กองทรัสต์ GROREIT เข้าเทรดวันแรก 21 กรกฏาคม 64 หลังได้รับการตอบรับดีเยี่ยม ขาย IPO หมดทั้งจำนวน กองทรัสต์มีมูลค่ารวม 4,500 ล้าน ชูจุดเด่นเป็น REIT Buy Back กองแรกของประเทศให้ผลตอบแทนสูงและคงที่ แกรนด์ แอสเสทฯ ยังมั่นใจธุรกิจโรงแรมมีโอกาสฟื้นตัวรวดเร็ว พร้อมให้พนักงานโรงแรมในกลุ่มทั้ง 5 แห่ง ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ 100% ในเดือนสิงหาคม เดินหน้าแผนปรับปรุงบริการของโรงแรมทั้งหมด เพื่อเร่งสร้างรายได้ หลังสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น
นายวิทวัส วิภากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทในกลุ่มของแกรนด์ แอสเสทฯ ได้แก่ บริษัท โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้เสนอขายทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์แกรนด์ รอยัล ออคิด โฮสพีทาลิตี้ ที่มีข้อตกลงในการ ซื้อคืน หรือ GROREIT เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน – 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก สามารถขายให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) หมดทั้งจำนวน ทั้งนี้ กองทรัสต์ GROREIT มีมูลค่า 4,500 ล้านบาท มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด เป็นผู้จัดการกองทรัสต์และจัดจำหน่าย พร้อมนำหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันแรก ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 นี้
“บริษัทต้องขอขอบคุณนักลงทุนที่ให้การตอบรับอย่างดีมาก กับกองทรัสต์ GROREIT ที่เข้าลงทุนในกรรมสิทธิ์โรงแรม รอยัล ออคิด เชอราตัน ในครั้งนี้ แม้ว่าจะมีปัจจัยกดดันบรรยากาศการลงทุนในช่วงนี้ โดยอัตราผลตอบแทนจากหุ้นอาจมีความผันผวนไม่แน่นอน แต่การลงทุนใน GROREIT มีอัตราผลตอบแทนคงที่ สามารถให้เงินปันผลได้สูง ผลตอบแทนรวมที่ประมาณ 8% ต่อปี (IRR) จึงเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจไม่น้อย โดย GROREIT ถือเป็น REIT ประเภทพิเศษที่มีเงื่อนไขการลงทุนที่แตกต่างจาก REIT ทั่วไปด้วยอายุการลงทุนที่สั้นกว่าเพียง 5 ปี และเป็น REIT Buy Back ที่มีข้อตกลงในการซื้อคืนกองแรกของประเทศไทย เป็นแนวทางการระดมทุนที่ดีที่สุดรูปแบบหนึ่ง ทั้งนี้บริษัทยังได้เช่าทรัพย์สินกลับไปบริหาร โดยมีหลักประกันการเช่าแน่นอน รวมทั้งมีแผนจะกลับมาซื้อโรงแรมคืนภายในระยะเวลา 5 ปี ด้วยเชื่อมั่นว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจโรงแรมจะมีโอกาสฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน ที่ผ่านมามีศักยภาพสามารถสร้างรายได้ที่ดีให้กับบริษัทอย่างสม่ำเสมอ”
นายวิทวัส เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ตลอดระยะเวลาการระบาดของโควิด-19 แม้ธุรกิจโรงแรมจะได้รับผลกระทบโดยตรง แต่บริษัทก็มีการปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อฝ่าวิกฤตครั้งนี้ เช่น การออกแพ็คเกจ Staycation และ Work from Hotel ให้บริการห้องพักและสิ่งอำนวยความสะดวกของโรงแรมเพื่อการทำงานได้อย่างสะดวกสบาย และเพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความมั่นใจในเรื่องของความปลอดภัยให้กับทั้งพนักงานและนักท่องเที่ยว พนักงานทั้งหมดของโรงแรมในกลุ่มทั้ง 5 แห่ง จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบภายในเดือนสิงหาคมนี้ นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนปรับปรุงบริการด้านต่างๆ ของกลุ่มโรงแรม เพื่อสามารถให้บริการได้หลากหลายรูปแบบตรงตามความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน อาทิ รอยัล ออคิด เชอราตัน จะทำการปรับปรุงร้านอาหารริมน้ำใหม่ โดยเพิ่มความหลากหลายของเมนูอาหารทะเลและบาร์ริมน้ำ เพื่อให้ได้บรรยากาศผ่อนคลายแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เดอะเวสติน แกรนด์ สุขุมวิท จะทำการปรับปรุงห้องอาหารคิซโซะ โดยเพิ่มเมนูอาหารเพื่อคนรักสุขภาพ ในส่วนของบาร์จะปรับปรุงพื้นที่การใช้งานให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้าในปัจจุบันในการเป็นสถานที่นัดพบ เนื่อง จากทำเลของโรงแรมเป็นจุดเชื่อมที่สำคัญของรถไฟฟ้า BTS อโศกและรถไฟใต้ดิน MRT สุขุมวิท มีความสะดวกอย่างมากในการเดินทาง ไฮแอท รีเจนซี่ กรุงเทพ สุขุมวิท มีการปรับรูปแบบการให้บริการโดยนำ “ร้านข้าว” ร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์มาเปิดให้บริการที่ชั้น 4 ในโรงแรม ในส่วน “สเปคตรัม” รูฟท็อปบาร์ใจกลางสุขุมวิท จะเน้นเจาะตลาดกลุ่ม Gen Y และ LGBTQ เพิ่มขึ้น
สำหรับ เชอราตัน หัวหิน รีสอร์ท แอนด์ สปา และ เชอราตัน หัวหิน ปราณบุรี วิลล่า ได้เตรียมเปิดบริการบีชบาร์แห่งใหม่ และจะมีบริการอาหารญี่ปุ่น จากห้องอาหารคิซโซะ ของโรงแรมเดอะ เวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท ไปเปิดให้บริการเพิ่มเติม นอกจากนี้ เชอราตัน หัวหิน ปราณบุรี วิลล่า ได้เตรียมแผนปรับรูปแบบการให้บริการเป็นไพรเวทออนเซ็นพูลวิลล่า เอาใจสายท่องเที่ยวที่คิดถึงบรรยากาศการแช่ออนเซ็นพร้อมวิวธรรมชาติที่เป็นส่วนตัวในห้องพัก คาดว่าไตรมาส 4 ของปีนี้ไปจนถึงต้นปีหน้า ผลการดำเนินการของกลุ่มโรงแรมทั้ง 5 แห่ง จะสามารถกลับมาสร้างรายได้ดีขึ้น
“อย่างไรก็ดี การเดินหน้าแผนธุรกิจต่างๆ ของโรงแรม ขึ้นอยู่กับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นสำคัญ รัฐบาลควรเร่งหามาตรการแก้ไขสถานการณ์การระบาดที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะใน 13 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยเร่งฉีดวัคซีนให้ครบ 70% ภายในไตรมาส 3 ซึ่งคิดว่ามีโอกาสเป็นไปได้ รวมทั้งแนวทางการบริหารจัดการวัคซีน โดยการนำเข้าวัคซีนทางเลือกเพิ่มขึ้นให้เร็วที่สุดด้วย”