ส.ไทยรับสร้างบ้าน เผย 2 เดือนตลาดรับสร้างบ้านคึกคัก แต่ห่วงเศรษฐกิจปีนี้ไม่ฟื้นตัว อาจฉุดกำลังซื้อถดถอย ประเมินปริมาณบ้านสร้างเองทั่วประเทศ 8 หมื่นหน่วย มีแนวโน้มเลือกใช้บริการรับสร้างบ้านสูงถึง 1.6 หมื่นหน่วย แต่แชร์ตลาดจริงได้แค่ 1 ใน 3 คิดเป็น 5 หมื่นหน่วยต่อปี แนะผู้ประกอบการเร่งปรับตัว ทั้งการขยายทำเล การลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการ หลีกเลี่ยงการแข่งขันราคา ชี้ตลาดรับสร้างบ้านในกทม.เป็นเรดโอเชียนแล้ว
นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน เผยว่าตลาดรับสร้างบ้าน 2 เดือนแรกที่ผ่านมา ( มค.-กพ. 2559) มีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกับปีที่แล้ว แต่ยอมรับว่ายังน่าเป็นห่วงในระยะถัดไป ด้วยเพราะไม่มีปัจจัยบวกใดๆ มาสนับสนุนความเชื่อมั่นผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ และปัจจัยทางเศรษฐกิจก็ยังส่อแววไม่ฟื้นตัวจริง แต่ภาพการฟื้นตัวของตลาดรับสร้างบ้านที่เห็นอาจเป็นไปได้ว่า กลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้านเอง มีการจัดกิจกรรมการตลาดกันคึกคักมากขึ้น และก็ถือว่าประสบความสำเร็จในแง่การกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคที่อั้นมานาน อย่างไรก็ดี แนวโน้มเศรษฐกิจในปีนี้ที่ยังทรงตัวหรือชะลอตัว อาจส่งผลให้กำลังซื้อใหม่ชะลอตัวตามกัน ขณะที่รัฐบาลเองก็มีมาตรการสนับสนุนเฉพาะบ้านจัดสรรเป็นหลัก ดังนั้น ผู้ประกอบการคงต้องปรับตัวเองอย่างมาก เพื่อจะประคองตัวให้ผ่านพ้นสถานการณ์ยากลำบากปี 2559 นี้ไปให้ได้
ปี 2559 นี้ สมาคมฯ ประเมินว่าปริมาณ “บ้านสร้างเอง” ทั่วประเทศมีจำนวนประมาณ 8 หมื่นหน่วย โดยประชาชนที่มีแนวโน้มเลือกใช้บริการผู้ประกอบการ “รับสร้างบ้าน” คาดว่ามีสัดส่วนร้อยละ 18-20 หรือประมาณ 1.5-1.6 หมื่นหน่วยเศษ ส่วนที่เหลือร้อยละ 80 ยังคงใช้บริการผู้รับเหมาทั่วไปและรายย่อย โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มประชาชนที่สร้างบ้านราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดและส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัด กลุ่มนี้บริษัทรับสร้างบ้านส่วนใหญ่ไม่สามารถให้บริการได้ เพราะมูลค่าต่อหน่วยต่ำและไม่คุ้มค่าดำเนินการ อีกกลุ่มได้แก่ ผู้บริโภคที่มีแนวโน้มเลือกว่าจ้างบริษัทสถาปนิกออกแบบ โดยเมื่ออกแบบเสร็จแล้วผู้รับเหมาก็จะประมูลราคาแข่งขันกัน บริษัทรับสร้างบ้านส่วนใหญ่จะไม่นิยมร่วมประมูลงานลักษณะนี้
“การพัฒนาขนาดของตลาดรับสร้างบ้านให้ขยายและเติบโตนั้น ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น ชมรมฯ สมาคมการค้า ไม่ควรมองแค่การขยายตัวเฉพาะปริมาณและมูลค่ารวมเท่านั้น แต่ควรให้ความสำคัญกับการขยายทำเลหรือพื้นที่ควบคู่กันไป ในอดีตที่ผ่านมา เค้กก้อนเดิมของผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่แข่งขันกันอยู่ในธุรกิจนี้ก็คือ ทำเลหรือพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีผู้ประกอบการอยู่จำนวนหนึ่งแข่งขันและแบ่งเค้กกัน ปัจจุบันขนาดเค้กยังเท่าเดิมหรืออาจเล็กลงด้วยซ้ำ แต่มีผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่เพิ่มมากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อเศรษฐกิจประเทศชะลอตัวหรือหดตัว ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่แข่งขันอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ ที่กลายเป็นตลาดเรดโอเชียนไปแล้ว ต้องประสบปัญหาทางธุรกิจและการเงินอย่างรุนแรง“
สำหรับแนวทางการปรับตัวที่ผู้ประกอบการควรหันมาให้ความสำคัญได้แก่การหาทางลดต้นทุนที่เกิดจากความผิดพลาดเสียหายของงานก่อสร้างเช่นหันมาใช้ระบบก่อสร้างกึ่งสำเร็จรูปหรือผลิตในโรงงานมากขึ้นฯลฯรวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการเช่นสร้างนวัตกรรมหรือบริการใหม่ๆที่ตอบโจทย์และโดนใจผู้บริโภคหรือการพัฒนาซัพพลายเชนเพื่อนำเสนอบริการลูกค้าได้แบบเป็นแพคเกจเดียวกันหรือแม้แต่การพัฒนาเป็นระบบแฟรนไชส์ก็ถือว่าเป็นการปรับตัวและสร้างมูลค่าเพิ่มได้เช่นกันฯลฯเป็นต้นทั้งนี้หากว่าผู้ประกอบการไม่มีการปรับตัวใดๆแนวทางการแข่งขันก็คงไม่อาจหลีกหนีการแข่งขันราคาซึ่งสวนทางกับลักษณะธุรกิจรับสร้างบ้านที่จุดขายไม่ใช่ราคาต่ำแต่คือคุณภาพการบริการและความคิดสร้างสรรค์
อย่างไรก็ดี ตัวเลขของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มเลือกใช้บริการผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน มีจำนวนถึง 1.5-1.6 หมื่นหน่วยนั้น แต่ในความเป็นจริงพบว่าผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน ที่แข่งขันอยู่ในธุรกิจนี้ ปัจจุบัน มีแชร์ส่วนแบ่งตลาดเพียงปีละ 4,800-5,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 1 ใน 3 เท่านั้น ซึ่งจากข้อมูลสะท้อนได้ว่าโอกาสทางการตลาด ของกลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้านยังมีอยู่อีกมาก หากว่าสามารถเข้าถึงกำลังซื้อผู้บริโภคในต่างจังหวัด หรือขยายการให้บริการให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น มิใช่แข่งขันกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ หรือแย่งเค้กก้อนเดิมที่นับวันเล็กลงๆ นายสิทธิพร กล่าวสรุป