ทางด่วนใหม่กำลังจะไปเยือนราชพฤกษ์, กาญจนาภิเษก, บรมฯ และสิรินธร โดยเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องทางวิ่งฉิวๆตัดตรงไปจากทางแยกกำแพงเพชร วิ่งเข้าพระราม 6 ข้ามไปฝั่งธนบุรี รอบนี้มี เฮ บ้านเดี่ยวทั้งหลายฝั่งราชพฤกษ์จะมีทางด่วนใช้แล้วครับ!

จุดขึ้น-ลงทางด่วน 7 จุด

  1. บริเวณถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก)
  2. ทางขึ้นลงราชพฤกษ์
  3. ทางแยกต่างระดับบรมราชชนนี
  4. ทางขึ้นลงบางบำหรุหรือถนนสิรินธร
  5. ทางขึ้นลงจรัญสนิทวงศ์
  6. ทางขึ้นลงพระราม 6
  7. ทางขึ้นลงกำแพงเพชรตรงทางแยกต่างระดับศรีรัช (ด่วนขั้นที่ 2)

ที่มา: หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

นายกฯลงนามออกกฎหมายเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทาง ด่วนสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก มูลค่ากว่า 27,000 ล้านบาท คาดสิ่งปลูกสร้างถูกเวนคืน 700 หลัง ที่ดินถูกแจ๊กพอต 700 แปลง กำหนดก่อสร้าง 3 ปี พร้อมเปิดบริการในเดือน เม.ย. 59

แหล่งข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเวนคืนที่ดินโครงการทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และเขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย เขตบางซื่อ และเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2555 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา มีระยะเวลาบังคับ 4 ปี โดยมีส่วนแคบที่สุดในการเวนคืน 200 เมตร และส่วนกว้างที่สุด 3,000 เมตร คาดว่าจะมีการเวนคืนสิ่งปลูกสร้าง 700 หลังคาเรือน และที่ดิน 700 แปลง ซึ่งใช้เวลาอีก 6-7 เดือนจะส่งมอบพื้นที่ให้บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีซีแอล ที่เสนอผลตอบแทนให้ กทพ. ดีที่สุด

ทั้งนี้ กทพ. จะนำเสนอโครงการทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ระยะทาง 16.7 กิโลเมตร มูลค่า 27,022 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเวนคืนที่ดิน 9,564 ล้านบาท และค่าก่อ สร้าง 17,458 ล้านบาท ให้คณะ รัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติภายในเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นจะลงนามในสัญญากับบีอีซีแอลประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2555 โดยกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จใน 3 ปี พร้อมเปิดให้บริการเดือนเมษายน 2559

สำหรับโครงการทางด่วนสายนี้ก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร มีจุดขึ้น-ลงทางด่วน 7 จุดคือ 1.บริเวณถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก) 2.ทางขึ้นลงราชพฤกษ์ 3.ทางแยกต่างระดับบรมราชชนนี 3.ทางขึ้นลงบางบำหรุหรือถนนสิรินธร 5.ทางขึ้นลงจรัญสนิทวงศ์ 6.ทางขึ้นลงพระราม 6 และ 7.ทางขึ้นลงกำแพงเพชรตรงทางแยกต่างระดับศรีรัช (ด่วนขั้นที่ 2) และมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อขยายโครงข่ายของทางพิเศษในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในทางทิศตะวันตก เพื่อแบ่งเบาปริมาณการจราจรระดับดิน และระบายการจราจรทางด้านทิศตะวันตกระหว่างกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนแนวสายทางโครงการเริ่มต้นที่ทางพิเศษศรีรัช โดยมีจุดเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชบริเวณด้านเหนือของสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) จากนั้นแนวสายทางจะไปทางทิศตะวันตก โดยใช้พื้นที่เขตทางรถไฟสายตะวันตก (สายใต้เดิม) ตั้งแต่บริเวณบางซื่อและข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสะพานพระราม 6 หลังจากนั้นแนวสายทางยังคงไปตามเขตทางรถไฟ โดยขนานไปกับถนนบรมราชชนนีจนถึงถนนวงแหวน รอบนอกด้านตะวันตก

ที่มา: หนังสือพิมพ์ โลกวันนี้