใจคือการรั่วซึมน้ำจากอลูมีเนียมประตูหรือหน้าต่างค่ะ ถ้าเราไม่ได้ไปตรวจบ้านในหน้าฝน เราควรลองให้เจ้าหน้าที่โครงการทำการฉีดน้ำเพื่อทดสอบการรั่วซึม โดยเฉพาะช่องเปิดที่โดนน้ำฝนได้โดยตรง เช่นหน้าต่างที่ไม่มีชายคายื่นมาบัง หรือประตูที่ไม่มีธรณีและพื้นด้านนอกไม่ได้ลดระดับจากตัวบ้านหรือมีการลดระดับเพียงนิดเดียว
8.ระบบไฟฟ้า
ในเรื่องของระบบไฟฟ้า คุณนายจะขอนำเสนอในวิธีธรรมดาสามัญชนนะคะ 555 เพราะในเรื่องนี้การตรวจสอบมีหลายระดับมากค่ะ ตั้งแต่ระดับง่ายจนถึงขั้นสูง เราจะพูดถึงวิธีที่เหมาะสมและไม่ยากจนเกินไป
สิ่งแรกเลยที่เราทำได้นะคะ คือ การทดสอบเปิดไฟทุกดวง ตั้งแต่ไฟหน้าบ้าน ไฟในบ้าน เลยค่ะ คุณผู้อ่านควรจะเปิดทิ้งไว้สักระยะเลยนะคะ เราอาจจะเปิดตั้งแต่ตอนเราเข้าไปก่อนตรวจสิ่งอื่นๆเลยก็ได้ค่ะ แล้วเราก็ลองปิดและเปิดขึ้นใหม่อีกครั้งในทันที ทำอย่างนี้สัก 2-3 ครั้ง กับไฟทุกๆดวง เพื่อทดสอบว่าระบบไฟฟ้าในบ้านเราทำงานปกติหรือไม่ ถ้าพบว่าหลอดตรงจุดไหนไม่ติด มีการกระพริบ ให้มาร์คตำแหน่งและแจ้งทางโครงการทันทีคะ
สำหรับการตรวจสอบปลั๊กไฟนั้น วิธีที่หนึ่งที่เราสามารถทำได้ง่ายๆเลย คือการนำอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านมาทดสอบดู ตามเต้าไฟฟ้าทุกๆตัวภายในบ้าน
นอกจากนี้เราสามารถให้โครงการทำการทดสอบว่ามีไฟรั่วไหมด้วยไขควงไฟฟ้า(แนะนำว่าให้เจ้าหน้าที่โครงการทำให้ดูดีกว่าค่ะ) ซึ่งเราสามารถใช้ตรวจสอบไฟรั่วที่น็อตบนเต้าปลั้กไฟ หรือตามจุดต่างๆ ว่ามีไฟรั่วออกมารึเปล่า วิธีการใช้คือเราต้องใข้ปลายนิ้วชี้จับไปที่จุดสัมผัสใต้ไขควงนะคะ แล้วใช้หัวไขควงจิ้มลงไปบนจุดที่เราต้องการทดสอบ หากไขควงมีไฟติดแสดงว่ามีกระแสไฟฟ้าไหลมาในบริเวณจุดนั้นด้วย และสำหรับบ้านหลังไหนที่มีเต้าปลั๊กไฟในบริเวณพื้นที่เปียกหรือห้องน้ำ ต้องเช็คให้เรียบร้อยนะคะ ว่าเป็นเต้าไฟชนิดที่มีฝาปิดกันน้ำ
ในกรณีบ้านที่มีระบบตัดไฟอัตโนมัติ หรือที่เราเรียกกันง่ายๆว่า เซฟทีคัทนั่นเอง ที่ตัวเครื่องจะมีปุ่มทดสอบให้ลองกดปุ่มนั้นดูคะ สัก 2-3 เที่ยว และลองตรวจดูว่า ปุ่มที่หน้าเครื่องตั้งอยู่ที่เลข 0 หรือไม่ ถ้าไม่ใช่ให้หมุนไปที่เลข 0 นะคะ ถ้าไฟดับ แสดงว่าระบบไฟฟ้าของบ้านอาจจะรั่วได้คะ ให้จดบันทึกไว้และแจ้งกับทางโครงการค่ะ
ส่วนในกรณีที่ถ้าบ้านไหนไม่มี เซฟทีคัทนะคะ เราสามารถตรวจสอบ ว่ามีไฟรั่วลงดิน ด้วยวิธีง่ายๆโดยการ ปิดไฟทั้งบ้านค่ะ แต่ไม่ปิดระบบแผงไฟฟ้าหลักนะคะ เสร็จแล้วไปตรวจสอบที่มิเตอร์ไฟฟ้า ถ้าหากมิเตอร์ไฟยังเดินอยู่ ไม่ต้องสงสัยเลยค่ะ มีไฟฟ้ารั่วแน่นอน จดบันทึกและแจ้งทางโครงการให้ตรวจสอบหาจุดที่ไฟรั่วก่อนการรับมอบบ้าน
ข้อสุดท้าย อย่าลืมทดสอบระบบกริ่ง จากตัวหน้าบ้านด้วยค่ะ ว่าทำงานหรือเปล่า และสังเกตดูที่ตัวกริ่งว่ามีกล่องครอบ หรือเป็นรุ่นที่มียางกันน้ำไหม เพราะเวลาฝนตกอาจเกิดไฟฟ้าลัดวงจรหรือไฟฟ้ารั่วได้
9.ระบบสุขาภิบาล
หัวข้อนี้จะรวมเรื่องเกี่ยวกับระบบน้ำทั้งหมด เริ่มต้นด้วยการตรวจสอบมิเตอร์ก่อนเลยค่ะ ก่อนการเปิดใช้น้ำในจุดใดๆ ถ้ามิเตอร์ของท่านเดินแสดงว่ามีจุดใดจุดหนึ่งในบ้านรั่วค่ะ และให้เราทำการจดบันทึกเลขมิเตอร์(คุณนายเสนอวิธีถ่ายภาพไว้เลยค่ะ เป็นหลักฐานได้ในอนาคต^^) ในการเข้าตรวจครั้งแรก ข้อมูลนี้สามารถใช้ตรวจสอบในภายหลังได้ว่าหลังจากที่เราย้ายเข้ามาอยู่แล้ว เลขมิเตอร์ต้องไม่ต่างมากนัก พิจารณาตามความเหมาะสมแล้วแต่ช่วงเวลาที่ย้ายเข้ามาอยู่ ถ้าแตกต่างมากจนผิดสังเกตคุณนายแนะนำให้คุณผู้อ่านต้องไปเจรจากับทางโครงการให้รับผิดชอบในส่วนที่เราไม่ได้ใช้นะคะ
หลังจากนั้นให้ทดสอบปั๊มน้ำ โดยการเปิดน้ำในจุดต่างๆจนสุด และสังเกตว่าน้ำไหลเป็นปกติดีหรือไม่ ได้ยินเสียงปั๊มทำงานหรือไม่ ปิดและเปิดใหม่โดยตรวจสอบตัวหัววาล์วของแต่ละจุดด้วย ว่าหัวก๊อกไม่มีปัญหาอะไร
สิ่งต่อไปเลยที่เราจำเป็นจะต้องทดสอบคือ ระบบน้ำทิ้งตามจุดต่างๆ เช่น อ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ ส่วน shower รูระบายน้ำทิ้งพื้นห้องน้ำ รูระบายน้ำบริเวณซักผ้า จุดระบายน้ำที่ระเบียง ก็ควรจะมีการตรวจสอบทั้งหมด
วิธีง่ายๆในการทดสอบก็คือ ขังน้ำไว้ที่จุดนั้นๆค่ะ ยกตัวอย่างเช่น ในอ่างล้างหน้า หรือซิงค์ล้างจาน คุณนายแนะนำให้คุณผู้อ่านเปิดน้ำขังจนถึงช่องน้ำล้นอย่างในภาพนะคะ และสังเกตดูสักครึ่งนาที ว่าน้ำระบายออกดีไหม เสร็จแล้วให้ขังน้ำทิ้งไว้ในอ่างซัก 10 นาที เพื่อทดสองดูว่ามีน้ำรั่วซึมออกมาบริเวณแนวข้อต่อของท่อใต้อ่างไหม
ส่วนในจุดอื่นๆ อย่างเช่น ส่วน shower ให้ท่านเทน้ำจากถังในปริมาณที่ค่อนข้างมากปล่อยน้ำในจังหวะเดียว และให้ลองสังเกตว่ารูระบายน้ำมีประสิทธิภาพไหม และสังเกตดูทิศทางการไหลของน้ำไปในตัว เพื่อทดสอบแนวลาดเอียงของพื้นค่ะ ในกรณีที่เราเปิดจุกในส่วนต่างๆ เพื่อระบายน้ำออกแล้ว ถ้าน้ำไหลออกช้า และมีฟองอากาศผุดขึ้นจากสะดืออ่าง อาจจะมีปัญหาของระบบท่ออากาศ แต่ในกรณีที่น้ำมีอัตราการปล่อยระบายที่ช้าอาจจะเป็นปัญหาที่ ท่อน้ำมีสิ่งอุดตัน หรือการเดินท่อที่ไม่ได้มาตรฐาน ให้ตรวจสอบกับทางโครงการค่ะ
เมื่อปล่อยน้ำครบทุกจุดแล้ว คุณนายขอย้ำว่าให้ตรวจสอบดูตามท่อน้ำทิ้งอีกครั้งนึงนะคะ ว่ามีน้ำหยดหรือไม่ โดยเฉพาะตามรอยต่อท่อค่ะ
ส่วนต่อไปที่สำคัญมากๆๆ ระบบชักโครกนั่นเองค่ะ ขั้นแรกด้วยการเปิดฝาถังเก็บน้ำด้านหลังตัวชักโครกออกมาเช็คเลยค่ะ สังเกตดูว่าสภาพการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆเรียบร้อยดีไหม และดูว่าน้ำประปาไหลเข้าถังเก็บน้ำดีหรือไม่ และหลังจากน้ำเต็มจะต้องไม่ล้นเกินช่องระบายน้ำล้นของระบบ และจะต้องไม่ได้ยินเสียงน้ำไหลอีก ถ้าไม่เช่นนั้นแสดงว่า ระบบถังน้ำนั้นมีจุดรั่วอาจจะที่ใดที่หนึ่ง หลังจากนั้นให้กดชักโครกในทุกๆห้อง หลายๆครั้งว่า น้ำไหลคล่องดีไหม ไม่มีฟองอากาศกระเพื่อมที่บริเวณโถส้วม และเราอาจจะใช้เทคนิคขั้นสูงมากกว่านั้นโดยการใช้ทิชชู่ เพื่อเป็นตัวแทนสิ่งปฏิกูลของเรา ว่าชักโครกสามารถชำระล้างได้สะอาดดีไหม แต่คุณนายขอแนะนำให้ใช้ในปริมาณที่พอเหมาะพอควรนะคะ ^^ และอย่าลืมตรวจสอบท่อส้วมต่างๆด้วยค่ะ ว่าหลังจากที่เราชักโครกแล้วมีน้ำซึมหรือเปล่า
สุดท้ายอย่าลืมทดสอบสายชำระด้วยนะคะ ว่าทำงานได้ดีหรือไม่ ไม่มีน้ำรั่วซึมตามสายหรือว่าจุดต่อต่างๆ
เพิ่มเติมนะคะ หากโครงการไหนมีรายการพิเศษที่ทางโครงการทำให้ อย่าลืมเตรียมตัวทำการบ้านกันมาก่อนนะคะ เราจะได้ทราบว่าทางโครงการมีอะไรให้เราบ้างจะได้เตรียมแผนการตรวจให้สมบูรณ์คะ ในกรณีนี้ทางโครงการได้มีการวางแนวท่อน้ำยากำจัดปลวกไว้ให้ เราก็สามารถให้ผู้ควบคุมงาน ของทางโครงการเปิดช่องทางเข้า-ออก ของน้ำยา เพื่อตรวจเช็คสภาพงานว่าท่อเรียบร้อยดีไม่อุดตัน เพื่อการใช้งานที่มีประสิทธิภาพในอนาคตนะคะ
ใกล้เดินทางกันมาถึงตอนจบแล้วนะคะ คุณผู้อ่านทั้งหลายอย่ามัวตรวจบ้านกันเพลินจนลืมจดบันทึกจุดแก้ไขต่างๆนะคะ และหากบริเวณไหนมีจุดแก้ไขที่ไม่ชัดเจน กลัวจะจำไม่ได้ และต้องการให้ทางโครงการเห็นได้ชัดเราสามารถนำเทปที่เราเตรียมมา มาร์คจุดบกพร่องไว้ค่ะ (อย่าลืมถ่ายภาพเก็บไว้เป็นหลักฐานนะคะ)
การตรวจบ้านเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะหากเราพบเห็นจุดบกพร่องแต่เนิ่นๆ แล้วแจ้ง ทางโครงการจะได้ช่วยแก้ให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพราะหากเราปล่อยปละละเลย ผ่านไปเป็นเวลานาน เข้าอยู่นานแล้วค่อยมาตรวจสอบ บางกรณีก็จะเป็นที่ถกเถียงกันเปล่าๆว่าเกิดขึ้นจากการใช้งานหรือมีปัญหามาตั้งแต่การก่อสร้าง การที่เราใส่ใจในการตรวจรับบ้านตั้งแต่แรก คุยกันกับทางโครงการเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา ถือว่าเป็นการช่วยกันทั้งสองฝ่าย ให้เราได้รับบ้านที่เรียบร้อยตามมาตรฐาน และโครงการก็จะได้ลูกค้าที่มีความพึงพอใจค่ะ
คุณนายหวังว่าข้อมูลการตรวจรับบ้านอย่างโปรฉบับคุณนายสวนหลวง คงจะไม่ยุ่งยากจนเกินไปนะคะ ยอมเสียเวลาศึกษาและวางแผนกันนิดนึงค่ะ เพื่อความสุขระยะยาว ^^ ขอให้คุณผู้อ่านทั้งหลายโชคดีกับการตรวจบ้าน และรับบ้านสวยๆ อยู่สบายกันในระยะยาวค่ะ
สุดท้ายนี้คุณนายขอโฆษณานึดนึงนะคะ อิอิ โครงการบ้านริมสวน ฟ้าใส ดอนเมือง-สรงประภา VDO Review และ บทความรีวิวโครงการ จะมีงานปาร์ตี้ เปิดขายบ้านโซนพิเศษ ในวันที่ 6-15 กันยายนนี้ ถ้าท่านไหนว่าง เชิญร่วมงานนะคะ มีเครื่องดื่ม ดนตรีสด และโปรโมชั่นแถมแหลก แจกสะบัด พิเศษสุดๆคร่า J
XOXO
คุณนายสวนหลวง
ผู้บริหาร สวนหลวงบ้านและที่ดิน
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก