สนข. สรุปผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแครายลำสาลี (บึงกุ่ม) เลือกรูปแบบการพัฒนาด้วยระบบรถไฟฟ้าและทางด่วนบนสายทางเดียวกัน ระบุรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลเชื่อมต่อรถไฟฟ้า 7 สาย  สอดรับกับนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งทางราง ขณะที่ทางด่วนจะทำหน้าที่เชื่อมโยงโครงข่ายการจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (ผอ.สนข.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 (การสรุปผลการศึกษาโครงการ) การศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม 2561 ณ ห้องคอนเวนชั่น ชั้น 4 อาคารคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์  โรงแรมรามา การ์เด้นส์ โดยมีผู้แทนจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ผู้นำชุมชน ประชาชนผู้สนใจ และสื่อมวลชน เข้าร่วมการประชุมสัมมนาฯ ดังกล่าว

นายชัยวัฒน์ฯ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและระบบคมนาคมในระยะยาว เพื่อศึกษารูปแบบการดำเนินงานโครงการคมนาคมขนส่งที่เหมาะสมและใช้ประโยชน์จากเสาตอม่อของโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ที่มีการก่อสร้างเสาตอม่อเตรียมไว้แล้วบนแนวกึ่งกลางถนนประเสริฐมนูกิจ (ถนนเกษตร – นวมินทร์) ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมมีแนวคิดที่จะก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลโดยใช้เสาตอม่อดังกล่าวให้เกิดประโยชน์ และมอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยศึกษาความเหมาะสมทั้งในด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมครอบคลุมครบทุกมิติ ซึ่งได้ข้อสรุปว่ามีความเหมาะสมที่จะพัฒนาทั้งระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) และทางพิเศษ (ทางด่วน) บนแนวสายทางเดียวกัน

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบรูปแบบการพัฒนาทั้งระบบรถไฟฟ้าและทางด่วนตามที่ สนข. เสนอ ซึ่งประกอบด้วยระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม)  และทางด่วนขั้นที่ 3  สายเหนือ ตอน N2 ส่วนเชื่อมต่อถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก และส่วนทดแทน N1 เนื่องจากแนวถนนรัตนาธิเบศร์ งามวงศ์วาน และประเสริฐมนูกิจ เป็นแนวเส้นทางหลักที่เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างพื้นที่ฝั่งตะวันตกกับพื้นที่ฝั่งตะวันออกของถนนวงแหวนรอบนอก การพัฒนาเฉพาะระบบรถไฟฟ้าจึงไม่เพียงพอสำหรับรองรับการเดินทางอื่นๆ ที่ต้องผ่านแนวเส้นทางดังกล่าว ซึ่งมีทั้งการเดินทางด้วยยานพาหนะส่วนบุคคลและการขนส่งสินค้า นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นเส้นทางทดแทนในกรณีที่โครงข่ายถนนระดับพื้นดินไม่สามารถใช้งานได้ เช่น เกิดอุทกภัย เป็นต้น

สำหรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) เริ่มต้นจากแยกแคราย มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนงามวงศ์วาน ผ่านจุดตัดทางพิเศษศรีรัช แยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร ต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านจุดตัดถนนลาดปลาเค้า แยกเสนา จุดตัดถนนสุคนธสวัสดิ์ จุดตัดทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา – อาจณรงค์) จุดตัดทางหลวง 350 จุดตัดถนนนวมินทร์ แล้วเลี้ยวขวาลงไปทางทิศใต้ตามแนวถนนนวมินทร์ ผ่านแยกโพธิ์แก้ว แยกศรีบูรพา แยกแฮปปี้แลนด์ แยกบางกะปิ ไปสิ้นสุดที่จุดตัดถนนพ่วงศิริและถนนรามคำแหง รวมระยะทางประมาณ 22.3 กิโลเมตร จำนวน 20 สถานี

โดยรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล จะทำหน้าที่เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้า 7 สาย ดังนี้ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรีเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีชมพู สถานีบางเขนเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีแยกเกษตรเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีฉลองรัชเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเทา และสถานีลำสาลีเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสีส้ม โดยจะมีการก่อสร้างอาคารจอดแล้วจรที่แยกบางกะปิ เพื่อส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน

ส่วนระบบทางด่วน จะเป็นการต่อขยายแนวทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และส่วนต่อขยายไปยังถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก เชื่อมต่อทางยกระดับอุตราภิมุข – ทางพิเศษศรีรัช – ถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันตกที่ต่างระดับรัชวิภา เพื่อเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบทางพิเศษระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพมหานคร โดยแนวโครงการจะมีเริ่มต้นจากถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออกมาตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านแนวคลองบางบัว คลองบางเขน แล้วเลียบขนานไปตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต จนถึงทางแยกต่างระดับรัชวิภา รวมระยะทางประมาณ 17.2 กิโลเมตร

นายชัยวัฒน์ฯ กล่าวตอนท้ายว่า จากผลการศึกษาพบว่ารูปแบบการพัฒนาด้วยระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลและระบบทางด่วนบนสายทางเดียวกันมีความเหมาะสมที่จะสามารถรองรับการเดินทางได้ดีที่สุดและให้ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจในอัตราที่สูงมาก โดยรถไฟฟ้าจะให้ผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ ร้อยละ 22.3 และสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนทางราง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความสะดวก ปลอดภัย และประหยัดเวลาการเดินทางของประชาชน ในขณะที่ทางด่วนให้ผลตอบแทน ร้อยละ 38.9

การเชื่อมโยงโครงข่ายการจราจรระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยลดปัญหาการจราจรบริเวณถนนงามวงศ์วานและถนนประเสริฐมนูกิจ รวมทั้งเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติ โดยจะดำเนินการก่อสร้างระบบทางด่วนควบคู่ไปกับการจัดทำฐานรากของระบบรถไฟฟ้า เพื่อลดปัญหาการจัดการพื้นที่ก่อสร้างซึ่งจะเป็นการบรรเทาปัญหาการจราจรในระหว่างการก่อสร้าง โดยคาดว่าระบบทางด่วนจะเปิดใช้บริการได้ในปี 2567  ส่วนรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะเปิดใช้บริการได้ในปี 2568