The-Niche-mono-รัชวิภา-วิว-A2_ทิศเหนือ

เมื่อวันที่ 17 เมษายน ศ.อมร พิมานมาศ นักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองคุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ว่า แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวที่ทำให้โครงสร้างอาคารบ้านเรือนถล่มพังเสียหายตั้งข้อสันนิษฐานว่า เป็นเพราะโครงสร้างของบ้านไม่แข็งแรงพอ

โดยข้อสันนิษฐานนี้อาจขัดกับความเข้าใจของคนทั่วไปที่ส่วนใหญ่เข้าใจว่าประเทศญี่ปุ่นมีการออกแบบอาคารที่ได้มาตรฐานเพราะเผชิญเหตุแผ่นดินไหวบ่อยครั้งแต่ในความเป็นจริงแล้วบ้านหลังเล็กๆ ในญี่ปุ่นมักก่อสร้างตามแบบแผนในอดีต ซึ่งเสานิยมก่อสร้างจากไม้ขนาดเล็ก รอยต่อระหว่างคานและเสาไม่แข็งแรงพอ หลังคาที่ทำจากกระเบื้องมีน้ำหนักมาก ส่วนอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่ก่อสร้างหลายชั้น และเกิดความเสียหายด้วยนั้น คาดว่าเป็นโครงสร้างเก่าที่ก่อสร้างมาก่อนจะมีการปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบต้านแผ่นดินไหว

Credit Photo: IBTIMESCredit Photo: IBTIMES

ศ.อมรกล่าว่า ประเทศญี่ปุ่นมีการปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบต้านแผ่นดินไหวหลักๆ 2 นักครั้ง คือ ในปี ค.ศ.1981 และปี ค.ศ.1995 ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวที่เมืองโกเบ ดังนั้นหากเป็นอาคารที่ก่อสร้างก่อนปี ค.ศ.1981 เชื่อว่าไม่แข็งแรงพอที่จะต้านแผ่นดินไหวแน่นอน และอาคารในประเทศญี่ปุ่นมีเพียง 75% เท่านั้นที่ออกแบบและก่อสร้างได้มาตรฐานต้านแผ่นดินไหว แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะมีมาตรการให้เงินสนับสนุนบางส่วนแก่เจ้าของอาคารในการปรับปรุงอาคารเก่าให้ได้มาตรฐานแต่เจ้าของอาคารบางส่วนก็ยังไม่ทำการปรับปรุงอาคาร

สำหรับในประเทศไทยพื้นที่ที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวในระดับปานกลาง เช่น ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีอาคารที่มีโครงสร้างที่อ่อนแอเช่นกัน ดังนั้นการออกแบบอาคารใหม่จะต้องคำนึงแรงแผ่นดินไหว ส่วนอาคารเก่าก็ควรทำการประเมินด้วยว่าสามารถต้านแผ่นดินไหวได้ในระดับใด เพื่อปรับปรุงหรือเสริมความมั่นคงอาคารให้แข็งแรงต่อไป

ที่มาข่าว: มติชนออนไลน์