ธงชัย บุศราพันธ์ NOBLE (9)

Mini-Series บทสัมภาษณ์ผู้บริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ตอนที่ 2

นี่เป็นครั้งแรกที่ผมและทางทีม Think of Living ได้สัมภาษณ์ผู้บริหารของ Noble Development อย่าง คุณธงชัย บุศราพันธ์ ผู้ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการหรือ President ในแง่มุมต่างๆเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดพันล้าน กับแบรนด์ที่จุดประกายบ้านและคอนโดในรูปแบบ Modern Style ขึ้นในวงการอสังหาริมทรัพย์ของเมืองไทย

“บ้านเดี่ยวผมเคยไปทำอยู่ที่วัชรพลพร้อมๆกับที่ผมทำคอนโดที่ทองหล่อ ตอนนั้นขายบ้านหลังหนึ่ง 5 ล้านบาท คอนโดก็ขาย 5 ล้านบาท บ้านหลังนั้นปัจจุบันราคาคงประมาณ 5.5 ล้าน ขึ้นมา 10% แต่คอนโดขึ้นมา 10 ล้าน ยูนิตเดียวกันนะ”

หลังจากที่ได้แนะนำตัวคุยกับคุณธงชัยนิดหน่อย สั่งชามะนาวมานั่งจิบเล็กน้อยใต้อาคารยศวดี เราก็ได้เริ่มการสัมภาษณ์ในบรรยากาศสบายๆ กับคุณธงชัยและทีมงานโนเบิลทั้งสองท่านนะครับ

Think of Living: อยากให้คุณธงชัยเล่าสั้นๆนะครับ ว่าทาง Noble Development มีหลักการในการพัฒนาสินค้าอย่างไร?

คุณธงชัย: หลักการของเรา เบสิกมากเลยคือ ตั้งแต่สมัยที่ผมเริ่มทำเมื่อ 20 ปีที่แล้วเนี่ย เราก็พยายามมองหาจุดในการตลาดที่เราทำแล้ว Happy กับตัวเอง เหมือนกับทำของมาขายตัวเอง สมัยนั้นเนี่ย Developer ส่วนใหญ่เค้าผลิตโปรเจคออกมา ก็จะไม่ค่อยมีความแตกต่างกัน เหมือนๆกันไปหมด ถ้าเป็นบ้านสมัยหนึ่งคุณอาจจะเคยเห็น California หรือ Spanish Style ที่เป็นบ้านขาวหลังคาแดง มันก็จะมีอยู่แค่นั้น

ตอนที่ผมเรียนจบผมก็เข้าไป Survey Market ตอนนั้นยังไม่มี Noble เลย ไปดูว่าเค้าทำอะไรกัน ดูเสร็จก็รู้สึกว่าถ้าตอนนั้นเราทำเหมือนเค้า เราก็เป็น Another คนเดินตามซึ่งมันไม่มีจุดแข็งของการตลาดที่จะทำให้ตัวเองเอาชนะใจผู้บริโภคได้ ก็เลยกลับมามองว่าแทนที่จะทำเหมือนสิ่งที่เค้าทำๆกันมาก็มาดูว่าตัวเราชอบอะไรดีกว่า แล้วทำสิ่งที่เราชอบ โดยส่วนตัวก็เป็นคนชอบงานสถาปัตยกรรม Modernism อยู่แล้ว ก็หาคนที่ทำงานพวกนี้มา แล้วก็เริ่มโปรเจค ซึ่งโปรเจคส่วนใหญ่ของ Noble จึงออกมา Look ค่อนข้างเป็น Modern Design ตั้งแต่สมัยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว พอทำแล้วมันประสบความสำเร็จมันก็มีคนชอบ ก็เลย Continue มาเรื่อยๆจนถึงทุกวันนี้

ผมคิดว่าส่วนหนึ่งมันก็เป็น Market ที่สมัยก่อนเป็น Niche Market สมัยก่อนไม่มีใครทำมีเราทำอยู่คนเดียว แต่ด้วยวันนี้บ้านเป็นสินค้าที่คุณซื้อหนหนึ่ง คุณอยู่กับมันสัก 20 ปี คนที่ซื้อสมัยที่ผมเริ่มก็อาจจะเป็นวัยสัก 30-40 แต่พอผมขึ้นเป็น 40 กว่า ก็มีคนรุ่นใหม่ขึ้นมาอีก คนรุ่นใหม่ๆก็ไม่ได้ไปดูบ้านแบบเดิม บ้านขาวหลังคาแดงก็คงไม่มีคนเอาละ เลยเกิดปรากฎการณ์ที่ว่า Niche Market มันขยายตัว ค่อนข้างที่จะเป็น Trend ที่ Market ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งคู่แข่งขันผม ยกตัวอย่าง Land & Houses แบบนี้ก็ทำ Modern Design ทุกคนพยายามตีความหมายของ Modern ในแนวของตัวเอง ว่าไอ้นี่คือ Modern นี่คือ Design นี่คือ Differentiate, Lifestyle ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องของการตลาดที่ Developer แต่ละรายเลือก ว่าตัวเองจะไปอยู่ใน Corner ไหน แต่สำหรับผม (Noble) คิดว่าการเป็นตัวตนที่แท้จริง เราชอบอย่างนี้จริงๆแล้วทำอย่างนี้จริงๆ มันก็จะไม่เสแสร้ง งานของเราก็จะออกมาใน Line ของจริงของแท้

เวลาคนอื่นดู Noble อาจจะบอกว่ามันไม่เห็นมีอะไรเลย Design แต่ถ้าเข้าไปดูรายละเอียดจริงๆจะเข้าถึง Simplicity ในนั้นที่อำนวยให้เกิด Function หรือ Design ที่มันดูงาม ที่ไม่ว่าเวลาผ่านไปหลายๆสิบปีมันก็ยังโอเคอยู่ ผมคิดว่าจุดหลักที่เราพยายามทำคือ ไม่ใช่ความงามฉาบฉวย แต่จะต้องอยู่กับระยะเวลาด้วย

Think of Living: ฟังคร่าวๆจบแล้วก็อยากจะถามว่า Noble จะพัฒนาไปทางไหนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า  ปัจจุบันคอนโดเล็กลง ในเรื่อง Trend ของการดีไซน์ Function ของห้อง คิดว่าจะพัฒนา Product Design ไปอย่างไรครับ

คุณธงชัย: ผมมองดูว่า Theme หลักจะยังคงเป็น Modern Design อยู่สำหรับของ Noble ถ้าเกิดเราดูเป็นยุคเนี่ย อาจจะย้อนไปถึง 1950 – 1960 สมัยที่อเมริกาหรือยุโรปที่เริ่มมีวัสดุเช่นเหล็ก กระจก หรืออะไรต่างๆนานาที่เอามาประกอบรวมตัวกันแล้วเกิดสถาปัตยกรรมอันใหม่ ผมเป็นคนชอบของพวกนั้น แล้วก็ยังรู้สึกว่าถ้าวันนี้เราเอามาเปิดหนังสือดู งานดีไซน์ของ ดีไซน์เนอร์คุณเห็นแล้วคุณก็จะตกใจว่านี่ดีไซน์ตั้งแต่ปี 1930 – 1940 ก็ยังมีเลย 1960 ก็ยังอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าในแกนหลักเราจะยังทำให้มีสิ่งนี้อยู่ รูปลักษณ์เรียบง่ายและการที่ดูเป็นสไตล์ Modern ยังอยู่

ถ้าเจาะไปถึง Functionality ของสินค้าเองก็มีหลายๆเรื่องเข้ามากระทบ เช่น วันก่อนที่อธิบายไปว่าคอนโดมันเล็กลง เดิมที่ที่เคยทำเมื่อสิบปีที่แล้วมัน 70 ตารางเมตร ปัจจุบันกดลงมาเหลือ 25 ตารางเมตรแล้ว สาเหตุที่มันเล็กลงก็เห็นง่ายๆชัดๆเลยคือกำลังซื้อของคนที่ไม่ได้โตเร็วเท่ากับเรื่องของราคาที่ราคาก่อสร้าง เพราะฉะนั้นเมื่อมันมี Mismatch สถาปนิกและเจ้าของโครงการก็ต้องทำงานหนักขึ้น ในการที่จะทำให้ห้องที่ขนาดเล็กลงจะมีการใช้สอยได้เหมือนเดิม หรือใกล้เคียงของเดิมที่สุด

ยกตัวอย่าง โครงการ Noble Revolve เราก็มาคิดกันว่าต้องขจัดพื้นที่ที่ไม่จำเป็นทิ้งให้หมด เราเลยพูดถึงพื้นที่ที่มีการ Overlap ใน Area เดียวกันมาใช้ อะไรที่ไม่ได้ใช้ในเวลาเดียวกัน แต่มาจัดระบบเสียใหม่ เช่นห้องนอนหรือห้องนั่งเล่น เป็นไปได้ไหมว่าจะเอามารวมตัวกันเสีย นี่เป็นสิ่งที่เรา Explore ในโครงการนี้ ซึ่งตัวผมเองก็ค่อนข้าง Happy กับผลลัพธ์ เมื่อไปดูของจริง เมื่อห้องตัวอย่างเสร็จแล้วก็รู้สึกว่ามันไม่เหมือนกับห้อง 25 ตารางเมตรที่ Rigid และถูก Fix อยู่อย่างนั้น แต่ของเรามีโอกาสที่จะรับแขก 5-6 คนในห้องเนี่ยรับได้ แต่ถ้าห้องเหมือนเดิม เดินเข้าไป 3 คนก็ชักไม่ไหวแล้ว หน้าแข้งชนกันแล้ว นี่คือสิ่งที่ถ้าเราลองและประสบความสำเร็จ ณ จุดหนึ่ง เราก็คงจะขยายตรงนี้ต่อ

Think of Living: แล้วในเรื่องของ Location ละครับ?

คุณธงชัย: เรื่องของ Location สำหรับ Noble เองเรา Restrict อยู่ค่อนข้างเยอะในเรื่องที่เราทำ ทำเลที่เราคิดว่าโดนที่สุดใน Target Group ของเรา จากการ Research มา เราพบว่าลูกค้าของเราไม่ไปไกล อาจจะเป็นทำเลแค่ BTS สถานีซอยอารีย์จนกระทั่งถึง BTS ซอยเอกมัยเท่านั้นเอง เราไปได้แค่นี้ เพราะมีสาเหตุของมันอยู่ เพราะมีตลาดเช่ามารองรับ มีเรื่องของสภาพแวดล้อมของทำเลมารองรับ แต่ถ้ามองไกลๆไปอีก 2-3 ปี ก็ไม่สามารถจะจำกัดตัวเองอยู่เท่านี้แล้ว ก็ต้องมองไปที่อื่นๆที่มันไกลกว่าเดิม ตามเมืองที่เติบโตขึ้น แต่ตรงนี้ยังค่อนข้าง Sensitive อยู่ ถ้าเราไปเร็วเกินไป ก็จะเกิดปัญหาอีกแบบที่ลูกค้าเราตามไม่ทัน

ผมเคยคุยกับคุณ ภานุ อิงคะทัต ที่ทำ Greyhound ตลกมากเลย เขาขายเสื้อได้แค่ Central ลาดพร้าวเท่านั้นเอง ไป Future Park รังสิตอะไรพวกนี้ไม่ได้นะ … Noble ก็คล้ายๆกัน คือมันมี Lifestyle ของลูกค้าเราที่ขยายตัวถึงจุดๆหนึ่งแล้วไม่ไปต่อ

Think of Living: คุณธงชัยครับ ผมขอยกตัวอย่างแสนสิริที่เค้าแตก The Base กับ dcondo เป็นแบรนด์ย่อย ทำตลาดอีกตลาดหนึ่ง ทาง Noble มีโอกาสที่จะทำในเวลาสั้นๆไหม

คุณธงชัย: มันก็เป็น Format หนึ่งที่สามารถ Explore ได้ ไม่ได้บอกหรือผิด แต่เพียงแต่เหมาะหรือไม่เหมาะ แน่นอนถ้าเกิดจะทำก็คงใช้ยี่ห้อ Noble เหมือนเดิมไม่ได้ เหมือนกับที่คุณเปิดบริษัทขึ้นมาอีก 2 บริษัท แล้วก็รันอีก 2 แบรนด์ ผมก็ต้องยอมรับตรงๆว่าไม่ใช่เป็นคนที่มีความสามารถขนาดนั้น คือผมก็รู้สึกว่าผมมีความชำนาญอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็น และทำอย่างนี้เป็นก็เลยทำแบบนี้ แต่ถ้าเกิดผมไปเจอคนมาร่วมงานกับผม ทำเป็นเหมือนกัน ก็ไม่แน่อาจจะเปิดต่อไปอีกอันหนึ่งก็ได้ มันก็เป็น Possibility ที่เป็นไปได้ เพราะเบสิกหลักของเรื่องอสังหาริมทรัพย์เรามีอยู่แล้ว ความรู้พื้นฐานมี เพียงแต่ว่าความรู้เฉพาะทางในสินค้านั้นๆ คือสิ่งที่เราต้องไปเพิ่มเอา ซึ่งก็อยู่ในวิสัยที่เราทดลองได้

Think of Living: อย่างนั้นคือ Core Concept ของ Noble ยังเป็นเรื่อง Modernism Design เรื่องทำเลที่อยู่ใน …

คุณธงชัย: ใจกลางเมืองแล้วก็การออกแบบยูนิตให้มี Variability มากขึ้น

Think of Living: หน้าตาลูกค้าตั้งแต่ Noble ตัวแรก ยกตัวอย่างเช่น Light จนไปถึงตอนนี้ เปลี่ยนไปไหมครับ

คุณธงชัย: ไม่ค่อยเปลี่ยนเท่าไรนะ ยังคงเป็นรูปลักษณ์เหมือนเดิม แต่เป็นคนใหม่ๆที่เข้ามามากขึ้นมากกว่า ผมคิดว่า Psychology ของ Target Group ยังคงเหมือนกัน คือมองหาอะไรคล้ายๆกัน เพียงแต่ว่าไม่ได้เป็นคนเดิมเท่านั้นเอง เพราะว่าคอนโดไม่ใช่สิ่งที่ซื้อบ่อยๆ

Think of Living: ประมาณว่ากลุ่มลูกค้าของ Noble กลุ่มนี้ขยายตัวขึ้นมา?

คุณธงชัย: มันขยายตัวขึ้นมา ผมเคยเปรียบเทียบอย่าง Bakery Music ตอนแรกๆไม่มีใครฟังเพลงแนวนี้ มันเป็นไปไม่ได้ ตลาดมีอยู่นิดเดียว ทำไปทำมามันก็มีคนฟัง เกิด Indy ค่ายอะไรต่างๆนานามากมาย มันเป็น Taste ของคนที่ในสมัยหนึ่งๆมันจะเปลี่ยนไปทีละ 10 ปีๆ ผมคิดว่าเราอาจจะเร็วเกินไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่วันนี้มันเป็นเวลาของเราแล้ว และก็หลังจากนี้ไปก็ควรจะเป็นเวลาของเราอีกสักพักใหญ่ๆ หลังจากนั้นเราคงจะต้องหาจุดยืนใหม่อีกทีหนึ่ง

Think of Living: ปีนี้ Noble พึ่งจะเริ่มเปิดโครงการใหม่เป็นโครงการแรก คือ Noble Revolve คิดว่าภายในปลายปีนี้ต้นปีหน้าจะมีอะไรไหม

คุณธงชัย: คงมีเพิ่ม แต่ช่วงนี้ต้องบอกตรงๆว่าตลาดมันไม่ได้เอื้ออำนวยเหมือนสมัย 2-3 ปีที่แล้วนะ เราเองก็ระวัง ณ จุดหนึ่งเหมือนกัน ถ้า Noble จะทำ ต้องมั่นใจสูง ถ้ายังสงสัยก็ไม่ค่อยอยากจะทำเท่าไร เราเรียนมาจากบทเรียนใน Cycle ของธุรกิจนี้มาหลายหนแล้ว แล้วเราก็รู้ว่า ธุรกิจนี้มีขึ้นมีลง แล้วค่อนข้างรุนแรง ถ้าเกิดเราไปในทำเลที่เราไม่มั่นใจแล้วเราขยายตัวไปเยอะๆ ถึงเวลาถ้าเกิดมีปัญหาขึ้นมามันแก้ลำบาก แต่ถ้าเราขยายตัวในระดับที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ถ้าเกิดมีปัญหา ขนาดของบริษัทจะใหญ่พอที่จะแก้ปัญหาตรงนั้นได้

Think of Living: เมื่อครู่พูดถึงเรื่องเอกมัย-อารีย์ ใช่ไหมครับ คิดว่าทำเลเส้น MRT ทาง Noble จะตีกรอบอยู่แถวๆไหนบ้างครับ

คุณธงชัย: MRT เนี่ยเท่าที่เราดูยังไม่ได้ไป จะมีโครงการแรกคือที่ Noble รัชดานะครับ ซึ่งก็ยังดูเวลาที่เหมาะสมอยู่ ผมคิดว่าตอนแรกๆของเส้น MRT มันดูต่างจากสุขุมวิทชัดเจน ความต่างอยู่ที่ตลาดเช่า บังเอิญเส้น BTS เป็นเส้นที่วิ่งเข้าไปใจกลางสุขุมวิท เป็นแหล่งเดิมที่มีทั้งญี่ปุ่นและฝรั่งอยู่ ลูกค้าที่ซื้อคอนโดเราจำนวนหนึ่งเป็นผู้ที่ซื้อเพื่อปล่อยเช่า เพราะฉะนั้นเส้น BTS มัน Serve Perfectly สำหรับตลาดพวกนั้น เราก็เลยหยุดอยู่ที่ตลาดสุขุมวิทถึงเพลินจิตเป็นถิ่นหลักอยู่แล้ว บริเวณอารีย์เรามาจุดพลุเป็นคนแรกๆ แล้วก็ทำมาเกือบจะเรียกว่าคนเดียวจนถึงทุกวันนี้ เราเริ่มจากที่ทำเลอารีย์ไม่ได้เป็นอยู่จนกระทั่งวันนี้อย่างที่เห็นว่าเกือบจะเป็นทองหล่อ 2 อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราคิดว่าเราจุดประกายให้ทำเลนี้เกิดสำเร็จ

สำหรับรัชดาเป็นทำเลที่เราไม่เคยไป เพียงแต่ว่าเราดูอย่างเส้น MRT ทั้งหมด ผมคิดว่าเมื่อตอนต้นๆไม่ค่อยดีเท่าไร เพราะคุณพูดถึงย่านรัชดา ก็จะคิดถึงสถาน Entertainment กลางคืน ไม่ใช่ทำเล Residential แต่รูปลักษณ์มันกำลังจะเปลี่ยนครั้งใหญ่ เพราะที่ดินกำลังจะหมดไปแล้ว เพราะว่า Commercial ขนาดใหญ่เช่นพวก Office Building ก็ไปทางนั้น มีตลาดหลักทรัพย์ย้ายไป มีศูนย์การค้าไป เพราะฉะนั้นผมคิดว่ารัชดาเอง ตอนนี้เหมือนกับจากเคยคิดว่าอยู่ไม่ได้ มันก็เริ่มอยู่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ความอยู่ไม่ได้มันก็ลดลงๆ จาก 100 อาจจะเหลือ 50% ให้เวลาเขาอีก 2 ปีก็อาจเป็นทำเลที่น่าอยู่ ก็เป็นไปได้

Think of Living: ตลาดคอนโดมือหนึ่งโตขึ้นจนถึงจุดหนึ่ง แล้วราคาก็แพงถึงจุดๆหนึ่งแล้ว คิดว่าตลาดคอนโดมือสองของประเทศไทย คอนโดจะมีโอกาสเป็นเหมือนรถยนต์ไหมครับ

คุณธงชัย: ผมว่ามันเป็นโดยทำเลอยู่แล้วนะ ผมเทียบอย่างนี้แล้วกัน คอนโดกับบ้าน บ้านผมเคยไปทำอยู่ที่วัชรพลพร้อมๆกับที่ผมทำคอนโดที่ทองหล่อ ตอนนั้นขายบ้านหลังหนึ่ง 5 ล้านบาท คอนโดก็ขาย 5 ล้านบาท บ้านหลังนั้นปัจจุบันราคาคงประมาณ 5.5 ล้าน ขึ้นมา 10% แต่คอนโดขึ้นมา 10 ล้าน ยูนิตเดียวกันนะ

Think of Living: สองเท่า

คุณธงชัย: นั่นหมายความว่าอะไรก็แล้วแต่ สินค้าที่เราขายออกไป มี Gain ของราคาค่อนข้างเยอะ มี Tradable มี Liquidity อยู่แล้ว มันจะต้องมีการเปลี่ยนมือกัน คอนโดเป็นตัวอย่างชัดเจน บ้านเดี่ยวมือสองอาจจะน้อย คอนโดเป็นสินค้าที่เปลี่ยนมือได้ง่าย คุณไม่ต้องดูแลรักษา คุณมีคนดูแลส่วนกลางให้ มันเป็น Tools ในการลงทุนที่คนปฏิเสธไม่ได้ ถ้าคนต้องการความปลอดภัยในการลงทุน ณ ระดับหนึ่ง มันดีกว่าเล่นหุ้น มันดีกว่าอะไรหลายๆอย่าง ดีกว่าซื้อพันธบัตร

Think of Living: มีโอกาสไหมครับ ที่ตลาดมือสองจะใหญ่กว่าตลาดมือหนึ่ง

คุณธงชัย: “อาจจะ” ต้องบอกว่า ถ้าจำกัดทำเลเอาเฉพาะเอกมัย-อารีย์ แน่นอนว่าในอนาคตมือสองต้องใหญ่กว่ามือหนึ่ง เพราะในอนาคตที่ดินมันปลูกใหม่ไม่ได้ สร้างใหม่ไม่ได้ มันทำได้เท่านั้นและกฎหมายเพิ่มขึ้นทุกวัน ถ้าคุณไป London หรือ Paris ก็จะพบว่า Property ของเขามีอยู่แค่นั้นเอง แล้วมันก็ขายกันอยู่แค่นั้น วนๆอยู่ตรงนั้น เมืองไทยเป็นเมืองขยายตัว มันก็มีโอกาสที่มีของมือหนึ่ง แต่ของมือหนึ่งก็จะไม่เกิดขึ้นในกลางใจเมือง จะเกิดขึ้นนอกเมืองขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นถ้าเอาเฉพาะในวงในเมืองเนี่ย มือสองอีกหน่อยจะใหญ่กว่ามือหนึ่ง แต่ถ้ารวมวงนอกเมืองมาด้วย มือหนึ่งอาจจะใหญ่กว่ามือสองอยู่

Think of Living: Noble จะยังทำตลาดแนวราบ บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ อีกไหมครับ

คุณธงชัย: ถ้ามีโอกาสก็คงทำ อยากทำ เพราะว่ามันก็เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าตลาดไปได้เรื่อยๆ แต่เราต้องมีที่ดินที่ใหญ่พอ ณ ต้นทุนที่เหมาะสม ซึ่งขายได้

Think of Living: พอดีมีผู้อ่านทางบ้านหลายคน กำลังหาคอนโดเพื่ออยู่อาศัย อยากถามคุณธงชัยว่า ถ้าให้คำแนะนำเขาได้สัก 3 ข้อ จะมีหลักการคิดอย่างไร

คุณธงชัย: ถ้าเป็นคนซื้อเพื่ออยู่ วันนี้แน่นอน

1. เลือกทำเลก่อน Location มันสำคัญเพราะว่าเราซื้อคอนโดมาเนี่ยต้องการอยู่คอนโดแค่ 10-15 ปี ถึงเวลาครอบครัวใหญ่ขึ้น ก็ต้องไปซื้อใหม่ ขยายครอบครัวต่อ สิ่งที่คุณซื้อวันนี้เป็นสิ่งที่เรียกว่า ฐานของเงินทุนในอนาคต เอาอย่างนี้ดีกว่า เพราะถ้าเกิดคุณเลือก Location ผิดปั๊บ แทนที่คุณจะได้กำไรจะกลายเป็นคุณจะเท่าทุนซึ่งก็แย่มากแล้ว เพราะฉะนั้นจะซื้ออะไรก็ต้อง Classify ก่อนเลยว่า Location ที่เราเลือกมันเป๊ะแค่ไหน ถูกต้องหรือเปล่า ซึ่งมีคนมาถามผมหลายคนว่า มี Location ไหนมันถูกต้อง ถ้าเป็นผม ผมจะบอกว่าคิดง่ายๆเลย หลักการดูว่าในอนาคต จะมี Supply เกิดขึ้นง่ายไหม มันอยู่ที่ Supply อย่างเดียว ถ้าเกิดคุณเลือกทำเลที่อีกหน่อยมันไม่มี Supply ได้เนี่ย คือสิ่งที่ดีที่สุด เพราะจะการันตีคุณแน่นอนว่าในอนาคตคุณน่าจะมี Gain เกิดขึ้นจากราคาที่มันเพิ่มขึ้น

2. หลังจากที่เลือก Location ได้แล้วก็คงต้องมาดูตัวโครงการว่า โครงการเหมาะไหมกับตลาดทั้งปัจจุบันและอนาคต ต้องดูว่ามี Facility รองรับอะไรต่างๆนานา คงไม่ต้องว่ากันมาก ต้องมี Unit Size ที่เหมาะสมไม่ได้ใหญ่เกินไป Function Area ที่โอเค อยู่แล้วสบาย

3. สุดท้ายต้องดูเรื่องของ Brand Name ของผู้ประกอบการ เพราะว่าถ้าเราซื้อคอนโด เราซื้อล่วงหน้า เพราะฉะนั้นจาก Record ของผู้ประกอบการก็เป็นส่วนที่มันจะชี้ให้เห็นถึงคุณภาพในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร ก็ดู 3 เรื่องหลักๆ ดู Location, ดูโครงการและก็ดูผู้ประกอบการ

ทั้งหมดนี้เป็นบทสัมภาษณ์กับคุณธงชัย บุศราพันธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท Noble Development ต้องขอขอบคุณ คุณธงชัยมากนะครับ

Mini-Series บทสัมภาษณ์ผู้บริหาร Real Estate โดย ThinkofLiving.com