หลังจากเอกชนยื่นขอเสนอไปตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อขอให้ต่ออายุมาตรการ #ลดภาษีที่ดิน ล่าสุดก็ได้ข้อสรุปจากกระทรวงการคลังแล้วว่า *จะไม่มีการลดภาษีที่ดิน 90% ในปีนี้* เนื่องจากทำให้รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในแต่ละปีหายไปถึง 30,000 ลบ. ดังนั้นในปีนี้จึงเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินเต็มอัตราที่ 100% คงเดิม
จากข้อมูลของประชาชาติธุรกิจ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถือเป็นรายได้หลักที่นำเข้าสู่ท้องถิ่น ซึ่งตามหลักเมื่อมีการลดภาษีไป 2 ปี รัฐบาลก็ต้องหาเงินไปอุดหนุนชดเชยให้ท้องถิ่น แต่ที่ผ่านมารัฐบาลได้เข้าไปอุดหนุนรายได้ให้แค่ปีเดียว ช่วงปี 62/63 เท่านั้น ส่วนปีภาษี 63/64 ไม่ได้ช่วยอุดหนุน เพราะงบประมาณมีจำกัด จึงเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีที่ 100% ในปีนี้
อย่างไรก็ตาม หากมองอีกด้านการลดภาษีที่ดิน อาจเป็นมาตรการที่เอื้อต่อผู้มีรายได้สูง มากกว่าคนทั่วไป…. เนื่องจากผู้ได้รับผลกระทบจากการเสียภาษีที่ดิน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเศรษฐี ซึ่งครอบครองที่ดินว่างเปล่าเป็นจำนวนมาก หรือบ้านมากกว่า 1 หลัง ขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศเฉลี่ยแล้ว ยังมีที่อยู่เพียง 1 หลัง หรือบางคนยังไม่มีโอกาสที่จะมีบ้านเป็นของตัวเองด้วยซ้ำ
ภาษีที่ดินปี 2565 คิดอย่างไร?
การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามพ.ร.บ. ภาษีที่ดินฯตั้งแต่ปีภาษี พ.ศ. 2565เป็นต้นไป ให้ใช้อัตราภาษีตามประเภทการใช้ประโยชน์และจัดเก็บภาษีตามมูลค่าที่ดินและ/หรือสิ่งปลูกสร้างในลักษณะขั้นบันได (อัตราก้าวหน้า) ได้แก่
ที่ดินเกษตรกรรม
ที่ดินมูลค่า 0 – 75 ล้านบาท อัตรา 0.01% หรือล้านละ 100 บาท
ที่ดินมูลค่า 75-100 ล้านบาท อัตรา 0.03% หรือล้านละ 300 บาท
ที่ดินมูลค่า 100 – 500 ล้านบาท อัตรา 0.05% หรือล้านละ 500 บาท
ที่ดินมูลค่า 500 – 1,000 ล้านบาท อัตรา 0.07% หรือล้านละ 700 บาท
ที่ดินมูลค่า 1,000 ล้านบาท ขึ้นไป อัตรา 0.1% หรือล้านละ 1,000 บาท
ที่อยู่อาศัย
1. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
• ที่ดินมูลค่าไม่ถึง 25 ล้านบาท อัตรา 0.03% หรือล้านละ 300 บาท
• ที่ดินมูลค่า 25 – 50 ล้านบาท อัตรา 0.05% หรือล้านละ 500 บาท
• ที่ดินมูลค่า 50 ล้านขึ้นไป อัตรา 0.1% หรือล้านละ 1,000 บาท
2. สิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
• ที่ดินมูลค่า ไม่ถึง 40 ล้านบาท อัตรา 0.02% หรือล้านละ 200 บาท
• ที่ดินมูลค่า 40 – 65 ล้านบาท อัตรา 0.03% หรือล้านละ 300 บาท
• ที่ดินมูลค่า 65 – 90 ล้านบาท อัตรา 0.05% หรือล้านละ 500 บาท
• ที่ดินมูลค่า 90 ล้านขึ้นไป อัตรา 0.1% หรือล้านละ 1,000 บาท
3. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยกรณีอื่นนอกจากการใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยตาม ข้อ 1 และ ข้อ 2
• ที่ดินมูลค่า ไม่ถึง 50 ล้านบาท อัตรา 0.02% หรือล้านละ 200 บาท
• ที่ดินมูลค่า 50 – 75 ล้านบาท อัตรา 0.03% หรือล้านละ 300 บาท
• ที่ดินมูลค่า 75 – 100 ล้านบาท อัตรา 0.05% หรือล้านละ 500 บาท
• ที่ดินมูลค่า 100 ล้านขึ้นไป อัตรา 0.1% หรือล้านละ 1,000 บาท
ที่ดินกลุ่มพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม
• ที่ดินมูลค่า 0 – 50 ล้านบาท อัตรา 0.3% หรือล้านละ 3,000 บาท
• ที่ดินมูลค่า 50 – 200 ล้านบาท อัตรา 0.4% หรือล้านละ 4,000 บาท
• ที่ดินมูลค่า 200 – 1,000 ล้านบาท อัตรา 0.5% หรือล้านละ 5,000 บาท
• ที่ดินมูลค่า 1,000 – 5,000 ล้านบาท อัตรา 0.6% หรือล้านละ 6,000 บาท
• ที่ดินมูลค่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตรา 0.7% หรือล้านละ 7,000 บาท
ที่ดินรกร้างว่างเปล่า
• ที่ดินมูลค่า 0 – 50 ล้านบาท อัตรา 0.3% หรือล้านละ 3,000 บาท
• ที่ดินมูลค่า 50 – 200 ล้านบาท อัตรา 0.4% หรือล้านละ 4,000 บาท
• ที่ดินมูลค่า 200 – 1,000 ล้านบาท อัตรา 0.5% หรือล้านละ 5,000 บาท
• ที่ดินมูลค่า 1,000 – 5,000 ล้านบาท อัตรา 0.6% หรือล้านละ 6,000 บาท
• ที่ดินมูลค่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตรา 0.7% หรือล้านละ 7,000 บาท
ที่ดินที่ปล่อยร้างไม่ได้ทำประโยชน์ มีเพดานภาษีสูงสุดอยู่ที่ 1.2% แต่จะปรับเพิ่มอัตรา 0.3% ทุก 3 ปี แต่อัตรารวมไม่เกิน 3%
อัพเดทวันที่ 25 ม.ค. 2565: คลังยืนยัน ไม่ #ลดภาษีที่ดิน เนื่องจากมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น
เป็นอันว่าหมดหวังแน่นอน สำหรับเรื่องภาษีที่ดิน ล่าสุดเมื่อ 24 ม.ค. 2565 จากข้อมูลของข่าวสด “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง ได้ประกาศย้ำอีกรอบว่า >> จะไม่มีการลดภาษีที่ดิน 90% เหมือน 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจาก #Covid-19
โดยเปิดเผยว่า “ขณะนี้สถานการณ์ทั้งการระบาดโควิดและเศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้นแล้ว จึงให้มีการเก็บภาษีที่ดินเต็มจำนวน เพื่อที่จะไม่กระทบกับรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจาก 2 ปี ที่ผ่านมามีการลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำให้รายได้หายไปจำนวนมาก และไม่ได้รับการชดเชยจากสำนักงบประมาณด้วย”