ภาพรวมตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปี 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆไม่เอื้ออำนวยต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยและการก่อหนี้ระยะยาวของผู้บริโภคปัญหาหนี้ครัวเรือนแม้ลดลงได้แต่ก็ยังสะสมอยู่ในระดับสูงซึ่งเป็นข้อจำกัดในการก่อภาระหนี้ใหม่และการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันต่างๆเพื่อควบคุมคุณภาพหนี้

นอกจากนี้ด้านกลยุทธ์การตลาดและการนำเสนอเคมเปญของสถาบันการเงินในปีที่ผ่านมาพบว่าชะลอความร้อนแรงลงหากเทียบกับช่วงหลายปีก่อนหน้าทั้งนี้เป็นผลจากความเป็นกังวลต่อระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่มีแนวโน้มมากขึ้นจนทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อ

สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไป คงค้าง ทั่วประเทศ 2559

สินเชื่อปล่อยใหม่ทั้งระบบในปี 2559 มีมูลค่าทั้งสิ้น 580,050 ลบ. ขยายตัว 1.4% จากปี 2558 โดยเป็น

  • สินเชื่อของธนาคารออมสิน 74,362 ลบ. (ขยายตัว 14.8%)
  • สินเชื่อของ ธอส. 168,136 ลบ. (ขยายตัว 6.8%)
  • สินเชื่อของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 329,928 ลบ. (หดตัว -2.6%)

สินเชื่อที่อยู่อาศัย บุคคลทั่วไป ปล่อยใหม่ ทั่วประเทศ 2559

สินเชื่อคงค้างทั้งระบบสิ้นปี 2559 มีมูลค่าทั้งสิน 3,233,485 ลบ. ขยายตัว 7.4% จากปี 2558 โดยเป็น

  • สินเชื่อคงค้างของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 1,974,021 ลบ. (ขยายตัว 6.9%)
  • สินเชื่อคงค้างของธอส. 932,703 ลบ. (ขยายตัว 8.6%)
  • สินเชื่อของธนาคารออมสิน 332,265 ลบ. (ขยายตัว 7.8%)

แนวโน้มตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ปี 2560

คาดว่าจะมีปัจจัยบวก ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในปี 2560 และการลงทุนภาครัฐในการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งและรถไฟฟ้าสายสำคัญต่างๆอีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษแบบคลัสเตอร์และแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกรวมถึงมาตการส่งเสริมการพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุโดยรัฐบาลมุ่งผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมซึ่งจะช่วยสร้างตลาดใหม่ทดแทนยอดขายที่ชะลอตัวลงขณะที่ความต้องการที่อยู่อาศัยแท้จริงยังมีอยู่ในระบบต่างจากความต้องการซื้อเพื่อการลงทุนที่ลดลงอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ธอส. ได้ประมาณการสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ในปี 2560 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 590,000-617,000 ลบ. หรือมีการขยายตัวจากปีที่แล้ว ประมาณ 1-5% สำหรับยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในระดับที่ไม่สูงนัก ทั้งนี้คาดการณ์ในปีะ 2560 สินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้าง น่าจะเติบโตได้ดีในอัตราใกล้เคียงปี 2559 ที่ประมาณ 3-4% (สินเชื่อคงค้างทั้งระบบอยู่ที่ 3,400,000-3,500,000 ลบ.)

ด้านภาพรวมการแข่งขันตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2560 คาดว่ายังคงเข้มข้น เพราะตลาดไม่ขยายตัว ขณะที่กำลังซื้อและความสามารถในการชำระหนี้ของผู้บริโภคก็ค่อนข้างจำกัด ประกอบกับการเข้าสู่ยุค Digital Banking ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบอย่างมากต่อธนาคารในระบบอย่างไรก็ตามในปีนี้น่าจะไม่มีภาพของการแข่งขันในอัตราดอกเบี้ยเนื่องจากทิศทางดอกเบี้ยในภาพรวมกำลังเปลี่ยนไปสู่ช่วงขาขึ้น

ที่มา: บทวิเคราะห์สถานการณ์สินเชื่อ จากธนาคารอาคารสงเคราะห์