Rhythm-Asoke-19

เรียกได้ว่าพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จากการเวนคืนนั้นยังมีศักยภาพ และสามารถพัฒนาให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งล่าสุด รฟม. ได้ระดมความเห็นจากหลายฝ่ายเพื่อพัฒนาพื้นที่รอบสถานีของระบบขนส่งมวลชนและการจัดรูปที่ดินเสียใหม่โดยนำร่องพัฒนาพื้นที่พันไร่ ย่านพระราม 9 และสายสีส้มและสายสีชมพูร่วมกับการเคหะแห่งชาติ


ทั้งนี้นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานงานสัมมนาเรื่อง “รฟม.กับข้อจำกัดการใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จากการเวนคืน : อุปสรรค ปัญหา และทางออก” ว่าเป็นการระดมรับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย ในประเด็นที่รฟม.มีความประสงค์จะนำที่ดินที่ได้จากการเวนคืนดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อให้รัฐสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวได้อย่างเต็มศักยภาพ
โดยมีแนวคิดการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีของระบบขนส่งมวลชน(Transit Oriented Development : TOD) และแนวคิดการจัดรูปที่ดิน(Land Readjustment) ในเส้นทางตามแนวรถไฟฟ้า จุดสถานี และเดโปรถไฟฟ้าสายต่างๆที่รฟม.ดำเนินการ ซึ่งเห็นว่าจุดที่ดินช่วงต้นทางและปลายทางน่าจะนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ได้ อีกทั้งยังพร้อมเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่เข้าร่วมสนับสนุนโครงการเหล่านี้

โดยเบื้องต้นจะพัฒนาพื้นที่ประมาณ1,000ไร่ ย่านพระราม 9 ก่อน หลังจากนั้นจะไปพัฒนาในจุดเดโปย่านมีนบุรีของสายสีส้มและสายสีชมพู ตลอดจนสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-คูคต ภายใต้ความร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติ อย่างไรก็ดีขณะนี้มีแผนก่อตั้งบริษัทลูกให้ได้ 5 บริษัทคือ บริษัทเพื่อการเดินรถ บริษัทเพื่อการพัฒนาพื้นที่ TOD บริษัทเพื่อการโฆษณา/ร้านค้า บริษัทเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงหรือฟีดเดอร์ และบริษัทเพื่อให้บริการสถานี โดยจะเร่งนำเสนอก่อตั้งบริษัทลูกในการพัฒนา TOD เข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดรฟม.ในเดือนกันยายนนี้

เนื่องจากเห็นว่าในขณะที่รฟม.ใช้เงินภาษีของประชาชนในการเวนคืน แต่กลับไม่สามารถนำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ได้เต็มศักยภาพ โดยเฉพาะพื้นที่ในส่วนที่เหลือไปพัฒนาต่อยอดในการหารายได้ให้คุ้มค่าในผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อันเป็นการช่วยลดภาระการอุดหนุนของภาครัฐ และลดการก่อหนี้สาธารณะของรฟม.ซึ่งหากสามารถเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าได้ครบ 6 เส้นทางรวมระยะกว่า 200 กม. คาดว่าจะมีผู้ได้โดยสารทั้งสิ้นกว่า 5 ล้านคนได้อย่างลงตัวพอดี

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,871 วันที่ 18 -21 สิงหาคม พ.ศ. 2556