เมื่อตกลงใจซื้อคอนโดมิเนียมหรือหมู่บ้านจัดสรรที่มีนิติบุคคลบริหารจัดการส่วนกลางแล้ว เป็นที่แน่นอนว่าสิ่งที่เราต้องยอมรับกับค่าใช้จ่ายที่จะตามมานั่นก็คือ‘ค่าส่วนกลาง’ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ซื้อหรือผู้ที่เป็นเจ้าของทุกราย และในทุกๆ ปีจะต้องมีการจัดเก็บ ‘ค่าส่วนกลาง’ นี้เพื่อนำไปใช้ในการดูแลและปรับปรุงพื้นที่ส่วนกลางให้ดูใหม่และน่าใช้งานอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในปัจจุบันการเรียกเก็บการชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางส่วนใหญ่มักจะไม่สามารถเรียกเก็บได้ครบ 100% บ่อยครั้งที่ทางนิติบุคคลทั้งอาคารชุดฯ และหมู่บ้าน มักได้รับข้ออ้างในการปฏิเสธ หรือผัดผ่อนในการชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง รวมถึงไม่ยอมชำระค่าเบี้ยปรับ (เงินเพิ่ม) ในกรณีชำระค่าส่วนกลางล่าช้า โดยอ้างถึงสาเหตุต่างๆ นานา เช่น

“ไม่ได้เข้ามาอยู่อาศัยเลยเพราะเป็นนักลงทุน ซื้อเก็บไว้เป็นสินทรัพย์ในมืออยู่หลายโครงการ”

“ไม่เคยมาใช้บริการส่วนกลางใดๆ เลย แล้วทำไมต้องจ่ายค่าส่วนกลางด้วย”

“ไม่รู้มาก่อนว่ามีการเรียกเก็บค่าส่วนกลางภายในวัน/เวลาที่กำหนด เพราะไม่ได้รับใบแจ้งหนี้”

“ไม่พอใจในการให้บริการของเจ้าหน้าที่ เช่น รปภ. แม่บ้าน ฯลฯ”

เหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จึงเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้มีผู้อยู่อาศัยบางส่วนที่มีความคิดในลักษณะนี้ค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แล้วอาจเกิดคำถามไปยังผู้ที่ชำระค่าส่วนกลางอยู่เป็นประจำมีความรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบจนอาจจะมีความคิดอยู่ในใจว่า แล้วถ้าเราไม่จ่ายบ้างล่ะ จะเป็นอะไรไหม? 

แน่นอนว่าคอนโดมิเนียมหรือหมู่บ้านใดที่มีสัดส่วนผู้ที่ชำระค่าส่วนกลางน้อยย่อมส่งผลให้เกิดผลกระทบกับค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการแน่นอน เพราะโครงการที่ไม่ได้รับการดูแลที่ดีนั้นจะส่งผลเสียในระยะยาว ได้แก่

  • อาคารมีสภาพเก่า เครื่องจักร งานระบบต่างๆ ทรุดโทรม เพราะขาดการดูแลและการบำรุงรักษาให้อยู่ในมาตรฐาน
  • มูลค่า ภาพลักษณ์ ของโครงการ ลดต่ำลง เพราะไม่ได้รับการดูแล
  • ไม่เป็นที่ต้องการของผู้เช่า ผู้อยู่อาศัย เพราะไม่ประทับใจตั้งแต่แรกเห็นกับพื้นที่ส่วนกลางที่มีความสวยงามแต่ขาดการดูแลและรักษาความสะอาดที่ดี
  • ขาดความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจเพราระบบรักษาความปลอดภัยหละหลวม
  • สภาพแวดล้อมไม่น่าอยู่อาศัย ไม่มีความเป็นสังคมและการทำกิจกรรมร่วมกัน

นอกจากนี้การปฏิเสธการชำระค่าส่วนกลางนั้นยังมีบทลงโทษที่เป็นไปตามข้อบังคับนิติบุคคล และมีผลทางกฎหมายที่สามารถดำเนินการได้เพราะ เมื่อเกิดการซื้อหรือรับโอนห้องชุด/บ้าน เข้ามาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองแล้ว ก็ถือว่าบุคคลนั้นเป็นหนึ่งในเจ้าของร่วม ซึ่งมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่นิติบุคคลฯ ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายกับสำนักงานที่ดิน เป็นกฎกติกาเบื้องต้นที่เจ้าของร่วมต้องรับทราบ โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ โดยมีกฎเกณฑ์ ดังนี้

บทลงโทษการค้างชำระค่าส่วนกลางในกรณีหมู่บ้านจัดสรร

  1. เลยกำหนดชำระในวันที่กำหนด จะต้องเสียค่าเบี้ยปรับการชำระล่าช้าตั้งแต่ 10-15% ของยอดที่ต้องชำระพร้อมดอกเบี้ย ทั้งนี้เบี้ยปรับจะขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของนิติบุคคลในแต่ละโครงการ
  2. ค้างชำระค่าส่วนกลาง 3 เดือนขึ้นไป อาจถูกระงับการให้บริการหรือการใช้สิทธิในสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น การถอดสิทธิ์ใช้คีย์การ์ดเข้าออกหมู่บ้าน สิทธิในการไม่บริการเก็บขยะ สิทธิในการเข้าใช้พื้นที่ส่วนกลางต่างๆ ฟิตเนส สระว่ายน้ำ ห้องสมุด ห้องประชุม ฯลฯ
  3. ค้างชำระค่าส่วนกลาง 6 เดือน นิติบุคคลมีอํานาจระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในการทำธุรกรรมต่างๆ ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ซื้อขายใดๆ ได้
  4. ค้างชำระค่าส่วนกลางเกิน 6 เดือน มีสิทธิ์ถูกส่งยื่นฟ้องศาลได้ (ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ)

บทลงโทษการค้างชำระค่าส่วนกลางในกรณีอาคารชุดคอนโดมิเนียม

  1. หากเลยกำหนดชำระที่กำหนด หากไม่ชำระภายในวันและเวลาที่แจ้งไปภายในระยะเวลา 6 เดือนจะต้องเสียค่าปรับในอัตราไม่เกิน 12% ทันที และหากมียอดค้างชำระเกิน 6 เดือนขึ้นไป จะต้องเสียค่าปรับในอัตราไม่เกิน 20% ของยอดที่ต้องชำระพร้อมดอกเบี้ย โดยการเรียกเก็บค่าส่วนกลางจะขึ้นอยู่กับรอบการชำระของแต่ละโครงการ ซึ่งจะมีรอบเก็บ 3 เดือน / 6 เดือน / 1 ปี
  2. เสียสิทธิการลงคะแนนในที่ประชุม ผู้ที่ไม่ชำระค่าส่วนกลางจะไม่สามารถมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในเรื่องใดๆ ได้ ถึงแม้จะสามารถเข้าร่วมฟังการประชุมใหญ่ได้ก็ตาม
  3. ไม่ได้รับ “ใบปลอดหนี้” เมื่อมีการซื้อ-ขาย หรือโอนกรรมสิทธิ์ใดๆ เจ้าของต้องชำระค่าใช้จ่ายค้างชำระทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าส่วนกลาง เพื่อขอใบปลอดหนี้จากนิติบุคคลไปใช้เป็นเอกสารประกอบการยื่นเรื่องที่กรมที่ดิน
  4. มีสิทธิ์ถูกยื่นเรื่องฟ้องศาลได้ ขึ้นอยู่กับมติคณะกรรมการ

ทั้งนี้การเลือกนิติบุคคลที่ดีมีความเป็นมืออาชีพให้เข้ามาช่วยบริหารโครงการจะต้องมีความสามารถในการนำค่าส่วนกลางที่เรียกเก็บมาในแต่ละปีมาจัดการกับอุปกรณ์เครื่องจักรและระบบที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์ส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็น ลิฟต์ ไฟฟ้า ประปา สุขาภิบาล โทรศัพท์ การจัดระบบรักษาความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การลดการเกิดอุบัติเหตุ การจัดระบบการสัญจรและการเข้าออก การจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อให้แน่ใจได้ว่าระบบหรืออุปกรณ์ต่างๆ จะสามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ สร้างความพึงพอใจแก่ผู้อยู่อาศัย ลดต้นทุนในการบำรุงรักษา ซึ่งนำมาสู่การสร้างมูลค่าให้แก่โครงการได้ รวมทั้งยังต้องมีความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน สามารถแจกแจงที่มาที่ไปของเงินได้ และยังนำเงินนั้นไปสร้างผลประโยชน์พอกพูนได้อีกด้วย ดังนั้นการจ่ายค่าส่วนกลางไม่ได้จ่ายเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นการจ่ายเพื่อความสะดวกสบาย และความสุขในการอยู่อาศัยของตัวท่านเอง