p187053th01pea1h7h6glrnn1h8p6

คมนาคมชง คจร.ทบทวนแผนแม่บทรถไฟฟ้า 12 สายใหม่ ขยาย “สายสีส้ม” ไปถึงสุวินทวงศ์ ปรับจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าใต้ดินสถานี “ศูนย์วัฒนธรรม” หรือ “พระราม 9” กทม.ขอขีดเพิ่มเส้นทาง “บางหว้า-ตลิ่งชัน” อีก 7 กิโลเมตร จับตาบีทีเอสหยิบชิ้นปลามันเดินรถสายสีเขียว “หมอชิต-คูคต” และ “แบริ่ง-สมุทรปราการ”

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นประธาน วันที่ 10 มิถุนายน 2558 สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ขอเสนอทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 12 สายทาง ระยะทางรวม 495 กิโลเมตรใหม่ หลังมีการปรับแนวเส้นทางและเสนอก่อสร้างเส้นทางใหม่เพิ่ม

ประกอบด้วย 1.สายสีส้มจากตลิ่งชัน-มีนบุรี ระยะทาง 37.5 กิโลเมตร ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะขอปรับแนวเฟสแรกจากช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี เป็นพระราม 9-มีนบุรี พร้อมกับขอขยายเส้นทางเพิ่ม 1 สถานี ช่วงจากมีนบุรีไปถึงสุวินทวงศ์ ระยะทางประมาณ 1-2 กิโลเมตร และ 2.สายสีเขียวอ่อน(ยศเส-บางหว้า) กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะขยายเส้นทางเพิ่มจากบางหว้า-ตลิ่งชัน ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร หลังจากที่ได้ศึกษาโครงการเสร็จแล้ว จะใช้เงินก่อสร้างประมาณ 13,000 ล้านบาท

สำหรับรถไฟฟ้า 12 สายทาง ได้แก่

  1. สีแดงเข้ม (ธรรมศาสตร์-มหาชัย) ระยะทาง 80.8 กิโลเมตร
  2. สีแดงอ่อน (ศิริราช-ศาลายา-ตลิ่งชัน-หัวหมาก) ระยะทาง 54 กิโลเมตร
  3. สายเชื่อมแอร์พอร์ตลิงก์ (ดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท-สุวรรณภูมิ) ระยะทาง 50.3 กิโลเมตร
  4. สีเขียวเข้ม (ลำลูกกา-สมุทรปราการ-บางปู) ระยะทาง 66.5 กิโลเมตร
  5. สีเขียวอ่อน (ยศเส-บางหว้า) ระยะทาง 15.5 กิโลเมตร
  6. สายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-หัวลำโพง-ท่าพระ-พุทธมณฑลสาย 4) ระยะทาง 55 กิโลเมตร
  7. สีม่วง (บางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ) ระยะทาง 42.8 กิโลเมตร
  8. สีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) ระยะทาง 37.5 กิโลเมตร
  9. สีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 36 กิโลเมตร
  10. สีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร
  11. สีเทา (วัชรพล-ลาดพร้าว-พระราม 4-สะพานพระราม 9) ระยะทาง 26 กิโลเมตร และ
  12. สีฟ้า (ดินแดง-สาทร) ระยะทาง 9.5 กิโลเมตร

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการขออนุมัติจาก คจร.ให้ชี้ขาดจะให้ กทม. หรือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้รับผิดชอบเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 12.8 กิโลเมตร เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 มีมติแค่ให้ รฟม.เป็นผู้ก่อสร้างงานโยธา แต่ไม่ได้ระบุว่าจะให้หน่วยงานไหนเป็นผู้รับผิดชอบการเดินรถ

อย่างไรก็ตาม นโยบายของกระทรวงคมนาคมต้องการจะให้มีการเดินรถแบบต่อเนื่อง โดยให้ รฟม.ไปเจรจากับ กทม.เพื่อหาข้อยุติ ก่อนจะไปเจรจากับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซีผู้รับสัมปทานรายเดิมเป็นผู้ดำเนินการ แต่ที่ผ่านมาในการหารือยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจาก กทม.ไม่มีเงินก้อนที่จะมาจ่ายค่าก่อสร้างคืนให้ รฟม. ขณะที่บีทีเอสก็ยื่นข้อเสนอว่าพร้อมจะเดินรถให้ แต่ขอให้รัฐบาลรับผิดชอบภาระหนี้ให้เป็นระยะเวลา 10 ปี

ที่มาข่าว: ประชาชาติ