ครมไฟเขียว5

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ พร้อมนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ร่วมแถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการอสังหาริมทรัพย์ 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนแรกมอบหมายให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปล่อยกู้ให้กับประชาชนที่ต้องการที่อยู่อาศัย วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยมาตรการมีระยะเวลา 1 ปี หรือสิ้นสุดเดือน ธ.ค. 59 โดยการปล่อยกู้ขึ้นอยู่กับธนาคารไปหาแนวทาง ส่วนที่ 2 มาตรการปรับลดภาษีการโอนจาก 2% เหลือ 0.01% และค่าจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% ระยะเวลา 6 เดือน ส่วนที่ 3 มาตรการทางภาษีที่ประชาชนสามารถนำ 20% ของมูลค่าที่อยู่อาศัย นำมา ยกเว้น  ลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา เป็นระยะเวลา 5 ปี

61ebb0ce303c4bd12b53a1739de5f871_XL
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงว่า เนื่องจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยซึ่งส่งผลให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีกำลังซื้อที่อยู่อาศัยลดลง ประกอบกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศในภาพรวมมีอุปทาน คงค้างในตลาดจำนวนมาก ทั้งในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งเมืองสำคัญในภูมิภาค เช่น พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ อุดรธานี และขอนแก่น เป็นต้น คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบมาตรการการเงินการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์รวม 2 มาตรการ ดังนี้

1. มาตรการการเงิน
เพื่อเป็นการสนับสนุนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางให้สามารถกู้ซื้อที่อยู่อาศัยในวงเงินที่สูงขึ้นด้วยเงื่อนไขผ่อนปรน อันจะทำให้กลุ่มผู้ที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยและภาค อสังหาริมทรัพย์ของประเทศ

  • ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จึงออกมาตรการเพื่อส่งเสริมการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง เพื่อให้ผู้กู้ใช้ในการซื้อที่ดินพร้อมอาคาร ห้องชุด หรือเพื่อปลูกสร้างอาคาร หรือเพื่อซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างอาคาร โดยประมาณการวงเงินให้สินเชื่อรวมเบื้องต้น 10,000 ล้านบาท กำหนดระยะเวลารับคำขอและการทำนิติกรรม 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2558  และให้ ธอส. สามารถขยายระยะเวลาได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 30 ปี และมีกลุ่มเป้าหมาย คือผู้ที่มีรายได้สุทธิต่อเดือนไม่เกิน 30,000 บาท โดยเกณฑ์หลักประกันเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติงานสินเชื่อของ ธอส.

2. มาตรการการคลัง
2.1 การลดค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม โดยให้ลดการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอน และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ และห้องชุด จากเดิมร้อยละ 2 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ในกรณีการโอน และร้อยละ 1 ของมูลค่าที่จำนอง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ในกรณีการจำนองฯ เหลือร้อยละ 0.01 เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อเร่งให้เกิดการทำนิติกรรมโดยเร็ว
2.2 การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับรายได้ที่จ่ายไปเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์* ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุดในอาคารชุดที่มีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตนเองเป็นจำนวนร้อยละ 20 ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ โดยจะต้องเป็นการซื้อครั้งแรกและเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยจริง ผู้ซื้อสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อเนื่องกัน 5 ปีภาษี นับแต่ปีภาษีที่มีการจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ โดยให้แบ่งใช้สิทธิเป็นจำนวนเท่า ๆ กันในแต่ละปีภาษี ทั้งนี้ ต้องจ่ายค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559

condolette-midst-rama9-facility81

กระทรวงการคลังคาดว่ามาตรการดังกล่าวข้างต้น จะสามารถช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยหรือไม่มีรายได้ประจำ และผู้มีรายได้ปานกลางซึ่งไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ให้สามารถ ได้รับสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีเงื่อนไขผ่อนปรนได้ง่ายยิ่งขึ้น และสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ปัจจุบัน ธอส.ได้ให้ความช่วยเหลือในเรื่องสินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่แล้วจะได้รับประโยชน์จากการดำเนินมาตรการข้างต้นมากยิ่งขึ้น

photo2

นอกจากนี้ ผู้ซื้อบ้านทั้งในส่วนของบ้านใหม่และบ้านมือสองจะได้รับสิทธิประโยชน์จากการลดค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนอง รวมทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาข้างต้นด้วย  ซึ่งจะช่วยลดภาระให้กับผู้มีรายได้น้อยโดยตรง ทั้งนี้การดำเนินมาตรการดังกล่าวจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งระบบ

ที่มา : กระทรวงการคลัง, ผู้จัดการ

*อ้างอิงตามเว็บของกระทรวงการคลัง ใช้คำว่ายกเว้นภาษีเงินได้ ซึ่งความหมายจริงๆ ก็คือเราสามารถนำวงเงิน 20% ของการซื้อบ้าน ไปหักลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาได้ เป็นระยะเวลา 5 ปี