บ้านขนาดไหนจะอยู่สบาย (6)

อยู่สบายในแนวราบตอน – สร้างบ้านด้วยอะไรดี (ย้อนไปอ่านตอนเก่าๆได้ที่นี่นะคะ)

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่าน ThinkofLiving ที่น่ารักทั้งหลาย หลังจากที่คุณนายเรื่อยเปื่อย เม้าโน่นเม้านี่มาหลายตอน คุณนายคิดว่าได้ฤกษ์เขียนตอนที่มีสาระเกี่ยวกับการก่อสร้างแก่คุณผู้อ่านซะที เนื่องจากช่วงนี้เพื่อนๆ ของคุณนายกำลังจะสร้างบ้านหรือไม่ก็จะซื้อบ้านกันเยอะ มีคำถามถึงวิธีการก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างแต่ละแบบแต่ละประเภท คุณนายก็ไม่ได้รู้ทุกอย่าง แต่เอาเป็นว่า จะขอสรุปคุณสมบัติของวัสดุก่อสร้างแต่ละประเภทตามที่มีประสบการณ์มานะคะ 🙂

วัสดุผนัง

1.ผนังก่ออิฐมอญฉาบปูน 

เป็นวัสดุและกรรมวิธีก่อสร้างที่ใช้กันมานานนม ข้อดีคือเนื่องด้วยเวลาก่อ มันจะมีส่วนผสมของปูนก่ออยู่เยอะค่ะ  ทำให้เวลาทุบเจาะผนัง ก็ทำได้ ไม่ค่อยเสียความแข็งแรง ช่างบ้านๆ ก็ก่อเป็น ข้อเสียคือทำงานช้า ก้อนมันเล็ก ต้องเสียแรงงานมานั่งก่อๆ ฉาบๆ ยิ่งตอนนี้แรงงานหายากๆอยู่ แล้วก็การฉาบนี่เป็นตัวปราบเซียนเลยค่ะ ฉาบให้เนี้ยบ เรียบ สวยกริ๊ป เหลี่ยมมุมเป๊ะ เป็นอะไรที่ยากมาก มีเพียงช่างฝีมือเทพจำนวนไม่มากนักที่ทำได้  การสร้างบ้านปริมาณเยอะๆหรือการสร้างตึกสูงก็เลยไม่ค่อยนิยมใช้นะคะ เพราะว่ายิ่งพื้นที่ผนังเยอะงานก็ยิ่งช้า คนงานจำนวนมากๆ ก็ไม่รู้จะไปหามาจากไหน

2.ผนังก่ออิฐมวลเบา 

อิฐมวลเบาเป็นวัสดุที่มาฮิตใช้กันซัก 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ข้อดีคือมีค่าการกันความร้อนดีกว่าอิฐมอญและผนังคอนกรีต เพราะเนื้อวัสดุมีความพรุนมากกว่า น้ำหนักเบา ก่อได้เร็วกว่าอิฐมอญเพราะก้อนใหญ่กว่า ข้อเสียคือ  ช่างบ้านๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อนอาจงงๆ เพราะต้องใช้ปูนก่อปูนฉาบและต้องก่อฉาบตามขั้นตอนของผู้ผลิต การเจาะยึดสามารถทำได้ แต่ต้องใช้อุปกรณ์ มาตรฐานของเขา จะเอาฆ้อนตะปูมาตอกโป๊กๆ เลยไม่ได้ เพราะบอกแล้วว่าเนื้อวัสดุมีความพรุนกว่าอิฐมอญ

ภาพจาก www.smartblock.in.th

3.อีโค่บล็อก (Ekoblok) 

เป็นคอนกรีตบล็อกน้ำหนักเบา ซึ่งมีข้อดีคือใช้วีธีการก่อฉาบและชนิดของปูนก่อฉาบเช่นเดียวกับอิฐมอญ มีค่าการกันความร้อนดี เจาะผนังได้ตามปกติ ขนาดก้อนใกล้เคียงกับอิฐมวลเบา คุณสมบัติของวัสดุโดยละเอียดดูได้ใน www.ekoblok.co.th ค่ะ

4.ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป ที่ใช้เป็นผนังรับน้ำหนักไปด้วยในตัว 

เป็นระบบก่อสร้างที่โครงการในปัจจุบันนิยมใช้ค่ะ เป็นผนังคอนกรีตทั้งผืนหล่อมาเลย มีได้ทั้งทำมาจากโรงงานและทำที่หน้าไซด์งาน แต่ถ้าเป็นพวกตึกสูงส่วนใหญ่ทำมาจากโรงงาน เพราะที่หน้างานมีพื้นที่จำกัด ข้อดีคือ เร็วไม่ต้องใช้แรงงานเยอะ มาถึงเป็นแผ่นๆ เจาะช่องมาเสร็จเลย เอามาต่อกันอย่างเดียว หน้างานสะอาด ข้อเสียคือ อมความร้อน มีค่าการกันความร้อนแย่กว่าอิฐมอญเสียอีก  และไม่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงแบบ จะมาเจาะช่องทีหลังเองไม่ได้ ผนังอาจเสียความแข็งแรง เนื่องจากเป็นโครงสร้างที่ไม่มีเสาคาน น้ำหนักของอาคารจะส่งลงที่ผนังโดยตรง จึงจะมาเจาะอะไรมั่วๆ ไม่ได้นะคะ จุดอ่อนอีกอย่างที่ต้องระวังคือ ตามรอยต่อของแผ่น ถ้ามีการออกแบบไว้ไม่ดี หรือเชื่อมรอยต่อไม่ได้ก็จะมีปัญหาน้ำรั่วซึมได้ค่ะ

ภาพจาก http://zoozaarus.multiply.com/photos/album/129/129

5.ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป แบบที่ใช้โครงสร้างเสาคานสำเร็จรูป 

ระบบโครงสร้างก็จะเหมือนๆกับเสาคานที่หล่อในที่นะคะ คือใช้เสาคานรับน้ำหนักของอาคาร ส่วนผนังนั้นเป็นวัสดุปิดผิวเฉยๆมีหน้าที่แค่รับน้ำหนักของตัวมันเอง ไม่ต้องรับน้ำหนักอาคาร เพียงแต่ว่าเสาคานและแผ่นผนังจะถูกหล่อมาจากโรงงาน แล้วมาประกอบที่หน้างาน แล้วบางทีก็จะมีการใส่สารเคมีที่ทำให้เนื้อคอนกรีตในผนังมีลักษณะพรุนคือมีฟองอากาศแทรกอยู่ภายใน จะทำให้มีค่าการกันความร้อนดีกว่าผนังคอนกรีตปกติมาก แล้วก็น้ำหนักเบาลง และยังมีข้อดี กว่าแบบผนังรับแรงตรงที่สามารถทุบ เจาะช่องภายหลังได้ด้วย แต่ก็จะมีจุดอ่อนตรงรอยต่อเช่นเดียวกัน

ภาพจาก www.smartcastbuild.com

 

พื้น 

1.พื้นคอนกรีตเทกับที่

คือเป็นพื้นที่มาตั้งแบบผูกเหล็ก เทกันที่หน้างานเลย อาจเทบนโครงสร้างเช่นคาน ก็เช่นพวกเวลาทำพื้นห้องน้ำ ระเบียง หรือส่วนที่ต้องรับน้ำตลอดเวลาและไม่ต้องการให้เกิดปัญหารั่วซึม หรือพื้นคอนกรีตแบบไม่ได้เทบนโครงสร้างคาน  เช่น พวกโรงรถถนนทางเข้าตัวบ้าน เป็นต้น

ภาพจาก http://baannaifun.blogspot.com/2011/07/blog-post_22.html

2.แผ่นพื้นสำเร็จรูป

จะเป็นแผ่นพื้นที่หล่อสำเร็จมาจากโรงงานเป็นแผ่นๆ ขนาดกว้างประมาณ 35 เซนติเมตร มาวางเรียงกันเป็นแผ่นๆแล้วเทคอนกรีตทับหน้าอีกทีหนึ่ง อันนี้ก็จะใช้บริเวณพื้นทั่วๆ ไปของบ้านค่ะ

ภาพจาก http://baannaifun.blogspot.com/2011/07/blog-post_22.html

3.พื้น Post Tension 

อันนี้แถมให้นะคะ เห็นถามกันเยอะ บ้านเดี่ยวสองชั้นไม่ได้ใช้หรอกค่ะ ส่วนใหญ่จะใช้ในพวกคอนโด โดยเฉพาะพวกตึก 8 ชั้นที่โดนข้อจำกัดเรื่องความสูง เลยต้องการหลีกเลี่ยงการมีคานโครงสร้าง ดังนี้สาวๆ ที่อยู่คอนโด Low rise ไม่ต้องกังวลนะคะ ไม่มีคานให้ขึ้น ^ ^

พื้น Post Tension คือพื้นคอนกรีตที่มีการดึงลวดอัดแรงอยู่ข้างใน ตัวพื้นจะมีรูอยู่ข้างในเพื่อใส่สลิงเข้าไป แล้วเขาจะมาดึงสลิงให้ตึงสุดๆ แล้วทำการเก้าต์ปูนปิดหัวท้าย เส้นสลิงนี้เองที่ทำให้พื้นสามารถรับแรงได้ทั้งผืนโดยไม่จำเป็นต้องมีคานอีก  ข้อดีคืออย่างที่บอกนะคะ พอไม่มีคาน ก็จะขายให้ลูกค้าสาวๆ ได้ง่าย อะไม่ใช่ค่ะ พอไม่มีคาน ความสูงพื้นถึงฝ้ามันจะได้มากขึ้น ข้อเสียของพื้นชนิดนี้ก็คือ มันลดระดับพื้นยากกว่าระบบเสาคานธรรมดา อาจลดระดับพื้นห้องน้ำได้แค่ 2-3 ซม หรือบางที่ก็ไม่ยอมลดระดับเลยเพราะจะทำให้ทำงานยากขึ้น ก็เลยก่อเป็นธรณีขึ้นมาซะเลย นอกจากนี้ การแกว่งตังของพื้น Post Tension มากกว่าระบบเสาคาน ถ้าวัสดุปิดผิวพื้นทำเป็น ปูนขัดมันหรือพวกหินขัดก็จะมีสิทธิ์แตกลายงาได้มากกว่า แล้วก็ห้ามเจาะพื้นในภายหลังเด็ดขาด! พวกงานระบบท่อต่างๆ ต้องฝังปลอกไว้แต่แรกเลย เพราะเกิดเจาะโดนสลิงขึ้นมา แย่เลย  😛

เฮ้อ…… เขียนเรื่องวัสดุก่อสร้างแล้วมันเหนื่อยเนอะ งั้นตอนนี้คุณนายขอลาเพียงเท่านี้แล้วกันนะคะ จุ๊บ จุ๊บ

XOXO

คุณนายสวนหลวง