บทความของอาจารย์ครับ รศ.มานพ พงศทัต เป็นผู้ที่สอนวิชาเรียลเอสเตทให้กับผม ท่านให้ความรู้ผมเยอะมากๆ ต้องขอบพระคุณท่านมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
วันนี้อาจารย์ได้วิเคราะห์กรุงเทพ เกี่ยวกับเรื่อง ฝนตก รถติด น้ำท่วม ว่ามีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร จะแก้ไขปัญหากันอย่างไร กล่าวย้อนไปถึงตั้งแต่สมัยปี 2500 มาจนถึงปัจจุบัน ว่าผังเมืองของกรุงเทพมหานครนั้นมีความเป็นอย่างไร ผมตัดช่วง Highlight มาให้อ่านกันนิดหน่อย อ่านเต็มๆได้ที่ลิงก์ข้างล่างจาก Thai Builder News ครับ
กรุงเทพฯ คือ “กรุงเทพฯ ต้องมีผังเมือง” โดยให้ที่ปรึกษาชาวอเมริกันชื่อ Richfield เข้ามาทำผังเมืองฉบับแรก (มิได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายแต่เป็นผังใช้ชี้แนะ และเป็นผังเมืองฉบับประวัติศาสตร์ฉบับแรก) นักผังเมืองเรียกกันว่า “ผังเมืองฉบับ Richfield” โดยสิ่งที่ดีมีอยู่เยอะ และสิ่งที่ทำให้เมืองเปลี่ยนไปก็เยอะ
ที่แน่ๆ คือแนะนำให้สร้างถนนมากขึ้น มีถนนวงแหวนซึ่งก็ต้องถมคลองมากมาย เช่น ถนนเพชรบุรี ถนนพระราม 1 พระราม 4 เป็นการขยายถนนโดยการถมคลองทั้งสิ้น แต่ก็มีสิ่งดีคือเสนอให้ขุดคลองส่งน้ำลงทะเล 2 ข้าง ตะวันออก/ตกของกรุงเทพฯ (เราถมทำถนนแต่ไม่ได้ขุดคลอง) ซึ่งขณะนั้นประชากรกรุงเทพฯ มีไม่ถึง 4 ล้านคน กรุงเทพฯ มีพื้นที่ 1,500 km2 เคยเป็นที่น้ำเอ่อท่วม เป็นท้องนาปลูกข้าวได้ดี ได้กลายเป็นมหานครใน 50 ปี ทุกปีในหน้าฝน กรุงเทพฯ จะเจอ 3 น้ำ คือ 1. ฝนตก-รถติด 2. น้ำเหนือเอ่อลงมาท่วมในเดือนกันยา-ตุลา (ยิ่งมีพายุยิ่งมีปัญหา) และ 3. น้ำทะเลหนุนในเดือนตุลาน้ำนองตลิ่ง พอกรุงเทพฯ เป็นมหานคร การขนส่งเมืองใหญ่เริ่มแรกใช้ถนน รถยนต์มากเหลือเกิน ขนส่งมวลชนมองข้าม (รถรางสมัย ร.5 ยกเลิกปี 2500)