บมจ.มั่นคงเคหะการ (MK) รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2564 มีรายได้จากการขายและบริการจำนวน 786.26 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตเพิ่ม 6.12% เป็นธุรกิจเพื่อขายที่อยู่อาศัย (Real Estate) มีจำนวน 664 ล้านบาท และธุรกิจเพื่อเช่าและการบริการ (Recurring Income) มีจำนวน 122.27 ล้านบาท ด้านธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าให้เช่ายังโตต่อเนื่องด้วยอัตราการเช่า (Occupancy rate) โครงการบางกอกฟรีเทรดโซน หรือ BFTZ สูงกว่า 90% โดยภาพรวม 9 เดือนของกลุ่มบริษัทมีรายได้ 1,893.58 ล้านบาท พร้อมกางแผนเดินหน้าลุยธุรกิจ Recurring Income ตอกย้ำแนวคิดการสร้างฐานธุรกิจแบบกระจายความเสี่ยง เพื่อให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ปรับโครงสร้างรายได้ที่วางไว้ (Sustainability Development Roadmap) โดยเน้นเล็งหาโอกาสใหม่ๆ หวังต่อยอดทางธุรกิจที่กลุ่มบริษัทมี

นายวรสิทธิ์ โภคาชัยพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) (Mr. Vorasit Pokachaiyapat Chief Executive Officer of M.K. Real Estate Development Public Company Limited) หรือ MK บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย เพื่อเช่าและเพื่อการบริการ เปิดเผยผลการดำเนินงาน สำหรับไตรมาส 3 ปี 2564 (สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2564) ว่า บริษัทและบริษัทย่อย ขาดทุนสุทธิจำนวน 62.31 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 125.04 ล้านบาท สืบเนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามในส่วนของรายได้จากการขายและบริการ มีจำนวน 786.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.38 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.12% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันกับปี 2563 ที่มีรายได้อยู่ที่ 740.88 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นรายได้จากธุรกิจเพื่อขายที่อยู่อาศัย (Real Estate) มีจำนวน 664 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.52 ล้านบาท หรือ 8.59% และธุรกิจเพื่อเช่าและการบริการ (Recurring Income) มีจำนวน 122.27 ล้านบาท ลดลง 7.14 ล้านบาท หรือ 5.52% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปีก่อน เนื่องด้วย “บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด” ได้ขายทรัพย์สินบางส่วนเพื่อโอนเข้าทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ พรอสเพค โลจิสติกส์และอินดัสเทรียล (“กองทรัสต์”) ทั้งนี้ธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าโครงการบางกอกฟรีเทรดโซน ซึ่งบริหารงานโดย “บริษัท พรอสเพค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด” ยังคงมีทิศทางการเติบโตที่ดี ไตรมาสนี้สามารถสร้างอัตราการเช่า (Occupancy rate) ได้สูงกว่า 90% ทั้งนี้สำหรับภาพรวมการทำงาน 9 เดือนของกลุ่มบริษัทมีรายได้ทั้งสิ้นจำนวน 1,893.58 ล้านบาท

“ไตรมาส 3 กลุ่มบริษัทยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดีเรายังคงดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ และให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการภายใน โดยเฉพาะการควบคุมต้นทุนและปรับลดค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน และด้วยการบริหารจัดการที่ดีส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินงานไตรมาสนี้ลดลง 21.84 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน”

ทั้งนี้จากภาพรวมรายได้ทั้งหมดของกลุ่มบริษัท เห็นได้ว่ามีรายได้จากการขายและบริการที่สูงขึ้นกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 45.38 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 6.12% โดยในส่วนรายได้ของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อยู่ที่ 664 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.51 ล้านบาท หรือ 8.59%, ธุรกิจให้เช่าและบริการ มีจำนวน 88.28 ล้านบาท ลดลง 1.71 ล้านบาท หรือ 1.89%, ธุรกิจสนามกอล์ฟ และธุรกิจบริหารอสังหาริมทรัพย์ มีจำนวน 11.71 ล้านบาท ลดลง 16.31 ล้านบาท หรือ 58.21% เนื่องจากมาตรการปิดสถานที่ให้บริการต่างๆเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้สนามกอล์ฟต้องหยุดให้บริการตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม 2564 เป็นระยะเวลา 40 วัน โดยปัจจุบันได้กลับมาเปิดให้บริการตามปกติตามมาตรการของภาครัฐฯ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากเหล่านักกอล์ฟ

สำหรับธุรกิจบริการด้านสุขภาพโครงการรักษ (RAKxa) ค่อนข้างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้เช่นกันเพราะเป็นสถานประกอบการที่เข้าข่าย ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายมุ่งสู่การเป็น World Class medical wellness destination “รักษ” ได้มีการปรับกลยุทธ์เพิ่มเติมเพื่อให้ สอดรับกับนโยบายการเปิดประเทศ โดยมีการทำงานร่วมกับภาครัฐส่วนต่างประเทศ รวมถึงมีการติดต่อทำสัญญา การขายกับตัวแทนขายต่างประเทศมากขึ้น เร่งทำการตลาดเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าอย่างต่อเนื่อง มีการเสนอขายแพคเก็จในราคาพิเศษการใช้สื่อดิจิทัล การเพิ่มแผนฝึกอบรมพนักงานทุกจุด รวมถึงเรื่องการควบคุมค่าใช้จ่ายอีกด้วย

“สำหรับไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดว่าภาพรวมธุรกิจน่าจะกลับมาสดใส ปัจจัยจากการที่ภาครัฐฯ ได้ออกมาประกาศนโยบายผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ต่างๆ พร้อมทั้งมีการเปิดประเทศ นับเป็นการเรียกความเชื่อมั่นทั้งจากนักลงทุนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งค่อนข้างเป็นผลบวกกับกลุ่มบริษัท เนื่องด้วยมีธุรกิจที่สามารถรองรับต่อการเติบโตของประเทศไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นฝั่งธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าให้เช่า รวมถึงธุรกิจบริการด้านสุขภาพ อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้มีการผ่อนคลายเกี่ยวกับมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value : LTV) เป็นการชั่วคราวจนถึงปลายปี 2565 ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคให้กลับมาอีกครั้ง และเพื่อรองรับต่อมาตรการปลดล็อกดังกล่าว ในฝั่งการขายที่อยู่อาศัยเรามีการเตรียมความพร้อมแบบครอบคลุมทุกด้านเพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอขายสินค้า โปรโมชั่นต่างๆ การให้คำปรึกษาการขอบริการสินเชื่อ รวมไปถึงการให้บริการหลังการขายควบคู่กับการสร้างความมั่นใจในมาตรการเข้าเยี่ยมชมโครงการอย่างปลอดภัย”

“ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ปรับโครงสร้างรายได้ที่วางไว้ (Sustainability Development Roadmap) และเพื่อกระจายความเสี่ยงในการดำเนินงาน เรายังคงมุ่งมั่นมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อมาต่อยอดจากธุรกิจเดิมที่กลุ่มบริษัทดำเนินการอยู่โดยเฉพาะในฝั่งธุรกิจเพื่อเช่าและการบริการหรือ Recurring Income ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของธุรกิจโรงงานและคลังสินค้าให้เช่ารวมถึงธุรกิจเพื่อสุขภาพซึ่งทั้งหมดกำลังอยู่ในระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ และคาดว่าน่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นในปี 2565” นายวรสิทธิ์ กล่า