พรุ้งนี้ก็จะเข้าสู่ปีใหม่ 2563 กันแล้วนะคะ ช่วงปี 2562 ที่ผ่านมาในภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัย นั้นก็มีการปรับตัวกันอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งก็มาจากมาตรการรัฐ ที่ออกมากระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยมีเป้าหมายที่จะให้ที่อยู่อาศัยเข้าถึงกลุ่มคนได้หลากหลายมากขึ้น ไปจนถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ทำให้ทางภาคเอกชนเองพยายามปรับตัวทำสินค้าต่างๆเพื่อให้ตอบโจทย์กับผู้ซื้อ  อย่างไรก็ดี ตัวเลขของภาพรวมที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและแนวสูงในปี 2562 จะเป็นอีกข้อมูลสำคัญที่จะสามารถสะท้อนถึงตลาดที่อยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี และมีผลต่อการพัฒนาโครงการของ ดีเวลอปเปอร์ ในปีต่อๆไปว่าจะเดินหน้าไปในทิศทางใด เราไปดูสรุปสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยกรุงเทพและปริมณฑลในช่วงปีที่ผ่านมากันเลยค่ะ

โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ และ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้สำรวจข้อมูลอุปสงค์และอุปทานตลาดที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขาย (แต่ละโครงการมีหน่วยเหลือขายมากกว่า 6 หน่วย) รวมโครงการของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) แต่ไม่รวมบ้านเอื้ออาทร ในพื้นที่กรุงเทพฯ – ปริมณฑล ซึ่งศูนย์ข้อมูลฯ ได้ทำการสำรวจเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกปี ปีละ 2 รอบ ได้แก่ รอบครึ่งปีแรก และรอบครึ่งปีหลัง โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2562 มีรายละเอียด ดังนี้

จากข้อมูลภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และ 5 จังหวัดปริมณฑล (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม) ณ สิ้นปี 2561 นับเฉพาะโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม ที่มีหน่วยเหลือขายไม่ตำ่กว่า 6 หน่วยต่อโครงการ พบว่า มีที่อยู่อาศัยเหลือขายสะสมจำนวน 153,895 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 651,293 ล้านบาท แบ่งออกเป็น โครงการบ้านจัดสรร 87,263 หน่วย มูลค่า 393,996 ล้านบาท และคอนโดมิเนียม 66,632 หน่วย มูลค่า 257,297 ล้านบาท โดยจำนวนหน่วยเหลือขายคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร มากถึง 67.8% ส่วนจังหวัดปริมณฑล 5 จังหวัดมีสัดส่วนรวมกันเพียง  32.2% ของหน่วยเหลือขายทั้งหมด

เมื่อเข้าสู่ปี 2562 ผู้ประกอบการจึงเริ่มนำสินค้าใหม่ออกขายใหม่ ในครึ่งแรกปี 2562 (มกราคม – มิถุนายน) ทั้งประเภทบ้านและคอนโดมิเนียม มีจำนวนรวมทั้งหมด 41,868 หน่วย มูลค่า 207,881 ล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า โดยเพิ่มขึ้น 6.1% และ20.8% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกปี 2561 ที่มีจำนวน 39,447 หน่วย มูลค่า 172,029 ล้านบาท จะเห็นว่าในจำนวน 41,868 หน่วย นี้มีหน่วยเปิดขายใหม่ในกรุงเทพมหานครมากที่สุด 66.5% ส่วนจังหวัดปริมณฑล 5 จังหวัดมีสัดส่วนรวมกันเพียง 33.5% ของหน่วยที่เปิดขายใหม่ทั้งหมด

แต่ที่น่าสนใจก็คือสินค้าที่เหลือจากปีที่ผ่านมาเมื่อรวมกับสินค้าขายใหม่ในปีนี้ กลับมียอดที่ขายได้แยกเป็นโครงการบ้านจัดสรร 17,377 หน่วย และคอนโดมิเนียม 64,969 หน่วย ซึ่งจะเป็นสินค้าเหลือขายสะสมในช่วงปลายปี 2562 และอาจจะคงค้างไปจนถึงในปี 2563 ในปริมาณที่ใกล้เคียงกับของที่คงค้างมาในปี 2561 หากยังไม่สามารถระบาย Stock ในส่วนนี้ได้ ผู้ประกอบการก็จะต้องแบกรับต้นทุนในส่วนนี้ไว้ไปด้วย

หากเราเปรียบเทียบข้อมูลในช่วงระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา โดยพิจารณาเฉพาะโครงการประเภทบ้านจัดสรรที่เปิดขายใหม่ จะพบว่าในช่วงครึ่งแรกปี 2562 จำนวน 17,294 หน่วย มูลค่า 93,065 ล้านบาท นั้นเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า 21.5% และ 24.3% ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกปี 2558 – 2561 ถือว่าทำได้ตัวเลขได้ดีพอสมควร  และหากพิจารณารายจังหวัดจะเห็นว่าจังหวัดสมุทรปราการมีหน่วยเปิดขายใหม่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี เพียงจังหวัดเดียว ส่วนจังหวัดอื่นๆ เปิดขายใหม่ตำ่กว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี

หน่วยบ้านจัดสรรเปิดขายใหม่ ในครึ่งแรกปี 2562 แยกตามประเภท และระดับราคากรุงเทพฯ – ปริมณฑล

หากพิจารณาในด้านประเภทและราคาที่เปิดขายใหม่ในครึ่งแรกปี 2562 ส่วนใหญ่ 58.4% เป็นจะเป็นที่อยู่อาศัยประเภททาวน์เฮ้าส์ ในระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาทมากที่สุด ถือเป็นกลุ่มราคายอดนิยมในตลาดที่หยิบจับและเป็นเจ้าของได้ง่าย ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะต้องมีแบรนด์ในกลุ่มราคานี้ออกมาให้ผู้ซื้อเลือกอยู่เสมอ รองลงมาเป็นบ้านเดี่ยว 27.1% ในระดับราคามากกว่า 10 ล้านบาท ขึ้นไปมากที่สุด สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มและการคาดการณ์ของผู้ประกอบการที่มองไปยังกลุ่มผู้ซื้อที่มีฐานรายได้ที่สูงขึ้น สำหรับบ้านแฝดเปิดขายใหม่ 11.7% ในระดับราคา 3.01 – 5.00 ล้านบาทมากที่สุด

หน่วยบ้านจัดสรรขายได้ใหม่ ในครึ่งแรกปี 2562 แยกตามประเภท และระดับราคา กรุงเทพฯ – ปริมณฑล

คราวนี้เราลองมาดูว่าในปีนี้ผู้ซื้อตัดสินใจและเลือกซื้อที่อยู่อาศัยกันอย่างไร โดยแยกตามประเภทและราคาขายโครงการบ้านจัดสรรที่ขายได้ใหม่ในช่วงครึ่งแรกปี 2562 ที่พบเยอะที่สุดยังคงเป็นที่อยู่อาศัยในกลุ่มทาวน์เฮ้าส์ที่ 58.3% ในระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาทมากที่สุด รองลงมาเป็นบ้านเดี่ยว 26.8% ในระดับราคา 5.01 – 7.50 ล้านบาทมากที่สุด ซึ่งตรงข้ามกับบ้านในกลุ่มราคามากกว่า 10 ล้านบาท ที่ผู้ประกอบการนำออกมาขายในปีนี้  ส่วนบ้านแฝดขายได้ใหม่ 11.8% ในระดับราคา 3.01 – 5.00 ล้านบาทมากที่สุด ซึ่งก็ตรงกับสินค้าในตลาดที่ผู้ประกอบการเปิดขายใหม่ มองได้ว่าแม้บ้านแฝดจะเปิดขายใหม่ไม่เท่ากับบ้านประเภทอื่นๆถ้าเทียบกันแล้วก็สามารถขายได้และเป็นที่ต้องการของผู้ซื้ออยู่เสมอ

ทำเลของโครงการบ้านจัดสรรที่ขายได้ใหม่ในช่วงครึ่งแรกปี 2562 (มกราคม – มิถุนายน) มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. ทำเลบางใหญ่-บางบัวทอง-บางกรวย-ไทรน้อย ขายได้ใหม่ 2,813 หน่วย เรียกว่าเป็นทำเลที่แนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงเปิดให้บริการใช้แล้ว แต่ก็ยังคงมีโครงการใหม่ๆเกิดขึ้นเรื่อยๆอยู่เสมอ รองรับการอยู่อาศัยของคนทางฝั่งนนทบุรีที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  2. ทำเลบางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง ขายได้ใหม่ 2,206 หน่วย เป็นทำเลที่เริ่มมีการขยายตัวของที่อยู่อาศัยมากขึ้น อีกทั้งราคายังถือว่าหยิบจับได้ง่าย จับกลุ่มคนที่ต้องการขยายครอบครัวและคนทำงานในทำเลนี้โดยเฉพาะ
  3. ทำเลเมืองสมุทรปราการ-พระประแดง-พระสมุทรเจดีย์ ขายได้ใหม่ 1,532 หน่วย เป็นทำเลขายดีติดอันดับมาจากปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากการเปิดเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียววิ่งครบทุกสถานีทำให้การเดินทางสะดวกมากขึ้นส่งผลให้มีการขยายตัวของที่อยู่อาศัยมากขึ้น
  4. ทำเลคลองสามวา-มีนบุรี-หนองจอก-ลาดกระบัง ขายได้ใหม่ 1,371 หน่วย เป็นทำเลท่ีมีรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง จึงส่งผลให้โครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในทำเลนี้ปรับราคาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
  5. ทำเลเมืองนนทบุรี-ปากเกร็ด ขายได้ใหม่ 1,357 หน่วย เป็นทำเลที่มีรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ผ่านเช่นกัน และถนนแจ้งวัฒนะเองก็เป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการและหน่วยงานใหญ่ๆหลายแห่ง จึงทำให้มีปริมาณคนทำงานและมีความต้องการอยู่อาศัยในทำเลนี้มากขึ้น

โดยทั้ง 5 ทำเลนี้ส่วนใหญ่ขายได้ใหม่ในประเภททาวน์เฮ้าส์มากที่สุด และเกือบทั้ง 5 ทำเล ขายได้ใหม่ในระดับราคา 2.01 -3.00 ล้านบาทมากที่สุด ยกเว้นทำเลเมืองนนทบุรี-ปากเกร็ด ที่ขายได้ใหม่ในระดับราคา 3.01 – 5.00 ล้านบาทมากที่สุด

ส่วนโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในช่วงครึ่งแรกปี 2562 มีจำนวน 24,574 หน่วย มูลค่า 114,816 ล้านบาท หน่วยเปิดขายใหม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ซึ่งจำนวนหน่วยลดลง 2.5% แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น 18.2% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกปี 2561 ที่มีจำนวน 25,210 หน่วย และมีมูลค่า 97,140 ล้านบาท หากพิจารณารายจังหวัดจะเห็นว่าทั้ง 6 จังหวัดมีหน่วยเปิดขายใหม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ทั้งหมด

หน่วยคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ ในครึ่งแรกปี 2562 แยกตามประเภท และระดับราคากรุงเทพฯ – ปริมณฑล

ส่วนโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่มากที่สุดในช่วงครึ่งแรกปี 2562 (มกราคม – มิถุนายน) จะเป็นประเภท 1 ห้องนอนมากที่สุด 68% และขายได้ในระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาทมากที่สุด โดยห้องแบบ 1 ห้องนอน จัดเป็นประเภทห้องที่จะมีสัดส่วนในโครงการมากที่สุด จึงทำให้มีปริมาณที่เปิดขายใหม่มากตามไปด้วย รองลงมาเป็นสตูดิโอ 16.7% ในระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาทมากที่สุด ส่วนประเภท 2 ห้องนอน ขายได้ใหม่ 13.6% ในระดับราคา 3.01 – 5.00 ล้านบาท มากที่สุด และประเภท 3 ห้องนอนขึ้นไปขายได้ ใหม่เพียง 1.7% ในระดับราคามากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป มากที่สุด โดยส่วนมากจะเป็นโครงการระดับแพงที่มีห้องขนาดใหญ่ให้เลือก แต่ก็จะมีสัดส่วนไม่มากเท่ากับห้องแบบสตูดิโอและ 1 ห้องนอน

หน่วยคอนโดมิเนียมขายได้ใหม่ ในครึ่งแรกปี 2562 แยกตามประเภท และระดับราคา กรุงเทพฯ – ปริมณฑล

หากมาดูที่กลุ่มผู้ซื้อโครงการคอนโดมิเนียมที่ขายได้ใหม่มากที่สุดในช่วงครึ่งแรกปี 2562 (มกราคม – มิถุนายน) พบว่า เป็นประเภท 1 ห้องนอนมากที่สุด 69.5% และขายได้ในระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาทมากที่สุด รองลงมาเป็นสตูดิโอ 16.7% ในระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาทมากที่สุด ส่วนประเภท 2 ห้องนอน ขายได้ใหม่ 12.8% ในระดับราคา 3.01 – 5.00 ล้านบาท มากที่สุด และประเภท 3 ห้องนอนขึ้นไปขายได้ ใหม่เพียง 1% ในระดับราคามากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป โดยภาพรวมจะเห็นว่าสัดส่วนการซื้อที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดตรงกับสินค้าที่ผู้ประกอบการนำออกมาขายในตลาดเช่นเดียวกัน

ทำเลของโครงการคอนโดมิเนียมที่ขายได้ใหม่มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. ทำเลห้วยขวาง-จตุจักร- ดินแดง ขายได้ใหม่ 4,179 หน่วย เป็นอีกทำเลที่มีความคึกคักมาตั้งแต่ปีก่อนมีโครงการใหม่เปิดตัวให้เลือกค่อนข้างหลากหลาย ส่วนใหญเปิดขายในระดับราคา 3.01 – 5.00 ล้านบาท มากที่สุด
  2. ทำเลธนบุรี-คลองสาน-บางกอกน้อย-บางกอกใหญ่-บางพลัด ขายได้ใหม่ 2,635 หน่วย ส่วนใหญ่เปิดขายห้องชุดประเภท 1 ห้องนอนในช่วงราคา 3.01 – 5.00 ล้าน บาท และราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมส่วนใหญ่เปิดขายอยู่ในช่วง 2.01 – 3.00 ล้านบาท
  3. ทำเลพระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศ ขายได้ใหม่ 2,149 หน่วย ป็นทำเลสุขุมวิทตอนปลายที่คนให้ความสนใจเพราะถ้าจะให้เลือกเส้นสุขุมวิทในเมืองราคาก็สูงเกินไป เลยเขยิบออกมาหน่อยแต่ก็ยังสามาารถใช้รถไฟฟ้าเดินทางเข้าเมืองได้สะดวก โดยทำเลนี้เปิดขายระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาท มากที่สุด
  4. ทำเลสุขุมวิท ขายได้ใหม่ 1,855 หน่วย ในระดับราคา 5.01 – 7.50 ล้านบาท มากที่สุดเป็นโซนที่มีการขยายตัวของคอนโดมิเนียมอยู่ตลอด ด้วยความเป็นทำเลกลางเมืองระดับราคาสำหรับ 1 ห้องนอน จึงสูงกว่าทำเลโดยรอบและยังเป็นโซนยอดนิยมอยู่เสมอ
  5. ทำเลเมืองนนทบุรี-ปากเกร็ด ขายได้ใหม่ 1,687 หน่วย ในระดับราคา 1.01 – 1.50 ล้านบาทมากที่สุด เป็นทำเลท่ีมีรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ที่กำลังอยู่ระหว่างก่อสร้าง จึงส่งผลให้โครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในทำเลนี้ปรับราคาเพิ่มขึ้นในระดับราคาถือว่ายังอยู่ในกลุ่มที่หยิบจับง่าย

โดยทั้ง 5 ทำเลนี้ขายห้องชุดประเภท 1 ห้องนอนมากที่สุด

ประมาณการหน่วยเหลือขาย ณ สิ้นปี 2562 – 2563 (กรุงเทพฯ – ปริมณฑล)

ทั้งนี้ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ได้ประมาณการจำนวนหน่วยเหลือขายที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ณ สิ้นปี 2562 มีจำนวนประมาณ 149,000 หน่วย และคาดว่า ณ สิ้นปี 2563 จะมีจำนวนประมาณ 139,000 หน่วย ลดลงจากปี 2562 อยู่ที่ 6.7% เนื่องจากรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยการลดค่าธรรมเนียมโอนกรรมสิทธิ์ และค่าจดจำนอง เหลือ 0.01% ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 จนถึง สิ้นปี 2563 เฉพาะการซื้อที่อยู่อาศัยในระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท จากผู้ประกอบการ โดยไม่นับรวมการซื้อ บ้านมือสอง ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีการเร่งโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยที่สร้างใหม่โดยผู้ประกอบการ และจะช่วยให้ อุปทานเหลือขายสะสมในตลาดถูกดูดซับออกไป จนสามารถปรับสมดุลของอุปทานเหลือขายให้ใกล้เคียงกับ ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 138,720 หน่วยได้

ปี 2563 ตลาดที่อยู่อาศัยจะเป็นอย่างไร ?

จากข้อมูลโดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ และธนาคารอาคารสงเคราะห์  คาดการณ์ว่าแนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2563 นั้น ตัวแปรสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงคือ การที่รัฐบาลออกมาตรการสนับสนุนการซื้อที่อยู่อาศัยให้ครอบคลุมกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางมากขึ้น โดยได้ออกมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าธรรมเนียมการจดจำนองเหลือ 0.01% ครอบคลุมถึงบ้านในระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ที่ออกมาวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา โครงการ “บ้านดีมีดาวน์” ซึ่งให้การสนับสนุนเงินดาวน์ 50,000 บาท แก่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งคาดว่าผลจากมาตรการจะทำให้จำนวนหน่วยน่าจะติดลบลดลงเหลือ -0.6% และมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศน่าจะ -2.2% ในปี 2562 เทียบกับปี 2561 หรืออาจจะไม่ติดลบเลย จากเดิมคาดว่าจะติดลบถึง -7.7% และ -2.7% ตามลำดับ

ปัจจัยเสริมที่มีผลคือเรื่องของต้นทุนของค่าที่ดิน จะยังไม่ปรับเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ผู้ประกอบการเลือกตลาดบ้านที่ราคาต่ำลงได้ ตอบโจทย์ศักยภาพผู้ซื้อมากขึ้น โดยเฉพาะบ้านราคา ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ที่มีกำลังซื้อเยอะ สะท้อนจากยอดการโอนเพิ่มขึ้นจาก 3,000 ยูนิต เป็น 16,000 ยูนิต ในขณะที่โครงการบ้านดีมีดาวน์ จะเป็นการเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนที่มีความต้องการบ้านจริงๆ มาตรการที่มีผลจริงคือ การลดค่าธรรมเนียมโอน-จดจำนอง เหลือ 0.01% ถึงสิ้นปี 2563 ซึ่งปัจจุบันยังครอบคลุมถึงบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 50% ของราคาบ้านในตลาด แต่ถ้าต่อไปภาครัฐขยายเป็น 3-5 ล้านบาท ด้วยได้ก็จะช่วยบ้านในราคากลุ่มกลางๆที่พบได้เยอะสุดในตลาดให้ได้ประโยชน์เพิ่มอีกได้

นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ ยังได้ช่วยให้เกิดการดูดซับอุปทานไปได้อย่างดี โดยประมาณการว่าในครึ่งหลังของปี 2562 จะมีขายบ้านใหม่ได้ประมาณ 71,000 หน่วย และในปี 2563 จะมีการขายบ้านใหม่ได้ถึงประมาณ 166,000 หน่วย หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงประมาณ 20% ในแต่ละครึ่งปี และส่งผลให้อุปทานที่อยู่อาศัยในตลาดปีหน้าจะลดลงถึง 10% ในแต่ละครึ่งปี เมื่อเทียบกับการที่ไม่มีมาตรการ

สำหรับทิศทางตลาด ปี 2563 คาดว่าความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสำคัญคือ อัตราดอกเบี้ยขาลง และ มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล จึงทำให้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปลายปี 2562 แต่อาจจะมีการขยายตัวไม่เกิน 5% และโครงการที่อยู่อาศัยใหม่จะมีการเปิดตัวต่อเนื่องจากช่วงปลายปีรองรับมาตรการรัฐซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนใกล้เคียงกับยอดการเปิดตัวในปี 2562 ดังนั้นผู้ประกอบการยังคงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารสินค้าที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จรอการขาย (Inventory) เพื่อให้อุปทานไม่ค้างอยู่ Stock มากเกินไป และยังต้องระวังการเปิดตัวโครงการใหม่ๆที่มากจนตลาดไม่สามารถดูดซับไม่ทัน เพราะว่ากำลังซื้อในตลาดถึงแม้ยังมีอยู่แต่มีอยู่ไม่มากเท่ากับ 2 ปีก่อน

ส่วน มาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (แอลทีวี) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่ส่งผลให้ผู้ประกอบการลดราคาที่อยู่อาศัย ตามเป้าหมายมาตรการ ของ ธปท. แต่อาจจะมีในส่วนของการจัดโปรโมชัน การให้ส่วนลดอยู่บ้าง ช่วยให้ผู้ที่เตรียมจะซื้อที่อยู่อาศัยใหม่มีตัวเลือกเพิ่มขึ้น แต่ในภาพรวมราคาที่อยู่อาศัยใหม่จะยังราคาไม่เพิ่ม ผู้ประกอบการจะเริ่มปรับตัว มาในตลาดบ้านราคาต่ำมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่า ธปท. จะยังไม่ยกเลิกมาตรการแอลทีวี แต่อาจจะมีเงื่อนไขผ่อนปรน หรือ ยกเลิกมาตรการในบางพื้นที่ ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ธปท. อีกที

เป็นที่สังเกตว่าจากปีก่อนๆที่ผ่านมานอกจากโครงการที่อยู่อาศัยประเภทบ้านและคอนโดมิเนียมที่เราเห็นๆกันเป็นประจำแล้ว ยังมีโครงการประเภท มิกส์ยูส (Mixed-use) ที่เข้ามามีบทบาทในตลาดอสังหาฯ อยู่เหมือนกันเพราะผู้ประกอบการหลายๆเจ้าเริ่มเปิดโครงการและก็มีที่ทยอยสร้างเสร็จ เป็นโครงการที่มีอาคารสำนักงาน ค้าปลีก ที่อยู่อาศัยและโรงแรมอยู่ภายในโครงการเดียวกัน ส่วนหนึ่งก็เพื่อสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินได้อย่างคุ้มค่าโดยเฉพาะที่ดินใจกลางเมือง ตอบโจทย์ที่ให้โครงการเป็นมากกว่าที่อยู่อาศัย และกำลังเป็นที่สนใจของกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่มองหาตัวเลือกใหม่ที่แตกต่างจากเดิม

Source of Information :

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ : Real Estate Information Center คลิกที่นี่
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ คลิกที่นี่

ติดตามพวกเราได้ที่
Website : www.thinkofliving.com
Twitter : www.twitter.com/thinkofliving
YouTube : www.youtube.com/ThinkofLiving
Instagram : www.instagram.com/thinkofliving
Facebook : ThinkofLiving