แผนการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 11 แห่ง ผ่านการอนุมัติจากครม.ในปี 2554 แต่มีเพียง สะพานนนทบุรี ที่สร้างเสร็จ และเปิดใช้ในปี 2557 ผ่านมากว่า 10 ปี… ก็มาถึงคิวของ สะพานเกียกกาย โดยเมื่อวันที่ 28 ก.ย. ครม. ได้อนุมัติ พ.ร.ฎ. เวนคืนที่ดิน 4 เขต บางพลัด-ดุสิต-บางซื่อ-พญาไท-จตุจักร เตรียมพร้อมสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย เชื่อมต่อกับการสร้างและขยายถนน
สะพานเกียกกาย เชื่อมต่อฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร งบลงทุนที่วางไว้ 12,717 ลบ. โดยก่อนหน้านี้ กทม.ได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่แล้วรวม 4 ครั้ง ซึ่งที่ดินที่จะเวนคืนมีส่วนแคบที่สุด 50 เมตร และส่วนที่กว้างที่สุด 1,250 เมตร
จากข้อมูลของฐานเศรษฐกิจ การเวนคืนตลอดแนว มีสิ่งปลูกสร้างของประชาชนประมาณ 284 หลังคาเรือน และที่ดินจำนวน 405 แปลงโดยฝั่งฝั่งธนบุรี หรือถ.จรัญสนิทวงศ์ ได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วนฝั่งพระนคร เขตดุสิต พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นของหน่วยงานราชการ ที่ดินราชพัสดุทหาร ซึ่งได้รับค่าชดเชยรื้อย้ายปลูกสร้างอาคารพักอาศัยแห่งใหม่เรียบร้อยแล้ว
สำนักงานเขตบางพลัดระบุว่าบริเวณก่อสร้างสะพานข้ามแม่นํ้าเจ้าพระยา บริเวณเกียกกายและถนนต่อเชื่อม ขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร ความยาวของสะพานรวมทางลาด 1กิโลเมตร โดยเส้นทางจะตัดผ่านตลาดบางอ้อ วิ่งตัดเข้ากับกับถนนจรัญสนิทวงศ์ ฝั่งธนบุรี ซึ่งเป็นอีกจุดที่จะสร้างทางต่างระดับขึ้นลงจากถนนจรัญสนิทวงศ์แนวจะตรงไปตัดกับแนวทางด่วนบางซื่อ-สะพานพระราม 6-ถนนบรมราชชนนี จะมีทางต่างระดับขึ้นลงเชื่อมกับถนน Local Road และทางด่วน แล้วค่อยๆ ลดระดับลงพื้นดิน
โดยแนวเส้นทางจะ ตวัดไปด้านซ้าย คู่ขนานไปกับถนนนครอินทร์ และไปเชื่อมกับถนนราชพฤกษ์และถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดโครงการ
หากก่อสร้างแล้วเสร็จ ในอีก 2 ปีข้างหน้า จะช่วยระบายรถได้ราว 100,000 คัน/วัน อีกทั้งยังสร้างความเจริญในพื้นที่ ช่วงที่มีการเวนคืนเขตทางใหม่ย่านฝั่งธนบุรีจะทำให้ราคาขยับสูงมีโครงการบ้านจัดสรรเข้าปักหมุดทั้งสองข้างทางอย่างแน่นอน