สวัสดีค่ะ วันนี้เราจะมาสปอยส่วนนึงของบทความในหนังสือเล่มใหม่ เล็ก.อยู่.ได้ เป็นออเดิฟเรียกน้ำย่อยก่อนจะได้อ่านบทความเต็มๆ กันในหนังสือเล่มใหม่ที่จะแจกในงาน Living EXPO 2016 วันที่ 25 -28 สิงหาคมนี้นะคะ หลังจากที่เราได้หยิบหยกบท แนวคิดความเป็นคอนโดมิเนียม กันไปแล้ว วันนี้เราจะขอพูดถึงเรื่องใกล้ตัวเข้ามาอีกหน่อยคือเรื่องภายในห้องพักที่เราอยู่อาศัยกัน ซึ่งในส่วนของบทนี้เราจะมาพูดถึงห้องขนาดเล็กที่มีขนาด 21 – 22.5 ตารางเมตรที่เรามักจะเห็นกันจนคุ้นตาในท้องตลาดคอนโดมิเนียมในปัจจุบัน ซึ่งห้องขนาดเล็กนี้ก็ยังมีให้เลือกหลากหลายมากหน้าหลายตาพอสมควร แต่เมื่อเราจะควักเงินออกจากกระเป๋าแล้วแน่นอนว่าทุกคนก็อยากได้ห้องที่ดีและเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของเราที่สุด งั้นอย่ารอช้าค่ะไปดูภาพรวมของบทความบทนี้คร่าวๆ กัน
สำหรับใครที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนรับหนังสือ เล็ก.อยู่.ได้ กันแบบฟรีๆ สามารถ คลิกที่นี่ ได้ค่ะ
“ห้อง Studio”
ก่อนอื่นเรามารู้จักห้อง Studio กันก่อนนะคะ ความหมายของห้อง Studio นี้ก็คือห้องที่ไม่มีผนังมากั้นฟังก์ชันต่างๆ เลยหรือหมายถึงว่าทุกๆ ห้องเป็นพื้นที่ที่เชื่อมต่อกันหมด หรือเป็นห้องเดียวกัน
ข้อดี : สำหรับห้อง Studio นี้ข้อดีเลยคือความอิสระในการจัดวางพื้นที่ใช้สอยเองเสมือนว่าเป็นห้องพักอาศัยเป็นห้องอเนกประสงค์ รวมทั้งบรรยากาศห้องที่ดูโปร่งโล่งแม้จะเป็นห้องขนาดเล็ก เนื่องจากไม่มีผนังมากั้นให้ดูอึดอัด
ข้อจำกัด : หากใครเป็นคนชอบความเป็นระเบียบและต้องการพื้นที่เป็นสัดส่วนชัดเจนนั้นห้อง Studio ก็คงไม่เหมาะเท่าไหร่ รวมทั้งใครที่มีสมบัติเยอะ การเก็บของในที่ต่างๆ ไม่ให้ดูรกก็ดูจะเป็นเรื่องยากสำหรับห้อง Studio เช่นกัน
“ห้อง 1 Bedroom”
ห้อง 1 Bedroom เป็นห้องขนาดเล็กไปจนถึงปานกลาง ส่วนใหญ่ขนาดห้องจะไม่เกิน 40 ตารางเมตร และมีขนาดที่ใหญ่กว่าห้อง Studio แต่ในปัจจุบันก็จะเริ่มเห็นหน้าตาห้อง 1 Bedroom ที่มีขนาดเท่าๆ กับห้อง Studio กันค่อนข้างเยอะทีเดียวค่ะ
ข้อดี : สำหรับห้อง 1 Bedroom นี้ข้อดีเลยคือความเป็นสัดส่วนชัดเจนมากขึ้นจากห้อง Studio โดยส่วนใหญ่จะมีประตูบานเลื่อนกระจกกั้นระหว่างห้องนอนกับห้องนั่งเล่น ซึ่งเพิ่มความรู้สึกเป็นส่วนตัวมากขึ้น ทำให้ห้อง 1 Bedroom นี้ค่อนข้างเป็นที่นิยมของผู้บริโภค เนื่องจากตรงกับไลฟ์สไตล์ในการอยู่อาศัยของคนไทยที่ชอบความเป็นสัดส่วนชัดเจน
ข้อจำกัด : เมื่อห้องที่ถูกกั้นพื้นที่เป็นสัดส่วนชัดเจนนั้น ก็ทำให้ความรู้สึกโปร่งโล่งของห้องน้อยลงไป ซึ่งหลายโครงการส่วนใหญ่เลยนั้นจะแก้ปัญหาโดยการกั้นพื้นที่ด้วยประตูบานเลื่อน “กระจก” เพื่อให้สามารถมองทะลุได้ และพื้นที่ห้องด้านในที่ไม่ติดกับหน้าต่างยังได้รับแสงธรรมชาติส่องลอดเข้ามาได้ และจะให้ห้องดูโปร่งโล่งเทียบเคียงห้อง Studio ได้นั้นคือการกั้นด้วยประตูบานเลื่อนกระจกแบบ 3 ตอน ที่มีความสูงบานกระจกตั้งแต่พื้นจนถึงฝ้าเพดาน
จากภาพเป็นแปลนห้องพักอาศัยขนาดเล็กแบบต่างๆ ที่มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 21 – 22.5 ตารางเมตรทั้งหมด จะเห็นว่าถึงแม้ห้องนั้นจะมีขนาดพื้นที่ใช้สอยที่ใกล้เคียงกันแต่ก็ยังมีความหลากหลายของแบบห้องให้เลือกอยู่เหมือนกัน แต่หลักๆแล้วเราสามารถจำแนกห้องขนาดเล็กที่เห็นกันค่อนข้างมากในท้องตลาดได้ทั้งหมด 4 แบบด้วยกัน จากการแยกด้วย Zoning หรือเข้าใจง่ายๆ ก็คือ โซนต่างๆ ภายในห้องค่ะ
สำหรับการจัดวาง Zoning นี้ถือว่ามีบทบาทสำคัญและส่งผลต่อการอยู่อาศัยภายในห้องเหมือนกัน เพราะหากไม่มีการวาง Zoning ของฟังก์ชันต่างๆ ที่มีการใช้งานคล้ายคลึงกันไว้ใกล้ๆ กัน ก็จะทำให้เราใช้งานฟังก์ชันต่างๆ ภายในห้องไม่สะดวกมากนักค่ะ
โดย Zoning สำหรับผู้ออกแบบนั้นมักจะแบ่งตามการใช้งานเป็นหลัก สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ
- Public Zone เป็นพื้นที่ใช้ต้อนรับเพื่อนหรือแขกได้ เช่น ห้องนั่งเล่นและห้องรับแขก ซึ่งส่วนใหญ่ตำแหน่งของโซนนี้จะอยู่บริเวณด้านหน้าของห้อง
- Private Zone เป็นพื้นที่ที่เน้นความเป็นส่วนตัว เช่น ห้องนอน โดยตำแหน่งมักจะวางอยู่ด้านในสุดของห้อง และติดริมหน้าต่างให้แสงธรรมชาติส่องเข้าถึงได้
- Service Zone เป็นพื้นที่ส่วนบริการต่างๆ เช่น ห้องน้ำ ห้องครัวและระเบียงซักล้าง สำหรับตำแหน่งของห้องน้ำส่วนใหญ่จะอยู่ด้านหน้าห้องติดโถงทางเดิน แต่ตำแหน่งของห้องครัวและระเบียงซักล้างนั้นจะค่อนข้างหลากหลายตามการออกแบบค่ะ
เราไปดูกันว่าห้องขนาดเล็กที่เป็นที่นิยมของโครงการในปัจจุบันมีการจัดวาง Zoning แบบไหนกันบ้างและมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง
Zoning A
การจัดวาง Zoning แบบนี้ค่อนข้างเป็นที่นิยมของคอนโดในท้องตลาดทั่วไปค่ะ ลักษณะผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส การจัด Zoning ของผังนี้ถือว่าลงตัวและเป็นสัดเป็นส่วนดี จะเห็นได้ชัดเจนว่าได้จัดวางห้องที่มีลักษณะการใช้งานเหมือนกันไว้ในโซนเดียวกันหมด จนเกิดเป็น Zoning ที่ชัดเจน จะเห็นว่า Service Zone จะอยู่รวมกันข้างหนึ่งทั้งหมด ทำให้สะดวกต่อการใช้งาน เช่น ห้องนั่งเล่นที่เป็น Public Zone ไว้ด้านหน้าเพื่อใช้เป็นส่วนต้อนรับแขกหรือเพื่อนๆ ได้โดยไม่ผ่าน Private Zone ที่เป็นส่วนห้องนอน และห้องครัวที่อยู่ติดกับระเบียงซักล้างก็ใช้งานสะดวก รวมทั้งห้องนอนนั้นที่อยู่ด้านในสุดก็จะได้หน้าต่าง สามารถดูวิวจากห้องนอนได้หรือได้รับแสงธรรมชาติเข้ามาภายในห้อง
Zoning B
Zoning นี้ก็เป็นอีกแบบที่เห็นกันค่อนข้างมากในโครงการต่างๆ ความแตกต่างกับ Zoning A คือลักษณะผังที่เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบหน้าแคบลึก ซึ่งจะเห็นว่าการจัดวาง Zoning ของผังนี้นั้นจะถูกสลับไปมาหน่อย ไม่ใช่ Zoning เดียวกันอยู่ใกล้กัน เหมือน Zoning A เนื่องจากถูกข้อจำกัดในเรื่องของรูปร่างผังที่ค่อนข้างยากพอสมควรที่จะสามารถจัดให้ Zoning ลงตัว ข้อดีของ Zoning B ห้องจะดูโปร่งโล่ง เพราะไม่มีผนังมากั้นในแต่ละห้องให้ดูทึบตัน หรือหากจะมีการกั้นให้เป็นสัดส่วนมากยิ่งขึ้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นประตูบานเลื่อนกระจกค่ะ ส่วนข้อเสียของการวาง Zoning แบบนี้คือการวาง Zone Service ไว้ด้านหน้าห้อง ซึ่งเป็นโซนที่มักจะมีข้าวของค่อนข้างมาก ทำให้ห้องอาจจะดูรกได้ง่ายถ้าไม่มีการเก็บให้เรียบร้อยตลอดเวลาค่ะ รวมทั้งระเบียงซักล้าง ซึ่งเป็น Zone Service อยู่ติดกับห้องนอนที่เป็น Zone Private ซึ่งอาจจะไม่สะดวกในการใช้งานมากนัก
Zoning C
การจัดวาง Zoning แบบนี้ จัดวางได้เป็นสัดส่วนชัดเจนและมีลักษณะคล้ายคลึงกับ Zoning A เพียงแต่จะมีความแตกต่างกันตรงขนาดของแต่ละ Zoning ซึ่ง Zoning C นี้จะให้ความสำคัญกับห้องนอนและห้องนั่งเล่นที่เป็น Zone Public และ Zone Private มากกว่า เหมาะกับใครที่เน้นพื้นที่ใช้สอยในส่วนของห้องนอนมากขึ้นมาหน่อย และด้วยพื้นที่ใช้สอยของห้องครัวที่เป็นแนวยาวจึงสามารถกั้นบานเลื่อนกระจกทำเป็นครัวปิดได้ จึงสามารถทำอาหารหนักได้ดี
นี่เป็นเพียงออเดิฟเรียกน้ำย่อยเล็กๆ น้อยๆจากบทความ ห้องเล็กแบบไหนถึงอยู่สบาย? นะคะ สามารถอ่านบทความวิเคราะห์แบบเจาะลึกในฟังก์ชันของแต่ละ Zoning พร้อมบทสรุปได้ในหนังสือ เล็ก.อยู่.ได้ ที่จะมาแจกให้ท่านผู้อ่านที่น่ารักทุกคนฟรีๆ ในงาน Living EXPO 2016 วันที่ 25 -28 สิงหาคมนี้ ที่ชั้น 1 สยามพารากอน แล้วมาพบกันให้ได้นะคะ 🙂