p2

เส้นทางพหลโยธินดูเหมือนจะเนื้อหอม และมีความสำคัญในการเป็นจุดศูนย์รวม และเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังเส้นทางอื่นๆ ได้แทบทุกเส้นทาง ล่าสุดได้มีการเตรียมสรุปแผนการสร้างเครือข่ายการขนส่งขึ้นที่พหลโยธิน โดยมีหัวหอกอย่าง สนข. เป็นผู้นำในการจัดสัมมนาในเรื่องนี้ขึ้นว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

ทั้งนี้สำนักงานพัฒนาระบบการขนส่งและจราจรสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเรื่องนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกคือ งานศึกษาพัฒนาระบบการเาชื่อมต่อการเดินทางบริเวณศูนย์คมนาคมพหลโยธิน โดย นายวิจิตต์ นิมิตวานิช ผู้อำนวยการ สนข. เปิดเผยว่า การพัฒนาพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน พื้นที่ขนาด 2,352 กว่าไร่นั้นมีความสำคัญ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเชื่อมโยงกับย่านธุรกิจที่สำคัญ และในอนาคตก็จะมีคมนาคมระบบรางเกิดขึ้นอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – รังสิต และบางซื่อ – ตลิ่งชัน และเป็นที่ตั้งสถานีกลางบางซื่อ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ช่วงบางซื่อ – พญาไท รถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่ บางซื่อ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางซื่อ -ท่าพระ และบางซื่อ – ราษฎร์บูรณะ  รวมถึงรถไฟฟ้าความเร็วสูงตามโครงการลงทุนในวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ที่ใช้สถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีปลายทาง คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการวันละ 100,000 คน เพราะฉะนั้นการสร้างระบบการเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณศูนย์คมนาคมพหลโยธินจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าไปใช้บริการถไฟฟ้าที่ผ่านสถานีกลางบางซื่อได้สะดวกขึ้น

ทั้งนี้ในระยะแรกได้ออกแบบการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยทางเดินเท้า เป็น 3 จุด คือ

1.สถานีกลางบางซื่อ

2.รถไฟฟ้าใต้ดินสถานีกำแพงเพชร

3.รถไฟฟ้าใต้ดินสถานีจตุจักรซึ่งเป็นจุดเดียวกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต

โดยระยะห่างระหว่างสถานีอยู่ที่ 50 เมตร – 1.5 กม. รวมพื้นที่127.5 ไร่

ทั้งนี้รูปแบบของศูนย์จะเป็นโครงสร้างใต้ดิน มีทั้งหมด 3 ชั้น โดยชั้นที่ 1 สร้างเป็นชอปปิ้งมอลล์ ชั้นที่ 2 เป็นเอนเตอร์เทนเมนท์  และชั้นที่ 3 เป็นที่จอดรถ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นลักษณะเดียวกับประเทศเปรูและญี่ปุ่น ที่ทำการเชื่อมโยงการเดินเท้าของประชาชนไว้ใต้ดิน และมีสิ่งอำนวยความสะดวกไว้บริการ

สำหรับระยะแรกจะเป็นการสร้างทางเดินเท้าก่อน เนื่องจากลงทุนต่ำ และสร้างรายได้จากการเช่าพื้นที่ได้ ส่วนระยะต่อไปก็สร้างระบบขนส่งมวลชน ขนาดรองทั้งรถราง รถไฟฟ้ารางเดี่ยว โมโนเรล รถไฟฟ้าล้อยาง หรือรถด่วนบีอาร์ที ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาว่าจะเลือกรูปแบบใด

อย่างไรก็ตาม สนข. ได้ศึกษาโครงการตั้งแต่เดือน ส.ค. 2555 และคาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จในเดือน ต.ค.นี้  จากนั้นก็เปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งหนึ่ง ก่อนนำเสนอกระทรวงคมนาคมต่อไป โดยดำเนินงานโดย การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

ที่มา :กรุงเทพธุรกิจ