‘ สี ‘ มีผลต่อพัฒนาการของเด็ก จริงไหม ?

สี มีอยู่บนทุกๆสิ่งในโลกจริงๆนะคะ ในอดีตมนุษย์เราสามารถโยงการรับรู้เรื่องสีเข้ากับการเอาตัวรอดในชีวิตประจำวันได้ เช่น รู้ว่าสัตว์ชนิดไหนมีพิษ จากสีสันของมัน, รับรู้ว่าผลไม้ที่สุก จะมีสีเหลือง แดง ผลไม้ที่เน่าเสียมีสีน้ำตาล สีดำ เป็นต้น ส่วนในปัจจุบันมนุษย์เราเองก็มีการนำสีสันมาใช้เป็นสัญลักษณ์สากล เช่น สัญญาณไฟจราจร มีสีเขียวให้รถสามารถวิ่งได้ หรือสีแดงให้หยุด ตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลเป็นรูปกากบาทสีแดง เป็นต้น

แล้วสีมีผลต่อพัฒนาการเด็กอย่างไร?

เด็กๆมักใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในห้อง และเนื่องจากสายตาเป็นประสาทสัมผัสที่เด็กๆใช้ในการเรียนรู้มากที่สุด เราจึงสามารถใช้ ‘ สี ‘ เพื่อเสริมการเรียนรู้ของเขาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้ค่ะ สี ยังมีอิทธิพลกับอารมณ์ ความรู้สึก ส่งผลให้เกิดความสงบ, ตื่นเต้น, มีแรงบันดาลใจ หรือวิตกกังวลได้ สี ยังมีความสำคัญในการช่วยกระตุ้นกระบวนการทางความคิด ช่วยให้จดจำสิ่งต่างๆได้ง่ายขึ้น ทำให้สามารถเปรียบเทียบสิ่งของต่างๆเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายมากขึ้น เช่น แอปเปิล สีแดง กล้วย สีเหลือง ฯลฯ มีผลต่อความคิดสร้างสรรค์ และยังมีผลต่อพฤติกรรมที่เกิดขึ้นทั้งกับตัวเองและผู้อื่นด้วยค่ะ ซึ่งอิทธิพลของสีนั้น เราจะสามารถสังเกตได้ชัดเจนมากขึ้นในเด็ก ดังนั้นแล้ว การใช้สีจึงสามารถช่วยให้เด็กเกิดการพัฒนาการทางด้าน EQ และ EF ของเขาได้อย่างชัดเจน

Tips : สีสันต่างๆยังช่วยกระตุ้นเด็กที่มองเห็นเพียงบางส่วนได้ (ตาบอดเลือนราง ;Low Vision) อย่างการใช้สีที่ตัดกันชัดเจน และใช้พื้นผิวสัมผัสที่ต่างกัน รูปทรงต่างกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเด็กที่มีการมองเห็นเพียงบางส่วน ประสาทตาจะเสื่อมลงเรื่อยๆ และบอดสนิทในที่สุด หากไม่ได้รับการกระตุ้นการใช้สายตาอย่างถูกวิธีค่ะ 

พัฒนาการของเด็กๆมีหลายด้านทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสติปัญญา จนมีการวัดค่ามาตรฐานออกมาเป็นสากล วันนี้เราลองมาทำความรู้จักคร่าวๆกันว่า IQ, EQ และ EF นั้นคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

  • IQ : Intelligence Quotient คือ ความสามารถในการคิด การเชื่อมโยง การคำนวณ การแก้ปัญหาต่างๆ
  • EQ : Emotional Quotient คือ ความสามารถในการรับรู้ และเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกของตัวเองและผู้อื่น ทำให้เด็กๆสามารถควบคุมอารมณ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆในชีวิตประจำวันได้
  • EF : Executive Functions คือ กระบวนการทางการคิดในสมองส่วนหน้า เกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิด การเรียนรู้ ความจำ การควบคุมตนเอง มีสมาธิและอารมณ์ เป็นสิ่งที่พ่อแม่ยุคใหม่หลายๆคนให้ความสำคัญ เพราะเป็นส่วนทำให้เด็กประสบความสำเร็จได้ในอนาคต ซึ่งการที่เด็กได้รับการฝึกฝนให้มี EF ที่ดี จะทำให้เขาสามารถคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาเป็น อยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการฝึกก็คือช่วง 3-6 ปี และมีปัจจัย 9 อย่างที่เกี่ยวกับทักษะด้าน EF นั่นก็คือ

  • Working Memory ทักษะด้านความจำ
  • Inhibitor Control ทักษะการไตร่ตรอง ยับยั้งชั่งใจ
  • Shift Cognitive Flexibility ทักษะในการยืดหยุ่นทางความคิด
  • Focus ทักษะในการใช้สมาธิ ใส่ใจกับสิ่งต่างๆ
  • Emotion Control ทักษะในการควบคุมอารมณ์
  • Self-Monitoring ทักษะการประเมิณตนเอง
  • Initiating ทักษะการริเริ่ม ลงมือทำ
  • Planning and Organizing ทักษะการวางแผนและจัดระบบ
  • Goal-Directed Persistence การมุ่งเข้าหาเป้าหมาย

ในการพัฒนาการหลายๆด้านนั้น เราสามารถใช้ ‘ สี ‘ เข้ามาช่วยส่งเสริม และเป็นส่วนช่วยในการกระตุ้นทักษะของเด็กๆขึ้นได้ ซึ่งจะมีอะไรบ้าง จะกล่าวต่อไปค่ะ

พัฒนาการทางด้านการมองเห็นของเด็ก

ก่อนอื่นมาดูพัฒนาการด้านการมองเห็นของเด็กๆกันสักหน่อย ลูกน้อยของเราสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆได้ตั้งแต่เกิด แต่เป็นการมองเห็น ในระยะใกล้ๆ ประมาณ 10 เซนติเมตรเท่านั้นค่ะ โดยเริ่มจากการมองเห็นเป็นสีขาว-ดำ แล้วค่อยๆพัฒนาตามแต่ละช่วงวัย ดังนี้

  • ทารก อายุ 1 – 2 เดือน สามารถมองเห็นได้ในระยะที่มากขึ้น ประมาณ 45 เซนติเมตรขึ้นไป จ้องสิ่งของต่างๆได้ค้างไว้ประมาณ 4 – 10 วินาที และจ้องมองสิ่งที่เคลื่อนไหว
  • ทารก อายุ 3 – 5 เดือน จะสามารถมองเห็นในระยะที่ไกลขึ้น โฟกัสได้ในระยะเกือบๆ 1 เมตร สายตามีความไวต่อแสง และสามารถเห็นความแตกต่างของสีมากขึ้น มักจะมองที่ดวงตาของพ่อแม่ที่มีสีดำตัดกับสีขาวชัดเจน มองเส้นผม กับใบหน้า เป็นต้น
  • ทารก อายุ 6 – 8 เดือน สามารถมองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น มองเห็นสีสันได้มากขึ้น มีพัฒนาการทางด้านสายตามากขึ้น
  • ทารก อายุ 9 – 12 เดือน เป็นช่วงที่สามารถเล่นกับสายตาของทารกได้ เช่น การจ๊ะเอ๋ หรือ ให้ทารกมองเห็นสีสันสดใส อย่าง โมบายสีๆ หรือสีสันของห้อง ฯลฯ
  • เด็ก อายุ 2 – 3 ปี จะมีพัฒนาการทางด้านการมองเห็นสมบูรณ์เหมือนกับวัยผู้ใหญ่ค่ะ

หลังจากเด็กๆมีสายตาที่สามารถมองเห็นได้เท่ากับวัยผู้ใหญ่แล้ว เขาจะอยู่ในช่วงวัยที่กำลังสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัวเอง แล้วปรับตัวเองให้มีพฤติกรรมที่เชื่อมโยงเข้ากับสภาพแวดล้อมนั้นๆ นักจิตวิทยาหลายคนมีความเห็นว่า สี กับอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์นั้นเชื่อมโยงกัน โดยมีการให้เด็กๆ อายุ 6 ปีขึ้นไป ที่สามารถแยกแยะอารมณ์ของตัวเองได้ โดยเด็กๆได้อิสระในการเลือกสี ให้เข้ากับอารณ์ของตนเอง ถ้าบอกให้เด็กเลือกสีที่เข้ากับอารมณ์จะพบว่า เด็กๆมักใช้สีสันสดใส กับอารมณ์ดี ใช้สีแดงกับอารมณ์โกรธ สีส้มกับความสนุกสนาน สีเทากับความเหงา เป็นต้น*

ในบางครั้ง สี ก็มีการนำมาใช้กับจิตวิทยาการในแข่งขัน โดยนักกีฬาให้ฝ่ายของเราอยู่ในห้องที่มีสีน้ำเงิน ให้ความรู้สึกเข้มแข็ง สงบนิ่ง และให้คู่แข่งอยู่ในห้องโทนสีชมพู ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์ ทำให้อ่อนไหวง่ายมากขึ้น การเลือกใช้สีให้ถูกต้องจึงมีความสำคัญในการส่งเสริม IQ, EQ, EF และพัฒนาการของเด็กๆค่ะ

*ที่มา :  บทความจิตวิทยาแห่งสี โดย ศาสตราจารย์ศรียา นิยมธรรม สถาบันวิจัยและพัฒนาการศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

กลยุทธ์การใช้สีภายในห้อง  

นอกจากเราจะรู้ว่า สี นั้นมีผลต่ออารณ์ความรู้สึกแล้ว ยังมีการวิจัยบอกว่า ในห้องเรียนที่ออกแบบมาอย่างดี จะช่วยเพิ่มการเรียนรู้ในด้านการอ่าน การเขียน และคณิตศาสตร์ของเด็กได้ถึง 16 %* เลยค่ะ เพราะสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กได้ดี ดังนั้น การปรับเปลี่ยนห้องพักอาศัยที่บ้านของเราให้เป็นห้องเรียนขนาดย่อม นั้นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการส่งเสริมพัฒนาการของลูกได้นั่นเอง

*ที่มา :  LSN Education

สีเหลือง

สีเหลืองเป็นสีที่ให้ความรู้สึกสดใส เบิกบานใจ ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ทำให้มีสมาธิ ส่งเสริมการจดจำ สีเหลืองจะทำให้เด็กๆมีพลังงานและกระตือรือร้น ในทางกลับกันถ้าใช้สีเหลืองมากเกินไปอาจจะทำให้เด็กมีหงุดหงิดง่าย ถ้าเด็กร้องไห้อยู่ สีเหลืองอาจจะส่งผลให้เด็กร้องไห้งอแงมากยิ่งขึ้นค่ะ

ตำแหน่งที่เหมาะสม : สีเหลืองไม่ควรอยู่ในห้องนอน เพราะจะทำให้เด็กๆนอนหลับยาก เหมาะกับมุมนั่งเล่น เสริมการเรียนรู้

สีที่เหมาะกับสีเหลือง : ควรใช้สีโทนเย็น เช่น สีฟ้า สีเขียว เข้ามาตกแต่งร่วมกับสีเหลือง เพื่อให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ร่วมกับความรู้สึกกระตือรือร้น

สีส้ม

สีส้มเป็นสีที่ให้ความรู้สึกสดใส ร่าเริง ตื่นเต้น ดึงดูดความสนใจของเด็กได้ดี มีอิทธิพลในการกระตุ้นความมั่นใจ ส่งเสริม EQ ด้านการเข้าสังคมได้ เด็กๆที่อยู่ในห้องสีส้ม จะมีโอกาสเข้าไปทำความรู้จักกับเพื่อนๆ หรือพูดคุยมากขึ้น แต่การใช้สีส้มมากเกินไปจะทำให้รู้สึกตื่นเต้น ไม่มีสมาธิได้

ตำแหน่งที่เหมาะสม : สีส้มเป็นสีโทนร้อนสดใส จึงไม่เหมาะกับการอยู่ในห้องนอน เพราะจะทำให้หลับยาก เหมาะกับมุมนั่งเล่น เสริมการเรียนรู้เหมือนกับสีเหลืองค่ะ

สีที่เหมาะกับสีส้ม : สีส้มมีความสดใสมาก จึงควรใช้คู่กับสีโทนเย็น สีอ่อน เช่น สีเขียวพาสเทล สีครีม สีม่วงอ่อน เพื่อลดการถูกกระตุ้นความรู้สึกมากเกินไป

สีแดง

ในความเป็นจริงแล้วสีแดงสามารถช่วยให้เด็กๆมีสมาธิมากขึ้นได้ แต่ก็ทางหนึ่งก็เป็นสีที่สามารถกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้มีความกระตือรือร้นมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เด็กเกิดความเครียด และก้าวร้าวขึ้นได้ ถ้าใช้โทนสีแดงมากเกินไป

ตำแหน่งที่เหมาะสม : สีแดงเหมาะกับมุมนั่งเล่น หรือสนามเด็กเล่นทำให้มีความกระฉับกระเฉง ไม่ควรใช้ในห้องนอนเพราะจะทำให้นอนหลับยาก และรู้สึกไม่ผ่อนคลายค่ะ

สีชมพู

สีชมพูมีผลในการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ เป็นสีแห่งความรัก ให้ความรู้สึกอ่อนหวาน ห่วงใย ไม่ทำให้ก้าวร้าว จึงมักนิยมใช้ตกแต่งห้องของเด็กผู้หญิง แต่จริงๆแล้วเราสามารถนำไปใช้ในห้องของเด็กผู้ชายก็ได้เช่นกัน จะทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่นใจ ช่วยเพิ่มความมั่นใจของเขาได้ค่ะ อย่างไรก็ตามสีชมพูก็ไม่ควรใช้มากเกินไปค่ะ เพราะจะทำให้เด็กมีความรู้สึกอ่อนแอ หวาดกลัวง่าย

ตำแหน่งที่เหมาะสม : สีชมพูสามารถใช้ในห้องนอนได้ค่ะ เพราะเป็นสีที่ทำให้รู้สึกสงบ อ่อนโยน อารมณ์เย็น

สีที่เหมาะกับสีชมพู :  สีชมพูควรใช้ร่วมกับสีอื่นๆ เลือกได้หลากหลายสี เช่น สีขาว สีฟ้า สีครีม สีม่วง สีเทา เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกอ่อนแอ และหวาดกลัวค่ะ

 

สีฟ้า, สีน้ำเงิน

สีฟ้าเป็นสีที่ให้ความรู้สึกตรงข้ามกับสีแดงเลยค่ะ เป็นสีที่ให้ความรู้สึก สงบ ผ่อนคลาย ลดความวิตกกังวลได้ ส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลงได้ เหมาะกับการนำมาใช้ลดความก้าวร้าวในเด็กที่โมโหง่าย สำหรับเด็กเล็กควรเลือกใช้สีฟ้าอ่อนที่ดูสดใส ส่วนสีน้ำเงินทำให้รู้สึกเข้มแข็ง สงบนิ่ง แต่ไม่ควรใช้มากเกินไป เพราะอาจจะทำให้รู้สึกหดหู่ ซึมเศร้าได้ค่ะ

ตำแหน่งที่เหมาะสม : สีฟ้าสามารถใช้ได้กับทุกพื้นที่ ถ้าอยู่ในห้องนอนก็จะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สงบ

สีที่เหมาะกับสีฟ้า : สีฟ้าควรใช้กับสีที่มีความสดใส อย่างสีเหลือง สีส้ม หรือสี Earth tone เพื่อลดความรู้สึกซึมเศร้าที่อาจจะเกิดขึ้นได้ค่ะ

สีเขียว

สีเขียวเป็นสีที่มองแล้วสบายตา ดูแล้วสดชื่น ช่วยลดความเครียด ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย เหมือนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ แต่ไม่ควรใช้สีเขียวที่เข้มเกินไป เพราะจะทำให้รู้สึกหม่นหมอง น่ากลัว สีเขียวสามารถช่วยเพิ่มการเรียนรู้ในด้านการอ่านและการเขียนได้ ทำให้เด็กๆเรียนรู้ได้มากขึ้น

ตำแหน่งที่เหมาะสม : สีเขียวสามารถใช้ได้ทั้งในห้องนอน ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย หรือใช้ในพื้นที่การเรียนรู้เพื่อช่วยกระตุ้นการเรียนได้ค่ะ

สีที่เหมาะกับสีเขียว : สีเขียวสามารถใช้เดี่ยวๆได้ แต่ก็ควรมีสีขาว หรือสีโทนสดใส อย่างสีเหลือง สีส้ม สีฟ้า เข้ามาเสริมเพื่อให้ดูสดใส และกระตุ้นพัฒนาการทางด้านสายตาได้ค่ะ

สีครีม, สีเบจ, สีน้ำตาล

สีครีม, สีเบจ, สีน้ำตาล เป็นสี Earth tone ที่ใช้กันทั่วไป ดูเรียบง่าย ส่งผลให้เกิดความรู้สึกมั่นใจ อบอุ่น ทำให้เด็กๆเกิดความรู้สึกกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมได้ง่าย แต่ไม่ควรใช้สีโทนเข้ม เนื่องจากจะทำให้รู้สึกอึดอัด การใช้สีโทนนี้อย่างเดียวอาจจะทำให้รู้สึกไม่ร่าเริง สดใสได้ จึงควรใช้ร่วมกับสีอื่นๆค่ะ

ตำแหน่งที่เหมาะสม : สีครีมสามารถใช้ได้กับทุกพื้นที่เลยค่ะ เช่น ห้องนอน ควรใช้สีครีม หรือสีเบจอ่อน ให้ความรู้สึกอบอุ่น ผ่อนคลาย หรือใช้กับมุมนั่งเล่น ให้ความรู้สึกกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม เป็นต้น

สีที่เหมาะกับสีครีม, สีเบจ, สีน้ำตาล : ควรใช้กับสีโทนอ่อน สดใสอย่างสีส้ม สีฟ้า สีชมพู สีเหลือง ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้และทำให้ดูสดใสมากขึ้น

ใครที่เริ่มสนใจการใช้ ‘ สี ‘ เข้ามากระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อยแล้วละก็ เรามาดูเทคนิคการเพิ่มสีสันให้ห้องของลูกกันค่ะ สามารถปรับใช้ได้กับทั้งบ้านที่มีพื้นที่จำกัด และคอนโดมิเนียมได้เช่นกันนะ

  • การทาสี เปลี่ยนผนังสีขาวเป็นสีสันที่มีความหมาย

การเปลี่ยนสีห้องที่สามารถทำได้ง่ายๆเลยนั่นก็คือการทาสีนั่นเองค่ะ ใครที่มีพื้นที่ภายในบ้านเยอะ สามารถแบ่งห้องของลูกน้อยออกเป็นห้องนอน และห้องนั่งเล่น เรียนรู้ของลูกได้ ก็สามารถเลือกสีให้เหมาะกับกิจกรรมนั้นๆได้เลย เช่นห้องนอนเป็นสีโทนเย็น ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย ห้องนั่งเล่น เลือกใช้สีสันสดใส อย่างสีเหลือง สีส้ม เพื่อให้มีความกระตือรือร้นและกระตุ้นการเรียนรู้

สำหรับห้องที่มีพื้นที่จำกัดหรือห้องภายในคอนโด สามารถแบ่งมุมของห้องออกเป็นโซนๆสำหรับลูกน้อยได้ค่ะ เช่นมุมพักผ่อน ให้ทาสีโทนเย็น แต่อีกมุมของห้องจัดเป็นพื้นที่นั่งเล่น แยกพื้นที่กันชัดเจน ทำให้เด็กๆสามารถแยกแยะพื้นที่ต่างๆได้อีกด้วย

Tips : เด็กๆบ้านไหนมักชอบขีดชอบเขียน ฝากจิตรกรรม ไว้บนผนังบ้าน คุณพ่อคุณแม่ก็ควรเลือกสีทาภายในที่สามารถลบ เช็ดออกได้ โดยปัจจุบันมีอยู่แทบทุกแบรนด์ของสีทาบ้านเลยค่ะ ส่วนใหญ่ก็จะพ่วงคุณสมบัติพิเศษในการยึดเกาะ กันเชื้อรา และช่วยดูดซับสารระเหยต่างๆได้อีกด้วย

การเลือกใช้สีทาภายในบ้านก็เป็นสิ่งสำคัญนะคะ เนื่องจากมีผลต่อความปลอดภัยของเด็กๆ การเลือกใช้สีที่ไม่ดี แล้วเกิดการลอกร่อน เด็กอาจะเผลอเอาเข้าปาก ทำให้สารพิษเข้าสู่ร่างกายได้ เช่น สารตะกั่ว ที่มีอยู่ในสีน้ำมันสำหรับทาบ้าน ซึ่งเด็กในช่วงอายุน้อยกว่า 6 ปี จะสามารถดูดซึ่งสารตะกั่วได้มากกว่าผู้ใหญ่ประมาณ 5 เท่า (เด็กสามารถดูดซึมสารตะกั่วจากการกินเข้าไปได้ถึง 30-75% ซึ่งผู้ใหญ่ดูดซึมได้เพียง 11%*) มีผลให้เด็กมีพัฒนาการช้า IQ ลดลง และสะสมในอวัยวะต่างๆในร่างกาย ดังนั้นเราควรเลือกสีทาบ้านที่ปลอดสารตะกั่ว (มีฉลาก มอก.) หรือเลือกสีอะครีลิค ที่ Low VOCs ลดสารระเหยอินทรีย์ และกลิ่นฉุนที่เกิดจากสี  และมีสารป้องกันเชื้อรา ทำให้ปลอดภัยกับเด็กๆค่ะ

*ที่มา : ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา

  • การติด Wallpaper เพิ่มลวดลายให้กับห้อง

นอกจากทาสีภายในห้องแล้ว ยังมีการตกแต่งผนังอีกรูปแบบหนึ่งคือติด Wallpaper นั่นเองค่ะ สำหรับใครที่อยากให้ผนังห้องของลูกน้อยมีลวดลายหลากสีสัน Wallpaper ก็เป็นตัวเลือกที่ดี เนื่องจากมีลวดลายให้เลือกหลากหลาย สามารถติดตั้งได้รวดเร็ว ไม่ต้องรอสีแห้ง และข้อดีของการติด Wallpaper อีกอย่างก็คือสามารถกันเสียงได้มากกว่าผนังทาสีค่ะ สำหรับใครที่ลูกร้องบ่อยๆหรืออยู่คอนโดมิเนียมอาจจะต้องการให้ห้องสามารถเก็บเสียงได้มากขึ้นด้วยค่ะ

การติด Wallpaper นั้นมีข้อควรระวังอยู่เช่นกันค่ะ ห้องที่โดนแดดแรงๆ หรือมีความชื้นเยอะๆอาจจะทำให้เกิดการหลุดร่อนและเกิดเชื้อราขึ้นได้ และเมื่อเกิดร่องรอยก็ทำความสะอาดได้ยากกว่าผนังทาสี (สีทาภายในลบได้) ดังนั้น การเลือกใช้ Wallpaper จึงเหมาะกับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย อายุประมาณ 8 ปีขึ้นไปค่ะ

  • เลือกใช้สติกเกอร์แปะผนัง เพิ่มลวดลาย เปลี่ยนง่าย ติดตั้งเร็ว

สำหรับคนที่ไม่ต้องการเปลี่ยนสีผนังแบบถาวร อาจเลือกใช้ตัวเลือกที่ติดตั้งง่าย ราคาไม่สูง สามารถแกะออกได้เมื่อต้องการ อย่างสติกเกอร์ติดผนังค่ะ ปัจจุบันสติกเกอร์ติดผนังมีหลากหลายรูปแบบโดยที่ใช้กันทั่วไปก็คือแบบแผ่น PVC ใส กันน้ำได้ เมื่อลอกแล้วจะไม่มีคราบกาว แต่ข้อจำกัดก็คือจะต้องติดบนพื้นผิวเรียบ เช่น กระจก ถ้าเป็นผนังปูนฉาบเรียบทาสีที่มีความขรุขระ จะติดได้ไม่นานค่ะ อีกแบบคือ สติกเกอร์พลาสติกทั่วไปที่ด้านหลังมีกาว  สติกเกอร์แบบนี้จะติดได้แน่นกว่าและสามารถติดบนผนังบ้านที่เป็นปูนฉาบทาสีได้ แต่เมื่อลอกออกอาจจะทิ้งคราบกาวและทำให้สีหลุดร่อนได้ค่ะ

  • การเลือกใช้ผ้าม่านหลากสีสัน

ใครที่ไม่อยากปรับเปลี่ยนสีของห้องให้ยุ่งยากเสียเวลา เรามีอีกทางเลือกมาแนะนำค่ะ นั่นก็คือการเปลี่ยนสีผ้าม่านนั้นเอง ใครที่มีม่านสีขาวหรือสีครีมกลมกลืนกับห้อง แล้วต้องการเพิ่มสีสัน ผ้าม่านก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนได้ง่าย และส่งผลต่อความรู้สึกภายในห้องได้ เช่น

– ห้องนอนลูกสีขาว อยากเพิ่มสีสัน ก็สามารถเลือกสีผ้าม่านเป็นคู่สีฟ้า สีเขียว หรือสีครีม สีชมพู เพื่อเพิ่มความสดใสให้กับห้อง

– ห้องนอนลูกสีฟ้า ก็เลือกใช้ผ้าม่านสีครีม สีเขียวอ่อนหรือสีขาว ทำให้ห้องดูสดใสมากขึ้น ถ้าเลือกใช้ม่านสีฟ้าเช่นกัน จะทำให้ดูเป็นโทนเดียวกันมากไป อาจส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้

– ห้องนอนลูกสีสันโทนสว่าง สีครีม หรือสีเหลือง ก็ควรเลือกใช้ผ้าม่านสีโทนเย็น เพื่อมาช่วยเพิ่มความรู้สึกเย็น สงบ ผ่อนคลาย ให้เหมาะกับการนอนมาขึ้นค่ะ

  • การเปลี่ยนสีพื้น ให้นั่งเล่นได้สบายใจ

นอกจากสีของผนังที่สามารถเพิ่มลูกเล่นเปลี่ยนสีได้แล้ว ยังสามารถเปลี่ยนสีพื้นห้องได้เช่นกันนะคะ บ้านได้ที่มีเด็กอ่อน หรือวัยกำลังหัดเดิน ก็คงจะต้องระวังเรื่องการหกล้มของลูก จนต้องซื้อโฟมยางรองพื้นช่วยกันบาดเจ็บเวลาลูกล้ม ดังนั้น อย่าลืมว่าเราสามารถเลือกสีเพื่อให้เกิดการกระตุ้นความรู้สึก และเสริมสร้างพัฒนาการไปพร้อมๆกันได้ อาจจะปูพื้นเป็นสีเพื่อแบ่งโซนพักผ่อน (เตียงนอน) โทนสีเย็นสบาย และโซนนั่งเล่นที่สีสันสดใส

Tips : ปัจจุบันมีพื้นที่ออกแบบมาเพื่อรองรับแรงกระแทกลดอาการบาดเจ็บจากการล้ม (Absorption Floor) มีขายอยู่ทั่วไป ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุ ซึ่งเราสามารถประยุกต์ใช้กับห้องของเด็กได้เช่นกันค่ะ โดยส่วนใหญ่แล้วจะติดตั้งบนพื้นเดิมที่มีอยู่ได้เลย ลดระยะเวลาการก่อสร้างเพียงปูเสร็จแล้วก็สามารถใช้งานได้ และเมื่อเด็กโตขึ้นก็สามารถยกออกแล้วนำไปใช้งานในห้องอื่นๆได้อีกด้วยค่ะ

  • การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ 

สุดท้ายนอกจากผนังและพื้นแล้ว เรายังเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่มีสีสันเพื่อกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้เช่นกันค่ะ ยกตัวอย่างเช่น กล่องเก็บของหลากสีสัน สามารถสอนเพิ่มเติมให้เขาแยกเก็บของเล่นแต่ละสีลงในกล่องที่มีสีเหมือนกัน หรือใช้ชั้นวางหนังสือไล่สีตามแต่ละวัน ให้เลือกอ่านหนังสือตามสีของวันนั้นๆ เป็นต้น นอกจากจะใช้เฟอร์นิเจอร์นั้นในการเพิ่มสีสันให้กับห้องพักอาศัยแล้ว ยังเป็นการใช้สีในการฝึกคิดเชื่อมโยงเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ และทำให้เกิดกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวได้ค่ะ

Tips : การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ควรระวังขอบมุมที่เป็นของแข็ง อาจเกิดอันตรายกับเด็กที่อยู่ในวัยซุกซน แนะนำให้ติดขอบยางที่มุมของเฟอร์นิเจอร์เพื่อป้องกันการบาดเจ็บค่ะ


เป็นอย่างไรกันบ้างคะ หวังว่าเพื่อนๆคงได้ไอเดียในการนำ สีสัน ต่างๆเข้ามาภายในห้องเพื่อกระตุ้นพัฒนาการของลูกๆ ใครมีข้อเสนอแนะหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสามารถ Comment กันมาได้นะคะ 🙂