เปิดแผนล้างหนี้การรถไฟฯ ล้างไพ่แผนพัฒนา 3 โปรเจ็กต์ยักต์ ล้มคอมเพล็กซ์แสนล้าน “มักกะสัน-กม.11” ผุดโมเดลเพื่อสังคมกึ่งเชิงพาณิชย์ เตรียมเปิดประมูลสถานีแม่น้ำ 277 ไร่ ดึงเอกชนพัฒนาที่ต่างจังหวัดรับรถไฟไทย-จีน ตั้งเป้าหารายได้เพิ่ม 10%
นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ปีนี้จะเร่งนำที่ดิน 3 แปลงใหญ่ใจกลางเมืองมาพัฒนาสร้างรายได้ระยะยาว 30 ปี เพื่อปลดภาระหนี้ที่มีอยู่ 1 แสนล้านบาท และตั้งเป้าให้มีรายได้จากการบริหารทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 10% จากปัจจุบันมีรายได้ปีละ 2,200 ล้านบาท
แปลงแรกคือ ย่านมักกะสัน 497 ไร่ที่ได้ข้อสรุปแล้วจะยกให้กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์เช่าพัฒนาระยะยาว เพื่อแลกหนี้ให้การรถไฟฯ จำนวนหนึ่ง ล่าสุดอยู่ระหว่างประเมินมูลค่าที่ดินและค่าเสียโอกาสที่การรถไฟฯจะได้รับ คาดได้ข้อสรุปต้นเดือนมิถุนายนนี้
ที่ดินแปลงนี้รัฐบาลชุดปัจจุบันจะพัฒนา 3 ส่วน โดยเน้นสวนสาธารณะเป็นหลัก เพื่อให้เป็นปอดคนกรุง พร้อมสร้างพิพิธภัณฑ์รถไฟและพาณิชยกรรม เรามีคณะทำงานร่วมกับกระทรวงการคลัง กำลังว่าจ้างที่ปรึกษาประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ว่าคลังจะเช่ากี่ปีถึงจะคุ้ม” นายวุฒิชาติกล่าวและว่าแปลงที่ 2 บริเวณสถานีแม่น้ำย่านคลองเตย 277 ไร่ ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา จะเปิดให้เอกชนเช่าระยะยาว ขณะนี้รอผลศึกษาที่เคยทำแล้วมาพิจารณาอีกครั้ง ล่าสุดมีบริษัทต่างชาติจากประเทศสิงคโปร์สนใจจะมาลงทุนพัฒนาโครงการ อย่างไรก็ตาม การรถไฟฯต้องเปิดประมูลตามขั้นตอนทั่วไป
และแปลงที่ 3 บริเวณ กม.11 ทำเลด้านหลังอาคารศูนย์พลังงานแห่งชาติ (เอ็นเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์) เนื้อที่ 359 ไร่ ล่าสุด พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายจะให้พัฒนาพื้นที่บางส่วนเป็นสวัสดิการของคนรถไฟ รูปแบบคล้ายกับวิสาหกิจชุมชน ประกอบด้วย ตลาด พื้นที่สีเขียว สันทนาการ โรงพยาบาลขนาด 300-500 เตียง
โดยจะย้ายโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร จากมักกะสันมาอยู่ที่นี่ด้วย และให้เอกชนร่วมพัฒนา รวมถึงอาคารอยู่อาศัยรองรับพนักงานรถไฟที่ กม.11 และรับส่วนที่จะโยกย้ายมาใหม่จากมักกะสันและจากสถานีหัวลำโพง ซึ่งในอนาคตจะเดินรถน้อยลง หลังจากสถานีกลางบางซื่อก่อสร้างเสร็จ
ส่วนโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟจะย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีที่ดินรองรับได้ประมาณ 300- 400 ไร่ เช่น กาญจนบุรี พื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อสร้างศูนย์พัฒนาระบบรางและศูนย์ฝึกอบรมไปด้วยตามนโยบายของรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม
นายวุฒิชาติกล่าวว่า ยุคนี้จะไม่เน้นพัฒนาเชิงพาณิชย์มากนัก จากแผนที่เคยจะลงทุนสร้างเป็นคอมเพล็กซ์และศูนย์การค้าขนาดใหญ่ตามรูปแบบเดิมที่การรถไฟฯ ศึกษาไว้ ซึ่งมีมูลค่าโครงการถึง1.33 แสนล้านบาท ซึ่งการพัฒนายังทำอยู่ต่อไป แต่จัดลำดับความสำคัญของแผนใหม่ในแต่ละโซน ประกอบด้วย 1.พื้นที่เพื่อนันทนาการ 2.พื้นที่เพื่อรองรับพนักงาน ร.ฟ.ท.ที่ทำการส่วนราชการ 3.พื้นที่กลุ่มอาคารสำนักงานและพาณิชยกรรม 4.พื้นที่สวนและลานกิจกรรมกลางแจ้ง 5.พื้นที่กลุ่มอาคารและสำนักงานด้านพลังงานแห่งชาติและ 6.พื้นที่ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า และโรงแรม
จากสภาพปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณนี้หลายส่วน มีทั้งเป็นที่อยู่อาศัยพนักงาน ประกอบด้วยแฟลตพักอาศัย 983 ครอบครัว บ้านเดี่ยว 72 ครอบครัว และเรือนแถว 876 ครอบครัว ที่ทำการลานอเนกประสงค์ อาคารเรียนสำหรับเด็กอ่อน คลับเฮาส์ สนามซ้อมกอล์ฟพื้นที่ 35 ไร่ ฝ่ายบริหารงานบุคคลด้านฝึกอบรม บริเวณสำนักงานฝึกอบรมและพัฒนา รวมทั้งโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟพื้นที่ 58 ไร่
ขณะเดียวกันมีแผนจะนำที่ด้านข้างสถานีบางซื่อ 70-80 ไร่ ให้เอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาเชิงพาณิชย์เหมือนต่างประเทศ เพื่อรองรับรถไฟสายสีแดงที่จะเปิดใช้ในอนาคตอันใกล้ รวมถึงรถไฟระบบต่างๆ เพราะบางซื่อจะเป็นศูนย์กลางการเดินทางเชื่อมกรุงเทพฯ ปริมณฑลและภูมิภาค
นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.เตรียมนำที่ดินรอบสถานีในจังหวัดใหญ่ ๆ ที่มีศักยภาพมาให้เอกชนเช่าระยะยาวด้วย เช่น สถานีเชียงใหม่ สถานีอุบลราชธานี ฯลฯ คาดว่าจะได้รับความสนใจเนื่องจากทำเลมีศักยภาพ พร้อมจะนำที่ดินบางส่วนในต่างจังหวัดมาพัฒนาเป็นสถานีบรรจุและแยกสินค้า (ICD) และศูนย์รวบรวมสินค้าระบบตู้คอนเทนเนอร์ (CY) เพื่อเพิ่มความสะดวกในการขนส่งสินค้า รูปแบบอาจจะร่วมกับเอกชน เช่น สถานีนาทา จ.หนองคาย เนื้อที่กว่า 200 ไร่ จะพัฒนาเป็นซีวาย รองรับรถไฟไทย-จีน จากเส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุดและแก่งคอย-กรุงเทพฯ รวมถึงที่ดินสถานีองครักษ์และศาลายา
ที่มาข่าว: ประชาชาติ