สิงห์ เอสเตท ร่วมกับ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรฯ ตอบรับนโยบายประชารัฐ นำร่องฟื้นฟูอ่าวมาหยา ตามแผนปะการังแห่งชาติ พร้อมผลักดันเกาะพีพีสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางทะเลสำคัญระดับโลก

กระบี่ (16 พฤษภาคม 2561) – สิงห์ เอสเตท เดินหน้าตอกย้ำกลยุทธ์สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และดำเนินธุรกิจควบคู่กับการสร้างสมดุลการอยู่ร่วมกันของชุมชนและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินตามนโยบายประชารัฐ ภายในแนวทางการฟื้นฟูอ่าวมาหยาตามแผนยุทธศาสตร์ปะการังแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมเดินหน้าส่งต่อแนวคิดการอนุรักษ์ผ่านการสร้างศูนย์เรียนรู้ทางทะเล (Marine Discovery Centre : MDC) เพื่อชุมชนและนักท่องเที่ยวบนเกาะพีพี ส่งเสริมให้เกาะพีพีเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางทะเลที่สำคัญของโลก

นายนริศ เชยกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ “S” เปิดเผยว่า สิงห์ เอสเตท มีปรัชญาในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างคุณประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกกลุ่ม โดยเราได้เน้นความสำคัญเรื่องการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainable Growth) ที่ประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก คือ การลดผลกระทบและการสร้างคุณค่า ด้วยนโยบายการสร้างคุณค่าและรักษาสมดุล (Harmonious Co-existence) ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้จัดทำและร่วมสนับสนุนโครงการประชารัฐเพื่ออุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ในการป้องกันและฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ “พีพีกำลังจะเปลี่ยนไป” เป็นโครงการสนับสนุนพีพีโมเดลกับ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โดยได้มอบเรือตรวจการแก่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เพื่อใช้งานในเกาะยูง และมอบทุ่นลอยเพื่อเป็นจุดผูกเรือบริเวณทะเลแหวก รวมถึงโครงการ “โตไวไว” ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งสร้างความรู้แก่ชุมชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพื่อลดผลกระทบจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และรักษาสมดุลความหลากหลายทางชีวภาพให้กับอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี

โดยในปีนี้บริษัทฯ ได้สนับสนุนภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดทำ “โครงการติดตามและฟื้นฟูปะการังในพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศจากโดรน และการปลูกปะการังด้วยวิธี Coral Propagation บริเวณอ่าวมาหยา” เพื่อใช้ติดตามการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ปะการังแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนั้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ นักท่องเที่ยว เยาวชน ชุมชน และผู้ประกอบการ ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ สิงห์ เอสเตท จึงได้สร้าง ศูนย์เรียนรู้ทางทะเล  (Marine Discovery Centre : MDC) ขึ้นในบริเวณโรงแรมพีพีไอส์แลนด์ วิลเลจ บีช รีสอร์ท เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับ Marine Biodiversity ของอุทยานฯ โดยเปิดให้เข้าศึกษาได้ทุกวัน ซึ่งตัวศูนย์แบ่งออกเป็น 4 โซน ได้แก่ ห้องปลาฉลาม ห้องเรียนรู้เกี่ยวกับเกาะพีพี ห้องปลาการ์ตูน และห้องออดิทอเรียม ถือเป็นโครงการนำร่องที่เราพยายามสร้างการมีส่วนร่วมและถ่ายทอดแนวคิดการอนุรักษ์ เพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทะเล และร่วมมือกันรักษาพีพีให้เป็นเกาะที่มีความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมทางทะเลของโลก นอกจากนั้นศูนย์การเรียนรู้ทางทะเลแห่งนี้จะเป็นหนึ่งในต้นแบบของการสร้างศูนย์การเรียนรู้ในด้านต่างๆ ในโครงการอื่นๆ ของสิงห์ เอสเตท ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในฐานะนักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อมที่ร่วมผลักดันโครงการ “พีพีโมเดล” ได้เห็นความสำเร็จของการร่วมกันของภาคเอกชน และภาครัฐ ในการปลูกปะการัง เพื่อฟื้นฟูแนวปะการังบริเวณเกาะยูงเป็นเวลาต่อเนื่อง 2 ปี เป็นผลทำให้สภาพแนวปะการังบริเวณเกาะยูงฟื้นฟูเป็นอย่างมาก นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของโครงการ “พีพีโมเดล” ต้นแบบของแผนปะการังแห่งชาติ ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีเป้าหมายลดพื้นที่ความเสียหายของปะการังให้เหลือน้อยกว่าร้อยละ 50 ภายใน 5 ปี และน้อยกว่าร้อยละ 20 ภายใน 20 ปี เพื่ออนุรักษ์แนวปะการังของไทยที่สามารถสร้างมูลค่าด้านการท่องเที่ยวมากกว่าปีละ 83,000 ล้านบาท ในปีนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับภาคเอกชนจัดทำโครงการสำรวจและติดตามพื้นที่แนวปะการังบริเวณเกาะยูงและพื้นที่ในหมู่เกาะพีพี โดยในช่วงแรกจะศึกษาข้อมูลจากภาพถ่ายทางอากาศในอดีตจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) บริเวณเกาะยูงย้อนหลัง 4 ปี จากนั้นจะเข้าพื้นที่เพื่อถ่ายภาพทางอากาศจากโดรนทุกๆ 4 เดือน เป็นเวลา 1 ปี เพื่อวัดการเจริญเติบโตของแนวปะการัง และนำภาพถ่ายทางอากาศ (Aerial Photo) มาวิเคราะห์และเปรียบเทียบ ซึ่งจะช่วยให้การติดตามผลการเติบโตของปะการังสะดวกรวดเร็วและได้พื้นที่ครอบคลุม นอกจากนั้นยังร่วมฟื้นฟูแนวปะการังด้วยวิธี Coral Propagation ในพื้นที่อ่าวมาหยา และติดตามการเจริญเติบโตเป็นระยะด้วยภาพถ่ายทางอากาศจากโดรนทุกๆ 1 เดือน ในช่วงกิจกรรมการปลูก และติดตามผลการเจริญเติบโตด้วยภาพถ่ายทางอากาศจากโดรนทุกๆ 4 เดือน เป็นเวลา 1 ปี  นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ภาคเอกชนอย่าง บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) มีเจตนารมย์มุ่งมั่นให้ความสำคัญ และให้การสนับสนุนเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างจริงจัง จากการใช้พื้นที่ภายในโรงแรมสร้างศูนย์การเรียนรู้ทางทะเล เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชน คนในท้องถิ่น นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป ไม่เพียงเฉพาะแขกที่มาพักภายในโรงแรม สามารถเข้าชม เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นายศรายุทธ ปาโส นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี กล่าวว่า ขณะนี้การจัดการพื้นที่บริเวณอ่าวมาหยาที่ได้รับความเสียหาย ด้วยการปิดอ่าวมาหยา เพื่อฟื้นฟูปะการังโดยรอบ จะเริ่มตั้งแต่ 1 มิถุนายน ถึง 30 กันยายนนี้ โดยห้ามทำกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวโดยเด็ดขาด ยกเว้นการวิจัยศึกษาทางวิชาการ และภายหลังสิ้นสุดการปิดอ่าวจะมีการควบคุม จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวให้เหลือเพียงวันละ 2,000 คนต่อวัน จากเดิมมีมากถึง 4,000-5,000 คนต่อวัน รวมทั้งสั่งห้ามเรือแล่นผ่านแนวปะการังบริเวณหน้าหาด ในระหว่างปิดสามารถนำเรือเข้ามาลอยลำนอกบริเวณที่กั้นเขตไว้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ดูอ่าวมาหยาจากบนเรือได้ ทางอุทยานฯ มุ่งหวังให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มเห็นความสำคัญเรื่องนี้ และควรให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวก่อนเข้าชมอุทยานฯ เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังรู้สึกดีใจที่ยังมีภาคเอกชนที่เห็นความสำคัญเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ด้วยการสร้างศูนย์เรียนรู้ทางทะเล เพื่อสร้างองค์ความรู้และปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์ธรรมชาติ ทางอุทยานฯ มีความยินดี พร้อมให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมกับภาคเอกชน รวมถึงชักชวนคนในชุมชนให้มีส่วนร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกัน เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นแหล่งศึกษาวิจัย ศึกษาธรรมชาติ นันทนาการ และการท่องเที่ยวอยู่คู่คนไทยตลอดไป

นายนริศ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development)  ของสิงห์ เอสเตท ในปีนี้ นอกจากการสร้างศูนย์เรียนรู้ทางทะเล (Marine Discovery Centre : MDC) บนเกาะพีพี การร่วมสนับสนุนการปลูกปะการัง และการร่วมติดตามและฟื้นฟูปะการังโดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศจากโดรนบริเวณอ่าวมาหยา เรายังมีโครงการที่จะจัดทำต่อไป คือ กิจกรรมรณรงค์การจัดการของเสีย (Waste Management) ที่มุ่งเน้นสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจในปัญหาและการจัดการอย่างถูกวิธี สิ่งสำคัญที่สิงห์ เอสเตท เน้นย้ำอยู่เสมอ คือ การให้องค์ความรู้ (Body of Knowledge) ตั้งแต่เริ่มต้นในทุกโครงการ โดยเราดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ เน้นการสร้างสมดุลการอยู่ร่วมกันของชุมชนและสิ่งแวดล้อม และส่งมอบคุณค่าควบคู่ไปกับสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในทุกสถานที่ที่บริษัทฯ เข้าไปพัฒนาโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการในประเทศไทยและโครงการในต่างประเทศ