สรุปตลาดที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 2564 และแนวโน้ม 2565

เตรียมเข้าสู่ปีใหม่ 2565 กันแล้วนะคะ ช่วงปี 2564 ระยะเวลาตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัย ตั้งแต่ต้นปีต่อเนื่องมาจนถึงปลายปีก็ยังคงต้องเผชิญกับสถานการณ์ Covid-19 ปลายปียังมีโควิทสายพันธ์ุใหม่ๆเกิดขึ้นอยู่ตลอด แม้ว่าจะมีนโยบายเปิดประเทศ แต่ก็ต้องยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจก็ยังคงชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการต่างก็หาวิธีต่างๆเพื่อสร้างยอดขายยอดโอนให้ได้มากที่สุด เพื่อกระตุ้นการซื้อขายในภาคอสังหาฯโดยเฉพาะในส่วนที่อยู่อาศัยกันอย่างเต็มที่

เราจึงนำตัวเลขภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและแนวสูงในปี 2564 โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์  ได้สำรวจข้อมูลอุปสงค์และอุปทานตลาดที่อยู่อาศัยมาให้ชมกัน เพื่อเป็นข้อมูลให้มองเห็นสภาพตลาดที่อยู่อาศัยว่าจะมีผลต่อการพัฒนาโครงการในอนาคตว่าจะเดินหน้าไปในทิศทางใด เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการผู้บริโภค เราไปดูสรุปสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยกรุงเทพและปริมณฑลที่ผ่านมากันค่ะ

Image 1/3
ข้อมูลการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน ทั่วประเทศ รายเดือน

ข้อมูลการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน ทั่วประเทศ รายเดือน

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์คาดการณ์ว่า ไตรมาส 4 เครื่องชี้ด้านจำนวนหน่วยที่ได้รับใบอนุญาตจัดสรรทั่วประเทศ และจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในกรุงเทพฯและปริมณฑลจะเพิ่มขึ้นเป็น 21,039 และ 35,231 หน่วย หรือ เพิ่มขึ้น 9.6%และ 53.4% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ภาพรวมทั้งปี 2564 ของเครื่องชี้วัดข้างต้นจะยังคงติดลบถึง 22.1% และ 12.7% ตามลำดับ

โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2564 มีหน่วยที่ได้รับอนุญาตจัดสรรทั่วประเทศ เฉลี่ยเดือนละ 5,600 หน่วย ซึ่งต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของ Covid 19 ถึง 3,100 หน่วย (จากเดิม 8,700 หน่วย)  และมีใกล้เคียงกับช่วง 6 เดือนก่อนหน้า และยังพบว่า เกือบทุกเดือนติดลบเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน

Image 1/4
ข้อมูลที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียน กรุงเทพฯ-ปริมณฑล รายเดือน

ข้อมูลที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียน กรุงเทพฯ-ปริมณฑล รายเดือน

ส่วนสภาวะของหน่วยสร้างเสร็จจดทะเบียนในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2564 ในกรุงเทพฯและปริมณฑล มีจำนวนที่ลดลงมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง และการที่คนงานทั้งคนไทยและชาวต่างชาติเดินทางกลับบ้านเกิดหรือประเทศตนเอง เพราะไม่มีงานและขาดรายได้ ทำให้โดยเฉลี่ยมีจำนวนที่อยู่อาศัยที่จดทะเบียนสร้างเสร็จเพียงเดือนละประมาณ 4,900 หน่วย ซึ่งถือว่าต่ำกว่าในปีก่อนหน้าที่จะเกิด Covid หรือประมาณ 1-2 ปีก่อน ถึง 5,500 หน่วย (จากเดิม 10,400 หน่วย) และยังพบว่าหากพิจารณาเป็นรายเดือนยอดการจดทะเบียนในช่วงปีที่ผ่านมียอดติดลบมาโดยตลอดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา

Image 1/4
ข้อมูลที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล รายเดือน

ข้อมูลที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล รายเดือน

ส่วนการเปิดตัวโครงการใหม่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล พบว่ามีจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยคาดว่าจะมีการเปิดตัวที่อยู่อาศัยใหม่ในไตรมาส 4 ประมาณ 20,050 หน่วย หรือ เพิ่มขึ้น 39.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ทั้งนี้คาดการณ์ว่าภาพรวมปี 2564 จะมีที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่จำนวนทั้งสิ้น 43,051 หน่วย แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร 25,783 หน่วย และคอนโดมิเนียม 17,268 หน่วย ซึ่งลดลง 35% เมื่อเทียบกับปี 2563 และในปี 2565 จำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 85,912 หน่วย แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร 47,291 หน่วย และโครงการคอนโดมิเนียม 38,621 หน่วย เพิ่มขึ้น 99.6% ซึ่งเป็นการเพิ่มจากฐานที่ต่ำมากในปี 2564

โดยสถานการณ์ของการเปิดตัวที่อยู่อาศัยใหม่ในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2564 เป็นช่วงที่นับได้ว่าหนักมาก เนื่องจากอยู่ในช่วงที่มีการระบาดของ Covid 19 มากที่สุดในของปี ทำให้มีการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่น้อยตามไปด้วย เฉลี่ยเดือนละ 1,400 หน่วย ซึ่งถือว่าต่ำกว่าช่วงก่อนเกิด Covid 19 ถึง 5,600 หน่วย (จากเดิม 7,000 หน่วย) และยังพบว่า เกือบทุกเดือนยอดเปิดตัวโครงการใหม่ติดลบเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนเช่นกัน

การปรับตัวลดลงของ Supply ที่อยู่อาศัยใหม่ในลักษณะนี้ ได้ส่งผลต่อภาพรวมของ Supply ที่อยู่อาศัยทั้งหมดที่เหลือขายในตลาดพื้นที่ 27 จังหวัดหลัก โดยคาดการณ์ว่า ปี 2564 จะมีจำนวนที่อยู่อาศัยที่เหลือขายทั้งสิ้นประมาณ 278,236 หน่วย เป็นมูลค่าประมาณ 1,196,563 ล้านบาท

ทั้งนี้ แม้จะมีการเปิดขายโครงการใหม่เพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยกลยุทธ์การกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้ประกอบการผนวกกับการผ่อนคลายมาตรการ LTV และการปรับตัวลดลงของอุปทานที่อยู่อาศัยใหม่ดังกล่าวมาข้างต้น ได้ส่งผลต่อภาพรวมหน่วยเหลือขายใน 27 จังหวัดลดลงตามไปด้วย จากเดิมซึ่งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ คาดการณ์ว่าปี 2564 จะมีหน่วยเหลือขายจำนวน 292,800 หน่วย มูลค่ารวม 1,259,540 ล้านบาท จะปรับลดลงมาอยู่ที่จำนวน 278,236 หน่วย มูลค่ารวม 1,196,536 ล้านบาท และจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 264,412 หน่วย มูลค่ารวม 1,113,948 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2565

Image 1/4
หน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศทั่วประเทศ ปี 2564

หน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศทั่วประเทศ ปี 2564

ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ คาดการณ์ว่าจากนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล และมาตรการต่างๆ ที่นำมากระตุ้นเศรษฐกิจ รวมการกระจายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ถ้าเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ในระดับหนึ่ง และกระตุ้น Demand ในตลาดที่อยู่อาศัยให้เพิ่มขึ้นได้ สะท้อนจากหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์รวมที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ไตรมาส 3 มีจำนวน 60,174 หน่วยมูลค่ารวม 185,756 ล้านบาท แต่เมื่อมีมาตรการผ่อนคลาย LTV คาดว่าในไตรมา 4 จะมีการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้นเป็น 95,221 หน่วย มูลค่า 262,931 ล้านบาท โดยจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.2% และ 5.1% ตามลำดับ

ทำให้การโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2564 มีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์เฉลี่ยเดือนละ 20,000 หน่วย มูลค่าเฉลี่ย 62,000 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าช่วงก่อนเกิด Covid 19 ถึง 10,000 หน่วย และมูลค่าต่างกัน 4,500 ล้านบาท และยังพบว่ายอดการโอนติดลบเช่นกันเมื่อเทียบกับช่วงเวลาในปีเดียวกัน

โดยคาดการณ์ว่าภาพรวมในปี 2564 จะมีการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งสิ้น 281,026 หน่วย ลดลงจากปี 2563 ประมาณ -21.7% คิดเป็นมูลค่า 835,559 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563  ที่ประมาณ 10% จากเดิมคาดการณ์ว่าจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ 270,151 หน่วย ลดลงจากปี 2563 ราว 24.6% มูลค่า 804,241 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563 ประมาณ 13.4 %

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2564 ตลาดที่อยู่อาศัยไทยได้ถึงจุดที่เรียกว่าต่ำสุดในรอบปีที่ผ่านมา และทิศทางในไตรมาส 4 คาดว่าจะมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยบวกที่จะเข้ามาสนับสนุนคือการผ่อนปรน LTV ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และมาตรการลดค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดจำนองที่ได้ข่าวมาว่าจะขยายเวลาให้ออกไปอีก 1 ปีจากรัฐบาล ก็น่าจะมาเป็นตัวช่วยให้เห็นการขยับตัวของภาคอสังหาฯไม่มากก็น้อย

ข้อเสนอจากทางฝั่งเอกชนเพื่อให้ภาครัฐนำไปพิจารณาเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาฯให้ดีขึ้น

แม้ว่าจะมีการผ่อนปรนมาตรการ #LTV จากแบงก์ชาติ แต่ผู้กุมบังเหียนสุดท้ายในการตัดสินใจ ก็คือบรรดาธนาคารพาณิชย์อยู่ดี ทำให้การออกมากระตุ้นอสังหารอบนี้ เป็นไปแบบครึ่งใบ ไปไม่สุดทาง ผู้ประกอบการ ยังคงต้องเผชิญกับอัตราการปฏิเสธสินเชื่อ 20-30% คนอยากกู้บ้าน ก็กู้ไม่ผ่านเพราะธนาคารไม่ปล่อย ภาคอสังหาที่คาดว่าจะโตได้อาจต้องใช้เวลามากกว่า 4 ปี ที่ตลาดอสังหาฯ จะกลับไปอยู่จุดเดิมอีกครั้ง ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ อธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะนายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ได้ยืนข้อเสนอ 4 แนวทางให้แบงก์ชาตินำไปพิจารณา ได้แก่

  • คนมีรายได้น้อยที่อยากซื้อบ้าน สามารถใช้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านกลไกของธนาคารรัฐ หรือธนาคารทั่วไป
  • จัดตั้ง Mortgage Fund เช่นเดียวกับในต่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือคนที่กู้ไม่ผ่านโดยรัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการรับประกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในส่วนต่างที่อาจกู้ไม่ได้
  • ผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด อย่างเช่นในช่วงสิ้นปี บางธนาคารทำยอดกู้ได้ถึงเป้าแล้ว ก็เลือกที่จะไม่ปล่อยเพิ่ม เพราะต้องแบกรับเป้าที่มากขึ้นในปีหน้า เลยเลือกที่จะปฏิเสธลูกค้าแบบสุภาพว่า “ตรวจแล้วไม่ผ่าน” แม้จะผ่อนปรน LTV ถ้าธนาคาร ไม่ Unlock ตัวเอง ก็ไม่มีประโยชน์
  • ปลดล็อคให้ต่างชาติ สามารถกู้ซื้อบ้านได้ในไทย หากตรวจสอบเครดิตแล้วมีความน่าเชื่อถือ

แนวทางจากภาครัฐเพื่อกระตุ้นอสังหาปี 2565 โดยการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์

ล่าสุดครม. ได้มีมติให้ต่ออายุมาตรการลดค่าโอน-จดจำนองเหลือ 0.01% ไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันนี้-31 ธ.ค. 2565 โดยการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์ในรอบนี้ ออกมาเพื่อช่วยลดภาระรายจ่ายผู้ซื้อบ้าน จากอัตราที่กำหนดดังนี้ ซึ่งหลัง ครม.อนุมัติ คาดว่าน่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยมีการลดค่าธรรมเนียมการโอนปกติ 2.00% เหลือ 0.01% และลดค่าธรรมเนียมการจำนอง ปกติ 1.00 % เหลือ 0.01% สามารถดูตัวอย่างการคำนวณหลังลดธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ได้ดังนี้

  • ลดค่าธรรมเนียมการโอน อัตราปกติ 2.00% เหลือ 0.01%
  • ลดค่าธรรมเนียมการจำนอง อัตราปกติ 1.00 % เหลือ 0.01% *แต่จะต้องเป็นโครงการใหม่ที่พัฒนาโดยบริษัทอสังหา เท่านั้น โครงการมือสอง ไม่เข้าเงื่อนไข*

กรณีผู้ซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาท

  • ค่าธรรมเนียมการโอนจากปกติต้องจ่าย 2% เป็นเงิน 60,000 บาท เมื่อลดเหลือ 0.01% จะจ่ายเพียง 300 บาท
  • การลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ จากปกติต้องจ่าย 1% เป็นเงิน 30,000 บาท เมื่อลดเหลือ 0.01% จะจ่ายเพียง 300 บาท

ชม VDO สรุปรายละเอียดข้อมูล การลดค่าโอน-จดจำนอง ได้ที่ THINK’s UPDATE EP.76 : อัปเดตคอนโด 3 ทำเล ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท

การกำหนดภาษีที่ดินปี 2565 คงอัตราเท่าเดิม ต่อ 2 ปี โดยมีเพดานการจัดเก็บห้ามเกินกว่าที่กำหนดไว้

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักการตามร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ) สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่ปี 2565 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยยังคงอัตราจัดเก็บไว้เท่าเดิม โดยในส่วนของ ที่อยู่อาศัย จะมีการปรับอัตราการจัดเก็บภาษีในส่วนของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ดังนี้

1. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

  • ที่ดินมูลค่าไม่ถึง 25 ล้านบาท อัตรา 0.03% หรือล้านละ 300 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 25 – 50 ล้านบาท อัตรา 0.05% หรือล้านละ 500 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 50 ล้านขึ้นไป อัตรา 0.1% หรือล้านละ 1,000 บาท

2. สิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

  • ที่ดินมูลค่า ไม่ถึง 40 ล้านบาท อัตรา 0.02% หรือล้านละ 200 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 40 – 65 ล้านบาท อัตรา 0.03% หรือล้านละ 300 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 65 – 90 ล้านบาท อัตรา 0.05% หรือล้านละ 500 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 90 ล้านขึ้นไป อัตรา 0.1% หรือล้านละ 1,000 บาท

3. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยกรณีอื่นนอกจากการใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยตาม ข้อ 1 และ ข้อ 2

  • ที่ดินมูลค่า ไม่ถึง 50 ล้านบาท อัตรา 0.02% หรือล้านละ 200 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 50 – 75 ล้านบาท อัตรา 0.03% หรือล้านละ 300 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 75 – 100 ล้านบาท อัตรา 0.05% หรือล้านละ 500 บาท
  • ที่ดินมูลค่า 100 ล้านขึ้นไป อัตรา 0.1% หรือล้านละ 1,000 บาท

รายละเอียดการการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เช่น ที่ดินเกษตรกรรม / ที่ดินกลุ่มพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม / ที่ดินรกร้างว่างเปล่า สามารถคลิกอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลิกที่นี่

ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าภาคอสังหาฯยังคงได้รับผลกระทบจาก Covid-19 อยู่เรื่อยๆ มาจนถึงสิ้นปีที่คาดกันไว้ว่าจะได้ผ่อนคลายกันบ้าง ทั้งภาครัฐเองก็มีนโยบายเปิดประเทศ และนโยบายที่มาส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่เสมอ ทางฝั่งผู้ประกอบการในปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจหรือชะลอการขายหรือเปิดตัวเหมือนกับในช่วงที่มี Covid-19 ในช่วงปีแรก ที่เห็นได้ชัดคือการเปิดโครงการใหม่ๆ แบรนด์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ต่างก็ยกทัพกันออกมามาให้ผู้ซื้อได้เลือกกันไม่น้อย แต่โดยภาพรวมแล้วต้องยอมรับว่าปีที่ผ่านมาเป็นปีของโครงการแนวราบ ไม่ว่าจะเป็น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮม ที่ผู้ประกอบการเลือกจะนำมาพัฒนาเป็นตัวเลือกหลักในตลาดที่อยู่อาศัยกันมากขึ้น เพราะยังเป็นกลุ่ม Real Demand ที่ต้องการบ้านเพื่ออยู่อาศัยจริงอยู่ และเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการที่ต้องทำงานที่บ้านหรือ Work from Home กันมาอย่างยาวนาน ทำให้กลุ่มผู้ซื้อมองหาที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่เพียงพอให้นั่งทำงาน สามารถใช้ชีวิตในบ้านได้นานๆ เน้นพื้นที่พักผ่อน และต้องการมีพื้นที่สีเขียวภายในบ้านมากขึ้น บ้านแนวราบจึงเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์มากกว่า

ในทางกลับกันแม้ตลาดคอนโดมิเนียมอาจจะไม่สามารถทำยอดขายได้เท่ากับบ้านแนวราบแต่เราก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของโครงการคอนโดมิเนียมที่สะท้อนการอยู่อาศัยที่เปลี่ยนไปเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบพื้นที่ภายในห้องพักอาศัยให้มีมุมสำหรับนั่งทำงานได้แบบจริงจังมากขึ้น การออกแบบพื้นที่ส่วนกลางให้เป็นที่ทำงาน ประชุมงาน ไปจนถึง Studio หรือพื้นที่สำหรับขายของออนไลน์ ให้ลูกบ้านมาเลือกใช้งานตามไลฟ์สไตล์ของการทำงานกันได้มากขึ้น เรียกได้ว่าในหลายๆโครงการเอามาเป็นจุดขายกันเลยทีเดียว ถ้าใครกำลังมองหาบ้านและคอนโดในช่วงนี้ นอกจากจะได้ราคาที่น่าสนใจเพราะ Promotion ต่างๆ ก็จะมีตัวเลือกโครงการที่มีการดีไซน์ใหม่ๆเพิ่มเข้ามากขึ้นที่จะช่วยให้การอยู่อาศัยและการทำงานที่บ้านหรือคอนโดมิเนียมได้ดีกว่าเดิม

สำหรับกลุ่มนักลงทุนยังคงชะลอตัวโดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนชาวต่างชาติที่เรียกว่าหายไปเกินกว่าครึ่ง ทำให้ต้องกลับมาเน้นการขายกลุ่มลูกค้าชาวไทยมากขึ้น แม้คาดการณ์กันว่าในปี 2565 น่าจะมีแนวโน้มที่น่าจะค่อยๆดีขึ้น  เพราะคนส่วนใหญ่เริ่มปรับตัวอยู่ร่วมกับ Covid-19 เริ่มกลับมาทำงาน ออกนอกบ้าน และใช้ชีวิตกันแบบปกติมากขึ้น  กำลังซื้อน่าจะฟื้นตัวได้ในปี 2565 แต่ก็ยังจะเป็นปีที่นิ่งนอนใจไม่ได้ หากสถานการณ์ Covid-19 ยังคงไม่หมดไป  ก็จะส่งผลถึงการตัดสินใจในการซื้อที่อยู่อาศัยได้เช่นกัน เพราะการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคจะระมัดระวังในการใช้เงินมากขึ้นตามไปด้วยนั้นเอง

Source of Information :


ThinkofLiving มี LINE Official Account แล้วนะคะ
ไม่อยากพลาดข้อมูลข่าวสารก็ Add เลย > https://lin.ee/svACOxc