ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Research & Innovation for Sustainability Center – RISC) ภายใต้ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (MQDC) แนะเทคนิคออกแบบภายในสำนักงานต้องให้ความสำคัญต่อทุกปัจจัยที่มีผลกระทบคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้งานจะช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับอาคารในระยะยาวได้ พร้อมจัดเวิร์คช็อปหุ่นยนต์ให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมทดลองออกแบบที่ศูนย์ RISC เมื่อเร็วๆนี้
รศ. ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Research & Innovation for Sustainability Center – RISC) หรือ ศูนย์ริสค์ กล่าวว่า หลังจากที่บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผู้ลงทุนและดำเนินการบริหารโครงการที่พักอาศัยแนวราบ คอนโดมีเนียม และโครงการมิกซ์ยูสคอมเพล็กซ์ ภายใต้แบรนด์ แมกโนเลียส์ (Magnolias) และ วิสซ์ดอม (Whizdom) และ แอสเพน ทรี (Aspen Tree) ได้เริ่มลงทุนก่อสร้างศูนย์ฯ มาตั้งแต่ปีที่ 2559 และจะพร้อมเปิดพื้นที่วิจัยนี้ให้กับทุกคน ทุกองค์กร ที่สนใจด้านการพัฒนาและก่อสร้างอย่างยั่งยืน
“RISC เน้นทำการวิจัยภายใต้หลักการ “นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน” เราจะพยายามค้นคว้าวิจัยให้บรรลุเป้าหมายทางความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และขณะเดียวกันก็ช่วยส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น รวมทั้งเพื่อการพัฒนาทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ” รศ.ดร. สิงห์ กล่าว
ภายในงานมีผู้เชี่ยวชาญพิเศษ คุณ วสุธา เชน สถาปนิกวิจัยอาวุโส, ศูนย์ ริสค์ เป็นผู้บรรยายในหัวข้อ “การออกแบบสำนักงานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี” ให้กับผู้ฟังซึ่งเป็นนักออกแบบคณาจารย์และประชาชนทั่วไปกว่า 50 คนว่าศูนย์ริสค์ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นต้นแบบของโครงการที่คำนึงถึงความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของผู้ใช้งานภายในอาคารด้วยการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียดที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้ใช้งานภายในอาคาร อาทิเช่น คุณภาพอากาศภายในอาคาร (indoor air quality) เสียงและแสงที่เหมาะสม (acoustic and visual comfort)
ทางศูนย์ RISC ออกแบบโดยทีมสถาปนิก นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์บนพื้นที่กว่า 990 ตรม. บนชั้นสี่ อาคารแมกโนเลียส์ ราชดำริ บูเลอวาร์ด
ศูนย์ RISC ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นโครงการแรกในอาเซียนที่ได้รับการรับรองคุณภาพการออกแบบมาตรฐาน WELL ในประเภทการออกแบบภายใน (interior project) เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้งานภายในอาคารและร่วมพัฒนาคุณภาพโครงการอสังหาริมทรัพย์ไทยอีกด้วย เขาชี้แนะว่าโครงการที่มุ่งคำนึงถึงคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนของผู้ใช้งานควรมีการศึกษามาตรฐาน WELL เพื่อใช้เป็นแนวทางในการออกแบบ
มาตรฐาน WELL เป็นมาตรฐานชั้นนำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกในการรับรองคุณภาพการออกแบบโครงการที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตที่ดี ดำเนินการโดยสถาบันจากสหรัฐ International WELL Building Institute (IWBI)
คุณวสุธา กล่าวอีกว่าการออกแบบภายในสำนักงานโดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตสามารถส่งผลดีให้กับเจ้าของสำนักงานได้ในระยะยาวในแง่คุณภาพชีวิตเพื่อนร่วมงานและรายได้ให้เจ้าของกิจการ เนื่องจากคนทำงานที่มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้น
“การออกแบบโครงการให้ได้ตามมาตรฐาน WELL ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความตั้งใจจริงของทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เจ้าของโครงการ สถาปนิก วิศวกรไปจนถึงผู้รับเหมาก่อสร้าง”
“RISC เป็นหนึ่งในโครงการแรกๆในอาเซียนที่ออกแบบตามมาตรฐานตะวันตกเต็มรูปแบบอย่าง WELL ในขณะที่เราอยู่อีกฟากของโลก นวัตกรรมจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถจัดการกับเงื่อนไขต่างๆ เช่นสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศ ความชื้น ให้สามารถทำตามมาตรฐาน WELL ได้” คุณวสุธา กล่าว
คุณวสุธา กล่าวว่ามาตรฐานของ WELL ครอบคลุมทุกรายละเอียดตั้งแต่การออกแบบอาคาร การก่อสร้างไปถึงการบริหารจัดการ รวมถึงเครื่องอุปโภคบริโภคทุกชนิด แม้แต่อุปกรณ์ทำความสะอาด ซึ่งล้วนส่งผลให้สิ่งแวดล้อมภายในอาคารดีขึ้นและร่วมกระตุ้นให้ผู้คนในอาคารปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีไปโดยปริยาย
“หากเจ้าของอาคารบริหารตามมาตรฐานอย่างถูกต้อง จะทำให้ผู้อยู่ในอาคารเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองไปอย่างแน่นอน เช่นหากเราออกแบบบันไดให้คนรู้สึกอยากเดินขึ้นมากกว่าใช้ลิฟท์ คนก็จะได้ออกกำลังกายมากขึ้นโดยปริยาย เป็นต้น” เขากล่าว
“ข้อดีของการออกแบบตามมาตรฐาน WELL คือทำให้เราสร้างกลไกให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกขั้นตอนตั้งแต่เจ้าของ ผู้ออกแบบมาจนถึงปลายทางคือผู้ใช้อาคารได้มีส่วนร่วมในการช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีร่วมกัน เมื่อทุกคนมีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งของสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ทุกคนจะร่วมมือรักษาให้มันดีต่อไป” คุณ วสุธากล่าว
ด้านคุณทิพทับทิม ภูมิพาณิชย์ สถาปนิกวิจัยอาวุโส บรรยายในหัวข้อ “วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการออกแบบที่ยั่งยืน” ที่ผ่านมา ว่าประเด็นสำคัญที่ทำให้การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่แพร่หลายได้เร็วเท่าที่ควร เกิดจากยังขาดศูนย์กลางที่ช่วยเก็บรวบรวมข้อมูล แหล่งซื้อหาวัสดุที่เป็นมิตรที่มีในท้องตลาด รวมถึงนวัตกรรมใหม่
ทาง RISC จึงก่อตั้งห้องสมุดด้านวัสดุก่อสร้างและตกแต่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีรายการข้อมูลกว่า 300 ชนิด เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงข้อมูลมากขึ้น
เธอได้ยกตัวอย่างการใช้วัสดุภายในศูนย์ RISC ซึ่งเป็นมิตรต่อทุกคน รวมถึงพืชและสัตว์ เพื่อจะเป็นศูนย์วิจัยนวัตกรรมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนและเพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่โครงการอื่นๆต่อไป
นอกจากนี้ ทางศูนย์ RISC จับมือร่วมกับบริษัทร่วมทุนของ MQDC, โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด จัดเวิร์คช็อปที่ศูนย์วิจัย RISC ให้ผู้ร่วมเวิร์คช็อปร่วมทดลองออกแบบส่วนตาของหุ่นยนต์ของโอโบดรอยด์
คุณพลณัฏฐ์ เฉลิมวรรณ์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอโบดรอยส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ทางบริษัทเกิดจากความร่วมมือกับ MQDC เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ร่วมกัน เนื่องจากมองเห็นประโยชน์ของหุ่นยนต์ที่สามารถนำมาใช้งานอย่างเป็นรูปธรรมได้ ในเวิร์คช็อปนี้ ก็ได้ร่วมมือกับทางศูนย์วิจัย RISC เพื่อแสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมอันก้าวหน้าที่เป็นจริงได้
ดร มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่าเวิร์คช็อปนี้จัดทำเพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเห็นความก้าวหน้าทางนวัตกรรมของศูนย์ RISC และโอโบดรอยด์ และได้ทดลองสัมผัสหุ่นยนต์อย่างใกล้ชิด โดยทางทีมผู้พัฒนาหุ่นยนต์ให้คำแนะนำเบื้องต้นในการออกแบบส่วน “ตา” ให้กับผู้ร่วมเวิร์คช็อป
โครงการของ MQDC ถือเป็นผู้บุกเบิกวงการอสังหาฯ เป็นรายแรกที่นำเทคโนโลยีล้ำหน้า เพื่อคุณภาพชีวิตและการพัฒนาโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย อาทิเช่น โครงการ วิสซ์ดอม รัชดา-ท่าพระ เป็นโครงการอาคารห้องชุดพักอาศัยแห่งแรกที่นำเทคโนโลยี Co2 sensors ผนวกกับ Energy Recovery Ventilation (ERV) ซึ่งเป็นระบบถ่ายเทอากาศภายในอาคาร โดยมีระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับอากาศเป็นตัวช่วยสั่งการให้มีการถ่ายอากาศเสียออกและเติมออกซิเจนเข้าโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะช่วยปรับคุณภาพอากาศภายในอาคาร หรือ indoor air quality ให้ดีต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย
นอกจากนี้โครงการ วิสซ์ดอม 101 ก็จะเป็นโครงการแรกในประเทศไทยที่ถูกออกแบบให้เป็นโครงการเมืองอัจฉริยะแบบบูรณาการหรือ Smart City remote asset management โดยโครงการนี้จะติดตั้งเทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะร่วมกับระบบเชื่อมต่อครบวงจร ร่วมกันคิดค้นแอพพลิเคชั่นขึ้นใหม่เพื่อให้สั่งการทำงานได้จากรีโมทคอนโทรล เพื่อตอบโจทย์เรื่องการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ ได้แก่ การประหยัดพลังงาน ลดปัญหาจราจร ลดมลพิษทั้งภายนอกและภายในโครงการ ตลอดจนช่วยยืดอายุการใช้งานของระบบสาธารณูปโภคและวัสดุต่างๆ ภายในอาคาร
MQDC มีความมุ่งมั่นที่จะฉีกกฏการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบเดิมๆ มาเป็นโครงการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรมหรือ Sustainnovation โดยมุ่งคิดค้นนวัตกรรมใหม่ นำมาผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีปัจจุบัน อาทิ โฮมออโตเมชั่น การใช้พลังงานบริสุทธิ์ การจัดการทางด้านการเงินให้ผู้อยู่อาศัย รวมไปถึงข้อมูลการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ นำมาใช้ร่วมกัน เพื่อให้ทุกโครงการบรรลุเป้าหมายการสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืน