เมื่อช่วงต้นอาทิตย์ที่ผ่านมา ข่าวที่สั่นสะเทือนวงการอสังหาริมทรัพย์ คงหนีไม่พ้นการขายหุ้น “มั่นคงเคหะการ” 20.64% ของ “กลุ่มตั้งมติธรรม” ให้กับ “สุเทพ วงศ์วรเศรษฐ” เจ้าของ Castle Peak Development และ CPD Holding ที่เหมาซื้อในราคาหุ้นละ 6.75 บาท รวมเป็นเงินกว่า 1,198.46 ล้านบาท
ภายหลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น นายชวน ตั้งมติธรรม นางอัญชัน ตั้งมติธรรม และ น.ส.ชุติมา ตั้งมติธรรม ได้ขอลาออกจากการเป็นกรรมการของบริษัท โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งนายสุเทพ วงศ์วรเศรษฐ เป็นประธานคณะกรรมการบริษัท นายฟิลิปวีระ บุนนาค และนางสุธิดา สุริโยดร เป็นกรรมการบริหารบริษัท
วันนี้ Think of Living จะพาไปย้อนอดีตของ “มั่นคงเคหะการ”…เริ่มตั้งแต่ปี 1956 ห้างหุ้นส่วนแห่งหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นภายใต้ชื่อจดทะเบียนว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล มั่นคงสถาปัตย์” เพื่อรับเหมาก่อสร้างอาคารประเภทต่างๆ หลังจากนั้นอีก 5 ปี ได้เริ่มประกอบธุรกิจอาคารและที่ดินควบคู่กับงานรับเหมาก่อสร้าง ต่อมาในปี 1968 จึงได้จัดตั้ง “ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.มั่นคงเทรดดิ้ง” ขึ้นมาอีกหน่วยงานหนึ่ง เพื่อดำเนินธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายค้าปลีกและค้าส่งวัสดุก่อสร้าง และรวมกันเป็น “บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด”ในปี 1973 ด้วยทุนจดทะเบียน 8 ล้านบาท
ในปี 1977 มั่นคงเคหะการเริ่มสร้างหมู่บ้านจัดสรร “ชุมชนชวนชื่น” ที่ประชาชื่นเป็นแห่งแรก และเติบโตขึ้นตามลำดับด้วยผลงานที่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ต่อมาได้รับการพิจารณาให้เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 1990 ถือเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในยุคแรกๆ ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อจาก Land & House และแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนในปี 1993
และทั้งหมดนี้จะสำเร็จไม่ได้เลย หากขาดผู้ชายที่ชื่อ “ชวน ตั้งมติธรรม” ลูกชายคนโตของตระกูล ผู้สืบทอดกิจการโรงไม้ของครอบครัว มีน้องชาย 2 คน คือ “ประทีป-ประสาส์น ตั้งมติธรรม” ผู้ร่วมบุกเบิก “มั่นคงเคหะการ” มาด้วยกัน ก่อนจะแยกตัวออกไปตั้ง “ศุภาลัย” ด้วยเหตุผลบ้างประการ…เหลือเพียงคุณชวนที่เป็นเสาหลักในการบริหาร โดยมีทายาท 2 คน “ชูเกียรติ-ชุติมา ตั้งมติธรรม” เข้ามาช่วยในเรื่องการตลาดและการเงิน
จากนโยบายการบริหารแบบอนุรักษ์นิยม ทำให้ในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 มั่นคงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ต่างจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายอื่นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้ถือหุ้นเดิมยังคงสามารถรักษาสัดส่วนการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่มีการขายหุ้นเพื่อดึงพันธมิตรเข้ามา และเมื่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวอีกครั้งในปี 2001 มั่นคงก็เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มแรกๆ ที่เปิดตัวโครงการใหม่ และรุกเข้าสู่ตลาดได้อีกครั้ง
ข้อดีของการบริหารแบบอนุรักษ์นิยม อาจได้ผลในช่วงเศรษฐกิจขาลง ซึ่งหลังจากที่ตลาดอสังหาฯ เริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง ความร้อนแรงก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการบริหารแบบค่อยเป็นค่อยไปตามสไตล์ของมั่นคง ทำให้อัตราการเติบโตของบริษัท ไม่ค่อยหวือหวา เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่อยู่ในตลาด โครงการของบริษัทฯ หลักๆ เป็นบ้านเดี่ยว ที่รู้จักกันในนาม “ชวนชื่น” และ “สิรินเฮ้าส์” จนกระทั่งในปี 2010 มั่นคงตัดสินใจเปิดแบรนด์คอนโดครั้งแรก คือ Den วิภาวดี และ August พระราม 3- เจริญกรุง ซึ่งไม่ค่อยได้กระแสตอบรับที่ดีนัก ทำให้บริษัทชะลอการพัฒนาโครงการแนวสูงไว้ก่อน
ในปี 2015 มั่นคงฯ แถลงแผนขยายการลงทุน โดยเตรียมที่ดินไว้ 2 แปลง สำหรับทำโครงการคอนโดมิเนียม ทำเลถนนอรุณอัมรินทร์ – สะพานพระราม 8 และทำเลถนนสุขสวัสดิ์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นโครงการคอนโดมิเนียมท่ีเปิดขายเพิ่มเติมในปี 2558 และมี การพิจารณาสรรหาท่ีดินแปลงใหม่เพิ่มขึ้นเพื่อจัดทำโครงการอย่างต่อเนื่อง
ก่อนที่จะมีข่าวฟ้าฝ่าวงการอสังหาฯ ช่วงกลางปีว่า คุณชวนและครอบครัว ได้ขายหุ้นเกือบทั้งหมดให้กับเจ้าพ่อการเงินอย่าง “สุเทพ วงศ์วรเศรษฐ” ถือเป็นการยุติบทบาทตลอด 59 ปีของ “ชวน ตั้งมติธรรม” อย่างเป็นทางการ…
สำหรับสิ่งที่วางไว้คร่าวๆ ในอนาคต คุณสุเทพ ผู้มีประสบการณ์บริหารบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่ง เปิดเผยว่า มีแผนจะเพิ่มรายได้จากการเก็บค่าเช่า ทำให้มั่นคงฯ กลายเป็นบริษัทอสังหาครบวงจร ซึ่งจะมีโอกาสเป็นจริงแค่ไหน เราคงต้องดูกันต่อไป 😉
มั่นคงเคหะการ พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รวม 52 โครงการ ช่วงปีที่ผ่านมา มียอดรับรู้รายได้ประมาณ 2,400 ล้านบาท กำไรสุทธิอยู่ที่ 450 ล้านบาท และหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่ำ 1,500 ล้านบาท