hba1

จากความคืบหน้าของโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่มีความชัดเจนหลังประมูลเสร็จจะส่งผลให้เม็ดเงินในโครงการต่างๆ เพิ่มเป็นเท่าตัว การผ่อนคลายของกำลังซื้อหลังจากหมดมาตรการรถคันแรกรวมถึงมาตรการของภาครัฐที่ออกมาสนับสนุนกำลังซื้อครัวเรือน เช่น มาตรการช่วยเหลือภาคการเกษตร การเพิ่มค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2560 การกระตุ้นการท่องเที่ยว และต้นทุนทางการเงินที่ต่ำจากการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% จะเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในปี 2560 ซึ่งก็ก็คาดหวังว่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจและธุรกิจ รวมถึงภาคธุรกิจปลูกสร้างบ้าน

โดยนายพิชิต อรุณพัลลภ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA :Home Builder Association) เปิดเผยว่าในแต่ละปีพบว่าการปลูกสร้างบ้านเองเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ไม่ผ่านโครงการจัดสรร) มีมูลค่า 45,000-50,000 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวเป็นธุรกิจปลูกสร้างบ้านผ่านบริษัทรับสร้างบ้านประมาณ 10,000-11,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 20 % ของมูลค่ารวม ส่วนสัดส่วนที่เหลือ 80 % ส่วนใหญ่จะว่าจ้างผู้รับเหมาทั่วไป ทั้งนี้ภายใต้ปัจจัยบวกต่างๆที่คาดว่าจะส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจแต่ก็ยอมรับว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและอาจส่งผลต่อภาคธุรกิจด้วยเช่นกันราคาสินค้าเกษตรสำคัญๆ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา ที่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ กดดันรายได้ครัวเรือนของภาคการเกษตร รวมถึงสถานการณ์ของตลาดโลกที่มีคาดการณ์กันว่าปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะกดดันการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ภายใต้แรงกดดันต่างๆ ดังกล่าว ยอมรับว่าได้ส่งผลกระในปีนี้และอาจต่อเนื่องไปถึงปี 2560 ดังนั้นในส่วนของภาคธุรกิจรับสร้างบ้านเองก็ต้องปรับตัวรองรับกับความผันผวนต่างๆ คือ การพัฒนาแบบบ้าน เพิ่มฟังก์ชั่นตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เน้นคุณภาพ คู่บริการ เพิ่มคุณค่าและขอบเขตการบริการในลักษณะ High Valued Service การสร้างแบรนด์ (Brand) เพื่อสร้างความต่างจากผู้รับเหมาทั่วไปทางสมาคมฯ เราเชื่อว่าสัดส่วนของมูลค่าตลาดปลูกสร้างบ้านผ่านบริษัทรับสร้างบ้านจะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยน โดยเฉพาะในยุคดิจิตอลที่ทุกอย่างต้องตอบสนองครบถ้วน รวดเร็วและสะดวก และเราก็เห็นสัญญาณนี้มาเรื่อยๆ

“เมื่อต้นปีเราประมาณการว่าตลาดรวมรับสร้างบ้านอยู่ที่ 12,000 ล้านบาท แต่ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่ไม่เอื้ออำนวยในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 โดยเฉพาะไตรมา 4ของปี ทำให้ความต้องการของตลาดนั้นหายไปประมาณ 15 % ทำให้มูลค่าตลาดน่าจะเท่าๆ กับปีก่อนคือ 10,200 ล้านบาท” นายพิชิต กล่าว

ส่วนพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคนั้น นายพิชิต ได้ขยายความว่า นอกจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นโดยตรงกับผู้ประกอบการรับสร้างบ้านในแต่ละรายที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ แล้ว ข้อมูลที่ได้จากการจัดเก็บจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและการตลาดของสมาคมฯ ในงาน Home Builder Focus & Expo ที่จัดขึ้นปีละ 2 ครั้งในช่วงเดือนมีนาคมและเดือนสิงหาคมของทุกปีนั้น พบว่า ผู้ที่มาเยี่ยมชมงานของสมาคมฯ มาเพื่อศึกษาหาข้อมูล 41.96 % , เพื่อว่าจ้างบริษัทรับสร้างบ้าน คิดเป็นสัดส่วน 21.89 % , ศึกษาข้อมูลและเทคโนโลยีหรือวัสดุก่อสร้างบ้าน 19.98 % , มาเพื่อต้องการหาผู้ออกแบบบ้าน 8.86 % และส่วนอื่นๆ ที่เหลือคิดเป็น 7.31 % เป็นต้น
จากสัดส่วนของการว่าจ้างบริษัทรับสร้างบ้านและศึกษาหาข้อมูลก็ได้สอดคล้องกับปัจจัยที่ช่วยตัดสินใจในการเลือกใช้บริษัทรับสร้างบ้านนั้นพบว่า 5 เหตุผลเลือกเพราะ 1) คุณภาพของงานก่อสร้าง 24.79% , 2) ชื่อเสียงของบริษัท 18.22% , 3) ราคาก่อสร้างของแต่ละบริษัท 18.06 % , 4) รูปแบบบ้าน 13.20% และ 5) การบริการดูแลลูกค้า 12.32% ส่วนขนาดของการปลูกสร้างบ้านส่วนใหญ่ จะอยู่ในกลุ่มบ้านราคา 2.5 – 5 ล้านบาท เป็นส่วนใหญ่มากถึง 30 % เป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันในทุกๆ ปี

ทั้งนี้ แม้การปลูกสร้างบ้านของผู้บริโภคที่ต้องการปลูกสร้างบนที่ดินของตนเองจะมีเงินออมอยู่ในมือจำนวนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ยังจำเป็นต้องพึ่งพาการขอสินเชื่อเพื่อปลูกสร้างบ้าน ซึ่งก็สะท้อนภาพได้ว่า กลุ่มผู้บริโภคที่มาเดินชมงานที่มีความต้องการสร้างบ้านนั้นยังคงเป็นตลาดระดับกลางถึงล่างระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 72 % , ส่วนกลุ่มบ้านระดับ 5 – 10 ล้านบาท คิดเป็น 13 % , กลุ่มระดับราคา 10 – 20 ล้านบาท คิดเป็น 3.87 % และกลุ่มบ้านระดับราคา 20 ล้านบาทขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วน 1.16 % และจากการเก็บตัวเลขยอดจองการสร้างบ้านในงานนั้น Home Builder Expo นั้นเป็นยอดจองในกลุ่มราคาบ้าน 2.5 – 5 ล้านบาท มากที่สุด 40% เป็นราคาบ้านไม่เกิน 2.5 ล้านบาท 15.56 % ราคาบ้าน 5 – 10 ล้านบาท 31.56 % บ้านราคา 10 – 20 ล้านบาท 8.44 % และบ้านราคามากกว่า 20 ล้าน 4.44 %

ใช้เวลาตัดสินใจสร้างยาวขึ้น โดยใช้เวลามากกว่า 6 เดือน สิ่งที่เห็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปค่อนข้างชัดเจนคือ การวางแผนจะออกแบบและก่อสร้างบ้านนั้นใช้เวลานานขึ้นเป็นเวลามากกว่า 6 เดือน คิดเป็นสัดส่วน 53.38 % จากเดิมอยู่ที่สัดส่วน 50% โดยมีการตัดสินใจโดยใช้เวลามากขึ้นในช่วงเวลาเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา โดยปัจจัยที่มีอิทธิพลที่ใช้เวลาในการตัดสินใจปลูกสร้างที่ยาวขึ้นนั้นมีสาเหตุหลักจาก ภาวะเศรษฐกิจ ภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เริ่มไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน และโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนระดับกลางถึงล่าง ลูกค้ากลุ่มนี้จะมีความอ่อนไหวมากที่สุดและมีโอกาสที่จะชะลอการตัดสินใจออกไป และลูกค้ากลุ่มนี้เป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ของการสร้างบ้านทั้งนี้ในส่วนของลูกค้ากลุ่มบนยังไม่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจเป็นนัยสำคัญ

“ภายใต้สมมุติฐานที่ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเริ่มเห็นผลผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเริ่มกลับมาคิดหรือตัดสินใจปลูกสร้างบ้านอีกครั้ง ซึ่งสมาคมฯ ได้วางแผนการจัดกิจกรรมการตลาดเพื่อสนับสนุนการขายของสมาชิกในปี 2560 ซึ่งคงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบตามความเหมาะสม” นายพิชิต กล่าว

พบสัดส่วนลูกค้าต่างจังหวัดมากขึ้นที่ 25%  ด้านนายธีร์ บุญวาสนา อุปนายกฝ่ายวิชาการสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ข้อมูลที่เห็นชัดที่ได้จากการจัดเก็บจากการจัดกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมฯ ในช่วงช่วงที่ผ่านมาคือ จำนวนผู้บริโภคที่มาจากกรุงเทพและปริมณฑลยังคงมีสัดส่วนที่สูง อยู่ที่ประมาณ 76 % แต่ก็มีสัดส่วนที่ลดลงจากปี 2558 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 83% ในขณะที่ต่างจังหวัดนั้นมีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นที่ 25 % เพิ่มขี้นจากปี 2558 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่เพียง 17% ขณะที่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในลดลง ซึ่งนั่นคงเป็นเพราะที่ดินมีจำกัดและมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ จากสัดส่วนของลูกค้าในพื้นที่รอบนอกกรุงเทพหรือชานเมือง รวมถึงต่างจังหวัดที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการบริษัทรับสร้างบ้านได้ขยายการบริการสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น โดยปัจจุบันนี้บริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิก ได้มีสัดส่วนการสร้างบ้านในต่างจังหวัดมากขึ้นเป็นมูลค่า 20 % เมื่อเทียบกับมูลค่าการสร้างบ้านของสมาชิกทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์มากขึ้นทุกปี ด้วยเหตุนี้ในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมาสมาคมฯ จึงให้ความสำคัญในการพัฒนาเว็บไซต์ของสมาคม www.hba-th.org ปรับปรุงข้อมูลเพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงข้อมูลของสมาชิกของสมาคมฯในรูปแบบ One-Stop-Service ในขณะเดียวกันข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้จากสมาคมฯ นั้นผู้ประกอบการบริษัทรับสร้างบ้านที่เป็นสมาชิก ก็ได้นำเอาข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ไปปรับใช้เพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ โดยเห็นได้จากผู้ประกอบการแต่ละรายได้ปรับตัวต่อเนื่อง และจากการที่เน้นช่องทางการสื่อสารผ่านออนไลน์ ผ่านเฟสบุ๊คหรือผ่านโซเชียลมีเดียทำให้การสื่อสารกับลูกค้าเก่าและใหม่ได้ง่ายขึ้นรวมถึงการให้ความสำคัญด้านการสื่อสารหรือให้ข้อมูลและสร้างการรับรู้แบรนด์กับลูกค้าผ่านอินเตอร์เน็ตหรือผ่านโซเชียลมีเดียซึ่งถือว่าได้ผลค่อนข้างดี

ส่วนการพัฒนาด้านอื่นๆ ให้กับสมาชิกของสมาคมฯ นั้นนายพิชิต กล่าวในตอนท้ายว่า สมาคมฯ ยังได้เพิ่มพูนความรู้ยกระดับการดำเนินธุรกิจให้กับสมาชิกของสมาคมฯ อาทิได้จัดอบรมสัมนา“ISO 9001:2015 Quality Management Systems” ให้กับสมาชิกของสมาคมฯ เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบคุณภาพ มาตรฐาน ISO 9001 :2015 ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุ่งมาตรฐาน ISO 9001:2008 Quality Management Systems เป็นมาตรฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการหรือองค์กรต่างๆ ทั้งภาคการผลิตและการบริการในระดับสากล รวมถึงนำสมาชิกการไปเยือนพันธมิตร บริษัท ทามะโฮม จำกัด (Tama Home Co., Ltd.) ที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านต่างๆ รวมทั้งภาพรวมของธุรกิจก่อสร้างในประเทศญี่ปุ่น และเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านได้ลงนามความร่วมมือขั้นต้นกับ JTA (Japan Traditionnal Wooden Home Association) และ iforce (Innovative Organization Human Resource Cultivation and Encouragement) การลงนามครั้งนี้จะมีความร่วมมือในหลายๆ ด้าน อาทิเช่น การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีวิธีการก่อสร้าง การแลกเปลี่ยนเรื่องจัดการด้านคุณภาพ ต้นทุน การออกแบบ การประหยัดพลังงาน และการปรับสู่สังคมผู้สูงอายุ ฯลฯ