ข่าวจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า LPN ศรีนครินทร์-บางนา และ Noble Unite สุรศักดิ์ ทั้งสองโครงการนี้ไม่สามารถก่อสร้างได้จึงต้องคืนเงินจองนะครับ รายละเอียดสามารถติดตามได้จากข่าวของประชาชาติธุรกิจและศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ด้านล่างได้เลยครับ
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากสถานการณ์ตลาดคอนโดมิเนียมที่อยู่ในช่วงร้อนแรง ส่งผลให้ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาส่งสัญญาณเตือนว่ากำลังจับตามองการเกิดฟองสบู่ แต่ในขณะเดียวกันพบว่ามีโครงการคอนโดฯของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดผังเมือง เรื่องการขออนุญาตสิ่งแวดล้อม การต่อต้านการก่อสร้างจากคนในชุมชนใกล้เคียง และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร จนเป็นเหตุให้โครงการที่เปิดขายไปแล้วไม่สามารถก่อสร้างได้ และต้องคืนเงินจอง-เงินดาวน์ให้ลูกค้า
แหล่งข่าวจากวงการอสังหาริมทรัพย์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ท่ามกลางภาวะตลาดคอนโดฯที่ดูร้อนแรง มีโครงการใหม่ทยอยเปิดตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เกิดเหตุช็อกตลาดขึ้น เมื่อมีโครงการของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ 2 แห่งที่เปิดขายไปแล้ว แต่เกิดปัญหาจนเป็นเหตุให้ต้องคืนเงินจองให้ลูกค้า และหยุดการขายแบบเงียบ ๆ
โครงการแรกคือลุมพินีวิลล์ ศรีนครินทร์บางนา ใกล้กับโรงแรมเมเปิ้ล (รร.โนโวเทล ศรีนครินทร์เดิม) ของบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN เท่าที่ทราบเกิดจากทีมผู้บริหารตัดสินใจปรับแผนใหม่ เพราะต้องการรอให้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ประกาศใช้ก่อน คาดว่าจะเป็นช่วงต้นหรือกลางปีหน้า เพราะมีความเป็นไปได้ว่าภายใต้ผังเมืองฉบับใหม่ จะได้สิทธิ์พัฒนาพื้นที่อาคารเพิ่มขึ้นจากเดิม อย่างไรก็ตาม อีกด้านก็มีกระแสว่าเกิดจากชาวบ้านในละแวกพื้นที่ก่อสร้างโครงการคัดค้าน เพราะไม่ต้องการให้มีคอนโดฯเกิดขึ้นในบริเวณนี้
ขณะที่โครงการโนเบิล ยูไนท์ ใกล้สถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์ ของบริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ที่เปิดตัวเมื่อเดือนกันยายน 2554 ได้คืนเงินจองและเงินดาวน์ให้กับลูกค้าเช่นกัน ทราบว่าเกิดจากโครงการไม่ผ่านการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงานอีไอเอ) จึงต้องคืนเงินลูกค้าเพื่อรอปรับแบบใหม่อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 เหตุการณ์นี้แทบไม่มีลูกค้านำข้อความมาร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์ต่าง ๆ เหตุผลน่าจะมาจากผู้ประกอบการทั้ง 2 รายได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการคืนเงินลูกค้า
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ปรากฏการณ์คอนโดฯที่คืนเงินจอง-เงินดาวน์ให้ลูกค้าเริ่มเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับช่วงที่ตลาดคอนโดฯเข้าสู่ยุคบูมตั้งแต่ปี 2547-2548 เป็นต้นมา โดย LPN เคยเกิดปัญหาต้องคืนเงินให้กับลูกค้าโครงการคอนโดฯในซอยลาดพร้าว 21 เมื่อหลายปีก่อน เนื่องจากชาวบ้านในละแวกนั้นคัดค้านการก่อสร้าง
รวมทั้งกรณีโครงการเดอะซีด อะตอม (ซอยอารีย์) และเดอะทรี เกียกกาย ของ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ที่ต้องคืนเงินลูกค้าเพราะติดข้อบังคับเรื่องความกว้างเขตทางถนนภายในซอย ทำให้พัฒนาอาคารสูงเกิน 8 ชั้นไม่ได้ และเทศบัญญัติควบคุมความสูงอาคารรอบพื้นที่ก่อสร้างรัฐสภาใหม่ที่ไม่สามารถก่อสร้างอาคารสูงเกิน 8 ชั้นได้
นายพิเชษฐ ศุภกิจจานุสันติ์ กรรมการบริหาร บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้หยุดการขายและทยอยคืนเงินให้กับลูกค้าที่ซื้อห้องชุดลุมพินีวิลล์ ศรีนครินทร์-บางนาจริง เพราะตามผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่น่าจะก่อสร้างพื้นที่อาคารได้เพิ่มขึ้น จึงต้องการรอให้ กทม.ประกาศใช้ก่อน แต่ไม่ได้เกิดจากยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหรือมีชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงคัดค้านการก่อสร้าง ปัจจุบันอยู่ระหว่างทยอยคืนเงินให้กับลูกค้าที่วางเงินจองไปแล้ว ซึ่งมีจำนวนประมาณ 100 ราย จำนวนกว่า 100 ยูนิต โดยโครงการนี้แต่เดิมออกแบบเป็นอาคารสูง 26 ชั้น จำนวน 568 ยูนิต ราคาขายเริ่มต้นยูนิตละ 1 ล้านบาท มูลค่าโครงการประมาณกว่า 700 ล้านบาท
แหล่งข่าวจาก บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ เปิดเผยว่า เมื่อประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา ได้หยุดขายและคืนเงินให้ลูกค้าโครงการโนเบิล ยูไนท์ เนื่องจากโครงการไม่ผ่านการพิจารณารายงานอีไอเอ หลังจากนี้จะปรับแบบอาคารใหม่ และยื่นรายงานอีไอเอให้สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาอีกครั้ง จนกว่าจะผ่านการพิจารณาจึงจะเปิดขายใหม่ โดยโนเบิล ยูไนท์เปิดขายมาประมาณ 1 ปี เป็นอาคารสูง 31 ชั้น จำนวน 240 ยูนิต มูลค่าโครงการประมาณ 1,500 ล้านบาท ก่อนตัดสินใจคืนเงินจอง-เงินดาวน์ให้ลูกค้ามียอดขายแล้วประมาณ 50%
นายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) หรือ REIC ซึ่งมีผู้แทนจากสมาคมด้านอสังหาฯและ ธปท.เข้าร่วมด้วย
หลังจากแลกเปลี่ยนข้อมูลกันแล้วปรากฏว่า ธปท.ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องสัญญาณการเกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดคอนโดฯ เนื่องจากปีนี้มีโครงการคอนโดฯเปิดตัวใหม่เป็นจำนวนมาก และมีความเป็นห่วงซัพพลายที่ออกมาจะทำให้เกิด “ดีมานด์เทียม” ที่ซื้อเพื่อการเก็งกำไรขายต่อในช่วงการผ่อนดาวน์ จนกลายเป็นฟองสบู่ในที่สุด
นายธำรงกล่าวว่า ในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทยประเมินว่า ภาวะฟองสบู่อาจจะยังไม่เกิดขึ้นในขณะนี้ แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือภาวะ “โอเวอร์ซัพพลาย” เนื่องจากมีคอนโดฯเปิดตัวใหม่ในปีนี้เป็นจำนวนมาก ทำให้มีซัพพลายหนาแน่นในหลายทำเลและมียอดขายช้า ได้แก่ ทำเลรัชดา-ห้วยขวาง จตุจักร ดินแดง เนื่องจากกำลังซื้อได้ถูกดูดซับไปแล้ว
ทั้งนี้ การเกิดภาวะฟองสบู่คือโครงการที่เปิดตัวจะต้องขายดี จนทำให้สินค้าขาดแคลนเป็นช่วง ๆ ขณะที่ผู้ซื้อก็ไม่ได้ซื้ออยู่จริง แต่นำมาขายต่อเก็งกำไรเป็นทอด ๆ
นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส. หรือ REIC เปิดเผยว่า จากการสำรวจของ REIC พบว่าช่วง 9 เดือนแรกปีนี้มีคอนโดฯเปิดตัวใหม่ 48,000 หน่วย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 50% ในจำนวนนี้มีประมาณ 32,000 ยูนิต อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะที่บ้านจัดสรรช่วง 9 เดือนแรกปีนี้เปิดตัวลดลง 29% จาก 34,000 ยูนิต เหลือ 24,000 ยูนิต
จากซัพพลายคอนโดฯที่ออกมามากขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำตัวเลขซัพพลายแยกเป็นทำเลต่าง ๆ เบื้องต้นพบว่ามีแนวโน้มจะโอเวอร์ซัพพลายในบางพื้นที่ โดยมีโครงการเปิดตัวใหม่จำนวนมาก แต่มียอดขายช้า ได้แก่ 1) ทำเลลาดพร้าว ดินแดง และห้วยขวาง มีซัพพลายเปิดตัวใหม่ 9 เดือนแรกประมาณ 1 หมื่นยูนิต 2) ทำเลสุขุมวิทตอนปลาย นับจากอ่อนนุช-สมุทรปราการประมาณ 9,000 ยูนิต 3) ทำเล “พัทยา-ชลบุรี” มีซัพพลายใหม่ 15,000-20,000 ยูนิต และ 4) หัวหิน-ชะอำ มีซัพพลายใหม่ 8,000-10,000 ยูนิต
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 29 – 31 ต.ค. 2555