krung-thep-mahanakhon

นับตั้งแต่มีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า BTS ข้ามสะพานตากสิน ไปถึงสถานีกรุงธนบุรีและสถานีวงเวียนใหญ่ ในปี 2552 ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยหันมาพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในพื้นที่ฝั่งธนบุรีบริเวณใกล้แม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้น และโครงการเหล่านี้ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี เนื่องจากระดับราคาต่ำกว่าที่ผู้บริโภคต้องจ่ายหากซื้อในย่านสาทร-สีลม

ต่อมาในปี 2556 มีการเปิดให้บริการส่วนต่อขยายออกไปอีก ถึงสถานีโพธิ์นิมิตร และสถานีตลาดพลู ในช่วงต้นปี และถึงสถานีบางหว้า ในช่วงปลายปี ทำให้เกิดความสะดวกสบายในการเดินทางสัญจร เพิ่มโอกาสต่อผู้ประกอบการในการพัฒนาโครงการ และต่อผู้บริโภคในการเลือกหาซื้อที่อยู่อาศัยในทำเลที่เดินทางเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพฯ ได้สะดวก ในระดับราคาที่ผู้บริโภคมีศักยภาพซื้อได้

นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า บริเวณแนวรถไฟฟ้า ตั้งแต่สถานีกรุงธนบุรี จนถึงสถานีบางหว้า เป็นบริเวณซึ่งมีศักยภาพสูงในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียม แม้บริเวณสถานีวุฒากาศ และสถานีบางหว้า จะมีลักษณะเป็นพื้นที่ชานเมืองเมื่อเทียบกับสถานีกรุงธนบุรี หรือสถานีวงเวียนใหญ่

แต่ผู้โดยสารใช้เวลาเพียงประมาณ 20-25 นาที ในการเดินทางจากสถานีบางหว้า ถึงสถานีสยาม อีกทั้งในอนาคตสถานีบางหว้าจะเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างรถไฟฟ้าสายสีเขียว และสายสีน้ำเงิน (สถานีหัวลำโพง-สถานีบางแค) จึงมีผู้ประกอบการเข้ามาพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมจำนวนมาก และได้รับความสนใจจากผู้ซื้อ

ฝ่ายวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้ดำเนินการสำรวจตลาดคอนโดมิเนียมแนวรถไฟฟ้า สถานีกรุงธนบุรี-สถานีบางหว้า ในรัศมีประมาณ 500 เมตร จากแนวรถไฟฟ้า พบว่ามีโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดขายตั้งแต่ปี 2552 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ทั้งสิ้นประมาณ 31 โครงการ รวมประมาณ14,900 หน่วย

จากโครงการและหน่วยทั้งหมดนี้ แบ่งเป็นที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ 14 โครงการ รวมประมาณ 5,300 หน่วย อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 11 โครงการ ประมาณ 6,500 หน่วยและยังไม่ก่อสร้างอีก 6 โครงการ ประมาณ 3,100 หน่วยโดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จทุกโครงการภายในปี 2561

ทั้งนี้จากโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ 14 โครงการนั้นเป็นโครงการที่ขายหมดแล้ว 12 โครงการ ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 11 โครงการนั้น เป็นโครงการที่ขายหมดแล้ว 4 โครงการ โดยเป็นโครงการที่พัฒนาโดยผู้ประกอบการซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Listed Developers)และบริษัทในเครือ ทั้งสิ้นประมาณ 20 โครงการ มีจำนวนห้องชุดคิดเป็นร้อยละ 75 ของหน่วยทั้งหมด ในขณะที่ผู้ประกอบการนอกตลาดหลักทรัพย์พัฒนาประมาณ 11 โครงการแต่มีจำนวนห้องชุดรวมกันเพียงร้อยละ 25 ของหน่วยทั้งหมด

โดยภาพรวม อุปสงค์ของผู้บริโภคยังดูดซับได้ดี สังเกตได้จากยอดจองหรือยอดขายของทุกโครงการในย่านนี้รวมกันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 78

อย่างไรก็ตาม หากมีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สถานีหัวลำโพง-สถานีบางแค) ซึ่งคาดว่าจะเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการประมาณปี 2560 จะทำให้พื้นที่ย่านนี้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ