คุณรุ่งโรจน์  รังสิโยภาส

นายรุ่งโรจน์  รังสิโยภาส  กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า งบการเงินรวมก่อนสอบทานของเอสซีจีในไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2559 มีรายได้จากการขาย 109,998 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อน และใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เอสซีจีมีกำไรสำหรับงวด 13,619 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธุรกิจเคมีภัณฑ์ และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการส่งออก 29,570 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27 ของยอด  ขายรวม ลดลงร้อยละ 8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับธุรกิจของเอสซีจีในอาเซียน นอกเหนือจากประเทศไทย ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 เอสซีจี มีรายได้จากธุรกิจที่มีฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียน และจากการส่งออกไปยังอาเซียน 24,396 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 23 ของรายได้รวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากปีก่อน ทั้งนี้ เป็นรายได้จากธุรกิจที่มีฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียน 12,586 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12 ของรายได้รวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และรายได้จากการส่งออกไปยังอาเซียน 11,810 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11 ของรายได้รวม ลดลงร้อยละ 14 จากปีก่อน ทั้งนี้ เอสซีจี มีสินทรัพย์รวมในอาเซียน นอกเหนือจากประเทศไทย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559 มูลค่า 110,491 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 21 ของสินทรัพย์รวมของบริษัท สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559 มีมูลค่า 520,603 ล้านบาท

ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 แยกตามรายธุรกิจดังนี้

เอสซีจี ซิเมนต์ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 มีรายได้จากการขาย 45,880 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสำหรับงวด 3,290 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้นและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในทุกตลาด

เอสซีจี เคมิคอลส์  ในไตรมาสที่ 1 ในปี 2559 มีรายได้จากการขาย 47,810 ล้านบาท ใกล้เคียงกับ   ไตรมาสก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสำหรับงวด 9,111 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 85 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลประกอบการธุรกิจร่วมปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลง

เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ในไตรมาสที่ 1 ในปี 2559 มีรายได้จากการขาย 18,847 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสำหรับงวด 1,255 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 43 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากการบริหารจัดการต้นทุนและผลประกอบการที่ดีขึ้นของกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์

Pic1

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่าจากการที่เอสซีจีได้ทุ่มเทพัฒนาสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) มาโดยตลอด ทั้งที่เป็นการค้นคว้าวิจัยโดยทีมงานเอสซีจีเอง และการร่วมมือกับสถาบันวิจัยชั้นนำของไทย และระดับโลก ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม 42,262 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 39 ของยอดขายรวม โดยใช้งบประมาณงานวิจัยและพัฒนากว่า 900 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.8 ของยอดขายรวม สำหรับแผนงานในปี 2559 เอสซีจีได้ตั้งงบประมาณงานวิจัยและพัฒนา คิดเป็นร้อยละ 1 ของยอดขายรวม

นอกจากนี้ เอสซีจีได้มุ่งพัฒนาทีมงานวิจัยให้สามารถคิดค้นนวัตกรรมสินค้า และบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการ ความหลากหลายของผู้บริโภคในปัจจุบันและอนาคต อาทิ Dissolving Pulp ของเอสซีจี   แพคเกจจิ้ง สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมเมลามีนคอมพาวด์ ที่ได้รับการยอมรับจากตลาดโลกอย่างดียิ่ง และนวัตกรรมเม็ดพลาสติกสำหรับท่อทนแรงดันสูงเกรด PE 100 ของเอสซีจีเคมิคอลส์สำหรับระบบขนส่งน้ำอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติโดยได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานสากลจากองค์กรระดับโลก

นวัตกรรมเพื่อที่อยู่อาศัย อาทิ  ผลิตภัณฑ์เพื่อผู้สูงวัย (SCG Eldercare Solution) ผนังสำเร็จรูปที่สร้างลวดลายบนพื้นผิวได้ ช่วยทดแทนแรงงานก่อสร้างที่ขาดแคลน และนวัตกรรมปูนซีเมนต์สูตรพิเศษที่ใช้เทคโนโลยีการผลิต 3D printing ในการผลิตซิเมนต์รูปแบบใหม่ ซึ่งกำลังจัดแสดงในงานสถาปนิก ’59  รวมถึงความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ล่าสุดได้ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดศูนย์วิจัย “SCG-CHULA Engineering Research Center” เพื่อค้นคว้าและพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีผลิตภัณฑ์ก่อสร้างและบรรจุภัณฑ์

สำหรับในภูมิภาคอาเซียนมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยการลงทุนของ เอสซีจีมีความคืบหน้าตามแผน โรงงานปูนซีเมนต์ในประเทศอินโดนีเซีย และกัมพูชา ขณะนี้เริ่มผลิตสินค้าแล้ว ส่วนโรงงานปูนซีเมนต์ในประเทศเมียนมา และสปป.ลาว คาดว่าจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ในช่วงไตรมาสที่ 3  ปี 2559 และกลางปี 2560 ตามลำดับซึ่งโครงการลงทุนเหล่านี้ถือเป็นส่วนสำคัญในการขยายตัวของเอสซีจีในอาเซียนทั้งนี้เอสซีจียังคงขยายการลงทุนโดยการให้ความสำคัญในการหาพันธมิตรที่ดำเนินธุรกิจเดิมอยู่แล้วเพื่อพัฒนาธุรกิจให้เจริญเติบโตร่วมกันต่อไป