%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0%b8%9e%e0%b8%95%e0%b8%b1%e0%b8%a7%e0%b8%ad%e0%b8%a2%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%87-3

การเคหะแห่งชาติจับมือกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดทำโครงการศึกษาวิจัยการพัฒนารูปแบบเอกลักษณ์ส่วนพาณิชยกรรมและร้านค้าชุมชนในโครงการของการเคหะแห่งชาติ เพื่อพัฒนารูปแบบร้านค้าในชุมชนให้มีเอกลักษณ์ และจัดประโยชน์พื้นที่ค้าขายในชุมชนให้เหมาะสม

นายนพดล ว่องเวียงจันทร์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยว่า การเคหะแห่งชาติได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดำเนินโครงการศึกษาวิจัยการพัฒนารูปแบบเอกลักษณ์ส่วนพาณิชยกรรมและร้านค้าชุมชนในโครงการของการเคหะแห่งชาติ เพื่อศึกษาและวิเคราะห์รูปแบบเอกลักษณ์การดำเนินการร้านค้า กฎระเบียบ และกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการร้านค้าในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ และการจัดประโยชน์พื้นที่ค้าขายในชุมชนให้เหมาะสม ซึ่งจะต้องอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมกับชาวชุมชนที่มีส่วนในการสะท้อนถึงการปรับรูปแบบเอกลักษณ์ร้านค้าให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัย และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการร้านค้าได้อย่างลงตัว ขณะเดียวกันการประกอบการร้านค้าชุมชนมีความเชื่อมโยงกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืนอีกด้วย

งานวิจัยดังกล่าวแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 (Phase I : Research & Analysis) ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการในพื้นที่โครงการเคหะชุมชน และโครงการบ้านเอื้ออาทรที่มีจำนวนหน่วยพักอาศัยไม่น้อยกว่า 300 หน่วย ซึ่งตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 36 ชุมชน เพื่อศึกษาภาพรวมและวิเคราะห์ผลข้อมูลที่เกี่ยวกับการดำเนินการร้านค้าชุมชน ทั้งในส่วนของ ผู้ประกอบธุรกิจและผู้อยู่อาศัยในโครงการของการเคหะแห่งชาติ รวมถึงวิเคราะห์กรณีศึกษาต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนศึกษาดูงานต้นแบบการดำเนินการร้านค้าในพื้นที่ชุมชนอื่น เพื่อนำผลที่ได้จากการวิเคราะห์นำมาร่างเป็นรูปแบบเอกลักษณ์ส่วนพาณิชยกรรมและร้านค้าชุมชนของการเคหะแห่งชาติต่อไป

ช่วงที่ 2 (Phase 2 : Analysis for NHA’s Community Shop Model) จัดทำแนวทางการพัฒนาการประกอบการสำหรับร้านค้าชุมชนให้ครอบคลุมในมิติเศรษฐกิจ สังคม กายภาพ สิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการ กฎระเบียบ การเชื่อมโยงเครือข่าย กระบวนการในการพัฒนากิจการค้าขายในชุมชน และพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมในการประกอบการ โดยคณะผู้วิจัยจะทำการออกแบบผังกายภาพของส่วนพาณิชยกรรม ออกแบบองค์ประกอบของการตลาดร้านค้าชุมชน ทั้งชุมชนขนาดกลางและขนาดใหญ่ในรูปแบบ  3 มิติ (3D perspective) เพื่อจัดวางผังพื้นที่ให้มีเอกลักษณ์และมีรูปแบบเดียวกันในทุกโครงการ

ช่วงที่ 3 (Phase 3 : Brainstorm & Seminar) จัดประชุมสัมมนาระดมความคิดเห็นในพื้นที่เป้าหมาย โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ เครือข่ายความร่วมมือ ชุมชนในพื้นที่ และชุมชนอื่น เพื่อระดมความคิดเห็น ให้ได้ข้อเสนอแนะ และช่วงที่ 4 (Phase 4 : Research Conclusion for NHA’s Community Shop Model) จัดทำรูปแบบของร้านค้าในชุมชนการเคหะแห่งชาติ พร้อมวิเคราะห์ และกำหนดแผนงานด้านต่างๆ รวมถึงจัดทำข้อเสนอแนะ แผนการดำเนินงาน ระเบียบการประกอบการร้านค้าในชุมชน แนวทางการพัฒนาปรับปรุงและแก้ไข

ปัญหา ทั้งในระยะสั้น (ช่วง 1 – 2 ปี) ระยะปานกลาง (ช่วง 3 – 4 ปี) และระยะยาว (5 ปี ขึ้นไป) เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุตามวัตถุประสงค์  ผลที่ได้รับจากงานวิจัยในครั้งนี้ จะทำให้เกิดรูปแบบพื้นที่ร้านค้าชุมชนที่มีเอกลักษณ์ในรูปแบบเดียวกันอย่างเป็นรูปธรรมในทุกโครงการ ทั้งยังเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชาวชุมชน ทำให้ชุมชนกลายเป็นชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน สอดรับกับวิสัยทัศน์ของการเคหะแห่งชาติที่ว่าเป็นองค์กรหลักด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชนและเมือง เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย