Chiangmai0070

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยภายหลังประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ว่า ขณะนี้ได้ให้การบ้านให้ รฟท.หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร.เพื่อร่วมจัดทำแผนแม่บทยุทธศาสตร์ ระยะ 10-15 ปี ในการทำแผนพัฒนาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดของรถไฟให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถล้างหนี้สินขาดทุนสะสมกว่า 80,000 ล้านบาทให้หมดไป เพื่อให้รถไฟดำเนินการต่อไปได้ด้วยตนเอง คาดว่าแผนดังกล่าวจะแล้วเสร็จ 1-2 เดือนนี้

“ที่ผ่านมารถไฟรายได้น้อย รายจ่ายเยอะจึงเป็นปัญหาทำให้ปัจจุบันมียอดขายทุนสะสม 80,000 ล้านบาท แต่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะปัจจุบันรถไฟมีสินทรัพย์อยู่มากถึง 600,000 ล้านบาท หากนำมาต่อยอดเชิงพาณิชย์จะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งจากนี้จะต้องดูว่าที่ดินตรงไหนพัฒนาเองได้ก็ทำ หากทำไม่ได้ต้องเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน แต่จะต้องไม่มีการขายที่ดินเด็ดขาด ซึ่งมั่นใจภายใน 10-15 ปี งบการเงินของรถไฟจะต้องแข็งแรงขึ้นแน่นอน และในอนาคตจะต้องเป็นรถไฟ 4.0 ให้ได้”.

นอกจากนี้ ยังมอบให้ รฟท.ไปหารือร่วมกับการเคหะแห่งชาติและกรมธนารักษ์ จัดทำโครงการก่อสร้างบ้านให้กับผู้มีรายได้น้อยหรือคนจน โดยนำพื้นที่บริเวณข้างทางรถไฟทั่วประเทศมาจัดสร้างเป็นบ้านเช่าราคาถูก หรือคอนโดมิเนียม ตามชุมทางสถานีรถไฟ ซึ่งถือเป็นโครงการที่ช่วยเหลือสังคม

นายสมคิดกล่าว่า นอกจากนั้นได้กำชับให้ รฟท.เร่งรัดโครงการที่เปิดให้เอกชนเข้าร่วมทุน (พีพีพี) ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) สายกรุงเทพฯ-ระยอง, กรุงเทพฯ-หัวหิน และ โครงการสรรหาเอกชนรับสัมปทานเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและคัดแยกสินค้ากล่องที่ลาดกระบัง โดยจะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีภายในปีนี้ ทั้งนี้ ส่วนของไฮสปีดเทรนทั้ง 2 เส้นทาง ได้กำชับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณากำหนดที่ตั้งของสถานีแต่ละแห่งให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลกำลังส่งเสริม รวมไปถึงการสร้างถนนของกรมทางหลวงในอนาคตด้วย นอกจากนี้ ให้ รฟท.ไปศึกษาการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทาง กทม.-ระยอง ซึ่งจะใช้ในการขนส่งสินค้าเสริมไปพร้อมกับการสร้างไฮสปีดเทรนด้วย เพื่อให้ระบบขนส่งภายในอีอีซีมีความสมบูรณ์มากขึ้น

ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยายจากช่วงระยะแรกเส้นทาง บางซื่อ-รังสิต เช่น ตลิ่งชัน-ศาลายา, รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง นั้น ให้ รฟท.เปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนตามพีพีพี เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับโครงการสายสีแดงระยะแรก ที่ รฟท.อยู่ระหว่างการก่อสร้างได้เร็วขึ้น

นายสมคิดกล่าว่า นอกจากนั้น รฟท.ได้รายงานให้ทราบถึงความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะแรก จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 995 กม. วงเงินรวม 129,703 ล้านบาท ว่า ขณะนี้ได้เริ่มก่อสร้างไปแล้ว 2 เส้นทางคือ ฉะเชิงเทรา-คลองสินเค้า-แก่งคอย และชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ส่วนอีก 2 เส้นทางได้ผ่าน ครม.แล้วคือ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระและประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร จะเปิดประมูลได้ในเดือน พ.ย.นี้ ส่วนอีก 3 เส้นทางที่เหลือคือลพบุรี-ปากน้ำโพ, นครปฐม-หัวหิน และหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ อยู่ระหว่างรอเสนอ ครม.ภายในสิ้นปีนี้

สำหรับปี 2560 รฟท.เตรียมก่อสร้างทางคู่ระยะที่ 2 อีก 9 เส้นทาง วงเงินลงทุน 429,676.31 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ เส้นทางตามแผนเดิม 7 เส้น ระยะทาง 1,493 กม. วงเงิน 292,342.58 ล้านบาท คือ ปากน้ำโพ-เด่นชัย,เด่นชัย-เชียงใหม่, ขอนแก่น-หนองคาย, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี, สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่,หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ และชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี และเส้นทางตามแผนใหม่แนวเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ อีก 2 เส้นทางระยะทาง 673 กม. วงเงิน 137,333.73 ล้านบาท คือ เด่นชัย-เชียงของ คาดว่าจะเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมพิจารณาในวันที่ 7 ต.ค.นี้ และบ้านไผ่-นครพนม อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา รฟท.ได้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2559 ไปได้มากถึง 52% แล้ว แต่ก็ยังต่ำกว่าเป้า เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายด้าน ซึ่งบอร์ด รฟท.ยืนยันว่าปีหน้าการเบิกจ่ายจะสูงขึ้นแน่นอน เพราะขณะนี้ได้วางแผนขับเคลื่อนการเบิกจ่ายงบรายจ่ายช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ไว้พร้อมแล้ว

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

awards banner_Event banner