ปัญหารถติดถือว่าเป็นปัญหายอดฮิตของคนกรุงเลยก็ว่าได้ ยาวไปถึงคนปทุมก็เครียดกับปัญหานี้ไม่แพ้กัน ล่าสุดดูเหมือนจะมีการส่งสัญญาณที่ดี จาก สนข. (สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร) ถึงการแก้ปัญหารถติดด้วย การผุดเมกะโปรเจ็คต์ยักษ์ ด้วยการใช้การขนส่งมวลชนระบบรอง เปิดเส้นทางเดินรถ บีอาร์ที(BRT) 3 สายและรถชัทเติลบัสหรือรถตู้ เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางมาถึง โครงข่ายรถไฟฟ้า สายสีแดงช่วงบางซื่อ -รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ และสายสีเขียวต่อขยาย หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต
ทั้งนี้ สนข. เปิดเผยว่า รถ BRT เป็นรูปแบบการวิ่งยกระดับกับระดับพื้น เพราะจะก่อสร้างได้เร็ว และใช้งบประมาณต่ำ รองรับผู้โดยสารได้ 4,000-8,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง โดยมีแผนจะเปิดใช้พร้อมรถไฟฟ้าสีแดง โดยจากแผนลงทุนมี 3 สายทางด้วยกัน เริ่มจาก สายที่ 1 เริ่มต้น สถานี ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต-หออัครศิลปิน เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานี ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ไปตาม ถนนคลองหลวง ผ่านวัดพระธรรมกาย สิ้นสุดที่บริเวณหออัครศิลปิน ถ. คลอง 5 ระยะทาง 13.63 กม. รูปแบบเป็นแบบทางยกระดับ 9.5กม. เริ่มต้น -คลอง 3 และจากคลอง 3 -5 เป็นทางวิ่งระดับพื้น เป็นทางวิ่งเดียวกับการจราจรทั่วไป มี 10 สถานี ใช้เวลาเดินทางประมาณ 35 นาที
สายที่ 2 สถานีรังสิต-เมืองปทุมฯ เชื่อมจากรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีรังสิต ไปตามถนนรังสิต-ปทุมฯ จนถึงศาลากลาง
สายที่ 3 สถานีรังสิต -ธัญบุรี เชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงรังสิต วิ่งเส้นถนนรังสิต-นครนายก ผ่านห้างฟิวเจอร์ พาร์ค ดรีมเวิลด์ สิ้นสุดที่ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ทั้งนี้สายที่ 2และ 3 เป็นเส้นทางที่พัฒนาร่วมกัน เฟสแรก เส้นทางจากเมืองปทุมฯ คลอง 1 เดินรถไปตาม ถ.รังสิต-ปทุมฯ มี 4 ช่วงคือ
1.ศาลากลาง จ. ปทุมธานี ผ่านสถานีรถไฟรังสิตของรถไฟฟ้าสายสีแดง บริเวณด้านหลังฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต สิ้นสุดที่ คลอง 1 เป็นระดับทางพื้นร่วมกับทางจราจรทั่วไป
ช่วงต่อไป ศาลากลางปทุมฯ สามแยกบ้านกลาง บริเวณโรงพยาบาล กรุงสยามเซนต์คาร์ลอส เป็นทางระดับพื้นแยก และช่วงถัดมาคือ แยกบ้านกลาง – แยกบางพูน เป็ทางวิ่งยกระดับ และช่วงสุดท้าย จากแยกบางพูน-สถานีรังสิต-คลอง 1 ทั้งนี้รถบีอาร์ทีทั้ง 3 สายทางจะเก็บอัตราค่าโดยสาร 10 บาท ตลอดสาย
ส่วนระบบรถชัตเติลบัส อย่าง รถตู้ รถสองแถว รถเมล์ มี 3 ทาง ได้แก่ สายที่ 1 ถ. คลองหลวง-ถ.รังสิต นครนายก เริ่มจาก ถ.คลองหลวง หน้าวัดพระธรรมกาย ผ่านคลอง2 คลอง3 และวนกลับสู่ ถ.คลองหลวง
สายที่ 2 สถานี รังสิต-เมืองปทุมธานี เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสีแดง รังสิต ไปตามถนนรังสิต -ปทุมธานี จนถึงศาลากลาง จ.ปทุมฯ
สายที่ 3 จากสถานีคูคต-วงแหวน รอบนอกตะวันออก เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีคูคต ไปตาม ถ.ลำลุูกกา เลยจุดตัด ถ.วงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก สิ้นสุดที่หน้าห้างบิ๊กซีลำลูกกา
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดที่ตั้งอาคารจอดรถ แล้วจร ( park&Ride) สำหรับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่บริเวณสถานีรังสิต ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียวอยู่ที่สถานีกม. ที่ 25 และสถานีลำลูกกาในอนาคต
ทั้งนี้ สนข. ต้องการให้โครงการนี้เนต้นแบบของการแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ในเขตปริมณฑลของ กทม. ได้ต่อไป
ที่มา : นสพ. ประชาชาติธุรกิจ