กทม. เลื่อนปรับราคารถไฟฟ้า 104 บาทหลังจากที่มีประเด็นมาซักพักเรื่อง ราคารถไฟฟ้า BTS ที่เตรียมปรับราคาเป็น 104 บาท ตลอดสาย วันที่ 16 ก.พ. นี้ ล่าสุดมีประกาศจากกทม. ให้ชะลอการปรับราคาดังกล่าวออกไปก่อน และเตรียมหารือเพิ่มเติมกับทางสภากทม. เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (8 ก.พ.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.)ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานครเรื่องการกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยระบุว่าตามที่ได้มีประกาศเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2564 จัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในอัตราไม่เกิน 104 บาทตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.2564 เป็นต้นไป นั้น

กทม.ได้รับนโยบายจากรัฐบาลให้พิจารณาทบทวนอัตราค่าโดยสารต่ำประกาศโดยให้คำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและภาระของกทม.ทำให้เกิดความเหมาะสมภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยร่วมหารือแนวทางในการดำเนินการกับสภากทม.เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 แห่งข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าบริการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร พ ศ. 2552 จึงให้เลื่อนการจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ลงวันที่ 15 ม.ค. 2564 ออกไปก่อน

ล่าสุด ผู้ว่าอัศวิน ขวัญเมือง ได้แถลงผ่าน Facebook ส่วนตัวว่า สิ่งที่ กทม. พยายามผลักดัน…ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว “เพดานสูงสุด” 65 บาท

กทม. คาดหวังว่าจะสามารถผลักดันให้ค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีราคาต่ำที่สุดให้ได้ โดย กทม.ได้หารือกับรัฐบาล เพื่อหาข้อยุติในการแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด

  • ทั้งปัญหาหนี้สินจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวกว่า 120,000 ล้านบาท เป็นหนี้จากงานโยธาก่อสร้าง ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ค่าซ่อมบำรุง และอื่น ๆ
  • และการปรับราคาค่าโดยสารตั้งแต่สถานีคูคต – สถานีเคหะสมุทรปราการ ให้มีเพดานสูงสุดไม่เกิน 65 บาท ไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนกันระหว่างโครงการส่วนหลักและส่วนต่อขยาย โดยจ่ายค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ซึ่งระหว่างการหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันนี้กับทางรัฐบาล กทม. ได้ออกประกาศชะลอการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายในวันที่ 16 ก.พ. 64 ออกไปก่อน

ที่ผ่านมา กทม. ได้ผลักดันค่าโดยสารให้ไม่เกิน 65 บาท มาโดยตลอด และพยายามปรับค่าโดยสารให้ถูกกว่า 65 บาท และงดเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้าที่ต้องเก็บซ้ำซ้อน เพื่อให้คน กทม. ได้ใช้ระบบรถขนส่งมวลชนสาธารณะที่ดีและถูกที่สุด

อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวคิดยังไง?

สำหรับอัตราค่าโดยสารแต่ละช่วงของการเดินทาง อธิบายแบบง่าย ๆ ดังนี้
> หากเดินทางในเส้นทางหลัก 2 เส้นทาง คือ สายสุขุมวิท (หมอชิต-อ่อนนุช) และสายสีลม (สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน) ค่าโดยสารอยู่ที่ 16-44 บาท (ค่าโดยสาร สถานีละ 4 บาท)
> แต่ถ้าเดินทางต่อไปยังเส้นทางส่วนต่อขยาย ค่าโดยสารจะอยู่ที่สถานีละ 3 บาท และไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้าเพิ่ม โดยมีเส้นทางจาก
– สถานีห้าแยกลาดพร้าว-คูคต
– สถานีบางจาก-เคหะสมุทรปราการ
– สถานีโพธิ์นิมิตร-บางหว้า
> ถ้าเดินทางจากเส้นทางส่วนต่อขยาย เข้ามายังเส้นทางหลัก จะไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้าอีก เช่น
– เดินทางจาก คูคต เริ่มต้นที่ 15 บาท สถานีต่อไปเพิ่มสถานีละ 3 บาท และเมื่อเข้าเส้นทางหลักที่สะพายควาย ค่าโดยสาร สถานีละ 4 บาท ซึ่งถ้าเดินทางจนถึงสถานีอนุสาวรีย์ชัยฯ ค่าโดยสารจะอยู่ที่ 65 บาท และหากเดินทางต่อไปจากอนุสาวรีย์ชัย จนถึงสถานีสุดท้ายเคหะสมุทรปราการ ค่าโดยสารสูงสุดเพียง 65 บาทเท่านั้น
– เดินทางจาก เคหะสมุทรปราการ เริ่มต้นที่ 15 บาท สถานีต่อไปเพิ่มสถานีละ 3 บาท และเมื่อเข้าเส้นทางหลักที่แบริ่ง ค่าโดยสารสถานีละ 4 บาท ซึ่งถ้าเดินทางจนถึงสถานีอโศก ค่าโดยสารจะอยู่ที่ 65 บาท และหากเดินทางต่อไปจากอโศก จนถึงสถานีสุดท้ายคูคต ค่าโดยสารสูงสุดก็เพียง 65 บาทเท่านั้นเช่นกัน

เปรียบเทียบความคุ้มค่าในการเดินทาง

สมมุติ เดินทางจาก คูคต จ.ปทุมธานี ไป เคหะสมุทรปราการ จ. สมุทรปราการ
-รถไฟฟ้าสายสีเขียว ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง ค่าโดยสาร 65 บาท
-รถเมล์ ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมงครึ่ง ค่าโดยสาร 70 บาท
-รถแท็กซี่ ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง ค่าโดยสาร 421 บาท
รถไฟฟ้าเมื่อเทียบกับรถเมล์จะใช้เวลาในการเดินทางน้อยกว่า และเมื่อเทียบกับรถแท็กซี่จะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 6 เท่า ที่สำคัญรถไฟฟ้ามีความแน่นอนของเวลาในการเดินทางมากกว่ารถเมล์และรถแท็กซี่

กทม. ยืนยันจะพยายามทำให้ระบบการขนส่งมวลชนสาธารณะเป็นระบบที่ดีและถูกที่สุด เพื่อให้คน กทม. ได้ใช้บริการ “รถไฟฟ้า BTS” หรือรถสาธารณะอื่นได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และราคาถูกที่สุด

BTS ยืนยัน พร้อมตรึงราคารถไฟฟ้านั่งฟรี 25 สถานี

ล่าสุดมีประกาศจากทาง Facebook: รถไฟฟ้าบีทีเอส

BTS ส่วนต่อขยายสายสีเขียว ยังคงเดินทางฟรีต่อเนื่อง‼️ รวม 25 สถานี
📄ตามประกาศของกรุงเทพมหานคร เรื่องชะลอการเก็บค่าโดยรถไฟฟ้าสายสีเขียวในส่วนต่อขยาย บีทีเอสยังคงให้บริการฟรี สำหรับผู้โดยสารที่เดินทางระหว่าง 25 สถานี ดังนี้
✔️สถานีหมอชิต (N8) – สถานีคูคต (N24) จำนวน 16 สถานี
✔️สถานีแบริ่ง (E14) – สถานีเคหะฯ (E23) จำนวน 9 สถานี

แนะนำการเดินทางด้วยบัตรโดยสาร
🐰บัตรแรบบิท : ไม่หักเที่ยว ไม่หักเงิน (แต่ต้องมีเงินในบัตรขั้นต่ำ 15 บาทนะครับ)
💳 ตั๋วเที่ยวเดียว : กดรับตั๋วฟรีทันที ที่ตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ
📌📌ทั้งนี้ จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง (ข้อมูลให้ไว้ ณ วันที่ 16 ก.พ. 2564) 📌📌