การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ตั้งขึ้นในปี 2433 เป็นรัฐวิสาหกิจในกระทรวงคมนาคม ทำหน้าที่ดูแลกิจการด้านรถไฟของประเทศไทย มีทางรถไฟอยู่ภายใต้ขอบเขตดำเนินการทั้งหมด 4,070 กม. และมีที่ดินในมือมากกว่า 270,000 ไร่ทั่วประเทศ ซึ่งแม้ว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินรายใหญ่ที่สุด แต่…ก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานของรัฐที่มีหนี้มากที่สุด

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รฟท. ประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ในปี 2565 รฟท.คาดการณ์ว่าจะมีเงินสดรับ 60,965.26 ลบ. และเงินสดจ่าย 74,565.26 ลบ. โดยมีเงินสดยกมาจากปี 2564 จำนวน 100 ลบ. ส่งผลให้ รฟท.ขาดเงินสดไว้ใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 13,500 ลบ. จึงจำเป็นต้องกู้เงินในจำนวนดังกล่าวเพื่อให้มีเงินสดหมุนเวียนในการใช้จ่ายดำเนินงาน การลงทุน การจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญ และการชำระหนี้เงินกู้ โดย รฟท.คาดว่าจะเริ่มขาดเงินในช่วงเดือนตุลาคม 2564

ล่าสุดเมื่อ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา ครม. ได้เห็นชอบให้ รฟท. ดำเนินการกู้เงินเพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่อง ในปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 13,500 ลบ. และเงินกู้ระยะสั้น (วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี) วงเงิน 800 ลบ.

อ้างอิงจาก Bloomberg และ The Standard Wealth ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รฟท. ขาดทุนรวมกว่า 40,000 ลบ. ซึ่งเพื่อแก้ปัญหาหนี้ที่สะสมมานาน รฟม. ได้มีการวางแนวคิดที่จะสร้างรายได้จากทรัพย์สินที่มีอยู่ โดยการนำเอาที่ดินมาให้เอกชนประมูลเพื่อพัฒนาร่วมกัน

จากมุมมองของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หนึ่งในโครงการที่มีความเป็นไปได้คือ #สถานีกลางบางซื่อ ที่เพิ่งเปิดใช้งานสดๆ ร้อนๆ มีมูลค่าการลงทุนกว่า 44,000 ลบ. พื้นที่โดยรอบกว้างถึง 2,325 ไร่ ซึ่งสามารถพัฒนาเป็น อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า และที่อยู่อาศัย

หากความพยายามของ รฟท. ประสบความสำเร็จ ศักดิ์สยาม มองว่า รฟท. อาจมีมูลค่ามากกว่า บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ มีมูลค่าแบรนด์องค์กร 788,000 ลบ.

ที่มา: