ปก Ashton Silom Design

โครงการ Ashton Silom เป็นคอนโด High Rise ที่สร้างขึ้นมาเป็นแห่งแรกบนถนนสีลมในรอบ 15 ปี ถนนที่ได้ชื่อว่ามีที่ดินแพงที่สุดในประเทศ ดังนั้นด้วยมูลค่าที่ดินที่แพงหูฉี่ และความคึกคักของทำเลที่ได้ชื่อว่าเป็นย่าน CBD อันดับหนึ่งของประเทศ จากองค์ประกอบเหล่านี้ทำให้อนันดายกพลสถาปนิกชั้นนำของประเทศมาช่วยกันปั้น Ashton Silom ออกมาให้น่าสนใจ อย่างตัวอาคารออกแบบโดยสถาปนิกจาก A49, Landscape ออกแบบโดย TROP และ Interior Design ออกแบบโดย PIA Interior ทำให้โครงการนี้มีรายละเอียดที่น่าสนใจค่อนข้างเยอะ ในบทความนี้เราจะพักรีวิวกันสักแป๊บ แต่จะพาไปพูดคุยกับสถาปนิกผู้ออกแบบ Ashton Silom เพื่อช่วยเปิดมุมมองและแนวคิดใหม่ๆในการออกแบบคอนโดกันค่ะ

อ่านรีวิวโครงการ Ashton Silom คลิกที่นี่

สีลม

จากความเป็นมาในอดีตของสีลมนำมาสู่ Conceptual Design 

ย่านสีลม จัดเป็นย่านธุรกิจของชาวต่างชาติ เห็นได้จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ ทั้งสำนักงาน อาคารสูง ไปจนถึงอาคารประเภทที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น มารองรับกลุ่มคนทำงานและกลุ่มผู้ที่ต้องการอยู่อาศัยในพื้นที่ใจกลางย่านธุรกิจ ปัจจุบันจึงมีอาคารสูงเกิดขึ้นมากมาย รูปลักษณ์และหน้าตาก็ทันสมัยตามการเติบโตของเมืองอย่างเห็นได้ชัดเจน

หากย้อนไปเมื่อ 150 ปีก่อน ตัวถนนสีลมนี้เกิดขึ้นเป็นถนนสายต้นๆในประเทศไทย โดยถนนเส้นนี้เป็นจุดกำเนิดของ New Innovation หลากหลาย เช่น กังหันน้ำ(Wind Mill)ที่ยังมีให้เห็นตรงแยกสีลม-นราธิวาส(ประติมากรรมกังหันลมที่สร้างขึ้นมาใหม่), เป็นที่ตั้งของสวนสาธารณะแห่งแรกในประเทศอย่างสวนลุมพินี, รถราง หรือแม้แต่รถไฟฟ้าใต้ดินคือสถานี MRT สีลม ก็อยู่ในเส้นทางรถไฟฟ้าเส้นทางแรกในประเทศไทย จากประวัติศาสตร์เหล่านี้จะเห็นได้ว่าถนนสีลมเป็นจุดกำเนิดของเทคโนโลยีใหม่ๆ ผู้ออกแบบจึงนำสิ่งเหล่านี้มาเชื่อมโยงกัน เป็นที่มาของคอนเซปต์ “PIONEER” ซึ่งหมายความว่า “ผู้บุกเบิก” นั่นเองค่ะ

sketch

เมื่อเกิดคอนเซปต์ว่าต้องการให้โครงการนี้เป็นผู้บุกเบิกอะไรใหม่ๆ ทางทีมออกแบบจึงตัดข้อจำกัดต่างๆออกไปก่อน เพื่อให้เกิด Pure Idea ในการออกแบบให้มากที่สุด โดยใช้ระยะเวลาในการออกแบบยาวนานกว่า 1 ปีในการทำการค้นคว้าข้อมูล ก่อนทำการออกแบบ ศึกษากลุ่มผู้อยู่อาศัย time-line ของการใช้เวลาและกิจกรรมในพื้นที่ส่วนต่างๆภายในที่อยู่อาศัย ปรับเปลี่ยนแบบให้ลงตัว เพื่อให้เป็น New culture design แตกต่างจากแบบเดิมๆ ให้ตอบโจทย์ทั้งในด้านทำเลที่ตั้งและตอบสนองแก่ผู้อยู่อาศัยจริง

โจทย์แรกที่ต้องคำนึงคือ “คนที่จะมาซื้อคอนโดราคาสูงในทำเลสีลมนี้เป็นใคร?  และต้องการอะไร?”

จากการศึกษาข้อมูลของทีมออกแบบพบว่าคนที่อยู่อาศัยและทำงานในย่านนี้เป็นกลุ่มลูกค้า International ระดับ A-A+ ที่เป็นคนรุ่นใหม่ ชอบคิดอะไรใหม่ๆ กล้าที่จะแตกต่าง มีกำลังซื้อพอจะซื้ออสังหาฯมาครอบครองได้มากกว่า 1 ที่ โดยอาจจะเป็นเศรษฐีที่อายุยังไม่มากเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่อยากได้ที่อยู่อาศัยในเมืองที่เดินทางสะดวก หรือกลุ่มชาวต่างชาติที่ใช้ชีวิตหรือทำงานอยู่ในย่านนี้ หรือพ่อแม่คนมีเงินที่ต้องการซื้อคอนโดใจกลางเมืองไว้ให้ลูก เพื่อเป็นทรัพย์สินและสร้างความสะดวกสบายแก่บุตรหลาน เป็นต้น โดยคนเหล่านี้มีทั้งคนที่ต้องการเลิกเช่าคอนโดอยู่แล้วเปลี่ยนมาเป็นเจ้าของคอนโดใหม่สักที่แทน หรือคนที่มีบ้านอยู่แล้วและต้องการซื้อคอนโดเพื่อเป็นบ้านหลังที่สอง ..สาม ..สี่ ซึ่งกรณีหลังนี้สามารถพบเห็นได้มากกว่าค่ะ ดังนั้นเขาเหล่านี้จึงไม่ได้ต้องการความซ้ำซากจำเจเหมือนอยู่บ้าน แต่ต้องการบ้านที่มีการออกแบบฟังก์ชั่นใหม่ๆที่แตกต่างและสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้มากกว่า

optional plan

ถัดมาก็เป็นส่วนของการออกแบบผังอาคาร ที่ต้องมีการพูดคุยกันถึงเรื่องฟังก์ชั่นภายในโครงการว่ามีควรอะไรบ้าง ตั้งแต่การคำนึงถึงข้อจำกัดทางกฏหมาย ระยะ Set Back(ระยะร่นต่างๆ), คำนวณความสูงของอาคารและจำนวนยูนิตพักอาศัย ซึ่งจะนำมาสู่การคำนวณหาพื้นที่จอดรถที่พอดีได้ (โครงการสูง 48 ชั้นมีห้องพักจำนวน 428 ยูนิต มีที่จอดรถตั้งแต่ชั้นใต้ดิน  B1- ชั้น 9 จะเป็นที่จอดรถประมาณ 309  คัน หรือคิดเป็น 72% ของจำนวนยูนิตทั้งหมด), Circulation(การสัญจรและพื้นที่ทางเดิน)ให้มีระยะทางเดินที่พอดี มีการแยกทางเดิน Private, Public และ Service อย่างเหมาะสมไม่ปะปนกัน, การจัดวาง Facilities ต่างๆ, ผังทางเดินภายในอาคารระหว่างห้องพัก รวมทั้งการจัดวางห้องพักในแต่ละชั้นอย่างไรให้พอดีที่สุดด้วย ฯลฯ ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้เป็นสิ่งที่สถาปนิกต้องคำนึงถึง และ Design ออกมาให้ได้เหมาะสมและลงตัวที่สุด ดังนั้น Optional Plan กว่าจะออกมาเป็น Ashton Silom อย่างที่เราเห็นนี้ก็ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านฝน.. พลิกแพลง เปลี่ยนแบบหลายต่อหลายครั้งกว่าจะออกมาเป็น Final Plan ของ Ashton Silom ในปัจจุบัน

img-masterplan

และนี่คือหน้าตา Final Master Plan ของทางโครงการค่ะ จริงๆแล้วอาคารของ  Ashton Silom มีอาคารเดียว แต่มีการคั่นอาคารด้วย Void ตรงกลางเพื่อสร้างพื้นที่พิเศษ จึงต้องมีการแบ่งงานระบบและแบ่ง Core ลิฟต์ออกเป็น 2 ส่วน (ตามช่องสีแดง) โดยอาคารด้านหน้าสูง 34 ชั้น มีลิฟต์โดยสารให้ 2  ส่วนอาคารด้านหลังมี 48 ชั้น ยุนิตมากกว่าจึงมีลิฟต์โดยสารให้ 3 ตัว รวมทั้งหมด 5 ตัว คิดเป็นอัตราส่วน 86 : 1 ซึ่งถือว่ายังค่อนข้างหนาแน่นในชั่วโมงเร่งด่วนนะ ลิฟต์เซอร์วิสมีให้ 2 ตัวติดกับส่วนทิ้งขยะ ทำให้แม่บ้านขนย้ายขยะลงมาทางนี้ได้ง่าย ไม่กวนส่วนลิฟต์โดยสาร ทางเข้าโครงการติดกับถนนสีลม ผ่านทางเข้าจะมี Drop off 1  จุด หลังจากส่งคนลงแล้วก็สามารถตรงไปขึ้นที่จอดรถด้านข้างอาคารที่อยู่ในชั้น 1-9 มีที่จอดรถรองรับจำนวน 305 คัน แต่หากต้องการจอดรถใต้อาคารเฉยๆก็สามารถวนมาจอดที่ด้านหลังอาคาร ที่มีซองจอดรถรองรับให้ 4 คันค่ะ โดยทางเดินรถจะเป็น  Two way วนรถเข้า-ออกทางเดิม

หากเดินเข้าโครงการมาจะต้องผ่านสวนด้านหน้าที่มีทางเดินเป็น Cross Over รูปกากบาท ด้านล่างเป็นสวนขึ้นบันไดที่มีน้ำตกไหลผ่าน พอเราเข้าไปในอาคารจะเจอ Lobby  ซึ่งด้านหลัง Lobby จะมีโถงลิฟต์สามารถเลือกขึ้นโถงที่ 1 เป็นลิฟต์ขึ้นอาคารทางด้านหน้า ส่วนถ้าจะไปยังโถงลิฟต์ที่ขึ้นอาคารทางด้านหลังต้องเดินผ่าน Waiting Lounge หรือโถงพักคอย และผ่านห้องจดหมายก็จะสามารถไปขึ้นลิฟต์ได้ค่ะ ในโครงการจะมีร้านค้าใต้อาคาร ซึ่งโครงการแพลนไว้ว่าจะเป็นร้านอาหารแบบพรีเมี่ยม ซึ่งจะเป็นอะไรนั้นก็ต้องรอดูกันต่อไปค่ะ

ส่วน Plan ชั้นอื่นๆ และรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่ รีวิว Ashton Silom โดย Think Of Living คลิกที่นี่

podium study

ต่อมาเป็นการออกแบบหน้าตาอาคารซึ่งมีรายละเอียดเยอะไม่แพ้กันเลยค่ะ นักวิทยาศาสตร์ที่ต้องทำการทดลองเพื่อหาผลลัพท์ฉันใด สถาปนิกก็ฉันนั้น การหาผลลัพท์ของสถาปนิกแต่ละคน แต่ละทีมไม่เหมือนกัน โดยส่วนมากจะเป็นการคุย Concept เพื่อหาสไตล์ของอาคารให้มองไปในทิศทางเดียวกัน หลังจากนั้นก็ reserch ข้อมูลและหา Case Study จากที่ต่างๆเพื่อเป็น Inspiration ในการออกแบบ จากนั้นก็ลองออกแบบในโปรแกรม 3D (สถาปนิกหลายๆคนน่าจะคุ้นเคยดีกับเจ้าพวกโปรแกรม 3D Max, Sketch Up ฯลฯ 🙂 ) ซึ่งภาพนี้เป็นตัวอย่างของ Podium design study ที่สถาปนิก A49 ทดลองออกแบบหน้าตาอาคารดูหลายๆรูปแบบเพื่อเป็นตัวเลือก อย่างที่บอกว่าเค้าใช้เวลาคิดค้นกันกว่า 1 ปี ก็เพราะต้องการให้ได้ผังและหน้าตาอาคารที่ดีที่สุดนั่นเอง

Facilities Ashton1

(คลิกที่ภาพ เพื่อดูภาพขนาดใหญ่)

จากการศึกษาข้อมูล รวบรวมความคิด ผ่านกระบวนการออกแบบครั้งแล้วครั้งเล่า จนเกิดมาเป็นแนวคิดในการออกแบบโครงการ Ashton Silom  ตัวนี้ ซึ่งเพื่อพิจารณในเรื่องของกฎหมายการก่อสร้างอาคารสูงแล้ว พบว่าสัดส่วนที่ดิน Set Back ต่างๆจากถนนใหญ่ตามกฏหมายอาคาร สามารถสร้างคอนโดสูงได้ จึงได้ข้อสรุปว่าจะทำโครงการคอนโดมิเนียม High Rise ที่ความสูง 48 ชั้น ได้สบายๆ โดย Facilities หลักๆของโครงการจะอยู่ที่ชั้น 34 และ 48 เน้นการ Take view และมี Comfortable สูง การนำส่วนกลางมาไว้ที่ชั้น 34 ส่วนหนึ่งมาจากการปรับใช้ข้อจำกัดในการออกแบบตามกฏหมายอาคารเรื่องความสูงของอาคาร 2H ซึ่งเป็นข้อจำกัดให้อาคารด้านหน้าต้องหยุดอยู่ที่ชั้น 34 ซึ่งคอนโดทั่วไปมักจะใช้พื้นที่บริเวณในชั้นนี้จัดสวนหรือวาง Facilities เล็กๆน้อยๆ แต่สำหรับ Ashton Silom ผู้ออกแบบเลือกที่จะให้ชั้นนี้เป็น Facilities เต็มชั้นเลยค่ะ เดี๋ยวเราจะพาไปดู Facilities แต่ละชั้นพร้อมรายละเอียดในการออกแบบไล่ตั้งแต่ชั้นล่างถึงชั้นบนสุดกันนะคะ

Screen Shot 2016-04-29 at 2.03.04 PM

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย 🙂 :

ปกติแล้วเวลาสถาปนิกออกแบบโครงการ จะต้องตรวจเช็คกฏหมายเกี่ยวกับโครงการนั้นๆก่อนว่ามีข้อกำหนดใดที่เกี่ยวข้องบ้าง  ซึ่งกฏหมาย 2H ที่พูดถึงนั้นมาจาก กฏกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

 ข้อ 44 ความสูงของอาคารไม่ว่าจากจุดหนึ่งจุดใด ต้องไม่เกินสองเท่าของระยะราบ(H)วัดจากจุดนั้นไปตั้งฉากกับแนวเขตด้านตรงข้ามของถนนสาธารณะที่อยู่ใกล้อาคารนั้นที่สุด ความสูงของอาคารให้วัดแนวดิ่งจากระดับถนนหรือระดับพื้นดินที่ก่อสร้างขึ้นไปถึงส่วนของอาคารที่สูงที่สุด สำหรับอาคารทรงจั่วหรือปั้นหยาให้วัดถึงยอดผนังของชั้นสูงสุด

สมมุติว่า ระยะจากเขตทางไปจนถึงตัวอาคารมีระยะ(H)  20 เมตร ความสูงของอาคารต้องไม่เกิน 2H คือต้องไม่เกิน  2 เท่าของ 20 ก็คือ 40 เมตรนั่นเองค่ะ ดังนั้นข้อจำกัดของอาคารด้านหน้าที่ติดถนนต้องสูงไม่เกิน  40 เมตร ซึ่งพอสร้างขึ้นไปต่อไม้ได้เพราะติดข้อกฏหมาย โครงการส่วนใหญ่จึงมักจะทำให้พื้นที่นั้นเป็นสวน หรือพื้นที่ส่วนกลางอื่นๆ เป็นเหตุผลเดียวกันกับที่อาคารด้านหน้าของ Ashton Silom หยุดอยู่ที่ชั้น 34 และทำให้ชั้นนี้กลายเป็น Facilities เต็มชั้นนั่นเอง

Landscape Design

มาเริ่มที่ Landscape ของโครงการได้รับการออกแบบโดย TROP บริษัท Landscape design ชั้นนำที่เคยมีผลงานการออกแบบ Landscape ให้ Hilton พัทยา, Casa De La Flora, Central ลาดพร้าว, Central พระราม 9 เป็นต้น โดยพื้นที่สวนนี้ถูกเรียกว่า Alfresco Living Plaza ที่มีการเล่นระดับของพื้นที่ ภายใต้แนวคิด “Movements” มีการออกแบบสะพานสำหรับคนเดินที่มีการ Cross Over เป็นรูปกากบาท ซ้อนทับพื้นที่สีเขียวที่เป็น Sunken Garden ด้านล่าง สร้าง Layers ให้สวนทางเข้าดูมีลูกเล่นและเกิดมิติ รอบๆสวนนี้จะมีน้ำตกที่ไหลผ่านอยู่ด้านล่างตลอดเวลา เมื่อเดินเข้ามาจะได้ยินเสียงน้ำไหลเบาๆด้วยค่ะ

Screen Shot 2016-04-25 at 5.03.47 PM

โดยการออกแบบนี้เริ่มต้นจากการคิดแก้ปัญหา เวลาที่เราเดินอยู่ภายในสวนหน้าโครงการ เรามักจะขาดความเป็นส่วนตัวจากสายตาของคนหรือรถยนต์ด้านนอกที่สามารภมองเข้ามาเห็นพื้นที่ด้านในได้ ดังนั้นการออกแบบพื้นที่ให้มี Sunken Garden ก็เพื่อช่วยให้คนที่มาใช้พื้นที่ด้านล่างไม่ต้องมองออกไปแล้วเห็นถนนใหญ่ และคนจากถนนใหญ่ก็มองเข้ามาแล้วไม่เห็นคนที่กำลังใช้งานพื้นที่นี้ด้วย ถือว่าได้ประโยชน์ทั้งสองทาง ส่วนทางเดินที่ Cross กันเป็นรูปตัว X ด้านบน จะเป็นส่วนตกแต่งที่ให้ความรู้สึกเป็นสะพานทางเดินสวยๆและเป็น Pavillian ให้คนเดินเข้าไปภายในอาคารค่ะ

maxresdefault

Function and Building Design

ส่วนของอาคารหลักๆออกแบบโดยสถาปนิกจาก A49 ษริษัทออกแบบชั้นน้ำที่เคยฝากฝีมือไว้ใน Ashton Asoke, Ideo Q จุฬา-สามย่าน และที่นักศึกษา ม.กรุงเทพน่าจะคุ้นชินกับ BU Diamond หรือตึกเพชร เป็นต้น ตัวอาคารของ Ashton Silom มีความเป็น symmetry และเล่นเหลี่ยมมุม วัสดุหลักๆจะใช้กระจก, เหล็กทาสี และการนำสวนแนวตั้งมาใช้ในส่วน Facilities มีความเป็นเอกลักษ์มากกว่า Ashton ตัวที่แล้วๆมา

sketch02

มาเริ่มกันที่ส่วน Drop Off ที่อยู่ด้านข้างโครงการทางทิศตะวันออก โดยสถาปนิกออกแบบให้หลังคาตรง Drop Off ค่อนข้างสูง แต่ไม่ได้สูงจน Over กว่า Scale มนุษย์สักเท่าใดนัก แต่เมื่อเข้าไปภายในอาคารคือส่วน Lobby  ฝ้าเพดานจะถูกยกสูงขึ้นกว่าข้างนอกอีกเกือบ 80% ซึ่งสถาปนิกจะเรียกกันว่า Shock Space คือ ความรู้สึกเปลี่ยนทันทีจากพื้นที่แคบไปสู่พื้นที่กว้าง หรือพื้นที่เตี้ยไปสู้พื้นที่สูง ซึ่งการออกแบบนี้จะสร้าง Space ที่ดูโอ่อ่าและสร้างความรู้สึกแปลกใหม่ให้ผู้เข้ามาใช้พื้นที่ได้เป็นอย่างดีค่ะ

ประตู

ต่อมาเป็นประตูทางเข้าอาคารจะเป็นประตูแนวเฉียง ค่อนข้างแปลกตาไม่ค่อยได้เห็นกันสักเท่าไหร่ค่ะ ซึ่งเหตุผลที่สถาปนิกเลือกออกแบบให้ประตูทางเข้าเฉียงแบบนี้ก็เพื่อให้เกิดความแปลกใหม่ของ Space และเป็นผลพวงเล็กน้อยทางฮวงจุ้ยที่ดี

in-1-desktop (1)

เข้ามาภายใน Lobby ของโครงการจะมีการใช้ Mood and Tone เป็นสีขาว-เทา-ทอง-ทองเหลือง โดย Interior ภายในโครงการทั้งหมด ออกแบบโดย PIA Interior ที่เป็นบริษัทออกแบบภายในที่มีผลงานการออกแบบให้คอนโดมาหลายแห่ง เช่น Hyde สุขุมวิท 11, The Issara collection แต่ที่มีชื่อเสียงมากคือการออกแบบการออกแบบภายในให้รีสอร์ท เช่น Anantara resort, Hilton Sukhumvit, Intercontinental หัวหิน เป็นต้น ดังนั้นจากงานถนัดของ Interior ที่ชินมือกับการออกแบบโรงแรม บรรยากาศภายในโครงการ Ashton Silom จึงถูกออกแบบโดยให้มีลักษณะเหมือนโรงแรม ตั้งแต่ Lobby ไปจนถึง Facilities ชั้นอื่นๆ โดย Concept ของวัสดุที่จะนำมาออกแบบภายในเน้นไปที่งาน Craft ซึ่งเป็นงานทำมือ ผู้ออกแบบเลือกวัสดุที่เพิ่งเกิดใหม่ในตลาด อย่างดีไซน์ของผนังและฝ้าเพดานใช้การทอเส้นทองเหลืองและโลหะด้วยมือ ผสมกับการใช้เทคนิคพิเศษของการกัดกรดทางวิทยาศาสตร์บนผืนทองเหลืองเข้ามาช่วย เพื่อให้เกิดลวดลายบนผ้าที่ออกมาดูเป็นธรรมชาติ ที่เกิดจากงานฝีมือคนจริงๆ

ผ้าโลหะ

ภาพด้านบนเป็นผืนผ้าที่ห้อยลงมาจากฝ้าเพดาน ส่วนภาพด้านล่างเป็นผ้าที่จะใช้กับผนังของโครงการจริง โดยผ้าทั้งสองนี้จะใช้การทอผืนผ้าด้วยโลหะและกัดกรดวิทยาศาสตร์ ซึ่งวัสดุเหล่านี้บริษัท Ausara เป็นผู้ผลิตให้

Print

มาดูที่ Facilities หลักของโครงการที่อยู่ในชั้น 34-ชั้นดาดฟ้ากันบ้าง ในแต่ละชั้นจะประกอบด้วย

ชั้น 34-34M  : ระว่ายน้ำ, สระเด็ก, จากุซซี่, ห้องออกกำลังกาย, ห้องกำลังกายแบบส่วนตัว, ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า และห้องน้ำ, ห้องอบไอน้ำ, ห้องซาวน่า, ห้องนวด, ห้องสมุด, ห้องชมภาพยนตร์, Businessm Center, ลานพักผ่อน 

ชั้น 46 : ห้องพักอาศัย, ลานพักผ่อน พร้อมสวนกลางแจ้ง

ชั้น 47 : ห้องพักอาศัย

ชั้น 48 : โซเชียลคลับ พร้อมสวนกลางแจ้ง

ชั้นดาดฟ้า : ลานกลางแจ้ง

เดี๋ยวเราจะพาไปดู Facilities ในชั้นต่างๆโดยแบ่งเป็นชั้น 34-34M และชั้น 46- ชั้นดาดฟ้ากันนะคะ

Facilities จากโมเดลจำลองในชั้น 34-34M นี้จะรวบรวม Facilities หลักๆทั้ง สระว่ายน้ำ, สระเด็ก, จากุซซี่, ห้องออกกำลังกาย, ห้องกำลังกายแบบส่วนตัว, ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าและห้องน้ำ, ห้องอบไอน้ำ, ห้องซาวน่า, ห้องนวด, ห้องสมุด, ห้องชมภาพยนตร์, Business Center และลานพักผ่อน โดยจุดเด่นของชั้นนี้คือมีสระว่ายน้ำสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่รูปตัว U ล้อมรอบ Core Lift ที่เป็นส่วน Service มีการตกแต่งผนังส่วนนี้ด้วย Vertical Garden สร้างพื้นที่สีเขียวให้อาคาร ซึ่งสาเหตุที่มี Core Lift งอกขึ้นมากลางสระว่ายน้ำ ก็เพราะต้องการให้ลูกบ้านสามารถขึ้นลิฟต์มาถึงชั้น Facilities ได้เลย ไม่ต้องเดินขึ้นบันไดหนีไฟหรือไปเปลี่ยนลิฟต์ที่ตัวอาคารด้านหลัง

ex-6-desktop

หลายคนคงสงสัยว่า การทำสระเป็นตัว U แบบนี้จะดีหรือ? ถ้าทำสระว่ายน้ำที่มองโล่งสายตา แบบ 360 องศาจะดีกว่าไหม?

แต่จากการสอบถามสถาปนิกผู้ออกแบบได้มองต่างออกไปค่ะ เพราะจากการ reserch พบว่า ตรงกลางสระว่ายน้ำเป็นพื้นที่ที่คนมักไม่นิยมว่ายเท่าไดนัก แต่หากมองในความปลอดภัย Sefety ก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะโดยทั่วไปคนที่มาใช้สระว่ายน้ำหากไม่ว่ายน้ำแล้วก็มักจะอยู่ตรงบริเวณขอบสระแล้วมองวิวมากกว่า ดังนั้นการออกแบบสระว่ายน้ำแบบนี้จะตอบโจทย์การใช้งาน ทำให้รู้สึก Comfortable มากขึ้น ซึ่งภาพด้านบนภาพจำลองมุมมองจากสระว่ายน้ำในชั้น 34 ที่เน้นมองออกไปทางทิศใต้ จะเห็นวิวเมืองฝั่งสุขุมวิท สาทร เจริญกรุง และเห็นตึกมหานครชัดมาก

ส่วนของ Onsen และสระว่ายน้ำเด็กจะแยกออกมาจากสระผู้ใหญ่ มีการตกแต่งพื้นที่ด้วยโครงเหล็กทาสีและปิดด้วยกระจกใส เนื่องจากแนวคิดที่ว่า เวลาที่เราอยู่ในพื้นที่ที่โล่งจนเกินไป เราจะรู้สึกหวาดเสียวและไม่ปลอดภัย พื้นที่ส่วนนั้นจะกลายเป็นไม่ค่อยมีคนไปใช้งาน ซึ่งตามที่กล่าวไปข้างต้นว่า Concept หลักๆคือเน้น Take View และต้องการให้พื้นที่มีความ Comfortable สูง การที่มีโครงเหล็กหรือกระจกล้อมรอบอยู่จะทำให้รู้สึกปลอดภัยและสบายใจมากขึ้น

details 01

ภาพมุมมองเมื่อเราอยู่ภายใต้พื้นที่สูงที่ล้อมด้วยโครงเหล็กทาสีและปิดด้วยกระจกใส ความรู้สึกจะปลอดภัยกว่าการอยู่ในที่โล่ง ซึ่งตรงนี้ต้องบอกว่าแล้วแต่ความชอบนะคะเพราะบางคนก็ชอบที่โล่งมากกว่า

ในส่วนของ Men’s and Women”s Changing room เป็นห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าและห้องน้ำแยกชายหญิง โดยของผู้ชายจะมีห้องซาวน่า ส่วนผู้หญิงเป็นห้อง Steam อยู่ที่ตึกทางด้านหลังที่ถูกแยกกันด้วย Void ตรงกลางอาคารค่ะ โดยหากเราต้องการไปยังห้อง Changing room ก็สามารถเดินผ่านสะพานเชื่อมอาคารตามภาพนี้ไปได้

detials 03

ส่วน Facilities บนชั้น 46-48 จะคล้ายๆกับชั้น 34 แต่ไม่มีสระว่ายน้ำและยังคงมีการยื่นแผงระแนงเหล็กขึ้นไปค่อนข้างสูงเป็นการสร้าง Space ที่ Comfortable และยังช่วยให้รูปทรงอาคารดูสูงชะลูดขึ้น
Screen Shot 2016-04-28 at 3.29.27 PM

ภาพจำลอง Botanical Lounge ซึ่งเป็น Facilities ในชั้น 46 จะเห็นว่ามีการนำโครงเหล็กมาตกแต่ง ก็เพื่อให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย ไม่โหวงหรือโล่งจนรู้สึกหวาดเสียว เนื่องจากฟังก์ชั่นนี้อยู่ในชั้นที่ค่อนข้างสูง และการใช้แผงกระจกและเหล็กที่สูงชะลูดกับยอดอาคาร ช่วยให้ Form อาคารดูเบาและสูงโปร่งขึ้น

ส่วนรูปทรงอาคารที่มีเหลี่ยมมุมค่อนข้างเยอะมาจากโจทย์ตั้งต้นที่ต้องการให้ภายในอาคารมีช่องเปิดมากที่สุด เพราะการมีช่องเปิดมากขึ้นหมายถึงผู้ใช้งานสามารถ Take view ได้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับห้องนั้นๆ สถาปนิกจึงเน้นการออกแบบให้ผังอาคารมีเส้นรอบรูปมากกว่าคอนโดที่เราเห็นทั่วไปถึง 70% ซึ่งตามมาด้วยช่องเปิดที่มากขึ้นด้วย จากผังโครงการจะเห็นว่าตรงกลางมีช่องว่างเป็น  Void ตรงกลาง ซึ่งการเจาะ Void นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มเส้นรอบรูปนั่นเองค่ะ โดยมุมมองของคนที่อยู่ตรงข้าม Void จะเป็นมุมมองเยื้องกัน เพิ่มความ Privacy ดังนั้นโครงการนี้จึง Invert กับคอนโดทั่วไปที่มักจะมีห้องมุมแค่ 4-5 ห้องต่อชั้น ในขณะที่ Ashton Silom จะมีห้องมุมเกือบทั้งชั้น และมีห้องกลางแค่ 3-4 ห้องต่อชั้นเท่านั้นเอง

 

Ashton-Silom-143

จากการออกแบบให้ผังอาคารมีเส้นรอบรูปเยอะๆ ส่งผลให้ตัวอาคารมีการหักมุมแบบนี้ทำให้ห้องพักจำนวน 12 ยูนิต จาก 14 ยูนิตในหนึ่งชั้น เป็นห้องพักแบบ ”Corner unit (ห้องหัวมุม)” สามารถมีพื้นที่หน้าต่างได้อย่างน้อย 2 ด้าน ทำให้การระบายอากาศและมองวิวรอบๆได้เต็มที่ นอกจากจะสร้างพื้นที่ภายในให้ได้ห้องมุมที่มากขึ้นแล้ว ยังทำให้ Facade อาคารดูมีลูกเล่นไม่น่าเบื่ออีกด้วย

หากสังเกตดีๆจะเห็นว่ากระจกอาคารในโมเดลจำลองจะมีสีเทาเข้า เทาอ่อน หรือสีส้มนวลจากการเปิดไฟข้างในโมเดลบ้าง ซึ่ง Effect เหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการเปิดไฟอย่างเดียวนะคะ แต่สีเทาและเทาอ่อนที่เกิดขึ้นเป็นลูกเล่นที่จะเกิดขึ้นในอาคารจริง โดยตัวแปรที่ทำให้เกิดขึ้นก็คือ “กระจก” ที่นำมาใช้กับตัวอาคาร โดยหลักๆเลยจะใช้ “กระจกประเภทลามิเนต” ที่มีฟิล์มยึดเกาะตรงกลาง เวลาแตกจะไม่กระจาย แต่จะแตกร้าวและติดกับฟิล์มทำให้มีความปลอดภัยสูง โดยมีการสร้างลูกเล่นด้วยการใช้ฟิล์มที่เป็น reflective เทาในบางด้าน ส่วนบางด้านใช้ฟิล์ม tint สีเทา เพื่อให้มองไปแล้วเกิดการ reflect แสงที่แตกต่างกัน ในขณะที่เมื่อเราอยู่ในห้องที่ใช้ฟิล์มแบบใดก็ตามจะรู้สึกว่ากระจกเป็นสีเทาไม่แตกต่างกันเลย

in-4-desktop

มาถึงการออกแบบห้องพักอาศัย ซึ่งเป็นหัวใจหลักในโครงการกันบ้าง อย่างที่กล่าวในข้างต้นว่า ผู้ใช้งานหลักในโครงการคือ กลุ่มคนที่มีความเป็น International และคนรุ่นใหม่ ชอบอะไรที่แตกต่าง ไม่ชอบอะไรที่ซ้ำซากจำเจเหมือนอยู่บ้าน ดังนั้นการออกแบบฟังก์ชั่นใหม่ๆที่แตกต่างออกไปจะช่วยตอบโจทย์ได้มากกว่า สิ่งแรกจึงต้องมาค้นหาแนวทางกันว่า ฟังก์ชั่นการใช้งานแบบไหนจึงจะตอบโจทย์การใช้งานได้มากที่สุด

เริ่มจากการมาลองย้อนมองว่า ในสมัยก่อนคนเราไม่มีสถานที่ให้พบปะกันข้างนอกมากนัก จึงนิยมต้อนรับแขกในบ้าน แต่ในสมัยนี้เรามักออกไปพบปะเจอเพื่อนหรือนัดคุยกันข้างนอกกันซะเป็นส่วนใหญ่ พื้นที่ภายในห้องจึงเป็นที่พักผ่อนอย่างแท้จริง ดังนั้นเราจึงสามารถพลิกแพลงและออกแบบอย่างไรก็ได้ ให้ตรงตามการใช้งานที่แท้จริงมากที่สุด โดยจากการ reserch พบว่า คนส่วนใหญ่ใช้พื้นที่ Living room กับห้องนอนมากที่สุด โดยมีสัดส่วนการใช้งานพอๆกัน ขณะที่ห้องนอนเราใช้เวลาในการนอนหลับไป ในขณะที่ Living room เป็นพื้นที่ที่เราใช้พักผ่อนและต้อนรับแขก ดังนั้นจึงค่อนข้างให้ความสำคัญกับฟังก์ชั่นนี้มากเป็นพิเศษค่ะ

โดยแบบห้องพักที่น่าสนใจของที่นี่คือห้องแบบ 1 Bedroom และ  2 Bedroom(Vertical Interlock concept) เดี๋ยวเราจะพาไปดูทีละห้องกันนะคะ

00

ผังห้องแบบ 1 Bedroom ขนาด 48.5 ตารางเมตร ฝ้าเพดานสูง 3 เมตร ห้องนี้เป็นห้อง 1 Bedroom ขนาดกลางๆค่อนไปทางใหญ่ เหมาะกับการอยู่อาศัย 2 คน การจัดฟังก์ชั่นในห้องนี้จะเป็นการวางส่วน Service อย่างห้องครัว ห้องน้ำและพื้นที่ Walk-in Closet มาไว้ด้านในอาคาร ส่วนโซนพักผ่อนอย่างห้องนั่งเล่น ห้องนอนและส่วนระเบียงจะอยู่ด้านหน้า ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ในการใช้ชีวิตจะได้แสงสว่างจากธรรมชาติและเห็นวิวภายนอกได้ โดนเมื่อเดินเข้ามาในห้องจะพบกับห้องครัวที่เป็น Pantry เล็กๆ ถัดมาเป็นห้องน้ำและ Walk-in Closet ค่อนข้างเป็นสัดส่วน ติดกันเป็นห้องรับแขกที่แยกจากห้องนอนด้วยฉากกั้นบานเลื่อนสามตอน ดังนั้นพื้นที่นี้จึงสามารถเปิด-ปิด ยืดหยุ่นการใช้งานได้

แน่นอนว่าหากมองเข้าไปในผังห้องแล้ว สิ่งที่สะดุดตาที่สุดคือการวางฟังก์ชั่นให้มีห้องน้ำอยู่ตรงกลาง แนวคิดการออกแบบจะเป็นอย่างไรนั้น เข้าไปดูในห้องกันค่ะ

Ashton Silom 69

อย่างที่บอกไปข้างต้นก็คือจุดเด่นสำหรับห้องนี้คือการเอาส่วน Service อย่างห้องน้ำมาไว้ตรงกลาง แบบสามารถวิ่งเล่นรอบห้องน้ำได้เลย สำหรับคอนโดราคาสองแสนกว่าบาทต่อตารางเมตรนี้ถือว่าเราเสียเงินค่าพื้นที่เดินเล่นรอบห้องน้ำไปไม่น้อยเลยนะคะ แน่นอนว่าผู้ออกแบบคงคิดเยอะกว่านั้นไม่ได้ยอมให้เสียพื้นที่ไปเปล่าๆแน่  โดยพื้นที่ตรงนี้เกิดจากการที่ผู้ออกแบบมองการใช้งานพื้นที่ตามความจริงว่า คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในคอนโดมักจะใช้เวลาในห้องน้ำมากกว่าห้องครัวอีก(บางคนแทบไม่ได้ใช้ครัวเลยด้วยซ้ำ) ดังนั้นจะดีไหมหากทำให้ห้องน้ำเป็นส่วนหนึ่งของ Living Space สามารถมองเห็นและเชื่อมถึงกันได้ โดยส่วนของห้องน้ำที่มองเห็นได้คือตรงอ่างอาบน้ำที่เป็นฟังก์ชั่นที่สวย ส่วนการจัดการเรื่องการระบายอากาศ ท่อลมจะผ่านเข้าห้องน้ำแล้วดูดอากาศออกไป ห้องนี้จึงไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นห้องน้ำรบกวนค่ะ

ซึ่งภาพด้านบนแสดงให้เห็นผนังของห้องน้ำที่มองจากห้องนอน จะมีลักษณะเป็น Sexy Bathroom เวลาใครอาบน้ำในนี้ก็คงมีหวิวๆกันบ้าง ซึ่งมุมมองจะเปลี่ยนไปก็ต่อเมื่อเรานำผ้าม่านมาติดไว้กันสายตานะคะ มุมมองก็จะทึบกว่านี้ พื้นที่ทางซ้ายมือข้างๆห้องน้ำจะเป็นทางเดินไปยัง Walk-in Closet นั่นเอง

Ashton Silom 20

อีกด้านของห้องน้ำจะเป็นพื้นที่ Walk-in Closet ซึ่งหากใครเคยสังเกตจะพบว่าคอนโดส่วนใหญ่มักจะนำพื้นที่แต่งตัวไปไว้ในห้องนอน แต่ถ้าเราลองเปลี่ยนวิธีคิดว่าถ้าอยากให้ห้องนอนเป็นสัดส่วนมากขึ้น โดยย้ายส่วนแต่งตัวไปไว้ที่อื่น ซึ่งพอวางฟังก์ชั่นห้องน้ำตรงกลาง แล้วให้พื้นที่แต่งตัวมาไว้อีกด้านหนึ่ง พอออกมาจากห้องน้ำก็สามารถแต่งตัวได้เลย พื้นที่ Walk-in Closet ในห้องนี้จึงเป็นสัดส่วนมากขึ้นกว่าคอนโดทั่วไปค่ะ หากเราย้อนกลับไปดูที่ผังห้องดีๆจะเห็นว่าช่วงโถงทางเดินหน้าห้องน้ำโครงการได้จัดวางฟังก์ชั่นให้ส่วน Walk-in Closet นี้สามารถ Built-in ตู้เสื้อผ้าเต็มผนังที่เราสามารถซ่อนฉากบานเลื่อนเพื่อกั้นพื้นที่ได้ ในกรณีที่มีแขกมาหาอยู่ที่ห้องนั่งเล่นเราก็สามารถกั้นบานเลื่อนปิดแล้วแต่งตัวตรงพื้นที่ว่างข้างห้องน้ำจะได้ไม่ต้องเดินผ่านไปแบบโป๊ๆถือเป็นฟังก์ชั่นที่มีความยืดหยุ่นในการใช้พื้นที่ สามารถปรับเปลี่ยนได้ง่ายตามการใช้งานค่ะ

ห้องฉากกั้น

ถัดไปเป็นห้องนั่งเล่นที่เชื่อมต่อกับระเบียงและห้องนอนที่ถูกกั้นด้วยฉากบานเลื่อนสามตอนสามารถเปิด-ปิดได้ เมื่อเราเปิดประตูออกก็จะได้พื้นที่เหมือนห้อง Studio กว้างๆ แต่พอปิดประตูแล้วห้องจะดูแคบขึ้น แต่ก็ได้ประโยชน์ตรงที่หากต้องการใช้งานทั้งห้องนั่งเล่นและห้องนอนในช่วงเวลาเดียวกัน ก็เป็นการแบ่งการใช้งานทั้งสองฟังก์ชั่นไปพร้อมๆกันได้ค่ะ

Ashton Silom 64

พื้นที่ข้างเตียงโครงการทำเป็นผนังกระจก Bay Window ได้ Space ที่เสมือนยื่นออกไปข้างหน้า ช่วยให้ห้องดูโปร่งขึ้นและสร้างพื้นที่ส่วนตัวเล็กๆในห้องได้อย่างฉลาดคิด น่าใช้งาน

Ashton Silom 68

จากห้องนอนสามารถมองออกไปที่ระเบียงได้ โดยระเบียงห้องทุกห้องของโครงการจะเหมือนกันคือไม่มี Compressor แอร์ และไม่มีพื้นที่ให้ต้องติดตั้งด้วย เนื่องจากระบบแอร์ของโครงการใช้ระบบ VRV ซึ่งเป็นระบบแอร์แบบแยกส่วนลักษณะคล้ายๆ Sprite Type แต่จะมีคอยล์ร้อนอยู่ด้านบนอาคารจุดเดียว แล้วส่งท่อลงมาแยกออกไปยังแต่ละห้อง ทำให้ภายในห้องพักแต่ละที่ไม่ต้องเสียพื้นที่วาง Compressor แอร์ ซึ่งโครงการส่วนใหญ่จะคิดรวมกับพื้นที่ขายภายในห้องด้วย จึงเหมือนว่าเราได้พื้นที่นั่งเล่นที่ระเบียงกว้างขึ้นอีกค่ะ

vrv 1

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย 🙂   :

ระบบ VRV (Variable Refrigerant Volume) หรือ ระบบ VRF (Variable Refrigerant Flow) เป็นระบบเครื่องปรับอากาศที่ลักษณะการทำงานที่สามารถเปลี่ยนเเปลงปริมาณสารทำความเย็นตามภาระโหลดของการทำความเย็นเเละจำนวนตัวเครื่องภายในที่ทำการติดตั้ง เป็นระบบเครื่องปรับอากาศที่เหมาะในลักษณะการติดตั้งที่จำกัดด้วยพื้นที่ติดตั้งคอยล์ร้อน (Outdoor unit) เนื่องจากคอยล์ 1 ตัว สามารถติดตั้งคอยล์เย็น (Indoor Unit) ได้หลายตัวเเละหลายชั้น ซึ่งคอยล์เย็นจะเเยกการทำงานโดยอิสระ จึงสามารถควบคุบอุณหภูมิได้เเม่นยำ ดังนั้น เนื่องจากผู้ออกแบบไม่ต้องการให้มี Compressor แอร์อยู่ที่ระเบียงห้อง จึงเลือกใช้แอร์ระบบนี้ เพื่อจะได้เสียพื้นที่ในการวางคอยล์ร้อนแค่ที่เดียวคือด้านบนอาคาร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่รบกวนผู้อยู่อาศัยนั่นเองค่ะ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : airwatertechno.com

โดยรวมการจัดวางฟังก์ชั่นของห้องนี้จะเน้นไปการให้ส่วนพักผ่อนอย่างห้องนอนและห้องนั่งเล่นสามารถมองวิวได้เต็มที่ มีการจัดวางฟังก์ชั่นให้ใช้งานพื้นที่ค่อนข้างยืดหยุ่น เลยเกิด Space แปลกๆอย่างห้องน้ำกลางห้อง ซึ่งบางคนก็ชอบ แต่บางคนก็จะรู้สึกว่าแปลกไปหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เสี่ยงสำหรับโครงการ แต่ก็สร้างมุมมองใหม่ๆให้กับการออกแบบคอนโดได้พอสมควรเลยหละ

ต่อมาเป็นห้อง 2 Bedroom ขนาด 86 ตารางเมตร หรือห้องแบบ Vertical Interlock concept การวางผังเป็นรูปตัว L ทำให้ห้องนี้มีห้องมุมถึง 2 ห้องนั่นคือ ห้องนอนกับห้องนั่งเล่น ความพิเศษของห้องนี้อยู่ตรงที่มีการเล่นระดับพื้น โดยฟังก์ชั่นในส่วน Service ทั้งหมดรวมทั้งห้องนอนทั้งสองห้องจะมี Floor to Celing 2.8 เมตร ในขณะที่ส่วน Living room จะมีความสูง 3.6 เมตร เป็นพื้นที่ที่โปร่งและโอ่โถงมาก การจัดฟังก์ชั่นของห้องนี้จะผลักส่วน Service อย่างห้องน้ำ ห้องครัวมาไว้ด้านในอาคาร ส่วนโซนพักผ่อนอย่างห้องนอนใหญ่ และ Living room จะอยู่ด้านนอกทำให้สามารถเห็นวิวได้เต็มตา

โดยเมื่อเข้าไปในห้องจะเจอ Corridor ทางเดินกว้าง  1 เมตร ที่มีห้องน้ำรวมไว้ให้ทุกคนในห้องใช้ สุดทางจะมีทางแยกไปยังห้อง Master Bedroom ที่มีห้องน้ำและพื้นที่สำหรับ Walk-in Closet ให้ ส่วนห้องนอนเล็กก็มีพื้นที่ให้ Built-in ตู้เสื้อผ้าได้เช่นกันและจากห้องนี้สามารถมองเห็นส่วน Living room ได้ด้วย ส่วนทางแยกอีกทางหนึ่งจะไปสู่ห้องครัวที่โครงการ Built-in มาให้พร้อม Island จากห้องครัวจะมีบันไดเดินลงไปยัง Living room ได้ ซึ่งห้องนี้มีพื้นที่กว้างและโอ่โถง รวมทั้งมีการใช้ผนังกระจกเต็มบานสูง 3.6 เมตร ทำให้สามารถมองวิวได้เต็มที่เลย ตรงกระจกเข้ามุมห้องมีการใช้หน้าต่างบานเลื่อนคู่ที่เลื่อนเข้ามุมกัน ทำให้เวลาเปิดกระจกจะได้พื้นที่ Semi-outdoor ย่อมๆ ช่วยถ่ายเทอากาศได้ดีทีเดียวค่ะ จาก Living room  จะมีประตูออกที่สู่ระเบียงเล็กๆที่ใช้เป็นที่ตากผ้าหรือจัดสวนหย่อมได้นะ

in-3-desktop (1)

ห้อง Vertical Interlock concept เกิดจากความคิดที่ว่า หากเราอยากได้วิวสวยๆเราต้องยืนให้สูง เพื่อให้สิ่งที่อยู่ตรงหน้าเราอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า แล้วเราจะเห็นวิวข้างหน้าได้กว้างมากขึ้น ดังนั้นจึงลองคิดว่า หากทำพื้นที่ลดระดับแล้วเชื่อมต่อพื้นที่ด้วยบันได เพื่อให้เกิดการ Take View ภายในห้องพักจะเป็นอย่างไร จากนั้นจึงมีการพิสูจน์หากต้องมีบันไดต่างระดับภายในห้องจะมีผลต่อการใช้งานหรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้งานผู้สูงอายุ เมื่อลองเดินชึ้น-ลงบันไดแล้ว ผลออกมาว่าสามารถเดินขึ้น-ลงได้ไม่ยากนัก และได้ Space ที่ดีและเพิ่มมุมมองในการ Take View ภายในห้องพักได้มากขึ้น จึงนำมาเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบพื้นที่ห้องต่างๆของห้องนี้

ASHTON-SILOM-VERTICLE-INTERLOCKING-CONCEPTRE (1)

รายละเอียด Detail พิเศษของห้องนี้คือ การใช้แผ่นพื้นต่างระดับมาสลับไขว้กันไปมาในแต่ละชั้น ซึ่งการออกแบบห้อง แบบนี้ทำให้เกิดพื้นที่พิเศษ Stack Floor ที่อยู่ในห้อง Type A แบบ 2 Bedroom โดยในห้องจะมีการเล่นระดับพื้นทำให้เกิด Floor to Celing สูง 2.8 เมตร และ 3.6 เมตรในห้องเดียวกัน สร้างห้องต่างระดับที่มีฝ้าเพดานสูงและกระจกสูงมองวิวได้เต็มๆแบบนี้ค่ะ

interlocking diagram001

การวางผังห้องซ้อนระดับแบบนี้ทำให้รูปด้านของห้องแต่ละห้องเป็นรูปตัว L ห้องที่อยู่ติดกันจึงสามารถ Interlock กันได้และส่งผลให้เกิดรูปด้านอาคารที่เห็นพื้นลดเหลื่อมกันดังภาพโดยห้อวพักจะมีทั้งที่เป็นห้องแบบธรรมดา คือฝ้าเพดานสูง 3.2 เมตร และแบบ Interlocking คือฝ้าเพดานสูง 2.8 และ 3.6 เมตร  ซึ่งในอาคารคอนโดมิเนียมทั่วไปจะมีข้อจำกัดหลายอย่างที่จำเป็นให้ทุกห้องต้องมีระดับพื้นเท่ากัน เพราะจะประหยัดต้นทุนในการก่อสร้างและสามารถวางงานระบบได้ง่าย แต่การสร้างตามรูปแบบ Vertical Interlocking Concept นี้จะต้องมี Detail การออกแบบที่ค่อนข้างละเอียดเนื่องจากต้องให้ห้องทุกห้องมี Space ในแนวตั้งเป็นรูปตัว L เพื่อให้เกิดการ Interlock กันในชั้นต่อชั้นได้อย่างพอดี ซึ่งถือว่าเป็นการออกแบบคอนโดที่มีรายละเอียดน่าสนใจ ไม่ค่อยได้พบเห็นในคอนโดทั่วไปเท่าไหร่นัก

ด้วยความที่ห้องนี้มีการวางผังเป็นรูปตัว L ทำให้ห้องนอนใหญ่ของห้องนี้เป็นห้องมุม สามารถมองเห็นวิวภายนอกเชื่อมต่อกันทั้งสองด้าน

ในขณะที่ Living room ก็เป็นห้องมุมด้วยเช่นกัน โดยห้องนี้ค่อนข้างกว้างสามารถจัดพื้นที่ให้เป็นห้องนั่งเล่น ห้องทำงาน และพื้นที่รับประทานอาหารได้ โดยห้องนี้มีจุดเด่นอีกอย่างตรงที่มีหน้าต่างเป็นบานกระจกเต็มบานตั้งแต่พื้นถึงฝ้าเพดาน ทั้งด้านหน้าและด้านข้างแบบเข้ามุมกัน..

ซึ่งตรงหน้าต่างนี้สามารถเปิดออกมาได้เป็นหน้าต่างบานเลื่อนคู่เข้ามุม ที่สามารถปิด-เปิดเพื่อปรับให้เป็นพื้นที่ Semi-outdoor ได้ โดยจะมีราวกันตกกระจกนิรภัยสูง 1.15 เมตร ป้องกันอุบัติเหตุในขณะที่ยังได้มุมมองโล่งสายตาอยู่ ซึ่งการทำหน้าต่างเข้ามุมแบบนี้เป็นการออกแบบที่ไม่ค่อยเห็นในตึกสูงเนื่องจากผลกระทบทางแรงลมที่อาจเกิดขึ้น ผู้ออกแบบแก้ปัญหาเรื่องลมที่อาจมากระทำโดยเลือกใช้วัสดุเป็นกระจกลามิเนตที่มีแผ่นฟิล์มตรงกลาง เวลาแตกจึงจะติดกับแผ่นฟิล์มไม่กระจายตัวออก ค่อนข้างปลอดภัยกับผู้ใช้งาน ส่วนตัวเฟรมเป็นอลูมิเนียมค่อนข้างหนา ทำสี powder coat และทำผิวพิเศษ sahara effect จากเหล่านี้จึงช่วย Safety ผู้อยู่อาศัยและรองรับกับ Design ได้ดีค่ะ

A49Mill_Bird-eye-view-night_04FINAL
ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดและกระบวนการออกแบบกว่าจะมาเป็น Ashton Silom ที่เกิดจากความร่วมมือของหลายๆฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเจ้าของโครงการ, สถาปนิก, Landscape หรือ Interior ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าดีไซเนอร์ผู้ออกแบบมีขั้นตอนและวิธีที่หลากหลาย ทั้งการศึกษาหาข้อมูล, การทดลอง, การเริ่มจากปัญหาทีละนิด จนออกมาเป็นแนวคิดในการแก้ไขต่างๆ มีการปรับเปลี่ยน พลิกแพลงหลายครั้งกว่าจะออกมาเป็น Ashton Silom ในวันนี้ ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งที่สร้างสีสันให้กับวงการอสังหาฯไม่น้อยเลยใช่ไหมคะ เราก็เป็นคนหนึ่งในอีกหลายๆคนที่อยากจะเห็นอะไรใหม่ๆแปลกๆ ที่จะมาเป็นสีสันให้กับวงการแบบนี้เรื่อยๆ ถ้ามีโครงการไหนที่น่าสนใจอีก ทาง Think of Living จะไม่พลาดนำความรู้ดีๆแบบนี้มาแบ่งปันให้ท่านผู้อ่านอีกแน่นอนค่ะ 🙂