20140110134619

แม้ว่า พ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้าน ถูกระงับไปแล้ว แต่โครงการ “Hi-Speed Train” ยังคงดำเนินต่อไป ล่าสุด สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม จัดประกวดการออกแบบภายในสายเหนือ “กรุงเทพฯ-เชียงใหม่” สำหรับสถานีระยะที่ 2 จาก “พิษณุโลก-เชียงใหม่” ซึ่งอยู่ระหว่างคัดเลือกแนวเส้นทาง ระหว่างสร้างเกาะไปตามแนวเดิมของ “รถไฟสายเหนือ” หรือจะตัดผ่านจังหวัดสุโขทัย เพื่อเปิดพื้นที่พัฒนาใหม่และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่อุทยานศรีสัชนาลัย

ปัจจุบันทางสนข. ได้เปิดเผยความคืบหน้าของรูปแบบสถานี ซึ่งนำเสนอเพื่อพิจารณาไว้ดังนี้

1 รูปแบบสมัยใหม่ (Modern Style) ประกอบด้วย

exstation_1

1.1  แนวคิดที่ได้แรงบันดาลใจจากแม่น้ำที่ไหลผ่านตามเส้นทางในแต่ละจังหวัดที่รถไฟความเร็วสูงได้วิ่งผ่านตลอดเส้นทาง จังหวัดตามสายทางที่มีความเกี่ยวพันกันที่สำคัญได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นปากทางของต้นแม่น้ำเจ้าพระยาและ ยังมีแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่เช่นบึงบอระเพ็ด สิ่งเหล่านี้ได้ถูกนำมาใช้เป็นลักษณะที่แสดงถึงเอกลักษณ์ เช่น ลายของคลื่นน้ำที่เคลื่อนที่ตัดกัน มาเป็นลักษณะทางสถาปัตยกรรม หรือการใช้เพดานที่ทำจากสแตนเลส ที่บุบเบี้ยว เพื่อทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนอยู่ในน้ำ เป็นต้น

exstation_2

1.2 รูปแบบสถานีรถไฟความเร็วสูงได้สะท้อนถึงการก้าวไปข้างหน้า ของประชาชนในชาติ ในขณะเดียวกันการกำเนิดรูปแบบอาคารยังสะท้อนมาจากรากเหง้าในท้องถิ่น โดยนำการสานปลาตะเพียนสิ่งเป็นเสมือนตัวแทนของ เอกลักษณ์ ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น สะท้อนผ่านรูปลักษณ์อาคารที่มีความทันสมัย

2 รูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก (Neoclassicism, Jugendstill) 

exstation_3

2.1 รูปแบบสถาปัตยกรรมภายนอกได้อ้างอิงองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของสถานีรถไฟบางปะอิน ซึ่งเป็นสถานีรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกที่งดงาม และตั้งอยู่บริเวณสายทางของรถไฟสายเหนือ สถานีรถไฟบางปะอิน เป็นสถานีรถไฟพิเศษแห่งแรก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อเป็นที่ประทับเมื่อเสด็จพระราชดำเนิน แปรพระราชฐานมาประทับที่พระราชวังบางปะอิน

exstation_4

2.2 รูปแบบสถาปัตยกรรมภายนอกได้อ้างอิงองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของสถานีรถไฟพิจิตร  ซึ่งเป็นสถานีรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกที่งดงามและตั้งอยู่บริเวณสายทางของรถไฟสายเหนือ ซึ่งสร้างเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยมีรูปแบบและเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและยังคงมีสภาพที่สมบูรณ์

3. รูปแบบสถานีแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ เป็นการนำเอกลักษณ์ที่สำคัญของชาติและท้องถิ่นต่างๆมาใช้ในการออกแบบ เพื่อแสดงเอกลักษณ์ที่สำคัญในแต่ละท้องถิ่น โดยนำเสนอรูปแบบเพื่อเป็นทางเลือกดังนี้

exstation_5

3.1 สถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย เป็นการนำเอารูปแบบอาคารไทยดั้งเดิมผสมผสานกับอาคารสมัยใหม่โดยนำองค์ประกอบของเส้นสายความอ่อนช้อยของสถาปัตยกรรมไทยมาใช้ในการออกแบบเพื่อสะท้อนให้เกิดเอกลักษณ์แบบไทยในมุมมองที่ทันสมัย

exstation_6

3.2 รูปแบบของของงานสถาปัตยกรรมภายนอกสะท้อนมาจากการผสมผสานรูปแบบซุ้มประตูของงานสถาปัตยกรรมไทยมาใช้เป็นองค์ประกอบหลักของอาคารเพื่อสื่อถึงการต้อนรับและการอวยพรในการผู้มาเยือน

สำหรับการประกวดออกแบบภายในสถานีช่วง “พิษณุโลก-เชียงใหม่” ทางสนข. คัดสรร สถานีต้นแบบมานำร่อง 3 สถานี ประกอบด้วย สถานีพิษณุโลก ลำปาง และเชียงใหม่ ซึ่งกำหนดคอนเซ็ปต์ไว้ว่า “อัตลักษณ์สร้างคุณค่า” หรือ Identity Create Value ชิงเงินรางวัล รวมมูลค่ากว่า 5 แสนบาท

“สมชัย ศิริวัฒนโชค” ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การประกวดออกแบบภายในรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพ-เชียงใหม่ ระยะที่ 2 จากพิษณุโลก-เชียงใหม่ จะเปิดให้ท้องถิ่นมาร่วมออกแบบว่าอยากจะตกแต่งภายในรถไฟเป็นแบบไหน จะเน้นคุณค่าเอกลักษณ์เป็นหลัก รวมถึงเรื่องความสวยงาม ความโดดเด่นด้านคุณค่าทางการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และความเป็นไทย

สำหรับรายละเอียดการนำเสนอชิ้นงาน จะประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่

1 แนวคิดออกแบบภายในของสถานีจะมีผังภายใน หรือแบบ Plan และรูปตัดภายในสถานี (Elevation or Selection) อย่างน้อย 3 รูป

2 ภาพทัศนียภาพ (Perspective) อย่างน้อย 3 พื้นที่ คือ โถงจำหน่ายตั๋วและพักคอยสำหรับผู้โดยสาร (Concourse Area) โถงชานชาลาของรถไฟความเร็วสูง (Platform Area) และพื้นที่พาณิชยกรรมในสถานี(Commercial Zone) เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดการออกแบบ ผู้ส่งผลงานสามารถ ดัดแปลง ต่อเติม หรือปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกอาคารได้แต่ต้องไม่กระทบกับโครงสร้างที่มีอยู่

ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมอื่นๆ ผู้สนใจสามารถดูได้เพิ่มเติมที่เว็บไซต์ www.thaihispeedtrain.com

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติ