“การปล่อยเช่า” ไม่ว่าจะเป็น บ้าน หรือว่า คอนโดมิเนียม อาจจะเป็นทั้งรายได้หลัก, รายได้เสริม หรือว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหารายได้เพิ่มเติมที่ดูสบาย และชวนฝันสำหรับใครหลายๆคน เหมือนกับว่าอยู่เฉยๆก็มีเงินเข้ากระเป๋าทุกเดือน แต่ว่าการปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น สามารถทำได้ง่ายขนาดนั้นจริงหรือ? แล้วที่เราเห็นข่าวเรื่องปัญหาปล่อยเช่ารายวันกันตามคอนโดมิเนียมนั้นสามารถทำได้จริงไหม? ผิดกฎหมายรึเปล่า? และเงินที่เราได้มานั้นจะต้องนำไปจัดการเรื่องภาษีอย่างไร? ในบทความนี้เราจะมาบอกเล่าประเด็นการปล่อยเช่า ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกฎหมายกันค่ะ โดยเราจะพูดถึง 3 ประเด็นได้แก่

1. ประเภทอสังหาฯกับระยะเวลาการปล่อยเช่า
2. การทำสัญญา ระยะเวลา และเงินมัดจำ
3. การจัดการเรื่องภาษี


1. ประเภทอสังหาฯกับระยะเวลาการปล่อยเช่า

ก่อนอื่นสำหรับคนที่มีบ้านหรือคอนโดอยู่หลายที่คำถามแรกคือ  “เราสามารถนำอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้มาปล่อยเช่าได้หรือไม่?” คำตอบก็คือ “ได้” ค่ะเพราะอสังหาริมทรัพย์ต่างๆนั้น จะถูกเรียกว่า “ทรัพย์” ซึ่งเป็นสิ่งที่เรานำมาปล่อยเช่าได้ค่ะ

แต่ในเรื่องการปล่อยเช่านั้น หลายๆคนก็มาถามทางผู้เขียนอยู่เหมือนกันว่า เราปล่อยคอนโดที่เราไม่ได้อยู่แล้วให้คนอื่นเช่านั้น มันไม่ผิดกฎหมายใช่ไหมคะ? เพราะเห็นข่าวคราวจากหลายๆคอนโดที่เริ่มมีมาตรการต่อต้านไม่ให้ซื้อไว้ปล่อยเช่ารายวันนะ?

ถ้าเราสังเกตปัญหาส่วนใหญ่ดูจะเห็นว่าประเด็นที่เกิดปัญหานั้นจะเกี่ยวข้องกับเรื่อง “การปล่อยเช่ารายวัน” แต่ถ้าเราเป็นคนที่ปล่อยเช่าเป็นรายเดือนอยู่แล้ว เราไม่เคยได้ยินที่ไหนห้ามนะคะ สามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย แต่การปล่อยเช่ารายวันนี้ที่ในระยะหลังเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น นั้นเริ่มมาจากธุรกิจท่องเที่ยวที่เติบโตมากขึ้น มีกลุ่มนักท่องเที่ยวสายประหยัดมากขึ้น ต้องการความสะดวกสบาย บริการต่างๆที่มีในโรงแรมเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ เมื่อรวมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี(สื่อ)ที่ทำให้การติดต่อสื่อสารต่างๆสะดวก บวกกับเจ้าของห้องที่ต้องการหารายได้ให้ได้มากที่สุด เราลองคิดดูเล่นๆว่าคอนโดห้องหนึ่งปล่อยเช่าได้เดือนละ 10,000 บาท แต่ถ้าปล่อยเช่ารายวันได้ตกวันละ 1,000 บาทเลย กำไรดีเห็นๆ เมื่ออุปสงค์และอุปทานเข้ากันได้ขนาดนี้ หลายๆคนก็เริ่มสนใจที่จะปล่อยเช่ารายวันกันมากขึ้น แต่ว่าการปล่อยเช่ารายวันสามารถทำได้จริงไหม? เราลองมาดูกันค่ะ

โดยทั่วไป อาคารที่สามารถปล่อยเช่ารายวันได้จะต้องจดทะเบียนขออนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมก่อน ซึ่งบ้านและคอนโดมีจุดประสงค์ในการใช้อาคารเพื่อการอยู่อาศัย ไม่ใช่เพื่อการประกอบธุรกิจ แต่ทว่ามีข้อยกเว้นอยู่ค่ะ บอกอยู่ในกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. ๒๕๕๑

หมวด ๑ : สถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมและประเภทของโรงแรม

ข้อ ๑ ให้สถานที่พักที่มีจำนวนห้องพักในอาคารเดียวกันหรือหลายอาคารรวมกันไม่เกินสี่ห้องและมีจำนวนผู้พักรวมกันทั้งหมดไม่เกินยี่สิบคน ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นใดโดยมีค่าตอบแทน อันมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการเพื่อหารายได้เสริมและได้แจ้งให้นายทะเบียนทราบตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนด ไม่เป็นโรงแรม

นั่นแปลว่า ใน 1 อาคาร เราสามารถปล่อยเช่ารายวันได้ไม่เกิน 4 ห้อง และมีคนมาพักไม่เกิน 20 คน ดังนั้น ถ้าคุณมีบ้านหรือตึกแถว ก็สามารถนำมาปล่อยเช่ารายวันได้เช่นกันค่ะ เท่ากับว่าคนที่ดัดแปลงบ้านหรือตึกแถวไว้ให้เช่ารายวันตาม Airbnb ไม่ผิดกฎหมายนะคะ ถ้าให้เช่าไม่เกิน 4 ห้อง และรองรับไม่เกิน 20 คน รายได้ตรงนี้ก็จะถือว่าเป็นรายได้เสริมนั่นเอง

**กรณีที่ผู้เช่าเป็นชาวต่างชาติ ผู้ให้เช่าต้องแจ้งข้อมูลชาวต่างชาติที่เข้าพักกับ “ที่ทำการตรวจคนเข้าเมือง”
> ตรงนี้ก็คล้ายๆกันกับเวลาที่เราไปต่างประเทศ แล้วจองห้องทาง Airbnb เจ้าของห้องก็จะขอสำเนา passport ของเราและคนที่เข้าพักทุกคนไว้เช่นกันค่ะ

ซึ่งตรงนี้ก็ตรงกับจุดประสงค์แรกเริ่มของการก่อตั้ง Airbnb นะคะ (bnb ย่อมาจาก Bed and Breakfast ได้ทั้งเตียงนอนและข้าวเช้า) คือการแบ่งปันพื้นที่ภายในบ้านที่ไม่ใช้งาน ให้เกิดเป็นรายได้ และได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไปในตัว (คนเช่าได้อยู่อาศัยแบบที่คนท้องถิ่นอยู่และได้กินแบบคนท้องถิ่นกิน ได้มีโอกาสพูดคุยกันระหว่างเจ้าของบ้านกับผู้เช่า) แต่ว่าในปัจจุบัน Airbnb กลายพันธุ์ไปไกล กลายเป็นผู้เช่าและผู้ให้เช่าแทบจะไม่มีปฏิสัมพันธ์กันเลย ไม่เห็นหน้ากันด้วยซ้ำ

ส่วนคอนโดนั้นในการก่อสร้างและขออนุญาตเปิดใช้อาคารนั้นจะต้องจดทะเบียนที่ดินและอาคารไว้เป็น อาคารชุด ทำให้การที่จะปล่อยเช่ารายวันนั้น เป็นเหมือนพื้นที่สีเทาอยู่เหมือนกัน เพราะมีความเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายต่อไปนี้ค่ะ

  • พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2478 เนื่องจากคอนโดไม่ได้จดทะเบียนเป็นโรงแรม สามารถปล่อยเช่าได้ไม่เกิน 4 ห้อง และอยู่อาศัยได้ไม่เกิน 20 คน ซึ่งตรงนี้เราจะสามารถมั่นใจได้อย่างไรว่า ในคอนโดที่เราอยู่นั้น มีห้องไหนที่ปล่อยเช่ารายวันอยู่บ้าง?
  • นิติบุคคลอาคาร “ข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุด” ตรงนี้ถ้าทางผู้อยู่อาศัยได้ตกลงร่วมกันแล้วว่าห้ามมีการปล่อยเช่าแบบรายวัน หรือรายสัปดาห์ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ เจ้าของห้องจะไม่สามารถปล่อยเช่าห้องแบบรายวัน หรือรายสัปดาห์ได้นะคะ
  • เจ้าของห้องปล่อยเช่ารายวันอาจผิดกฎหมายตาม ...คนเข้าเมือง ..2522 ที่ต้องรายงานชื่อของชาวต่างชาติให้ตมรับทราบภายใน 24 ชั่วโมง

แต่ถ้าเราอยากปล่อยเช่าแบบรายวัน หรือสัปดาห์จะต้องทำยังไงไม่ให้ผิดกฎหมาย หรือ กฎของคอนโด

  • เช็คว่าในคอนโดเรามีห้องที่ปล่อยเช่ารายวันอยู่ไม่เกิน 4 ห้องต่ออาคาร
  • เช็คว่าคอนโดเรามีกฎจากทางนิติบุคคลว่าห้ามปล่อยเช่ารายวันหรือไม่
  • ข้อบังคับนิติบุคคลคอนโดส่วนใหญ่กำหนดว่าห้ามให้บุคคลภายนอก (ที่มิใช่เจ้าของห้องชุด) เข้ามาใช้พื้นที่ส่วนกลาง ดังนั้น ผู้เช่าจึงควรไม่ให้คนเช่ารายวันเข้าใช้พื้นที่ส่วนกลาง
  • หากคนเข้าพักเป็นคนต่างชาติ เจ้าของห้องต้องแจ้งกองตรวจคนเข้าเมืองภายใน 24 ชั่วโมง
  • เสียภาษี

สรุป

สำหรับผู้อ่านท่านใดต้องการที่จะปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ให้ดูจากระยะเวลาในการปล่อยเช่าเป็นอันดับแรก เพราะถ้าเป็นการปล่อยเช่ารายเดือนนั้น สามารถทำได้ไม่ผิดกฎหมายทั้งบ้านและคอนโด แต่ถ้าใครอยากปล่อยเช่าเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ ก็ให้ดูประเภทของอสังหาฯของที่เรามีเป็นอันดับต่อมาว่าเป็นบ้าน หรือว่า คอนโด และตรงตามเงื่อนไขต่างๆที่สามารถปล่อยเช่าได้หรือไม่ เพียงเท่านี้เราก็จะสบายใจในการปล่อยเช่ามากขึ้นแล้วค่ะ

* อ้างอิงกฎหมายจาก 
– พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547
– กฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551
– พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522
– พระราชบัญญัติอาคารชุดฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551

** การตีความกฎหมายนี้เป็นการตีความส่วนตัวของผู้เขียนนะคะ ซึ่งจากการค้นหาข้อมูลใน internet เราเจอการตีความกฎหมายที่แตกต่างกันไปในแต่ละแหล่งข้อมูลเช่นกัน ส่วนเงื่อนไขที่สรุปมานั้นผู้เขียนคิดว่าเป็นเงื่อนไขที่ปลอดภัยที่สุดที่ทำให้คนที่อยากลงทุนปล่อยเช่า สามารถมั่นใจได้ว่าไม่ผิดกฎหมายค่ะ


2. การทำสัญญา ระยะเวลา และเงินมัดจำ

หลังจากที่เรามีคนเช่าแล้ว เรื่องสัญญาก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่เราควรระมัดระวังในการปล่อยเช่านะคะ โดยทั่วไปเราสามารถกำหนดรายละเอียดในสัญญาขึ้นเองได้แทบทั้งหมด เพื่อเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างผู้ให้เช่าและผู้เช่า ว่าจะให้เช่าได้กี่เดือน ในราคาเท่าไหร่ และสามารถกำหนดรายละเอียดปลีกย่อยไปด้วยได้เช่น ห้ามต่อเติม, ห้ามสูบบุหรี่, ห้ามเช่าช่วงต่อ เป็นต้น ยิ่งในสัญญากำหนดละเอียดมากเท่าไหร่ก็ทำให้ทั้งผู้เช่าและผู้ให้เช่าเข้าใจในสิทธิ์ต่างๆที่ทั้งคู่สามารถทำได้มากเท่านั้นค่ะ และสามารถฟ้องร้องตามกฎหมายได้ ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำผิดสัญญานะคะ เช่น ในสัญญาเราระบุไว้ว่าถ้าจ่ายค่าเช่าช้าเกิน 30 วัน จะสามารถปรับได้วันละ 20 บาท หรือว่าถ้าสิ้นสุดระยะเวลาในสัญญาแล้วจะต่อสัญญาอัตโนมัติหรือว่ายุติสัญญาก็สามารถระบุเองได้เป็นต้น

แต่เมื่อปี 2561 ได้มีราชกิจจานุเบกษาขึ้นมา 1 ฉบับ ประกาศนี้เป็นเหมือนแนวทางในการกำหนดรายละเอียดภายในสัญญา เช่น ผู้ให้เช่าจะต้องส่งใบแจ้งหนี้ให้ผู้เช่าล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันจ่ายค่าเช่า หรือว่า ผู้เช่า สามารถยกเลิกสัญญาได้ แต่ต้องแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันเป็นต้น แต่ก็จะมี ข้อห้าม ที่ห้ามเขียนในสัญญากำหนดไว้อยู่เช่นกัน ขอสรุปประเด็นที่ควรรู้ก่อนร่างสัญญา ดังนี้

1. ห้ามเก็บค่าเช่าล่วงหน้าเกิน 1 เดือน และ ห้ามเก็บเงินค่าประกันเกิน 1 เดือน 
2. ห้ามเปลี่ยนค่าเช่า และอัตราค่าใช้จ่ายอื่นๆก่อนหมดสัญญา
3. ห้ามเก็บค่าน้ำ ค่าไฟ เกินอัตราจริง
4. ระหว่างที่อยู่ในสัญญา ถ้าผู้เช่าไม่จ่ายค่าเช่า ผู้ให้เช่าก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปล็อคบ้าน บุกรุกเข้าบ้าน หรือว่าขนย้ายข้าวของของผู้เช่าได้
5. ถ้าผู้เช่าไม่ได้ทำผิดสัญญาในข้อที่สำคัญ ผู้ให้เช่าไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้  ขั้นตอนต่อไปที่จะเกิดขึ้นคือ ให้ส่งหนังสือแจ้งเตือนไปก่อน หลังจากนั้น 30 วัน ถ้าผู้เช่ายังไม่ทำตาม จึงสามารถยกเลิกสัญญาได้ค่ะ
6. ในกรณีที่อาคารเสียหายจากการใช้งานตามปกติ , เหตุสุดวิสัย หรือว่า เสื่อมตามเวลา ห้ามหักเงินค่ามัดจำหรือว่าห้ามเก็บเงินเพิ่ม 

ดังนั้น

  • เงินที่เรียกเก็บก่อนที่ผู้เช่าจะอยู่ (เก็บก่อนอยู่) สามารถเก็บได้ทั้งหมด 2 เดือนเท่านั้น แปลว่าในเดือนที่ 2 จะเป็นการชำระเงินค่าห้องล่วงหน้า+ค่าน้ำค่าไฟที่เกิดจากการใช้งานตามจริงของเดือนแรก เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนหมดสัญญานะคะ

  • การยกเลิกสัญญา ผู้เช่า แจ้งยกเลิกสัญญาล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน , ผู้ให้เช่า ยกเลิกได้ก็ต่อเมื่อ ผู้เช่าทำผิดสัญญาในข้อที่สำคัญ และต้องส่งหนังสือแจ้งเตือนให้ปรับปรุงก่อนอย่างน้อย 30 วัน ถ้าผู้เช่ายังไม่ปฏิบัติตาม จึงสามารถยกเลิกสัญญาเช่าได้

ความคิดเห็นผู้เขียน

ในส่วนของการทำสัญญานั้น เราอยากให้ทุกคนเขียนสัญญากันอย่างระมัดระวังและรอบคอบนะคะ เช่น ระยะเวลาที่ทำสัญญา สัญญายาวไปอยากขึ้นค่าเช่าระหว่างนั้นก็ทำไม่ได้นะคะ ไม่งั้นการปล่อยเช่าที่ควรจะเป็นการสร้างรายได้ จะกลายเป็นสร้างความทุกข์ร้อนเสียเปล่านะคะ


3. การจัดการเรื่องภาษี

และสุดท้าย หลังจากที่เราได้เงินค่าเช่ากันมาแล้ว ก็มาจัดการเรื่องภาษีกันให้ถูกกฎหมายกันดีกว่าค่ะ ถ้าไม่เข้าใจ ทำไม่ถูกต้องโดนเรียกเก็บย้อนหลังคงไม่ดีแน่ สำหรับผู้ที่ปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น จะต้องเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายนะคะ โดยภาษีที่จะต้องเสียนั้นมีอยู่ 2 ส่วนด้วยกันคือ

1) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

เป็นกฎหมายที่เพิ่งเริ่มต้นบังคับใช้กันเมื่อต้นปีที่ผ่านมาค่ะ โดยตัวกฎหมายนี้จะกำหนดการเก็บภาษีตามจุดประสงค์การใช้งานที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไว้เป็น 4 ประเภทคือ ที่อยู่อาศัย, พาณิชยกรรม, เกษตรกรรม และ ที่ดินรกร้างว่างเปล่า

โดยการปล่อยเช่าที่พักอาศัยนั้นจะคิดอัตราการเก็บภาษีในหมวดพาณิชยกรรมนะคะ (เพราะเราไม่ได้อยู่อาศัยเอง และเรานำตัวอาคารไปปล่อยเช่าเพื่อให้เกิดรายได้

การคำนวนภาษีที่เราจะต้องจ่ายนั้น จะคิดจากการประเมินมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่เราปล่อยเช่าและคูณอัตราภาษีต่อปีที่ต้องจ่ายค่ะ เช่น ห้องที่เราปล่อยเช่านั้นมีมูลค่า 1 ล้านบาท ซึ่งอัตราภาษีที่จะต้องจ่ายต่อปีอยู่ที่ 0.30% ดังนั้น เราจะต้องจ่ายภาษี 1,000,000 x 0.30% = 3,000 บาท หรือคิดง่ายๆคือล้านละ 3 พันบาทนั่นเองค่ะ

โดยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้เป็นกฎหมายที่ขึ้นมาทดแทนภาษีโรงเรือนเดิม ที่หลายๆคนรู้จักกันดีอยู่แล้วนะคะ ในทางปฏิบัติก็คือ เราดูราคาประเมิน คำนวนภาษีที่ต้องจ่าย และไปจัดการให้เรียบร้อยเป็นอันเสร็จสิ้นค่ะ

2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

“เมื่อมีรายได้ก็แปลว่าเราต้องเสียภาษี” ไม่ว่าใครก็ไม่มีข้อยกเว้นค่ะ ดังนั้น ใครที่มีรายรับจากการปล่อยเช่าบ้านหรือว่าคอนโด อย่าลืมนำรายได้ส่วนนี้ไปคำนวนยื่นภาษีประจำปีด้วยนะคะ (ภ.ง.ด.90)

ข้อมูลจากกรรมสรรพากร http://www.rd.go.th/

โดยรายได้ที่มาจากการปล่อยเช่านั้น จะต้องนำมากรอกลงไปในใบภ.ง.ด.90 ข้อ 4 รายได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) ข้อ 1 การให้เช่าทรัพย์สินเป็นบ้านนั่นเองค่ะ

* รายได้ส่วนนี้ก็สามารถหักค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ โดยเราจะสามารถเลือกหักได้ 2 แบบคือ

1. หักแบบเหมาจ่าย 30%

ตัวอย่างเช่น

เราปล่อยเช่าเดือนละ 1,000 บาท x 12 เดือน = รายได้ทั้งปีของเราอยู่ที่ 12,000 บาท
ลดหย่อนได้ 30% แปลว่าสามารถลดหย่อนได้ 12,000 x 30% = 3,600 บาท
แปลว่ารายได้ที่จะนำไปคิดภาษีคือ 12,000 – 3,600 = 8,400 บาท

2. หักตามจริง (ต้องเตรียมข้อมูลและเอกสารยืนยันให้ครบนะคะ)

ตัวอย่างเช่น

เราปล่อยเช่าเดือนละ 1,000 บาท x 12 เดือน = รายได้ทั้งปีของเราอยู่ที่ 12,000 บาท
ค่าใช้จ่ายตามจริงที่นำมาลดหย่อน (มีเอกสารยืนยัน) 4,000 บาท
แปลว่ารายได้ที่จะนำไปคิดภาษีคือ 12,000 – 4,000 = 8,000 บาท

ในกรณีนี้เราก็อาจเลือกลดหย่อนตามจริงได้นะคะ เพื่อให้รายรับที่เราจะนำไปคำนวนภาษีน้อยลงนั่นเอง

สรุป

เมื่อมีรายได้ที่เกิดจากการปล่อยเช่าแล้ว ก็อย่าลืมไปเสียภาษีกันให้ถูกต้องนะคะ โดยภาษีที่จะต้องจ่ายมีอยู่ 2 ส่วน คือภาษีที่เกิดจากอสังหาฯ(ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) และภาษีที่เกิดจากรายรับของเรา (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา / อย่าลืมนำไปหักค่าลดหย่อนด้วยนะคะ)


สุดท้าย ในบทความนี้ที่เรารวบรวมข้อมูลมาให้อ่านกันทางผู้เขียนหวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับใครหลายๆคนที่อยากมีรายได้เพิ่ม แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ไหม ผิดกฎหมายรึเปล่า จะจัดการอย่างไรดี เราหวังว่าบทความนี้จะช่วยเป็นแนวทางให้ใครหลายคนได้นะคะ และถ้าใครมีข้อสงสัยอะไร หรือว่าตัวผู้เขียนผิดพลาดอะไรไป Comment กันมาได้เลยค่ะ และถ้าสนใจหัวข้อไหนเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องอสังหาริมทรัพย์ ก็แนะนำกันมาได้นะคะ 🙂

ติดตามพวกเราได้ที่
Websitewww.thinkofliving.com
Twitterwww.twitter.com/thinkofliving
YouTubewww.youtube.com/ThinkofLiving
Instagramwww.instagram.com/thinkofliving
Facebook : ThinkofLiving