กทท

จะว่าไปแล้วเรื่องที่สำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นเลยก็คือ เรื่องของการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบเมือง เพราะเนื่องจากการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลต่อการเติบโตทางธุรกิจ และมีผลต่อประชาชนตาดำๆ อย่างเรานั่นเอง ซึ่งล่าสุด  กทท. เร่งเดินหน้าผลักดันแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ย่านคลองเตยกว่า 2.3 พันไร่ เพื่อหวังหารายได้ให้กับ กทท. โดยไม่รอแผนการย้ายศูนย์ราชการ 2 ของรัฐบาลที่ยังนิ่งอยู่ รวมถึงการผลักดันให้บอร์ดเสนอ ครม. เพราะเชื่อว่าโมเดลการลงทุนนี้จะสอดรับกับพ.ร.บ. ร่วมทุนฉบับใหม่

ทั้งนี้ รศ.มานพ พงศทัต ประธานคณะอนุกรรมการ พัฒนาสินทรัพย์ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า  เมื่อแผนการย้ายศูนย์ราชการ 2 ของรัฐบาลยังไม่มีความคืบหน้า ทาง กทท. จึงปรับปรุงร่างแผนการพัฒนาพื้นที่ กทท. ใหม่ทั้งในเขตพื้นที่นอกและในรั้วศุลกากร ซึ่งมีขนาดพื้นที่ประมาณ 2.3 พันไร่ โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 เฟส โดยเฟสแรก จะสร้างอาคารสำนักงาน ส่วนเฟสที่เหลือจะสร้างเป็นศูนย์พาณิชยนาวี ศูนย์แสดงสินค้า และศูนย์กระจายสินค้า

นอกจากนี้ยังวางแผนระบบโครงข่ายคมนาคมภายในพื้นที่อีกด้วย โดยจะนำรถไฟฟ้าโมโนเรลมาบริการเชื่อมโยงทุกเฟสเข้าด้วยกัน รวมถึงมีแผนจะขุดคลองเชื่อมโยงพื้นที่ภายในด้วยเหมือนกับต่างประเทศ  ล่าสุดแผนนี้ได้ร่างเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  และจะส่งให้คณะกรรมการที่มี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง  ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะประธานบอร์ด กทท. พิจารณานำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอ ครม.เห็นชอบต่อไป  นอกจากนี้ยังต้องการให้ครม. ชี้ชัดเรื่องแผนการลงทุนตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนฉบับใหม่ เนื่องจากมูลค่าโครงการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวสูงกว่า 1 พันล้านบาท

สำหรับ นส. ลาวัลย์ อังคีรส รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เผยว่า มีการพัฒนาที่ดินในเขตแนวรั้วศุลกากรกว่า 900 ไร่ ควบบคู่กันไปด้วยว่าจะย้ายคลังสินค้าหรือจัดการอย่างไรได้บ้าง รวมถึงเรื่องของการจราจรในปัจจุบันด้วย  ทั้งนี้มองว่าแผนพัฒนานี้ล่าช้าไปมาก มีการทบทวนแผนอยู่หลายครั้ง แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าที่จะเปิดประมูลแต่อย่างใด เคยมีเอกชนบางรายมาเสนอแต่ก็ต้องล้มเลิกไปเพราะติดเงื่อนไข พ.ร.บ. ร่วมทุนตามระเบียบราชการ ซึ่งหากจะให้ กทท. ลงทุนเอง ครม. ต้องพิจารณาลงทุนในส่วนอื่นๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเช่น การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเดิมแผนพัฒนาย่านคลองเตยจะพัฒนาพื้นที่ นอกรั้วศุลกากรก่อนโดยเฉพาะเฟสแรก ส่วนพื้นที่ในรั้วศุลกากรขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาของกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา

ด้านนายพ้อง ชีวานันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมทำความเข้าใจกับชุมชน โดยส่วนตัวอยากเห็นท่าเรือกรุงเทพทันสมัยขึ้น รวมถึงอยากยกระดับการบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่งให้มากขึ้น ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเห็นประโยชน์ของการเชื่อมโยงเพื่อป้อนให้กับท่าเรือแหลมฉบังหรือท่าเรืออื่นๆ ต่อไป เพราะปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  เช่นดียวกับโครงการบารายังอยู่ระหว่างรองบประมาณในโครงการ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งต้องให้ประชาคมในพื้นที่ยอมรับจึงต้องเร่งสร้าางความเชื่อมั่นไม่ให้เกิดผลกระทบหรือสามารถป้องกันแก้ไขได้ และดำเนินโครงการอย่างมีเหตุผลตามข้อเท็จจริงต่อไป

ที่มา: นสพ. ฐานเศรษฐกิจ