การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์ดำเนินการศึกษา “โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาชุมชนที่อยู่อาศัยที่มีคุณค่าของเมืองในภูมิภาคแนวทางอนุรักษ์ : กรณีศึกษาชุมชนตลาดเก่าท่าม่วง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี” เพื่อศึกษาแนวทางและกระบวนการพัฒนาชุมชนในแนวทางการอนุรักษ์ ซึ่งคณะวิจัยได้นำเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์ โดยมี นายนพดล ว่องเวียงจันทร์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นประธานตรวจรับงาน เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องประชุมชั้น 11 สำนักงานใหญ่ การเคหะแห่งชาติ
นายนพดล ว่องเวียงจันทร์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า การพัฒนาเชิงอนุรักษ์ในชุมชนดั้งเดิมเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการพัฒนาย่านเมืองเก่า เพราะนอกจากจะช่วยให้เมืองมีสภาพแวดล้อมที่ดีแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าด้วยคุณค่าของมรดกทางประวัติศาสตร์ซึ่งถือเป็นทุนเดิมที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้การเคหะแห่งชาติเล็งเห็นว่า ชุมชนท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรีมีความน่าสนใจที่ควรพัฒนาชุมชนในเชิงอนุรักษ์ เนื่องจากเป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สามารถเชื่อมโยงทั้งในระดับโลกและระดับท้องถิ่น ทั้งยังทรงคุณค่าทางด้านศิลปะ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และชีวิต ซึ่งมีแนวโน้มที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เชิงวัฒนธรรม การเคหะแห่งชาติจึงร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์ดำเนินการศึกษา “โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการการพัฒนาชุมชนที่อยู่อาศัยที่มีคุณค่าของเมืองในภูมิภาคแนวทางอนุรักษ์ : กรณีศึกษาชุมชนตลาดเก่าท่าม่วง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี” เพื่อศึกษารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคุณค่าทางสถาปัตยกรรมของอาคารสิ่งก่อสร้าง ของชุมชน และคุณค่าทางสังคม โดยพัฒนาศักยภาพของผู้อยู่อาศัยในชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ด้วยการถ่ายทอดแนวคิดและการเรียนรู้ด้านการพัฒนาชุมชนที่อยู่อาศัยในเชิงอนุรักษ์ และเชื่อมโยงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือกลุ่มคนต่างๆ ให้ร่วมกันคิด ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ ร่วมกำหนดทิศทาง พร้อมร่วมกันปฏิบัติในลักษณะภาคีเครือข่ายการพัฒนาชุมชนเชิงอนุรักษ์ เพื่อให้เกิดเป็นกระบวนการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมเป็นการบูรณาการอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนต่อไป
นายธิป ศรีสกุลไชยรัก อาจารย์ประจำหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาบัณฑิตเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันอาศรมศิลป์ เปิดเผยว่า ทางคณะวิจัยฯ ได้ดำเนินงานใน 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อทบทวนความเป็นมาด้านการตั้งถิ่นฐานและการอยู่อาศัยในอดีต พร้อมศึกษาและสำรวจถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งปัญหาและความต้องการของชุมชน ขั้นตอนที่ 2 การวิเคราะห์ความสำคัญและศักยภาพเพื่อการพัฒนาพื้นที่และนำเสนอแนวทางรักษาที่อยู่อาศัยในย่านเก่า โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อระบุถึงความสำคัญและศักยภาพของพื้นที่ รวมถึงปัญหา โอกาส อุปสรรคและข้อจำกัด แล้วรวบรวมความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายมากำหนดแนวทางกายภาพและทำข้อตกลงร่วมเพื่อการรักษาและพัฒนาย่านตลาดเก่า ท่าม่วง ผ่าน 2 กิจกรรม คือ เวทีเสวนา “รักษ์บ้าน รักษ์ย่าน”
เป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเรียนรู้ร่วมกัน สร้างความสามัคคี ระหว่างชาวชุมชนกับคณะผู้วิจัยฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง อีกหนึ่งกิจกรรมคือ กิจกรรมศึกษา ดูงาน โดยนำผลที่ได้รับจากเวทีเสวนา “รักษ์บ้าน รักษ์ย่าน” ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวชุมชนย่านเมืองเก่าสงขลา และชุมชนตลาดน้ำคลองแดน ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมที่ได้รับการพัฒนาแล้ว เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาชุมชนของตนเอง ขั้นตอนที่ 3 การจัดทำแผนพัฒนาและเผยแพร่ผลการดำเนินงานสู่สังคม เป็นการต่อยอดจากขั้นตอนที่ 2 เพื่อผลักดันความคิดเห็นต่างๆ ที่ได้รับให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน นำไปสู่การสร้างข้อตกลงในการพัฒนาย่านตลาดเก่าท่าม่วงแบ่งออกเป็น 3 กิจกรรมย่อย ได้แก่
1. กิจกรรมทาสีอาคารเป็นการสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน
2. นิทรรศการภาพถ่าย “คนท่าม่วง” เพื่อถ่ายทอดความรู้สึก ทัศนคติต่อที่อยู่อาศัยและย่านตลาดเก่าท่าม่วง ของคนรุ่นเก่า และคนรุ่นใหม่ รวมถึงกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์วัฒนธรรมและร่วมกันฟื้นฟูย่านตลาดเก่า
3. กิจกรรมแสดงความคิดเห็นการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ริมน้ำและในชุมชนย่านตลาดเก่าท่าม่วง โดยสอบถามความคิดเห็นของคนในชุมชน รวมถึงภาครัฐ และหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในย่านพักอาศัย พื้นที่เศรษฐกิจ และสถานที่ท่องเที่ยว นำไปสู่การวางแผนในการพัฒนาชุนชม ทั้งในด้านการอยู่อาศัย สภาพแวดล้อมชุมชน รวมถึง การฟื้นฟูอนุรักษ์ย่านเมืองเก่า และการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว พร้อมทั้งได้กำหนดวิสัยทัศน์ชุมชนคือ “ท่าม่วงย่านเก่า แหล่งเรียนรู้คู่วัฒนธรรม สร้างสรรค์ภูมิเมือง ลือเลื่องอาหาร สืบสานสถาปัตยกรรม” เพื่อเป็นการ สร้างจุดมุ่งหมายและแรงขับเคลื่อนให้กับชุมชนต่อไป