ใครๆก็อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเองใช่ไหมคะ ไม่ว่าจะทำงานสาขาอาชีพใด หากยื่นกู้ซื้อบ้านกับทางธนาคาร ทุกคนต่างก็หวังให้เค้าอนุมัติให้ทั้งนั้น แต่สำหรับคนที่ทำอาชีพฟรีแลนซ์  (หรืออาชีพอิสระ) เมื่ออยากกู้ซื้อบ้านสักหลังหรือคอนโดสักห้อง ปัญหาเจ้ากรรมดันเยอะกว่าคนทำงานประจำหลายเท่าตัว และมีความเป็นไปได้สูงที่จะ “กู้ไม่ผ่าน” แบบนี้จะทำอย่างไรดี? มีวิธีไหนที่จะทำให้มนุษย์ฟรีแลนซ์สามารถกู้บ้านได้บ้างนะ? บทความนี้มีคำตอบค่ะ

มีรายได้ทุกเดือน บางเดือนได้ถึงหลักแสน  แต่ทำไมกู้ไม่ผ่าน ?!?

“เราเป็นฟรีแลนซ์ค่ะ ทำกราฟฟิกดีไซน์มาแล้ว 3 ปี มีหลายบริษัทที่ว่าจ้างเรา รายได้รวมๆเดือนหนึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 70,000-80,000 บาท  เดือนไหนงานชุม รายได้เหยียบหลักแสนบาทก็มี แต่พอจะกู้ซื้อบ้านเท่านั้นแหละ ยื่นกู้ไป 3 แบงค์ …ไม่ผ่านสักแบงค์เลยค่ะ”

เดาว่าหลายคนอาจเคยประสบปัญหาอย่างเคสนี้ ฟรีแลนซ์บางคนมีรายได้สม่ำเสมอทุกเดือน บางรายมีรายได้ต่อเดือนถึงหลักแสนบาท แต่กลับกู้ไม่ผ่าน งงกันไปตามๆกันเลยใช่ไหมคะ นั่นเพราะทางธนาคารส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับที่มาของรายได้และสถานะการทำงานของผู้กู้ที่ต้องมีความมั่นคง ตรวจสอบได้จริงค่ะ เหล่านี้คือสิ่งที่การันตีได้ว่าผู้กู้มีความสามารถที่จะจ่ายคืนธนาคารได้ทุกเดือน โดยไม่มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน

ปกติคนที่ทำงานประจำเค้าจะมี “เงินเดือน” เข้าในอัตราที่ค่อนข้างคงที่และสม่ำเสมอทุกเดือนอยู่แล้ว ธนาคารสามารถตรวจสอบที่มาของรายรับได้ง่าย และมีการรับรองสภาพการเป็นพนักงานที่แน่ชัด รวมถึงมีการหักเบี้ยประกันสังคมตามกฎหมายและมีการชำระภาษีเงินได้ประจำปีที่นายจ้างส่วนใหญ่จะจัดการให้พนักงานเสร็จสรรพ

…ตรงกันข้ามกับอาชีพฟรีแลนซ์…

ต้องทำความเข้าใจก่อนนะคะว่าอาชีพฟรีแลนซ์นั้นไม่ได้อยู่ภายใต้สังกัดของบริษัทใดในลักษณะของพนักงานประจำ ลักษณะของการจ้างงานจะเป็นเพียงรายสัญญาหรือเป็นรายกรณีไป ไม่มีภาระผูกพันกับผู้ว่าจ้าง บางกรณีไม่มีเอกสารสัญญาการจ้างงาน การชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดารายปีก็ต้องดำเนินการเอง หากฟรีแลนซ์คนไหนไม่ได้ส่งภาษี และไม่ได้เก็บเอกสารเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างด้วยแล้วละก็ ธนาคารยิ่งมองว่าการปล่อยกู้เคสแบบนี้มีความเสี่ยง

ขอบคุณภาพจาก sirtravelalot/Shutterstock.com

ธรรมชาติของอาชีพอิสระถือว่ามีความไม่แน่นอนสูงอยู่แล้ว  หากเราไม่มีหลักฐานอะไรมาช่วยยืนยันรายได้และสถานะการทำงานได้อย่างชัดเจน แม้จะมีรายรับแสดงใน Statement ย้อนหลังทุกเดือนก็จริง แต่มันยังไม่พอค่ะ… เพราะธนาคารจะมองว่ามีแนวโน้มปลอมแปลงบัญชีได้ง่าย ดังนั้นการยื่นกู้ของฟรีแลนซ์จึงมีขั้นตอนที่ค่อนข้างละเอียด ยิบย่อยมากกว่าการกู้ซื้อบ้านของพนักงานประจำ ฟรีแลนซ์คนไหนที่ตัดสินใจจะกู้ซื้อบ้าน ต้องตั้งใจแน่วแน่ ท่อง 2 คำนี้ไว้ให้ดีนะคะ “อย่า ท้อ” เพราะช่วงที่ต้องเตรียมตัวก่อนกู้ จนกระทั่งช่วงที่ยื่นกู้ อาจจะมีความยุ่งยากมากเรื่องในบางที แต่เชื่อเถอะค่ะ…ไม่ยากเกินความสามารถอย่างแน่นอน และที่สำคัญก็ต้องทำความเข้าใจมุมมองของทางธนาคารด้วยนะคะ ^^

ฟรีแลนซ์กู้ซื้อบ้าน…เงื่อนไขเยอะ แต่ไม่ได้แปลว่ากู้ไม่ได้

โดย Process ปกติแล้ว หากเป็นพนักงานประจำยื่นกู้ซื้อบ้านจะต้องยื่นเอกสารให้ครบ โดยธนาคารจะพิจารณาจากเอกสาร รวมถึงสอบถามข้อมูลจากผู้กู้โดยตรง เรียกโดยรวมว่าเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงรายรับ ภาระหนี้สิน และความมั่นคงในการงานอาชีพ ใช้พิจารณาวงเงินกู้ ขั้นตอนไม่ซับซ้อน

แล้วถ้าเป็นฟรีแลน์ล่ะ ธนาคารพิจารณาอะไรบ้าง ? ส่วนใหญ่ธนาคารจะมีกฎเกณฑ์หรือเงื่อนไขการกู้สินเชื่อสำหรับฟรีแลนซ์ค่อนข้างเยอะกว่าพนักงานประจำ ยกตัวอย่างเช่น ต้องจัดเตรียมเอกสารที่มากกว่า พร้อมรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการทำงานและทรัพย์สินที่มีมาให้ครบ นอกจากนี้ผู้กู้ต้องมีวินัยในการทำธุรกรรม การชำระหนี้และการออมเงินในระยะยาวด้วย (บางเคสต้องจัดเรียงและส่งเอกสารที่ค่อนข้างซับซ้อนให้ฝ่ายสินเชื่อพิจารณา) ทั้งหมดนี้เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของธนาคาร จะช่วยให้กู้ผ่านได้โดยไม่ติดขัดปัญหาใดๆ

หลายธนาคารที่มีนโยบายปล่อยสินเชื่อบ้านให้กับกลุ่มฟรีแลนซ์ แต่บางธนาคารก็ไม่มีนะคะ ซึ่งต้องตรวจสอบให้ดีก่อนขอยื่นกู้ นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับระดับรายได้ของฟรีแลนซ์แต่ละคนด้วยว่าต่อเดือนและต่อปี ตกอยู่ที่เท่าไรซึ่งจะสัมพันธ์ไปกับการคำนวณวงเงินกู้ที่จะขอกู้และราคาบ้านที่จะซื้อ รวมถึงความสามารถในการผ่อนต่อเดือน ธนาคารจะพิจารณาจากรายได้ของเราเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญค่ะ

และรู้หรือไม่? : การกู้สินเชื่อบ้านสำหรับฟรีแลนซ์นั้น ทางธนาคารส่วนใหญ่จะไม่นำเอารายได้ของฟรีแลนซ์มาคิดสัดส่วนเพื่อหาวงเงินกู้ทั้ง 100% นะ แต่จะคิดเพียง 30-75% ของรายรับรวมเท่านั้น (ขึ้นอยู่กับธนาคารแต่ละแห่งค่ะ บางธนาคารคิดฐานรายได้ 100% ก็มีนะ) เรียกว่าเป็น Margin หรืออัตราส่วนต่างระหว่างรายรับกับต้นทุนค่ะ  เพราะการทำงานทุกครั้งจะต้องมีการหักลบต้นทุนเสมอ เท่ากับว่าคนที่เป็นฟรีแลนซ์ จะกู้ซื้อบ้านในราคาเทียบเท่ากับกับคนที่ทำงานประจำ จะต้องมีรายได้รวมมากกว่า 2-3 เท่าตัวเลยทีเดียว

ทั้งนี้ระดับ Margin ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละธนาคารและแต่ละเคสด้วยค่ะ พูดง่ายๆนั่นหมายความว่า รายรับของฟรีแลนซ์จะถูกหั่นลดลง ตัวเลขที่ถูกนำมาคำนวณจะไม่ใช่จำนวนรายรับที่แท้จริง ยกตัวอย่างเช่น

“น.ส. พรพัด เป็นฟรีแลนซ์ มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 60,000 บาท (หลังหักภาษีแล้ว) เมื่อจะขอยื่นกู้ซื้อบ้าน ธนาคารคิดสัดส่วนรายได้ 30% ของรายรับจริง เท่ากับว่าตัวเลขรายรับที่ธนาคารนำมาใช้คำนวณในเคสของ น.ส. พรพัด จะอยู่ที่  18,000 บาทเท่านั้น ดังนั้นจะสามารถยื่นกู้ซื้อที่อยู่อาศัยได้ ภายใต้วงเงินไม่เกิน 1,100,000 บาท คิดกำลังผ่อนเฉลี่ยตกเดือนละประมาณ 7,200-7,500 บาท “

หมายเหตุ :  คิดวงเงินกู้อย่างคร่าวๆที่ 60% ของรายได้ และคิดกำลังผ่อนประมาณ 40% ของรายได้

8 เทคนิค ยื่นกู้บ้านฉบับมนุษย์ฟรีแลนซ์ให้ผ่านฉลุย

Part นี้ เราจะพูดถึงสิ่งที่ต้องทำสำหรับการกู้ซื้อบ้านของฟรีแลนซ์กันอย่างละเอียดค่ะ โดยจะเน้นไปที่ฟรีแลนซ์แบบบุคคลธรรมดา ไม่ได้เป็นรูปแบบในนามบริษัทหรือธุรกิจจดทะเบียน วิธีการจะประกอบด้วย 8 เทคนิค ต่อไปนี้ค่ะ

1.) เอกสารยื่นกู้ต้องพร้อม

เอกสารที่ต้องใช้ยื่นประกอบการพิจารณายื่นกู้สินเชื่อควรเตรียมให้พร้อมและครบ โดยจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือเอกสารพื้นฐานการที่ใช้ยื่นกู้สินเชื่อบ้าน และเอกสารที่ต้องยื่นเพิ่มเฉพาะกลุ่มผู้ทำงานอิสระหรือฟรีแลนซ์

สรุปเอกสารพื้นฐาน ประกอบไปด้วย

  • สำเนาบัตรประชาชนผู้กู้
  • สำเนาทะเบียนบ้านผู้กู้
  • ใบเปลี่ยนชื่อ/นามสกุล/ทะเบียนสมรส/ใบหย่า (ถ้ามี)
  • บัญชีเงินเดือนหรือบัญชีรายรับ / รายการเดินบัญชี Statement ย้อนหลัง 6 เดือน – 1 ปี
  • ใบจองซื้อ/สำเนาโฉนดที่ดิน (กรณีผู้กู้ยื่นด้วยตนเอง ไม่ผ่านโครงการ)

และอีกส่วนคือเอกสารที่ใช้ในการยื่นกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเฉพาะกลุ่มผู้ทำงานอิสระหรือฟรีแลนซ์ ประกอบไปด้วย

1.1) Statement แสดงรายการเดินบัญชีย้อนหลัง อย่างน้อย 4-6 เดือน 

ธนาคารจะพิจารณา Statement รายการเดินบัญชีของผู้กู้เพื่อดูรายรับ ดังนั้นควรยื่นบัญชีที่ใช้รับโอนค่าจ้าง หากรับจากหลายบัญชี ก็ควรรวบรวมมายื่นให้ครบ ทางธนาคารจะได้ตรวจสอบและดูรายได้รวมโดยไม่ขาดตกไป

ตัวอย่าง Statement รายการเดินบัญชีที่แสดงรายรับของฟรีแลนซ์

1.2) แบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้กรณีทั่วไป (ภ.ง.ด.90)

เมื่อถึงรอบยื่นภาษีประจำปี ฟรีแลนซ์จะต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการคำนวณของระบบจัดการภาษีของกรมสรรพากร ภ.ง.ด.90 เป็นเอกสารที่ระบุว่าเราต้องเสียภาษีในอัตราเท่าไรหลังจากกรอกข้อมูลรายได้ต่อปีไปแล้ว โดยจะสัมพันธ์ไปกับใบ 50 ทวิ ในกรณีที่ยื่นแบบทำเรื่องขอคืนภาษีก็จะได้รับเอกสารนี้เช่นเดียวกัน โดยสามารถสั่งพิมพ์จากระบบได้ หากยื่นแบบภาษีช่องทางออนไลน์ด้วยตนเอง

ขอบคุณภาพจาก กรมสรรพากร

1.3) ใบเสร็จรับเงินชำระภาษีประจำปี 

ใครที่รายได้ถึงเกณฑ์และต้องเสียภาษีประจำปี หลังจากชำระภาษีแล้ว เราจะได้รับใบเสร็จรับเงินค่าภาษีที่จ่ายไป (กรณีที่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์จ่ายภาษี แต่มีการยื่นแบบก็จะได้รับใบเสร็จเช่นกันค่ะ) โดยรอบภาษีล่าสุดสามารถสั่งพิมพ์ออนไลน์จากเว็บไซต์กรมสรรพากรได้เลย (รวมถึงเอกสาร ภ.ง.ด.ด้วย) แต่ถ้าเกินกว่า 1 ปีไปแล้ว ต้องไปขอคัดที่สำนักงานสรรพากรในพื้นที่ภูมิลำเนาค่ะ

สำหรับใบเสร็จเก็บไว้ยื่นเวลากู้สินเชื่อเพื่อเป็นหลักฐานว่าเรามีการยื่นแบบภาษีประจำปีอย่างถูกต้อง

ตัวอย่างใบเสร็จรับเงินที่จะได้รับจากกรมสรรพากร หลังจากยื่นแบบภาษีแล้ว

1.4) หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร (ใบ 50 ทวิ)

คิดว่าเอกสารนี้คนเป็นฟรีแลนซ์คงจะคุ้นเคยกันดีนะคะ เนื่องจากเป็นเอกสารที่ทางฝั่งนายจ้างจะต้องออกให้เราหลังจากทำงานเสร็จและมีการเบิกจ่ายเงินให้เรียบร้อยแล้ว ในเอกสารจะระบุจำนวนเงินค่าจ้างและแสดงยอดเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย Rate ปกติอยู่ที่ 3% แต่เมื่อช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้มีการออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับ Rate ภาษีใหม่ โดยได้ปรับลดลงเหลือ 1.5% เริ่มใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน-กันยายน 2563 และจะค่อยปรับขึ้นเป็น 2% ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – ธันวาคม 2564 โดยมีเงื่อนไขว่าผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินจะต้องใช้ช่องทาง e-Witholding Tax เท่านั้น ไม่เช่นนั้นก็จะต้องหักใน Rate 3% เท่าเดิม

ขอบคุณภาพจาก กรมสรรพากร

ใบ 50 ทวิ จะถูกใช้ยืนยันรายรับของฟรีแลนซ์หรือผู้ที่ได้รับเงินค่าจ้างที่ไม่ใช่เงินเดือน
ตามกฎหมายแล้วนายจ้างจะต้องจัดทำให้ เพื่อให้เราใช้กรอกข้อมูลตอนยื่นแบบภาษีประจำปี ยิ่งเป็นฟรีแลนซ์ด้วยยิ่งควรเก็บไว้ทุกปีนะคะ หากเป็นไปได้ ควรเก็บย้อนหลัง 2-3 ปีไปเลยค่ะ

1.5) ใบสัญญาจ้างงาน

บางกรณีบริษัทผู้ว่าจ้างจะมีสัญญาจ้างให้ฟรีแลนซ์เซ็น โดยอาจอยู่ในรูปแบบของ เอกสาร Contract หรือ Agreement มีทั้งระบุระยะเวลาของ Project หรืออาจจะไม่ระบุก็ได้ โดยธนาคารบางแห่งจะขอให้ผู้กู้ยื่นสัญญาจ้างงานนี้ไปด้วยเวลาส่งเอกสาร โดยสัญญาที่มีระยะเวลาจะถูกนำไปพิจารณามากกว่า เนื่องจากมีข้อกำหนดระบุไว้ชัดเจนกว่า สามารถใช้ยืนยันความเป็นไปได้ของรายได้ฟรีแลนซ์ได้ดีกว่านั่นเองค่ะ

ตัวอย่างสัญญาจ้างงานแบบมีระยะเวลา

1.6) เอกสารอื่นๆ 

นอกเหนือจากเอกสารอื่นๆที่ต้องเตรียมให้กับธนาคารอยู่แล้ว ฟรีแลนซ์สามารถเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน นำไปยื่นให้แก่ธนาคารได้ เช่น เอกสารอธิบาย ลักษณะขอบเขตงาน เราสามารถเขียนเพื่อเล่าว่างานที่ทำเป็นลักษณะไหน ทำอะไรบ้าง และเกี่ยวกับอะไร เพื่อที่เจ้าหน้าที่สินเชื่อจะได้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมีเอกสารอื่นๆ เช่น ใบแจ้งหนี้ (Invoice), ใบเสนอราคาที่ได้รับการอนุมัติแล้ว (Quotation ), ใบเสร็จรับเงิน (Receipt), รูปถ่ายผลงานหรือ Event ต่างๆที่เคยเข้าร่วม มีความเกี่ยวข้องกับงานที่ทำ รวมถึงผลงานอื่นๆ ของตัวผู้กู้เอง สามารถแนบไปด้วยได้เช่นกันค่ะ

ตัวอย่างสัญญาจ้างงานแบบมีระยะเวลา

ตัวอย่างใบแจ้งหนี้

2.) ยื่นแบบและจ่ายภาษีอย่างถูกต้องทุกปี 

การจ่ายภาษีเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับอาชีพฟรีแลนซ์ ไม่ว่าคุณจะมีรายได้มากหรือน้อยก็ตาม ทุกๆปีเราต้องยื่นแบบภาษีภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด โดยการอ้างอิงข้อมูลรายได้ตามใบ 50 ทวิ ที่ออกโดยบริษัทผู้ว่าจ้าง

เมื่อยื่นแบบภาษีแล้วก็จะได้รับเอกสาร ภ.ง.ด.90 และใบเสร็จรับเงิน มนุษย์ฟรีแลนซ์อย่างเราควรเก็บเอกสารทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายภาษีไว้ให้ดี และควรเก็บย้อนหลังนาน 2-3 ปี เผื่อวันใดวันหนึ่งอยากกู้ซื้อบ้านขึ้นมา จะได้มีหลักฐานยื่นกับทางธนาคารได้ค่ะ

กรณีศึกษาที่ 1 : ยื่นภาษีประจำปีแล้ว แต่เอกสารหายทำอย่างไรดี ?

กรณีศึกษาที่ 2 : เมื่อเอกสารมีไม่ครบ จะคิดรายรับอย่างไร?

3.) ไม่มีหนี้สิน ไม่ติดเครดิตบูโร

ข้อนี้ค่อนข้างสำคัญ เนื่องจากเจ้าหน้าที่สินเชื่อธนาคารจะขอให้ผู้กู้เซ็นยินยอมให้มีการตรวจสอบประวัติทางธุรกรรม โดยผู้ดำเนินการเก็บข้อมูลคือบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือที่เรียกติดปากว่า “เครดิตบูโร” คนไทยที่ทำธุรกรรมการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเปิดบัญชีออม ผ่อนจ่ายบัตรเครดิต ผ่อนรถ ผ่อนสินค้า กดบัตรเงินสด หรือรายการทำธุรกรรมอื่นๆ จะถูกบันทึกประวัติไว้ในฐานข้อมูลนี้ทั้งหมดเลย และสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้แก่กลุ่มธนาคารใช้พิจารณาประกอบการให้สินเชื่อ ยิ่งตอนเราจะกู้ซื้อบ้าน ข้อมูลประวัติการทำธุรกรรมก็ควรอยู่ในเกรดดี ไม่ติด Blacklist ค่ะ

จริงๆแล้วลูกค้าที่ยื่นกู้บ้านจะมีคะแนนเครดิตจัดอยู่ในเกรดต่างๆ เรียกว่าเป็น Credit Scoring ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความน่าจะเป็นในการชำระหนี้ มีตั้งแต่ A-D จากระดับดีที่สุดไปจนถึงระดับที่มีความเสี่ยงทางการเงินสูงที่สุด โดยจะสัมพันธ์ไปกับการตัดสินใจให้สินเชื่อของธนาคาร หากผู้กู้จัดอยู่ในเกรดลำดับต้นๆก็ยังพิจารณาให้ผ่านได้ง่าย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่ได้เกรดต่ำ จะไม่ได้รับการปล่อยกู้นะคะ เคสแบบนี้ธนาคารจะแนะนำให้ผู้กู้ไปเคลียร์หนี้สิน ชำระที่ยังคงค้างรายการต่างๆให้หมดก่อน กระทั่งปิดบัตรเครดิตไปเลยก็มี หรือเท่าที่เราจะสามารถเคลียร์ได้ จากนั้นก็จะส่งเคสให้เจ้าหน้าที่สินเชื่อพิจารณาอีกทีค่ะ

ขอบคุณภาพจาก Urbazon/ E+ via Getty Images

เครดิตบูโรเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้นที่ถูกนำมาใช้พิจารณาร่วมด้วย แต่ไม่ได้เป็นตัวแปรเดียวที่จะตัดสินว่าเราจะกู้ผ่านหรือไม่ผ่านนะคะ ถ้าผู้กู้มีเงินเข้าสม่ำเสมอ เคลียร์หนี้สินแล้ว และมีสินทรัพย์ค้ำประกันมูลค่าสูง ก็อาจจะช่วยให้ผ่านการพิจารณาได้ แต่ทั้งนี้ฟรีแลนซ์ที่วางแผนจะกู้ซื้อบ้านควรมีการชำระหนี้ต่างๆอย่างสม่ำเสมอ ไม่ผิดนัดชำระหนี้ หรือถ้ารู้ว่าตัวเองจะไม่สามารถจ่ายหนี้เยอะๆได้เนี่ย ก็ควรวางแผนการทางเงินให้ดี ไม่ใช้จ่ายเกินตัว เพื่อไม่ให้เสียประวัติเครดิตบูโรภายหลังค่ะ

กรณีศึกษาที่ 3 : ประวัติการชำระหนี้ไม่ดี ติดเครดิตบูโร จะกู้บ้านได้ไหม?

4.) มีวินัยออมเงินในบัญชี

การมีบัญชีเงินออม ฝากเงินเข้าบัญชีอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยแสดงศักยภาพและความมีวินัยด้านการเงินของผู้กู้ที่เป็นฟรีแลนซ์ได้ ทั้งนี้สามารถเลือกบัญชีเงินออมของธนาคารใดก็ได้ โดยอาจจะเป็นบัญชีเดียวกันกับที่รับรายได้หรือจะแยกบัญชีก็ตามสะดวกค่ะ แต่เวลาแสดงบัญชีเงินออมให้ธนาคารพิจารณา ก็ควรยื่นเอกสาร Statement ย้อนหลังควบคู่ไปด้วยโดยไม่จำเป็นต้องเป็นบัญชีของธนาคารเดียวกันกับที่ขอยื่นกู้ค่ะ 

การฝากเงินออมไม่มีขั้นต่ำที่แน่นอน แต่ถ้าสามารถฝากได้ถึงหลักพันต่อเดือนหรือมากกว่านั้นได้ก็ดีค่ะ เพราะเป็นระดับตัวเลขที่น่าเชื่อถือ และควรออมสม่ำเสมอติดต่อกัน ประมาณ 6 เดือน – 1 ปี เป็นอย่างต่ำ

5.) ซื้อโครงการที่มีความน่าเชื่อถือ

เลือกโครงการอสังหาฯ ที่มีความน่าเชื่อถือ เพราะจะส่งผลต่อการตัดสินใจปล่อยกู้ของธนาคารด้วย โดยโครงการอสังหาฯของ Developer เจ้าใหญ่ๆ หรือแบรนด์ Top จะได้เครดิตความน่าเชื่อถือมากกว่าโครงการและ Developer ที่ไม่เป็นที่รู้จัก เพราะปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือบริษัทอสังหาฯเล็กๆ อย่างกลุ่ม Local หรือกลุ่มผู้พัฒนาใหม่ๆ มักมีความเสี่ยงที่จะล้มเลิกการก่อสร้างหรือยกเลิกการขายได้ง่าย หากมีงบการเงินที่ไม่แข็งแรง หรือโครงการไม่ผ่านการประเมิน ดังนั้นธนาคารจึงต้องตรวจสอบสถานะโครงการและ Developer ให้ดีก่อนปล่อยกู้เสมอ

นอกจากนี้ระดับของโครงการและ Developer ยังมีผลต่อวงเงินที่ปล่อยกู้ของธนาคารด้วยนะคะ โดยโครงการอสังหาฯของบริษัทใหญ่ๆมักจะได้วงเงินกู้เต็ม 100% อยู่แล้ว แถมผู้กู้ยังได้ Rate อัตราดอกเบี้ยพิเศษที่ค่อนข้างถูกกว่าปกติด้วย หากบริษัทนั้นมีโปรโมชันหรือแคมเปญร่วมกับทางธนาคารนั้นอยู่  ในขณะที่โครงการเล็ก ไม่เป็นที่รู้จัก อาจจะได้ Rate อัตราดอกเบี้ยที่แพงกว่า และอาจจะได้วงเงินกู้เพียง 70-90% ที่เหลือผู้กู้ต้องไปหาเงินมาสมทบเองค่ะ

6.) แสดงสินทรัพย์อื่นๆที่มี

ขอบคุณภาพจาก Carol Yepes/Moment via Getty Images

หากฟรีแลนซ์มีสินทรัพย์ที่มีมูลค่าอื่นๆ สามารถนำมาใช้ยื่นประกอบการพิจารณาสินเชื่อได้  เช่น ที่ดิน รถยนต์ บ้าน อาคารพาณิชย์ ร้านค้า เป็นต้น โดยต้องส่งหลักฐานเป็นเอกสารโฉนดที่ดิน เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์อสังหาฯ เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์รถยนต์ ใบจดทะเบียนการค้า (หากเป็นเจ้าของธุรกิจ) รวมถึงพอร์ตการลงทุนและประกันชีวิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ กองทุน ประกันชีวิต ประกันสังคม เป็นต้น ก็สามารถแสดงเอกสารหลักฐานใช้ประกอบการยื่นสินเชื่อได้ค่ะ แต่ทั้งหมดนี้ต้องเป็นชื่อของผู้กู้นะคะ ธนาคารเค้าจะมองว่ามีสินทรัพย์ส่วนตัวหรือการลงทุนที่มีมูลค่านั่นเองค่ะ

7.) เลือกโปรแกรมที่ใช่ ธนาคารที่ชอบ

ธนาคารแต่ละแห่งจะมีนโยบายปล่อยกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่อาชีพฟรีแลนซ์แตกต่างกันออกไปค่ะ บางแห่งมีโปรแกรมนี้โดยเฉพาะ มีขั้นตอนการพิจารณาที่ไม่เหมือนกัน บางแห่งต้องพิจารณาเป็นรายเคสไป และบางแห่งอาจจะไม่มีนโยบายปล่อยกู้ฟรีแลนซ์เลย อันนี้ก็ต้องสอบถามกับทางธนาคารให้ดีก่อนยื่นกู้นะคะ วิธีการง่ายๆให้เดินเข้าไปสอบถามที่ธนาคารเลยค่ะ สาขาใดก็ได้ เพราะเค้าจะมีเจ้าหน้าที่สินเชื่อประจำคอยให้คำปรึกษาอยู่แล้ว หรือจะโทรเข้า Call Center ของแต่ละธนาคารก็ได้ตามสะดวกค่ะ

ไม่เพียงแต่เลือกธนาคารเท่านั้น แต่การเลือกเจ้าหน้าที่สินเชื่อที่จะคอยมาประสานงาน ส่งเคสเรา ทำเอกสารส่งให้ทางสำนักงานใหญ่ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเจ้าหน้าที่สินเชื่อจะต้องสอบถาม สัมภาษณ์ข้อมูลเชิงลึก และเก็บรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของผู้กู้เพื่อที่จะได้นำเคสเข้าพิจารณาในฝ่ายสินเชื่อซึ่งอยู่ที่สำนักงานใหญ่

Step แรก ถ้าผู้กู้ลองเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารดูแล้วไม่เวิร์ก พูดคุยกันไม่คลิ๊ก ให้คำปรึกษาที่ไม่ดีหรือไม่เข้าใจเคสของเรา แนะนำว่าให้ลองเปลี่ยนสาขาดูค่ะ เรื่องนี้สำคัญมากนะเพราะถ้าหากเราไปเจอเจ้าหน้าที่ที่ไม่เข้าใจเคสของเรา เค้าก็จะไม่สามารถสื่อสารหรืออธิบายให้ทางฝ่ายสินเชื่อสำนักงานใหญ่เห็นภาพหรือเข้าใจสถานภาพของผู้กู้ได้แท้จริง ดังนั้นควรเดินเข้าไปปรึกษาหลายๆที่ดูค่ะ แม้จะเป็นธนาคารเดียวกันแต่ต่างสาขากันก็อาจให้บริการที่แตกต่างกันได้

8.) เพิ่มโอกาสกู้ผ่าน ด้วยการกู้ร่วม

อีกวิธีสำหรับฟรีแลนซ์ที่มีรายได้ไม่เยอะมาก ติดเครดิตบูโร หรือติดภาระเงื่อนไขบางอย่างที่มีแนวโน้มว่าเสี่ยงที่จะกู้ไม่ผ่าน หรือได้วงเงินกู้น้อย กรณีที่อยากเพิ่มความเป็นไปได้ในการกู้ผ่านให้มากขึ้น ทางธนาคารมักจะแนะนำเลือกวิธีการกู้ร่วมค่ะ หากผู้กู้มีญาติหรือคนในครอบครัวที่เป็นสายเลือดเดียวกัน  รวมถึงคู่สมรส ซึ่งจะจดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนก็ได้ แต่มีเงื่อนไขว่าผู้กู้ร่วมจะต้องมีเอกสารทางการเงินครบ มีรายได้ที่แน่นอนและตรวจสอบได้ เช่น ทำงานประจำ ทำธุรกิจส่วนตัว หรือจะเป็นฟรีแลนซ์เหมือนกันก็ได้ แต่ทั้งนี้หากผู้กู้ร่วมทำงานประจำ หรือเป็นเจ้าของธุรกิจที่มีการจดทะเบียน มีการแสดงรายได้ที่ชัดเจนและเสียภาษีสม่ำเสมอ จะได้รับการพิจารณามากกว่าค่ะ

สำหรับการกู้ร่วม เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยก็จะมีมากกว่า 1 คน เวลาทำธุรกรรมเกี่ยวกับอสังหาฯนั้น จะไม่สามารถติดสินใจได้ฝ่ายเดียว จะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมด้วยเสมอ

กรณีศึกษาที่ 4 : ประสบการณ์ฟรีแลนซ์ซื้อบ้าน แบบกู้ร่วม

อัพเดตนโยบายสินเชื่อบ้านสำหรับฟรีแลนซ์ของแต่ละธนาคาร

ต่อไปเราจะมาอัพเดตนโยบายสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับฟรีแลนซ์ของธนาคารต่างๆ เผื่อให้ฟรีแลนซ์ที่สนใจจะยื่นกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยได้ลองพิจารณาดูเบื้องต้น โดยเราได้สำรวจข้อมูล ไปเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 ค่ะ ซึ่งอาจจะได้ไม่ครบทุกธนาคาร หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center ติดต่อฝ่ายสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือสามารถสอบถามได้ที่สาขาของธนาคารได้โดยตรง

หมายเหตุ : การคิดฐานรายได้ของฟรีแลนซ์ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่สินเชื่อ สามารถปรับเปลี่ยนได้

ทั้งหมดนี้ก็คือวิธีการที่จะช่วยให้คนที่เป็นฟรีแลนซ์สามารถกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยมีแนวโน้มที่จะกู้ผ่านได้ แม้จะต้องเตรียมการเยอะ มีขั้นตอนมากมาย แต่เชื่อว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ตั้งใจอยากซื้อบ้านจริงๆอย่างแน่นอนค่ะ

และอย่าลืมนะคะ ชาวฟรีแลนซ์ต้องรู้จักการวางแผนซื้อบ้านล่วงหน้าให้ดี หากเรารู้ความต้องการว่าอยากซื้อบ้านในอนาคต เริ่มเลยค่ะ…เริ่มวางแผนล่วงหน้าระยะยาวไว้เลย ไม่ว่าจะเป็นการฝึกวินัยทางการเงินของตัวเอง เก็บออมเงินในบัญชีอย่างสม่ำเสมอ ชำระหนี้ให้ตรงเวลา ไม่ให้ประวัติเสีย พร้อมยื่นภาษีทุกปีและเก็บเอกสารไว้ให้ครบ พอถึงเวลาที่เหมาะสม การกู้ซื้อบ้านก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไปอย่างแน่นอนค่ะ


ติดตามพวกเราได้ที่
Website : www.thinkofliving.com
Twitter : www.twitter.com/thinkofliving
YouTube : www.youtube.com/ThinkofLiving
Instagram : www.instagram.com/thinkofliving
Facebook : ThinkofLiving