CBRE พาสำรวจค่าเช่าออฟฟิศทั่วโลก พบว่า กรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในตลาดที่ค่าเช่าพื้นที่สำนักงานถูกที่สุดในโลก ขณะที่ฮ่องกงขึ้นครองตำแหน่งทำเลที่พื้นที่มีราคาสำนักงานแพงที่สุดในโลก ประเทศในทวีปเอเชียติดอันดับทำเลพื้นที่สำนักงานแพงที่สุดในโลกถึง 7 เมืองจาก 10 อันดับแรก ได้แก่ เมืองต่างๆ ในจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย
ค่าเช่าพื้นที่สำนักงานในย่านเซ็นทรัลของฮ่องกงอยู่ที่ 9,140 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน และเป็นทำเลพื้นที่สำนักงานที่แพงที่สุดในโลก แซงหน้าย่านเวสต์ เอนด์ ของลอนดอน (8,261 บาท) ที่ตกไปอยู่ในอันดับ 2 ตามด้วยย่านไฟแนนซ์สตรีทของกรุงปักกิ่ง (5,923 บาท) ย่านใจกลางธุรกิจหรือซีบีดีของปักกิ่ง (5,720 บาท) และย่านเวสต์ เกาลูน ของฮ่องกง (5,623 บาท) ส่วนเมืองอื่นๆ ในเอเชียที่ติด 10 อันดับแรกยังได้แก่ ย่านมารุโนะอุจิ/โอเตะมาจิของกรุงโตเกียว ย่านคอนนอต เพลส – ซีบีดีของกรุงนิวเดลี และย่านผู่ตงของเซี่ยงไฮ้
ถึงแม้ว่าพื้นที่สำนักงานระดับเกรดเอในอาคารชั้นนำของกรุงเทพฯ จะค่าเช่าเพิ่มขึ้นถึง 6.6% ต่อปี และติด 1 ใน 25 อันดับแรกของทำเลที่อัตราค่าเช่าเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในโลก แต่กรุงเทพฯ กลับอยู่ในอันดับที่ 109 จาก 126 เมืองทั่วโลกที่ซีบีอาร์อีได้ทำการสำรวจในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่สำนักงาน ทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นหนึ่งในทำเลที่พื้นที่สำนักงานมีราคาถูกที่สุดในโลก ทั้งนี้ ค่าเช่าเฉลี่ยของพื้นที่สำนักงานชั้นนำระดับเกรดเอในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 959 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ซึ่งมีราคาถูกกว่าย่านเซ็นทรัลของฮ่องกง ซึ่งเป็นทำเลแพงที่สุดในโลก ถึง 9.5 เท่า
นายนิธิพัฒน์ ทองพันธุ์ หัวหน้าแผนกพื้นที่สำนักงาน ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า “แม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว พื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯ ยังคงเป็นที่ต้องการอยู่มาก ประกอบกับปริมาณพื้นที่สำนักงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดมีจำกัด จึงส่งผลให้ค่าเช่าขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
ค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่สำนักงานชั้นนำทั่วโลก ครอบคลุมถึง ค่าเช่า ภาษีท้องถิ่น และค่าบริการสำหรับพื้นที่สำนักงานชั้นนำที่มีคุณภาพดีที่สุดนั้น ปรับตัวสูงขึ้น 2.4% ต่อปี ส่วนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่สำนักงานชั้นนำเพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วโลก โดยเพิ่มขึ้น 2.7% ต่อปี ขณะที่เมืองสำคัญๆ บางแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างสิงคโปร์และจาการ์ตา ค่าใช้จ่ายกลับมีอัตราลดลง
“เราคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะยังคงเติบโตต่อไป และภาคธุรกิจการให้บริการทั่วโลก ซึ่งเป็นผู้เช่าหลักของพื้นที่สำนักงานชั้นนำ จะยังคงขยายพื้นที่ออกไปภายใต้ช่วงระยะเวลาที่ยังคงมีความไม่แน่นอนนี้” ดร. ริชาร์ด บาร์คแฮม ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเศรษฐศาสตร์ ซีบีอาร์อี กล่าว “เนื่องจากเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ การที่ค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่สำนักงานชั้นนำเพิ่มสูงขึ้นถือเป็นปัจจัยสำคัญทั้งสำหรับผู้เช่าและนักลงทุน”
“ด้วยอัตราพื้นที่ว่างที่อยู่ในระดับต่ำและปริมาณพื้นที่สำนักงานในทำเลชั้นนำที่มีไม่เพียงพอ ทำให้เจ้าของพื้นที่สำนักงานในฮ่องกงสามารถปรับค่าเช่าให้สูงขึ้นได้” ดร. เฮนรี่ ชิน หัวหน้าแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าว “สถาบันการเงินจากจีนแผ่นดินใหญ่ได้พยายามมองหาพื้นที่สำนักงานชั้นนำในฮ่องกงมาโดยตลอด ทั้งเพื่อรองรับการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ รวมถึงเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการบริหารจัดการเงินทุนนอกประเทศ”
นอกจากนี้ รายงานฉบับดังกล่าวยังเปิดเผยอีกว่า มีพื้นที่สำนักงาน 22 แห่งที่ตำแหน่งขยับขึ้นมามากกว่า 3 อันดับ โดย 41% อยู่ในเอเชียแปซิฟิก ทำเลส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ (72%) ไม่ได้เป็นจุดเชื่อมต่อไปยังทำเลอื่นๆ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการที่ค่าเช่าเพิ่มสูงขึ้นในทิศทางเดียวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้บริษัทที่กังวลในเรื่องค่าใช้จ่ายมองหาพื้นที่สำนักงานในทำเลที่ค่าเช่าถูกกว่า ตัวเลข 41% ของทำเลที่อยู่ในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีค่าเช่าสูงขึ้น ได้แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ยังคงเติบโต แม้เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวก็ตาม
Source of Information:
- CBRE
หมายเหตุ
- รายงาน ค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่สำนักงานชั้นนำทั่วโลก เป็นการสำรวจค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่สำนักงานชั้นนำจาก 126 เมืองทั่วโลก
- การสำรวจครั้งล่าสุดเป็นการรวบรวมข้อมูลจากค่าเช่าพื้นที่สำนักงานและค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่สำนักงาน จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559
- การจัดอันดับทำเลที่ค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่สำนักงานมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดประจำปี พิจารณาจากค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่สำนักงานตามสกุลเงินและหน่วยวัดท้องถิ่น ขณะที่การจัดอันดับทำเลที่ค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่สำนักงานชั้นนำที่แพงที่สุดในโลก พิจารณาจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตารางฟุตต่อปี
- ตัวเลขในบทความนี้อ้างถึงค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่สำนักงาน ซึ่งรวมถึง ค่าเช่า รวมกับภาษีท้องถิ่นและค่าบริการ นอกจากนี้ยังมีการปรับตัวเลขค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่สำนักงานเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการใช้วิธีคำนวณที่แตกต่างกันในแต่ละตลาด
- เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการวิจัย จึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับตัวเลขกับรายงานฉบับก่อนหน้านี้