เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ช่วงต้นปีเรายังวุ่นๆ อยู่กับการระบาด Covid-19 ระลอกใหม่ เผลอแปร่บเดียวก็เข้าสู่เดือนพ.ค. ช่วงเวลาแห่งการประกาศ #ผลประกอบการ ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ … Think of Living ลองรวบรวมรายได้-กำไรของ 10 บริษัทอสังหาฯ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี มาให้ดูกันคร่าวๆ อาจทำให้มองเห็นทิศทางได้บ้างว่า จะเป็นอีกปีที่หนักหน่วง หรือเป็นปีแห่งความหวัง อย่างที่บางบริษัทฯ เคยตั้งเป้าไว้

ภาพรวมของตลาดอสังหาในช่วง Q1/2564 ยังคงชะลอตัว จากข้อมูลของ LPN Wisdom หลายบริษัทยังลังเลที่จะเปิดโครงการใหม่ โดยในช่วง ม.ค.-มี.ค. มีจำนวนการเปิดตัวใหม่ทั้งสิ้น 9,688 หน่วย ลดลง 45.72% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

หากรัฐบาลคุมสถานการณ์ Covid-19 ไม่ได้ ในกรณีที่แย่ที่สุด LPN Wisdom ประเมินไว้ว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 มีแนวโน้มติดลบ 5-6% เมื่อเทียบกับปี 2563 และเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็น “ปีที่สอง” จากปี 2563 ที่มีการเปิดตัวโครงการใหม่ลดลลง 37% จากปี 2562 โดยคาดว่าในปีนี้จะมีการเปิดตัวโครงการใหม่ กทม-ปริมณฑล ประมาณ 65,000-66,000 หน่วย มูลค่าประมาณ 260,000-265,000 ลบ.

อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างรายได้ให้ตรงกับเป้าที่ตั้งไว้ ทุกบริษัทยังคงต้องดำเนินการตามแผนด้วยการทยอยเปิดโครงการใหม่ แต่…กลยุทธ์ที่วางไว้จะสามารถปรับใช้กับสถานการณ์ในตอนนั้นได้หรือไม่ คาดว่าครึ่งปีหลัง เราน่าจะเห็นทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น

อ้างอิงจากการแถลงแผนธุรกิจในช่วงต้นปี ส่องแผนเปิดตัวโครงการใหม่ปี 2564 จาก 10 บริษัทอสังหา

บริษัทอสังหารายใหญ่หลายๆ ราย ได้ตั้งงบซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการในอนาคตสำหรับปี 2564 รวมกันไม่ต่ำกว่า 60,000 ลบ. เนื่องจาก

  1. เป็นจังหวะที่เหมาะสมในการเลือกซื้อที่ดิน ราคาไม่สูง และมีอัตราการแข่งขันต่ำ
  2. ราคาที่ดินเปล่า อยู่ในช่วงขาลง กรุงเทพฯปริมณฑลประจำ Q1 1/2564 REIC เปิดเผยว่า มีค่าดัชนีเท่ากับ 326.2 จุด แม้เพิ่ม 11.2% จากปีก่อน แต่นับเป็นสัญญาณที่ราคาเริ่มลดลงอย่างมาก จากค่าเฉลี่ยของอัตราการเปลี่ยนแปลงในรอบ 5 ปี (2559-2563) อยู่ประมาณ 17.7 % / 3 เดือน
  3. พิษเศรษฐกิจที่เกิดจาก Covid-19 ทำให้เจ้าของที่ดินทั้งรายใหญ่และรายย่อย ยอมลดราคาที่ดิน แล้วเลือกที่จะเทขาย เพื่อถือเงินสดไว้แทน ส่วนหนึ่งเพราะคำนวณแล้วว่าถ้าถือไปเรื่อยๆ อาจไม่คุ้มกับภาระ #ภาษีที่ดิน ซึ่งต้องแบกรับในอนาคต