ตำหนักใหญ่Credit Photo: อัครชัย อังศุโภไคย

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงหลายๆ แห่ง เนื่องจากวังในสมัยต้นรัตนโกสินทร์เริ่มทรุดโทรม ประกอบกับการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการกับชาติตะวันตก ทำให้วังที่สร้างขึ้นในยุคนั้น ได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมโคโลเนียล และออกแบบโดยสถาปนิกชาวยุโรป

วันนี้ Think of Living จะขอพาไป “ลัดเลาะชมวังในเมืองกรุง” ล้วนแล้วแต่เป็นวังที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ปัจจุบันบางแห่งเปิดให้เข้าชมได้ แต่…บางแห่งก็หลงเหลือในความทรงจำเท่านั้น 🙂

wank2 copy 13คลิกที่ภาพเพื่อขยาย

1. วังบูรพาภิรมย์ 

WangBurapha

ร.5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “วังบูรพาภิรมย์” พระราชทาน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ต้นราชสกุลภาณุพันธ์ เมื่อ พ.ศ. 2518 พื้นที่บริเวณนี้ เคยเป็นวังเก่า เจ้านายที่เคยประทับ ล้วนเป็นพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับมอบหมายให้มาอยู่รักษา พระนครด้านทิศตะวันออก ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีการสร้างวังใหม่ในสมัยร.5  จึงได้รับพระราชทานนามว่า “วังบูรพาภิรมย์” (บูรพา หมายถึงทิศตะวันออก)

วังบูรพาภิรมย์ ออกแบบโดย  Gioachino Grassi สถาปนิกชาวต่างชาติ สูง 2 ชั้นประกอบด้วยอาคาร 3 หลัง เนื้อที่เริ่มตั้งแต่ริมถนนตรงป้อมมหาชัย ยาวถึงสะพานเหล็ก ใช้เวลาสร้าง 6 ปี สมัยร.5-ร.6 มีการจัดงานรื่นเริง สังสรรค์เป็นประจำที่วังบูรพาภิรมย์ จนถูกเรียกขานว่า “วังที่ไม่เคยหลับ”

หลังจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จทิวงคต ในปีพ.ศ. 2471 วังนี้ก็ซบเซาลง ทายาทของท่านให้เช่าเป็นที่ตั้งโรงเรียนสตรีภานุทัต ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังสงครามสงบลง ก็ใช้เป็นอาคารเรียนของโรงเรียนพณิชยการพระนคร

ต่อมาในปีพ.ศ. 2595 ทายาทในราชสกุลภาณุพันธ์ได้ขายวังบูรพาให้ นายโอสถ โกสิน ในราคา 12,020,000 บาท แล้วรื้อวังเพื่อสร้างศูนย์การค้าและโรงภาพยนตร์ 3 แห่ง คือโรงภาพยนตร์คิงส์ โรงภาพยนตร์ควีน และโรงภาพยนตร์แกรนด์ เมื่อรวมกับตลาดมิ่งเมือง (ปัจจุบัน คือ ศูนย์การค้าดิโอลด์สยามพลาซ่า) และโรงภาพยนตร์อีกแห่งหนึ่งคือศาลาเฉลิมกรุง จึงนับว่าย่านนี้เป็นย่านการค้าที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น

ในช่วง พ.ศ. 2499 – 2500 ย่านนี้ได้กลายเป็นแหล่งชุมนุมของวัยรุ่นหนุ่มสาวทันสมัย เรียกว่าเป็น “โก๋หลังวัง” ซึ่งหมายถึง วังบูรพา นั่นเอง ทุกวันนี้ศูนย์การค้าและโรงภาพยนตร์เหล่านั้นล้วนเลิกกิจการไปหมดแล้ว แต่ย่านดังกล่าวก็ยังคงเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “วังบูรพา”
2. วังวินด์เซอร์  

decorreport

หรือที่รู้จักในชื่อ วังประทุมวัน, วังกลางทุ่ง หรือ วังใหม่ ร.5 สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานเป็นสถานที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าวชิรุณหิศ สยามบรมราชกุมารองค์แรกแห่งสยามประเทศ ตั้งอยู่บริเวณทุ่งประทุมวัน (ปทุมวัน) ชาวต่างประเทศ เห็นพระตำหนักแห่งนี้ จึงเรียกตามพระราชวังที่ลักษณะคล้ายกันว่า “วังวินด์เซอร์” โดยนำแบบของพระราชวังวินด์เซอร์แห่งสหราชอาณาจักรมาย่อส่วน (ภายหลังพบว่าใกล้เคียงกับ Westminster Catherdral มากกว่า) หากแต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร มิได้เสด็จมาประทับ ณ พระราชวังแห่งนี้ด้วยเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2437

ในปี พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพระราชวังนี้รวมทั้งพื้นที่โดยรอบเป็นสมบัติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเคยใช้เป็นศูนย์กลางการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวิทยาเขตประทุมวันก่อนการก่อสร้างอาคารบัญชาการ

ในช่วงปี พ.ศ. 2478 นาวาโท หลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษา ต้องการที่จะสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติขึ้น จึงได้พิจารณาเช่าที่ดินบริเวณพระตำหนักหอวัง และได้ทำการรื้อถอนพระตำหนักหลังนี้ รวมถึงอาคารหอพักนิสิตโดยรอบ การก่อสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติแล้วเสร็จในราวปี พ.ศ. 2481 ซึ่งได้ใช้เป็นที่ทำการสอนของโรงเรียนพลศึกษากลางและกรมพลศึกษา

ในปีพ.ศ. 2551 มีการปรับปรุงบริเวณกรีฑาสถานแห่งชาติครั้งใหญ่ เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี ซึ่งประกอบด้วย ส่วนหน้าปะรำที่ประทับ ในสนามศุภชลาศัย ประดับด้วยพระบรมมหาราชวังจำลอง หน้ามุขทางขึ้น ตกแต่งคล้ายกับพระราชวังวินด์เซอร์ ปลูกต้นไม้รอบบริเวณสนาม ติดตั้งเก้าอี้บนอัฒจันทร์ทั้งหมด และปรับพื้นสนามหญ้าใหม่

3. วังบางขุนพรหม

OLYMPUS DIGITAL CAMERACredit Photo: Scorpian PK

ร.5 โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมจัดซื้อที่ดินพระราชทานแด่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เมื่อ พ.ศ. 2442 ใช้เป็นที่ประทับ และยังเป็นสถานที่จัดงานสโมสรสันนิบาต ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองหลายครั้ง นอกจากนี้ยังใช้เป็นที่จัดงานสังสรรค์ของพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นสถานที่ให้ครูชาวต่างประเทศใช้จัดสอนวิชาต่าง ๆ ให้กับพระธิดาและเจ้านายฝ่ายในของวังอื่น ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีชื่อเรียกกันในสมัยนั่นว่า “บางขุนพรหมยูนิเวอร์ซิตี้”

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้ย้ายออกจากวังบางขุนพรหม เสด็จฯไปประทับอยู่ที่ตำหนักประเสบัน เกาะชวา อินโดนีเซีย อย่างกะทันหัน และประทับอยู่ที่นั่นจนสิ้นพระชนม์

วังบางขุนพรหม ได้ใช้เป็นที่ตั้งของกรมยุวชนทหาร สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ และหน่วยงานราชการอีกหลายแห่ง จนเมื่อพ.ศ. 2488 กรมธนารักษ์ได้ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เช่าวังบางขุนพรหม เพื่อใช้เป็นที่ทำการ จนถึงพ.ศ. 2508 ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเสนอเรื่องต่อ คณะรัฐบาล ขอกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ของวังบางขุนพรหมไว้เป็น ทรัพย์สมบัติของธนาคาร โดยเห็นว่าสถานที่แห่งนี้ งดงามและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับเป็นที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นสถาบันสำคัญของชาติ

ปัจจุบันวังบางขุนพรหม ยังคงอยู่ในการดูแล ของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นที่จัดตั้งพิพิธภัณฑ์เงินตรา และประวัติของธนาคารแห่งประเทศไทย และเพื่อเทิดพระเกียรติ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ ซึ่งเป็นเจ้าของวัง

4. วังนางเลิ้ง

เรือนหมอพรเรือนหมอพร วังนางเลิ้ง

เดิมวังนี้เป็นวังที่ร.5 ทรงสร้างพระราชทานแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ต้นตระกูล อาภากร สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับของ กรมหลวงชุมพรฯ ภายหลังจากเสด็จกลับจากการศึกษาวิชาทหารเรือจาก สหราชอาณาจักรนาน 7 ปี และหลังจากเสด็จกลับสู่สยามประเทศแล้ว พระองค์ก็ทรงเข้ารับราชการที่กระทรวงทหารเรือ

วังที่ประทับของกรมหลวงชุมพรนั้น รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้สร้างในที่ดินที่แต่เดิมเป็นพื้นที่ของชาวมอญ ซึ่งตั้งเป็นชุมชนใหญ่อยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งทิศใต้ ชาวมอญหรือชาวรามัญกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ มีอาชีพขายตุ่ม ที่เรียกกันตามศัพท์พื้นเมืองว่า ตุ่มอีเลิ้ง ต่อมามีการเรียกตุ่มนี้ให้ฟังไพเราะขึ้นว่า ตุ่มนางเลิ้ง และด้วยเหตุที่วังนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านค้าตุ่มนางเลิ้ง วังสำหรับเจ้าฟ้านายทหารเรือพระองค์นี้ จึงได้ชื่อว่า วังนางเลิ้ง ไปโดยปริยาย

วังนางเลิ้งได้ใช้เป็นวังที่ประทับของกรมหลวงชุมพรฯ ถึงปี พ.ศ.2466 ก็ทรงสิ้นพระชนม์ลงด้วยพระชนมายุเพียง 43 ชันษา และหลังจากที่พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ลง ทายาทจึงขายวังนางเลิ้งให้กับ กรมยุวชนทหารบก ต่อมา เมื่อพ.ศ.2491 วังนี้ใช้เป็นที่ตั้งของ โรงเรียนพณิชยการพระนคร ปัจจุบันคือ คณะบริหารธุรกิจและคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โดยที่พระตำหนักใหญ่ที่รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานให้นั้น ถูกรื้อมาทำเป็นอาคารไปแล้ว คงเหลือแต่เพียงเรือนหมอพร และประตูวัง ที่อยู่ด้านหลังศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่สร้างไว้เป็นที่ระลึกทางด้านหลังโรงเรียน

5. วังปารุสกวัน 

p1130496_resize
ตั้งอยู่หัวมุมถนนพิษณุโลก ตัดกับถนนราชดำเนินนอก เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นวังที่ร.5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังที่ประทับใกล้พระราชวังสวนดุสิต โดยทรงพระราชทาน พระตำหนักสวนจิตรลดาแด่พระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ส่วนพระตำหนักสวนปารุสกวัน ทรงพระราชทานแด่ จอมพลสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวง พิษณุโลกประชานาถ

“วังปารุสกวัน” มาจากชื่อ สวนดอกไม้บนสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ของพระอินทร์ มี 4 แห่ง คือ  สวนมิสกวัน สวนปารุสกวัน สวนจิตรลดาวัน และสวนนันทวัน ด้านหลังของวัง เป็นสวนดอกไม้ จัดอย่างมีระเบียบ แวดล้อมด้วยไม้ใหญ่ร่มรื่น ราวกับสวนในอังกฤษ บรรยากาศสวยงาม

ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียน ลักษณะทางสถาปัตยกรรม เป็นแบบคลาสสิก ก่ออิฐถือปูน ตามแบบวิลลา ของอิตาลี ทาสีครีม เดิมตัวพระตำหนักมี 2 ชั้น โดยชั้นล่างเป็นท้องพระโรง และห้องรับแขก ห้องพักผ่อน ส่วนชั้นบน จัดเป็นบริเวณที่ประทับ ส่วนพระองค์ ห้องพระชายา ห้องพระบรรทม ห้องแต่งพระองค์ ห้องสรง และห้องทรงพระอักษร ต่อมามีการต่อเติมตัวพระตำหนักเพิ่มเป็น 3 ชั้น โดยชั้นบน จัดเป็นห้องพระบรรทม

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ. 2475 วังปารุสกวัน เป็นที่ทำการของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ก่อนจะย้ายไปยัง พระที่นั่งอนันตสมาคม ปัจจุบันใช้เป็นที่ทำการของ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์กรมตำรวจ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล

6. วังเพ็ชรบูรณ์ 

1410995694-image-o

ตั้งอยู่ริมถ.พระราม 1 และถ.ราชดำริ เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย พระราชโอรสองค์ที่ 72 ในรัชกาลที่ 5 สำหรับที่ตั้งวังเพ็ชรบูรณ์คือ พระราชวังปทุมวัน ซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเสด็จประพาสและให้ประชาชนไปแล่นเรือ โดยโปรดให้ขุดสระใหญ่ 2 สระติดกัน โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพลับพลา 2 ชั้น สำหรับประทับแรม ริมสระมีพลับพลาเสด็จออกและโรงละคร พร้อมกับตำหนักฝ่ายใน โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดใกลักับพระราชวัง พระราชทานนามว่า วัดปทุมวนาราม

ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัยเสด็จกลับจากศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชวังปทุมวัน นี้ว่า “วังเพ็ชรบูรณ์” ภายในวังประกอบด้วยตำหนัก ซึ่งมีชื่อเป็นเพลงไทยเดิม เนื่องจากทรงมีความสนพระทัยในด้านนาฏศิลป์ และดุริยางคศิลป์ แต่ต่อมาวังเพ็ชรบูรณ์ ได้ถูกขอเช่าที่ดินไปสร้างเป็น Central World ถ.ราชประสงค์ ปัจจุบัน

7. วังลดาวัลย์

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ตั้งอยู่ติดถนน 3 ด้าน คือ ถ.ประชาธิปไตย, ถ.ลูกหลวง และถ.ราชสีมา ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ลักษณะเป็นตำหนักก่ออิฐถือปูน มีความสูง 2 ชั้น ตำหนักชั้นล่างมีเครื่องตกแต่งเป็นแบบฝรั่ง ชั้นบนตกแต่งเป็นแบบจีน มุขด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นหอคอยมีบันไดเวียนขึ้นไปชั้นสาม ซึ่งเป็นหอประดิษฐานพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชตามแบบฉบับของตำหนักที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5

สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2449 ตามพระราชประสงค์ของร.5 เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ (ต้นราชสกุลยุคล) เมื่อคราวใกล้จะสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ

ต่อมาในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา รัฐบาลญี่ปุ่นในขณะนั้นเคยเช่าใช้เป็นหอวัฒนธรรมญี่ปุ่น และเคยใช้เป็นที่พำนักของกองกำลังทหารจากสหประชาชาติ ครั้นในช่วงปลายสงคราม พ.ศ.2488 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  ได้ติดต่อขอซื้อวังลดาวัลย์จากพระทายาทเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นของต่างชาติ วังลดาวัลย์จึงอยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตั้งแต่นั้นมา

8. วังวรดิศ

HELLO-01

วังที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตั้งอยู่บนถ.หลานหลวง และถ.ดำรงค์รักษ์  ใกล้ตลาดสะพานขาวปัจจุบันใช้จัดแสดงเป็น พิพิธภัณฑ์และหอสมุด สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 โดยสร้างจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และร.6 เป็นค่าก่อสร้างทั้งหมดรวม 50,000 บาท ออกแบบโดย Karl Doehring นายช่างชาวเยอรมัน สร้างขึ้นสมัยปลายรัชกาลที่ 5 และมาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6

ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก เป็นอาคารสูง 2 ชั้น รูปตัวแอล หลังคาทรงจั่วหักมุมตอนปลาย มีความชันมากจนใต้หลังคาสามารถใช้เป็นห้องเก็บของได้ มุงด้วยกระเบื้องดินเผาไม่เคลือบสี หลังคาด้านหน้าและด้านข้างมีหน้าต่างเล็กบนลาดหลังคาเพื่อระบายอากาศแบบยุโรป ภายในเป็นพื้นไม้

วังนี้ได้รับการอนุรักษ์โดยพลตรี หม่อมราชวงศ์สังขดิศ ดิศกุล ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม เมื่อ พ.ศ. 2527 และได้รับการเสนอโดย UNESCO ให้ร่วมอนุรักษ์เป็นอาคารประวัติศาสตร์โลก

9. วังเทวะเวสม์

K6804468-38Credit Photo: อัครชัย อังศุโภไคย

ร.6 ทรงสร้างพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เมื่อ พ.ศ. 2457 บนที่ดิน 24 ไร่ 3 งาน 78 ตารางวา ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตำหนักใหญ่ วังเทวะเวสม์ ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยเอดเวิร์ด ฮีลีย์ สถาปนิกชาวอังกฤษ ลักษณะเป็นอาคารแบบยุโรป 3 ชั้น หันหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ศิลปะแบบนีโอคลาสสิค ประกอบด้วยเสาไอโอนิก (Ionic) ที่มุขทางเข้าตำหนัก และเสาแบบคอรินเธียน (Corinthian) ที่ผนังอาคารชั้นบน ซึ่งออกแบบโดย การก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2461

อาคารย่อย ประกอบด้วยตึก 7 หลัง ออกแบบโดย E.G. Gollo สถาปนิกชาวอิตาเลียน ผู้ดูแลการก่อสร้างพระที่นังอนันตสมาคม ปัจจุบัน อาคารทั้ง 7 หลัง คงเหลือเพียง 3 หลัง คือ ตึกหม่อมลม้าย ตึกหม่อมจันทร์ ตึกหม่อมปุ่น และเรือนแพ

หลังจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.2466 กระทรวงสาธารณสุขได้ซื้อวังเทวะเวสม์จากทายาท และได้ใช้เป็นที่ตั้งกระทรวงตั้งแต่ พ.ศ.2493  เมื่อหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขมากขึ้นและคับแคบ ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งอยู่ที่วังบางขุนพรหมติดกันทางทิศใต้ ต้องการขยับขยาย จึงได้มีการเจรจาแลกพื้นที่กัน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ซื้อที่ดิน 400 ไร่ ในจังหวัดนนทบุรี พร้อมทั้งสร้างอาคารให้ แลกกับการเข้าไปเป็นเจ้าของพื้นที่ทั้งหมดของวังเทวะเวสม์ เมื่อพ.ศ.2530

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานในวังเทวะเวสม์ตั้งแต่พ.ศ. 2538  ได้บูรณะเรือนแพ และตำหนักใหญ่ แล้วเสร็จ เปิดเป็นพิพิธภัณฑสถาน โดยเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2547

10. วังสระปทุม

199_20121115134111.

ตั้งอยู่บริเวณเขตปทุมวัน ทิศเหนือติดคลองแสนแสบ ทิศตะวันออกติดคลองอรชรริมวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ทิศใต้ติดถ.พระรามที่ 1 และทิศตะวันตกติดถ.พญาไท ปัจจุบัน พื้นที่ของวังแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกเป็นพื้นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่วนที่ 2 เป็นพื้นที่ให้เช่าทำศูนย์การค้าต่าง ๆ เช่น สยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์, สยามเซ็นเตอร์ และสยามพารากอน

ร.5 มีพระราชดำริจะพระราชทานที่ดินบริเวณนี้ ให้เป็นสถานที่สร้างวังของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ พระราชโอรสซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า แต่เนื่องจากในขณะนั้นพระองค์ได้เสด็จไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ  จึงยังไม่มีการสร้างพระตำหนักขึ้นตราบกระทั่งร.5 เสด็จสวรรคต หลังจากนั้น ร.6 จึงได้พระราชทานสิทธิ์ในที่ดินให้เป็นของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ในเวลาต่อมา

หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ทรงสำเร็จการศึกษากลับมายังประเทศไทยแล้ว สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โปรดให้สร้างพระตำหนักขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระราชโอรส โดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ได้ประทับอยู่พระตำหนักนี้จนสิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2472 อย่างไรก็ตาม วังสระปทุมยังคงใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเรื่อยมาจนกระทั่งพระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อปีพ.ศ. 2538  หลังจากนั้นร.9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสระปทุมให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จนถึงปัจจุบัน

11. วังวาริชเวสม์

วังวาริชเวสม์

วังวาริชเวสม์ ตั้งอยู่ที่ซอยสุโขทัย 6 ถ.สุโขทัย เขตดุสิต สร้างขึ้นในพ.ศ. 2476 (1ปี ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง) เพื่อเป็นที่ประทับของพระองค์เจ้าวาปีบุษบากร พระธิดาในร.5 โดยมีพระสาโรชรัตนิมมานก์ สถาปนิกไทยรุ่นบุกเบิกที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศเป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง

ปัจจุบัน วังวาริชเวสม์ เป็นอาคารอนุรักษ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และครอบครองการใช้ประโยชน์โดยบริษัทแม็ทชิ่ง สตูดิโอ จำกัด (มหาชน)

12. วังสวนผักกาด

Heinrich DammCredit Photo: Heinrich Damm

เดิมเป็นสวนผักกาด เป็นวังที่ประทับของพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต หรือ เสด็จในกรมฯ และ หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร  ตั้งอยู่บนพื้นที่ 6 ไร่ บนถ.ศรีอยุธยา เขตราชเทวี โดยสร้างเพื่อประทับในช่วงสุดสัปดาห์ และเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าชมศิลปะและโบราณวัตถุ โดยที่เจ้าของบ้านยังใช้เป็นที่พำนักอยู่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2495  ภายหลังจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. 2502  พระชายา คือ หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ได้มอบให้วังสวนผักกาดอยู่ในความดูแลของมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์  และเปิดเป็น พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดตั้งแต่นั้นมา

ขอบคุณข้อมูลจาก

  • wikipedia
  • baanmaha.com