…สวัสดีครับทุกคน ในตอนที่ผมลงบทความนี้ก็ยังคงอยู่ในช่วงหน้าฝนกันอยู่เลยเนาะ หรือแม้แต่เวลานี้ที่ผมกำลังพิมพ์อยู่ฝนก็ยังตกพรำๆอยู่เลย ซึ่งผมเชื่อเหลือเกินว่า “ฝน” เป็นปัญหาใหญ่สำหรับใครหลายๆคน ไม่ว่าจะเป็นรถที่ปกติก็ติดอยู่แล้วก็ยิ่งติดเข้าไปใหญ่ น้ำท่วม ตลาดวาย คนอยากเดินก็เดินไม่ได้ พ่อค้าแม่ค้าอยากขายก็ไม่ได้ขาย กลับบ้านไปฝนสาดเข้ามาในบ้าน ฝ้าก็รั่ว ผนังแตกน้ำก็ซึม พื้นบวม เฟอร์นิเจอร์เปียกเสียหาย …OMG!!

ดังนั้นผมจึงได้เขียนบทความนี้ขึ้นมา เพื่อให้ทุกคนได้เตรียมความพร้อมของตัวบ้าน และตัวคุณเอง ว่ามีจุดไหนที่เป็นจุดเสี่ยงและเป็นจุดสังเกตที่จะเกิดปัญหาเหล่านี้ได้ง่าย แล้วเราจะมีวิธีการรับมืออย่างไร ซึ่งหากเราได้รู้สิ่งต่างๆเหล่านี้ ก็จะช่วยป้องกันความเสี่ยงหรือช่วยลดปัญหาต่างๆนี้ไปได้ครับ

สำหรับบ้านที่เราอยู่กันทุกวันนี้ มีจุดเสี่ยงที่น้ำฝนสามารถรั่วหรือซึมผ่านเข้าไปภายในได้หลายจุด โดยเฉพาะส่วนภายนอกที่จะต้องสัมผัสกับน้ำฝนโดยตรง หรือตามรอยต่อต่างๆ ได้แก่

  • หลังคา : เป็นฟังก์ชันส่วนแรกที่อยู่ด้านบนสุด ช่วยกันแดดกันฝนให้กับตัวบ้าน มีโอกาสที่น้ำฝนจะรั่วผ่านได้ง่ายที่สุด
  • ผนัง : เป็นพื้นผิวภายนอกของอาคารที่ช่วยกันแดด กันฝน และกันลมจากทางด้านข้าง หากมีรอยร้าวหรือรอยแยก น้ำก็สามารถซึมผ่านเข้ามาได้เช่นกัน
  • ประตู/หน้าต่าง : เป็นช่องเปิดของอาคาร และเป็นจุดมีรอยต่อที่เสี่ยงต่อการที่น้ำจะไหลย้อนเข้าสู่ภายใน
  • พื้นบ้าน : มีจุดที่ต้องระวังคือ Slope และระดับความสูงของพื้น ถึงแม้ตัวบ้านจะป้องกันน้ำได้ดี แต่หากระดับความสูงหรือการระบายน้ำไม่ดี ก็อาจเสี่ยงที่น้ำจะท่วมได้ครับ


ปัญหาน้ำรั่วซึมของหลังคา

หลังคาบ้านมีหลากหลายแบบเลยนะครับ ซึ่งส่วนใหญ่ที่เราพบก็มักจะเป็นหลังคาทรงหน้าจั่วหรือทรงปั้นหยากันใช่มั๊ย แต่ปัจจุบันนี้ก็เริ่มมีการใช้หลังคาทรงเรียบ หรือที่เราเรียกกันว่า เพิงหมาแหงน หรือแฟลตสแลป ในการออกแบบบ้านสไตล์โมเดิร์นกันมากขึ้น รวมไปถึงชั้นดาดฟ้าของอาคารพาณิชย์หรือคอนโดมิเนียมที่เป็นพื้นคอนกรีต ก็ทำหน้าที่เป็น Top ด้านบนสุดของอาคารเหมือนหลังคาก็เช่นกันครับ

(ขอบคุณภาพประกอบจาก SCG)

โดยความสามารถในการป้องกันแดดและฝนของหลังคาแต่ละชนิดก็ไม่เท่ากันนะครับ และยิ่งหลังคามีรอยต่อมากเท่าไหร่ หรือมีความลาดเอียงที่ไม่เหมาะสม ก็มีสิทธิ์ที่น้ำฝนจะรั่วหรือไหลย้อนเข้าสู่ตัวบ้านได้ง่าย

  • ทรงเพิงหมาแหงน ก็จะมีความลาดเอียงเพื่อระบายน้ำฝนไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เป็นทรงที่จะพยายามทำให้มีความลาดเอียงที่น้อยที่สุด ทำให้เรียบที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งก็ต้องใช้วิศวะกรในการคำนวณ จึงจะได้ค่าที่ถูกต้องที่สุดครับ
  • ทรงปั้นหยา เป็นทรงที่ได้รับความนิยมมากที่สุด สามารถพบเห็นได้ตามโครงการจัดสรรทั่วๆไป ช่วยป้องกันแดดและช่วยระบายน้ำฝนรอบตัวบ้านได้ดีที่สุดอีกด้วย
  • ทรงจั่ว ที่ได้รับความนิยมรองลงมา ซึ่งหลังคาชนิดนี้จะมีการระบายน้ำ 2 ทาง ดังนั้นจึงเป็นหลังคาที่มีทรงความลาดเอียงที่ชันที่สุด ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มเห็นมีการทำห้องใต้หลังคา หรือเปิดฝ้าที่ชั้นบนสุดให้สูงเท่ากับหลังคาเพื่อความโปร่งโล่งภายในกันมากขึ้นครับ

(ปล.ขอบคุณภาพประกอบจาก SCG)

จุดเสี่ยงของหลังคาที่น้ำฝนมีโอกาสจะรั่วได้ง่ายที่สุดประกอบด้วย

  • สันหลังคา
  • สันตะเข้
  • ตะเข้ราง
  • กระเบื้องมุงหลังคา
  • เชิงชาย
  • พื้นระเบียงหรือหลังคาคอนกรีต

จะเห็นได้ว่าที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนั้น แทบจะเป็นทุกส่วนของหลังคาเลยนะครับ อย่างที่ผมบอกไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า จุดที่เสี่ยงที่สุดก็คือตามรอยต่อต่างๆ ยิ่งหลังคามีความสลับซับซ้อนหรือมีรอยต่อมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีจุดเสี่ยงที่น้ำฝนจะรั่วมากขึ้นตามเท่านั้น งั้นเราไปดูกันเลยดีกว่าครับว่าแต่ละส่วนนั้นมีการพบปัญหาอะไร แล้วเราจะป้องกันหรือแก้ไขด้วยวิธีไหนได้บ้าง

1. สันหลังคาและสันตะเข้

เป็นส่วนบนสุดของหลังคาที่ระนาบหลังคาชนกันเป็นสันขึ้นมา (เหมือนสันขอบพีรามิด) โดยปกติแล้วกระเบื้องที่นำมาปูนั้นจะไม่ได้แนบสนิทกันเลยซะทีเดียว แต่จะมีขอบรอยต่อที่ห่างกันอยู่เล็กน้อย ซึ่งส่วนนี้เองช่างเค้าจะใช้ครอบสันมาปิด (ครอบสันหลังคาและครอบสันตะเข้) เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนไหลซึมเข้าสู่รอยต่อของหลังคา

สำหรับบ้านส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะบ้านยุคเก่าๆ 10 ปีขึ้นไป) การปิดรอยต่อของครอบสันจะใช้ระบบครอบหลังคาแบบเปียก เป็นการยึดครอบสันหลังคาด้วยปูนทรายหรือปูนซีเมนต์ ซึ่งหากเป็นช่างที่เก็บรายละเอียดดีๆหน่อยก็จะมีการสกัดรูปทรงปูนให้เรียบเสมอไปกับครอบสัน แล้วจึงทาสีให้เนียนไปกับตัวหลังคาครับ

ปัญหาที่เจอบ่อย : ปูนทรายหรือปูนซีเมนต์จะมีการเสื่อมสภาพได้ตามกาลเวลาและตามสภาพอากาศ เมื่อปูนไม่ยึดเกาะแล้วก็จะเกิดรอยแยกหรือรอยแตก น้ำก็จะรั่วซึมเข้าไปได้ หรือถ้าช่างเก็บงานไม่ละเอียด แล้วมีช่องว่าเกิดขึ้น น้ำก็อาจรั่วได้เช่นกันครับ

(ขอบคุณภาพประกอบจาก SCG)

วิธีการแก้ปัญหา : ปัจจุบันในวงการก่อสร้างมีเทคโนโลยีใหม่ที่ชื่อว่า Drytech System เป็นวิธีการปิดครอบสันหลังคาด้วยชุดอุปกรณ์สำเร็จรูป ที่ทำจากพลาสติกสังเคราะห์ที่ทนความร้อนของแดดได้สูง อายุการใช้งานยาวนาน ด้านในเสริมโครงสร้างด้วยตะแกรงอลูมิเนียมเพื่อให้ดัดเข้ารูปกับลอนกระเบื้องได้ และมีแถบกาวช่วยในการยึดเกาะกับกระเบื้อง ทำให้แนบสนิทเรียบเนียนไปกับพื้นผิววัสดุ ช่วยป้องกันน้ำไหลย้อนเข้าไปด้านในได้ดี จากนั้นจึงนำครอบสันมาวางปิดด้านบนแบบปกติ เท่านี้ก็จะดูเรียบร้อยดี ไม่มีขอบปูนหรือเศษปูนออกมาเลอะเทอะภายนอกเหมือนเก่าแล้วครับ

2. ตะเข้ราง

เป็นแนวบรรจบกันของผืนหลังคาสองระนาบ ทำให้เกิดเป็นทางระบายน้ำ ซึ่งก็เช่นเดียวกับสันหลังคาและสันตะเข้ครับ ตรงส่วนรอยต่อนี้จะมีรอยแยกเกิดขึ้น โดยตะเข้รางจะไม่ได้มีตัวครอบเหมือนกับตรงครอบสันหลังคานะ แต่ข้างใต้จะมีแผ่นสังกะสีหรือแผ่นสแตนเลสที่ทำหน้าที่เป็นรางน้ำรูปตัว V เพื่อช่วยระบายน้ำอยู่ครับ

ปัญหาที่เจอบ่อย : แผ่นสังกะสีหรือแผ่นสแตนเลสที่นำมาทำเป็นรางน้ำ มีปีกรางที่กว้างน้อยเกินไป ทำให้เวลาฝนตกหนักๆ ระบายน้ำไม่ทัน น้ำล้น หรือกระเซ็นออกด้านข้างขอบราง

วิธีการแก้ปัญหา : ปกติแล้วปีกรางโดยทั่วไปจะกว้างข้างละประมาณ 12 cm. ซึ่งอาจไม่เพียงพอในการณีที่เกิดฝนตกหนักหรือมีลมกรรโชกมากจริงๆ ดังนั้นจึงควรเปลี่ยนมาใช้รางน้ำที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มีปีกกว้าง 15 – 18 cm. ขึ้นไป เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีน้ำกระเซ็นหรือล้นออกมาด้านนอกแน่นอน แต่ทั้งนี้ยิ่งรางมีความกว้างหรือใหญ่มากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นตามมาด้วยเช่นกันนะครับ

3. กระเบื้องมุงหลังคา

เป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะช่วยป้องกันบ้านจากแดด ลม และฝน ซึ่งกระเบื้องที่ใช้มุงหลังคาก็มีหลากหลายประเภทและหลากหลายแบบ รวมถึงแต่ละแบบก็มีความลาดชัน (Slope) ที่เหมาะสมแตกต่างกันไป ได้แก่

  • กระเบื้องซีเมนต์ใยหิน ความลาดชันที่เหมาะสมคือ 10 องศาขึ้นไป
  • กระเบื้องคอนกรีตรูปสี่เหลียมขนมเปียกปูน ความลาดชันที่เหมาะสมคือ 30-45 องศา
  • กระเบื้องโมเนียร์ ความลาดชันที่เหมาะสมคือ 17 องศาขึ้นไป
  • กระเบื้องดินเผา ความลาดชันที่เหมาะสมคือ 20 องศาขึ้นไป
  • หลังคาประเภทอื่นๆ ความลาดชันที่เหมาะสมประมาณ 30 – 45 องศา

นอกจากนี้ความลาดชันองศาต่างๆ ก็มีระยะการทับซ้อนของกระเบื้องหลังคาที่แตกต่างกันออกไป คือ

  • ความลาดชันของหลังคา 10 – 20 องศา ต้องมีระยะทับซ้อน 20 cm.
  • ความลาดชันของหลังคา 21-40 องศา ต้องมีระยะทับซ้อน 15 cm.
  • ความลาดชันของหลังคา 41-60 องศา ต้องมีระยะทับซ้อน 10 cm.
  • ความลาดชันของหลังคา 60 องศาขึ้นไป ต้องมีระยะทับซ้อน 5 cm.

ซึ่งจะเห็นได้ว่า ยิ่งหลังคามีความลาดชันมากขึ้นเท่าไหร่ นอกจากจะสามารถระบายน้ำได้ดีและรวดเร็วที่สุดแล้ว ยังมีระยะทับซ้อนได้น้อยลง เพราะความเร็วที่น้ำไหลผ่านนั้นทำให้ยากที่น้ำจะไหลย้อนได้นั่นเองครับ แต่หลังคาก็จะค่อนข้างสูงชัน และไม่สวยงามสำหรับบางคนนะ

ปัญหาที่เจอบ่อย : สาเหตุหลักๆที่น้ำรั่วซึมจากหลังคา นอกจากความลาดชันและระยะทับซ้อนของแผ่นกระเบื้องที่ไม่ได้มาตรฐานตามที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ก็จะมีเรื่องการแอ่นและยุบตัวของแผ่นกระเบื้อง รวมถึงการเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ที่ผ่านระยะเวลาการใช้งานที่ยาวนาน ทำให้แผ่นกระเบื้องไม่สามารถกันน้ำได้เต็มประสิทธิภาพ น้ำจึงไหลย้อนเข้าไปได้นั่นเองครับ

(ขอบคุณภาพประกอบจากบริษัท เซรามิคโค๊ตติ้งทีม จำกัด)

วิธีการแก้ปัญหา : มีอยู่ด้วยกันหลายวิธีครับ ส่วนใหญ่ถ้าเป็นจุดที่มีรอยแตก/รอยบิ่น หรือช่องว่างระหว่างแผ่นกระเบื้องที่ไม่มาก ก็มักจะใช้ปูน อะคริลิค หรือโพลียูรีเทน (PU) ทาปิดทับอีกที ซึ่งไม่แนะนำให้ใช้ซิลิโคน (Silicone Sealant) ในการปิดรอยสำหรับงานภายนอกนะครับ เพราะไม่ค่อยทนแดดและฝน อาจเสื่อมสภาพได้เร็วครับ

ซึ่งวัสดุชนิดนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสีขาวหรือสีเทา ก็สามารถให้ช่างทาสีหรือพ่นสีทับลงไป ก็จะดูเรียบเนียนไปกับหลังคาทั้งผืนครับ แต่หากหลังคาเสียหายแตกเป็นช่องว่างขนาดใหญ่ ก็แนะนำให้เปลี่ยนแผ่นกระเบื้องตรงเฉพาะจุดที่เสียก็พอนะ

ปัญหา : อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้หลังคารั่วซึมได้ง่าย หรือป้องกันน้ำฝนได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ คือการใช้วัสดุมุงหลังคาที่ต่างประเภทหรือต่างชนิดกัน กรณีนี้ก็จะเหมือนกับสันหลังคาหรือสันตะเข้ ที่เป็นจุดบรรจบของรอยต่อวัสดุคนละชนิด ซึ่งหากไม่มีการป้องกันหรือการจัดการที่ดีและเหมาะสม ก็อาจทำให้น้ำฝนสาดหรือไหลย้อนเข้าไปในช่องว่างนั้นๆได้ง่ายครับ

วิธีการแก้ปัญหา : ควรเลือกใช้วัสดุมุงหลังคาประเภทเดียวกัน เพื่อที่เวลาหลังคามาต่อกันจะได้แนบสนิทและเข้ากันได้ง่าย หรือหากจำเป็นที่จะต้องใช้วัสดุคนละประเภทก็จะต้องมีการอุดรอยต่อหรือช่องว่างให้ดี โดยการโบกปูนให้มิดชิด จากนั้นจึงปิดทับด้วยอะคริลิค หรือโพลียูรีเทน (PU) แบบเดียวกับที่ใช้อุดรอยต่อของกระเบื้องอีกทีเพื่อความมั่นใจ ว่าจะสามารถป้องกันรอยซึมรั่วได้ในทุกจุดครับ

แถมเกร็ดเล็กๆที่ไม่ควรมองข้ามคือ หัวน๊อต สกรู อุปกรณ์ยึดหลังคาที่อาจเสื่อมสภาพตามกาลเวลา หรือเกิดจากช่างทำงานไม่เนียบ เจาะรูใหญ่เกินไปทำให้เกิดช่องว่าง หรือรอยแยกและรอยแตกจากการทำงานกับหลังคาส่วนนั้น ก็อาจทำให้น้ำฝนรั่วซึมได้เช่นกันครับ ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจเช็ค และถ้าพบก็แค่ยาแนวด้วย อะคริลิค หรือโพลียูรีเทน (PU) มาอุดรูไว้เท่านั้นก็พอครับ

4. เชิงชายและปีกนก

เป็นส่วนที่อยู่ปลายสุดและเป็นตัวจบของหลังคา ซึ่งช่วยป้องกันฝนหรือแดดไม่ให้ส่องหรือสาดโดนผนังหรือประตูหน้าต่าง โดยทั่วไปเราจะเห็นเชิงชายยื่นยาวออกมาห่างจากตัวบ้านประมาณ 1 m. แต่ก็มีบ้านบางหลังที่ถูกออกแบบมาให้ไม่มีเชิงชาย หรือมีแบบน้อยมากๆอยู่เหมือนกันครับ รวมถึงขอบปีกนกต่างๆที่เรามักจะเห็นตามวงกบประตูหน้าต่างภายนอก ก็มีความเสี่ยงที่น้ำจะไหลย้อนเข้าไปได้หากไม่มีการป้องกันดีๆ

ปัญหาที่เจอบ่อย : 

  • 1. เชิงชายสั้นเกินไป เวลาฝนตกหนักๆ แล้วมีลมกรรโชกแรง ก็มีโอกาสที่น้ำฝนจะไหลย้อนเข้าไปด้านในได้
  • 2. รอยแยกระหว่างเชิงชายกับผนัง ซึ่งเกิดจากการก่อสร้างที่ผิดวิธี เพราะโดยปกติแล้วเชิงชายจะต้องติดอยู่ด้านนอกของผนัง แต่กรณีในภาพตัวอย่างนั้น ช่างทำการก่อผนังขึ้นมาจบที่ใต้เชิงชาย หรือไม่ก็ติดเชิงชายด้านบนผนังพอดี ซึ่งไม่ว่าจะเป็นไม้หรือวัสดุอะไรก็ตาม จะมีการยืดหดตัวได้ในอนาคต จึงทำให้เกิดรอยแยกขึ้นมาครับ
  • 3. ช่องว่างระหว่างปีกนกของตัวบ้านและหลังคา ซึ่งเป็นวัสดุคนละประเภทและไม่มีการป้องกันหรือไม่ปิดช่องว่างให้เรียบร้อย น้ำก็มีสิทธิ์ไหลย้อนได้เช่นกัน

วิธีการแก้ปัญหา :

  • 1. กรณีหากต้องการแบบบ้านที่มีเชิงชายที่สั้นมากๆ หรือแทบจะไม่มีเลย จะต้องเผื่อระยะเชิงชายหรือกระเบื้องให้ยื่นยาวออกมาอย่างน้อยสุดคือไม่ต่ำกว่า 12 – 15 cm. เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลย้อนได้
  • 2. กรณีช่างก่อสร้างผิดวิธี อาจต้องรื้อแล้วติดตั้งเชิงชายใหม่ทั้งหมด หรือไม่ก็ติดตั้งแถบแผ่นสังกะสีหรือสแตนเลส ให้ดัดเป็นรูปตัว L ตามทรงของเชิงชายและผนัง แล้วนำมาแทรกกลางระหว่างช่องว่างเชิงชายและผนัง เพื่อทำหน้าที่เป็นรางน้ำป้องกันการไหลย้อนเข้าไปด้านในอีกชั้นหนึ่ง จากนั้นจึงอุดขอบต่างๆด้วยยาแนวเพื่อความแน่ใจว่าน้ำจะไม่ซึมเข้าไปได้ครับ
  • 3. กรณีน้ำไหลย้อนเข้าปีกนกตามภาพ จะต้องหาปูนมาอุดรูดังกล่าว แล้วทาอะคริลิค หรือโพลียูรีเทน (PU) เพื่อกันน้ำซึมผ่านนะ

(ขอบคุณภาพประกอบจาก SCG)

อีกวิธีหนึ่งคือการติดตั้งรางน้ำฝน ซึ่งเป็นวิธีที่จะช่วยระบายน้ำลงสู่พื้นดินได้ดีที่สุด น้ำก็จะไม่กระเด็นเลอะเทอะอีกด้วย แต่ก็ต้องหมั่นดูแลรักษาและทำความสะอาดอยู่เสมอนะครับ เพื่อไม่ให้มีใบไม้หรือสิ่งสกปรกมาอุดตันราง อย่างน้อยปีละ 1 – 2 ครั้งกำลังดี โดยเฉพาะช่วงเวลาก่อนเข้าหน้าฝน เพื่อเตรียมความพร้อมของรางก่อนจะรับน้ำหน้าฝนครับ

ซึ่งหากใครที่ปลูกต้นไม้ไว้บริเวณบ้าน ก็ควรที่จะต้องหมั่นดูแลทำความสะอาดรางน้ำฝนอยู่สม่ำเสมอ รวมถึงคอยตัดแต่งกิ่งเพื่อไม่ให้รกเกินไปหรือเป็นอันตรายได้ เพราะเวลาเกิดพายุหนักๆจนกิ่งไม้ใหญ่หักโค่น ก็อาจสร้างความเสียหายให้กับหลังคาหรือตัวบ้านได้เช่นกันครับ

หลังคาของอาคารพาณิชย์และคอนโดมิเนียม

โดยทั่วไปแล้วหลังคาของอาคารพาณิชย์หรือคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่จะเป็นพื้นคอนกรีตหรือแฟลตสแลป รวมถึงปัจจุบันก็เริ่มมีบ้านที่ก่อสร้างเป็นแบบสไตล์โมเดิร์น และใช้หลังคาทรงเรียบนี้กันมากขึ้น ซึ่งหลังคาประเภทนี้หากขาดการบำรุงรักษาหรือไม่มีการป้องกันที่ถูกวิธี ก็อาจเกิดปัญหาน้ำรั่วซึมได้เช่นกันนะครับ

ปัญหาที่เจอบ่อย : ปกติแล้วผนังปูนหรือพื้นคอนกรีตจะมีความเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาไม่ต่างจากวัสดุอื่นอยู่แล้วครับ จากภาพตัวอย่างเป็นพื้นดาดฟ้าคอนกรีตที่ขาดการบำรุงรักษามาเป็นเวลานาน อีกทั้งความลาดเอียง (Slope) ไม่ได้ระดับ จึงทำให้น้ำท่วมขัง น้ำกัดเซาะและซึมเข้าเนื้อปูน เกิดรอยแตกของพื้น และรอยแยกของผนัง ซึ่งหากยิ่งปล่อยไว้นานวันเข้า ร่อยแตกต่างๆเหล่านี้ก็จะยิ่งกว้างและลึกขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อลึกไปถึงโครงเหล็กที่อยู่ด้านในก็อาจทำให้เหล็กกลายเป็นสนิม และส่งผลต่อความแข็งแรงของโครงสร้างอาคารได้ครับ

(ขอบคุณภาพประกอบจากผลิตภัณฑ์ Bosny)

วิธีการแก้ปัญหา : เราสามารถใช้สีอะคริลิคทา เพื่อป้องกันพื้นปูนจากความชื้นและการกัดเซาะของน้ำฝน ลม และแสงแดดได้ ซึ่งจะช่วยยืดอายุการใช้งาน และช่วยอุดรอยต่อหรือรอยแยกต่างๆได้ดีเลยทีเดียว โดยสีอะคริลิคนี้ก็ยังสามารถนำไปใช้ทาหลังคาต่างๆได้อีกด้วยนะ

หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือการปูกระเบื้องทับลงไปหลังจากปรับสภาพพื้นผิวคอนกรีตเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็จะสามารถช่วยยืดอายุการใช้งานของพื้นคอนกรีตได้เช่นกันครับ เพราะตัวกระเบื้องจะช่วยป้องกันเนื้อปูนที่อยู่ภายในไม่ให้สัมผัสกับน้ำหรือแสงแดดโดยตรง อีกทั้งยังมีความสวยงาม และสามารถทำความสะอาดง่ายอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นวิธีที่จะช่วยปรับ Slope ของพื้นให้น้ำไหลไปในทิศทางที่ถูกต้องได้อีกด้วย

ปล. กรณีที่มีการเทพื้นเพื่อปรับ Slope ใหม่ จะต้องคำนึงถึง พรบ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ได้กำหนดน้ำหนักบรรทุกขาจรขั้นต่ำไว้ สำหรับพื้นหลังคาคอนกรีตทั่วไปห้ามเกิน 100 kg./ตารางเมตร ดังนั้นขั้นตอนนี้จึงควรปรึกษาวิศวะกรจะดีที่สุดครับ

กันสาด

(ขอบคุณภาพประกอบจาก SCG)

ปกติแล้วหลังคาบ้านจะมีชายคายื่นยาวออกมาจากตัวบ้านประมาณหนึ่ง ซึ่งจะช่วยป้องกันฝนและแสงแดดได้เฉพาะช่วงชั้นที่หลังคานั้นๆปกคลุมอยู่เท่านั้น แต่หากเป็นบ้านหรืออาคารที่สูงมากกว่า 1 ชั้น ก็อาจไม่สามารถป้องกันชั้นที่อยู่ต่ำกว่ามากๆได้ ดังนั้นจึงต้องทำกันสาดขึ้นมาเพื่อช่วยป้องกันแสงแดดและน้ำฝนสาดเข้ามาในตัวบ้าน โดยเฉพาะบริเวณประตูและหน้าต่างครับ

ซึ่งเราสามารถตรวจสอบกันสาดได้ง่ายๆ โดยให้สังเกตจากตอนกลางวันว่ามีช่องว่างหรือมีแสงเข้าตรงรอยต่อระหว่างตัวกันสาดกับผนังหรือเปล่า ซึ่งหากมีก็สามารถแก้ไขได้ง่ายๆด้วยการยิงซีลีโคลนเพื่อปิดช่องเหล่านั้นให้เรียบร้อย เพราะไม่งั้นเวลาฝนตกน้ำจะรั่วลงมาแล้วไหลซึมเข้าทางหน้าต่าง หรืออาจโดนหลอดไฟแบบในภาพจนเสียหายได้ครับ


ปัญหาน้ำรั่วและซึมบริเวณผนัง ประตู และหน้าต่าง

“ผนัง” เป็นส่วนที่ช่วยปกป้องอาคารจากแสงแดด ลม และฝนทางด้านข้าง ซึ่งผนังเองก็มีหลากหลายชนิด แต่สามารถแยกออกเป็น 2 ประเภทง่ายๆคือ

  • 1. ผนังก่ออิฐฉาบปูน : นิยมใช้กับบ้านทั่วไป ซึ่งมีทั้งอิฐมอญแดง อิฐบล็อค และอิฐมวลเบา
  • 2. ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast) : นิยมใช้กับทั้งบ้านและอาคารคอนโดมิเนียมสูงๆโดยเฉพาะโครงการใหญ่ๆ หรือมีจำนวนยูนิตเยอะๆ เพราะเป็นผนังที่หล่อสำเร็จมาจากโรงงาน ได้มาตรฐานเท่ากันหมด แข็งแรงทนทาน และก่อสร้างได้รวดเร็ว

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นผนังโครงสร้างอะไรก็ตามก็สามารถรั่วซึมได้เช่นกัน หากผนังนั้นๆขาดการบำรุงรักษาที่ถูกวิธี หรือมีการก่อสร้างและต่อเติมที่ไม่ถูกต้อง ส่วนประตูและหน้าต่าง ถือเป็นช่องว่างของผนังที่ทำหน้าที่เป็นช่องแสง และช่องระบายอากาศของอาคาร ซึ่งบริเวณรอยต่อของวงกบกับผนังนั้น มีโอกาสที่น้ำจะไหลซึมเข้าไปได้เช่นกันครับ งั้นเราไปดูพร้อมๆกันเลยดีกว่านะว่ามีจุดเสี่ยงจุดไหนที่ต้องระวังและคอยสังเกตเป็นพิเศษบ้างครับ

(ขอบคุณภาพประกอบจาก SCG)

1. รอยร้าวบริเวณผนัง

ปัญหาที่เจอบ่อย : รอยร้าวนี้มีสาเหตุมาจากหลายๆปัจจัยด้วยกันได้แก่ การสูญเสียน้ำหรือความชื้นเร็วเกินไปในขณะก่อสร้าง ซึ่งส่งผลต่อการยืดหดตัวตามธรรมชาติของเนื้อปูน หรืออาจเป็นเพราะการใช้วัสดุที่ด้อยคุณภาพ และอาจมีสิ่งสกปรกเจือปนในเนื้อปูนโดยไม่ทันสังเกต และอีกสาเหตุหนึ่งคือการต่อเติมบ้าน ซึ่งอาจมีแรงสั่นสะเทือนหรือมีการรับน้ำหนักเพิ่มเติมที่มากเกินไปก็อาจทำให้ผนังเกิดรอยร้าวและมีน้ำฝนซึมผ่านเข้ามาได้ครับ และอย่างที่ผมเคยเกริ่นไปก่อนหน้านี้แล้วว่า หากยิ่งปล่อยไว้นานๆ รอยร้าวเหล่านี้ก็จะยิ่งกว้างและลึกขึ้นเรื่อยๆ จนน้ำหรือความชื้นอาจซึมเข้าไปจนถึงโครงเหล็กด้านในจนกลายเป็นสนิม สร้างความเสียหายหรือเป็นอันตรายต่อโครงสร้างอาคารได้ครับ

วิธีการแก้ปัญหา : ถ้าเป็นรอยร้าวที่เกิดจากการรับน้ำหนักส่วนเกินจากการต่อเติมบ้านนั้น หากเราสามารถปรับเปลี่ยนให้ผนังไม่ต้องรับภาระมากจนเกินไป แล้วไม่กระทบกับโครงสร้างอาคารส่วนอื่นๆ ก็ไม่จำเป็นต้องทุบผนังทิ้งก็ได้ครับ โดยวิธีการซ่อมผนังนี้ก็เพียงแค่ต้องสกัดผิวผนังไปตามรอยร้าวเพื่อเปิดแผลให้ใหญ่ขึ้นก่อน เพื่อที่ว่าเราจะได้ใช้ปูนโป้วลงไปแล้วจะได้ยึดติดไปตามร่องแผลได้ จากนั้นก็ทาสีทับลงไป เท่านี้ก็เสร็จแล้วครับ ^^

2. รอยร้าวตามมุมวงกบประตูหน้าต่าง

ปัญหาที่เจอบ่อย : คือบริเวณมุมของวงกบประตูหน้าต่างมักจะเกิดรอยแตกร้าวได้ง่าย สาเหตุมาจากบริเวณวงกบจะมีแรงดึงและการกระจายแรงบนผิวฉาบที่ไม่เท่ากัน อีกทั้งยังต้องคอยรับน้ำหนักของหน้าต่างอีกด้วย ดังนั้นจึงมักเกิดรอยร้าวได้ง่าย เวลาฝนตกแล้วสาดมาโดนผนังส่วนนี้ก็อาจทำให้มีน้ำไหลซึมเข้ามาตามรอยแตกนี้ครับ

วิธีการแก้ปัญหา : ในส่วนนี้จะเป็นสาเหตุมาตั้งแต่การก่อสร้างที่ไม่ได้คุณภาพ อาจมีการใส่ลวดกรงไก่น้อยเกินไป ซึ่งตัวลวดกรงไก่นี้เองจะเป็นตัวช่วยประสานและเพิ่มการยึดเกาะของปูนให้แข็งแรงและดียิ่งขึ้นครับ

หรืออีกวิธีหนึ่งคือการทำเสาเอ็นและคานทับหลังล้อมรอบวงกบประตูหน้าต่าง เพื่อเป็นตัวช่วยในการรับน้ำหนัก ซึ่งเสาเอ็นและคานทับหลังควรมีความหนาเท่ากับตัวผนัง (โดยทั่วไปคือ 7 cm. และสูง 10 cm.)

3. รอยแยกของวงกบกับผนัง

ปัญหาที่เจอบ่อย : จากภาพเป็นชุดหน้าต่างที่เป็นวัสดุประเภทไม้ โดยวัสดุประเภทนี้จะมีการยืดหดตัวตามธรรมชาติอยู่แล้ว พอใช้งานไปนานๆเข้าจึงเกิดการแยกตัวออกจากผนังได้ หรือจะเป็นวัสดุประเภทกรอบอลูมิเนียมที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน ซึ่งจะมีปัญหาเรื่องซิลิโคนที่เสื่อมสภาพ ก็อาจทำให้เกิดช่องว่างที่ทำให้น้ำไหลซึมผ่านเข้ามาได้เช่นกันครับ

วิธีการแก้ปัญหา :  ถ้าเป็นวงกบอะลูมิเนียมก็ควรลอกซิลิโคนเดิมออกให้หมด ทำความสะอาดแล้วจึงยาแนวด้วยซิลิโคนใหม่ แต่ถ้าเป็นวงกบไม้ที่ยังอยู่ในสภาพดีแต่แยกตัวจากผนังโดยรอบ ก็ให้ทำความสะอาดและอุดช่องว่างโดยรอบด้วยซิลิโคน หรือกาวโพลียูรีเทน (กาวพียู/PU) ครับ

และอีกวิธีหนึ่งคือการทำกันสาดที่ภายนอกบริเวณด้านบนเหนือหน้าต่าง เพื่อช่วยป้องกันน้ำฝนสาดเข้ามาโดนหน้าต่าง หรือตรงจุดบริเวณที่เป็นปัญหาได้ครับ รวมถึงอย่าลืมติดตั้งมุ้งลวดเพิ่มเติมเพื่อป้องกันแมลงเล็กๆที่อาจเล็ดลอดเข้ามาตามช่องโหว่ต่างๆด้วยนะ

ปัญหาน้ำรั่วของผนัง Precast

(ขอบคุณภาพประกอบจาก SCG)

ผนัง Precast คือผนังที่หล่อสำเร็จรูปมาจากโรงงาน แล้วจะยกมาประกอบที่หน้างาน ซึ่งช่องประตูหน้าต่าง ท่องานระบบฝังที่ในผนัง หรือรูปลั๊กไฟทุกอย่างจะถูกขึ้นรูปและคำนวณมาจากโรงงาน จึงมั่นใจได้ว่าคุณภาพของวัสดุทุกอย่างจะได้มาตรฐานเหมือนกันหมด โดยเนื้อคอนกรีตจะถูกหล่อเป็นเนื้อเดียวกันทั้งแผ่น จึงช่วยลดปัญหาเรื่องผนังแตกร้าวและน้ำรั่วซึมตรงกลางผนังไปได้ค่อนข้างเยอะ อีกทั้งยังไม่ต้องมีเสาคานมารองรับ เพราะตัวผนังเองสามารถใช้เป็นหนึ่งในโครงสร้างรับน้ำหนัก (Bearing Wall) ได้อีกด้วย จึงทำให้มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถเจาะผนังนั่นเองครับ

ซึ่งจุดที่ต้องระวังจริงๆของผนังชนิดนี้ คือบริเวณรอยต่อของผนังครับ เพราะแผ่นผนังชิ้นใหญ่ๆที่ขนมานั้น จะถูกนำมาประกอบต่อเข้าด้วยกันที่หน้างาน ซึ่งก็จะมีวิธีการต่ออยู่ 2 แบบคือ

  • 1. แบบ Wet Joint เป็นรอยต่อ Precast แบบใช้ปูน Non-Shrink
  • 2. แบบ Dry Joint เป็นรอยต่อ Precast แบบใช้บังใบ

โดยตรงจุดรอยต่อของผนังนี้เองครับที่เป็นจุดเสี่ยงของการรั่วซึมได้ จะเป็นอย่างไรบ้างลองไปชมกันเลยครับ

(ขอบคุณภาพประกอบจาก SCG)

1. แบบ Wet Joint วิธีการต่อแบบนี้จะเหมาะกับบ้านพักอาศัยทั่วไปครับ คือเค้าจะนำแผ่นผนังมาประกบกัน โดยจัดให้ Wire loop เรียงซ้อนกัน แล้วจึงนำเหล็กข้ออ้อยมาเสียบที่แกนกลาง ปิดทับช่องว่างระหว่างแผ่นผนังทั้งสองด้วย การกรอกปูน Non-Shrink (ปูนที่มีคุณสมบัติยึดเกาะดี ไม่หดตัว) จนถึงระดับบนสุดของแผ่นผนัง จากนั้นจึงยาแนวด้วยกาวยาแนวโพลียูรีเทน (PU) สามารถใช้วัสดุตกแต่งมาปิดทับรอยต่อ เพื่อปกป้องให้รอยต่อนั้นมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้นครับ

ปัญหาที่เจอบ่อย : ยาแนวเสื่อมสภาพ หรือในขณะก่อสร้าง ช่างอาจเลือกใช้วัสดุที่ไม่มีคุณภาพ หรือไม่เหมาะสม จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำรั่วซึมเข้ามาตามรอยต่อของผนังได้นั่นเอง

วิธีการแก้ปัญหา :  ทำการเซาะวัสดุเดิมออกมาให้หมดก่อน ทำความสะอาดบริเวณร่องให้เรียบร้อย แล้วนำเส้นโฟม Backer Rod ฝังเข้าไปในรอยต่อระหว่างคอนกรีต ปิดท้ายด้วยนำกาวยาแนวโพลียูรีเทน (PU) ฉีดปิดทับอีกทีให้เรียบเนียน ซึ่งไม่แนะนำให้ใช้ซิลิโคน (Silicone Sealant) ในการปิดรอยสำหรับงานภายนอกนะครับ เพราะไม่ค่อยทนแดดและฝน อาจเสื่อมสภาพได้เร็วครับ และถ้าอยากให้กันน้ำรั่วซึมได้ดียิ่งขึ้น แนะนำให้ทาสีที่มีความยืดหยุ่น กันน้ำรั่วซึม กันรอยแตก ก็จะช่วยป้องกันได้อีกชั้นหนึ่งครับ

(ขอบคุณภาพประกอบจาก SCG)

2. แบบ Dry Joint วิธีการต่อแบบนี้จะเหมาะกับอาคารสูงๆหรือคอนโดมิเนียม โดยตัวผนังจะมีบังใบที่บริเวณส่วนหัวและส่วนท้ายของแผ่นผนัง จากนั้นก็จะนำมาต่อกันเหมือนตัวต่อเลโก้ให้ลงล็อคกันพอดี แล้วอุดรอยต่อด้วย Backer Rod พร้อมยาแนวด้วยโพลียูรีเทน (PU) เหมือนผนังแบบก่อนหน้านี้เลยครับ

ปัญหาที่เจอบ่อย : จะเป็นปัญหาเรื่องยาแนวเสื่อมสภาพเช่นเดียวกับแบบ Wet Joint ก่อนหน้านี้ครับ แต่ที่เพิ่มเติมมาคือลักษณะการต่อของแผ่นที่จะต่อกันแบบ บน-ล่าง เป็นแนวสูงขึ้นไป ต่างจากแบบ Wet Joint ที่จะนำด้านข้างมาประกบกัน ดังนั้นหากผนังแบบ Dry Joint จะรั่วซึมได้จึงจะเกิดตามรอยต่อแนวนอนเช่น ขอบฝ้าเพดานหรือบริเวณขอบพื้น รวมถึงลักษณะของบังใบก็มีส่วนช่วยในการป้องกันน้ำฝนไม่ให้ไหลย้อนเข้ามาได้ด้วย (ถ้าหากหันถูกด้าน) จากภาพประกอบด้านบน ลักษณะของบังใบจะเป็นรูปตัว L ซึ่งเราก็ควรติดตั้งส่วนขอบที่สูงกว่าของผนังชิ้นล่างให้อยู่ด้านในอาคาร เพื่อช่วยกันน้ำไหลย้อนเข้ามานั่นเองครับ

วิธีการแก้ปัญหา : หากเป็นกรณียาแนวเสื่อมสภาพก็ให้เซาะออกแล้วทำใหม่เช่นเดียวกับแบบ Wet Joint ครับ แต่ถ้าเป็นเรื่องการหันบังใบผิดด้านอันนี้คงแก้ไขได้ยาก นอกซะจากต้องรื้อทำใหม่เลย ซึ่งคงจะลำบากน่าดู ถ้ามีปัญหาแบบนี้จึงอาจใช้วิธีหมั่นตรวจเช็ค และยาแนวใหม่อยู่เสมอหากพบจุดที่เสื่อมสภาพ เพื่อป้องกันน้ำฝนไหลซึมเข้ามาได้อย่างทันท่วงทีนะครับ


ปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากระดับความสูงของพื้นบ้านอยู่ต่ำกว่าพื้นถนน

อีกหนึ่งปัญหาของบ้านในช่วงหน้าฝนคือ “น้ำท่วม” นั่นเองครับ ซึ่งโดยปกติแล้วตัวบ้านจะถมที่ดินและยกพื้นสูงขึ้นมาจากถนนสาธารณะด้านหน้าอยู่แล้วใช่มั๊ยครับ แต่สำหรับบ้านที่ก่อสร้างมาก่อน หรืออยู่มานานแล้ว เมื่อพื้นที่โดยรอบนั้นมีการปรับความสูงถนนหรือทำถนนใหม่ ก็จะทำให้พื้นบ้านชั้นล่างมีระดับความสูงที่อยู่ต่ำกว่าระดับถนน เมื่อฝนตกหนักแล้วน้ำบนถนนระบายไม่ทัน ก็จะไหลเข้ามาในบ้านที่มีระดับความสูงที่ต่ำกว่า รวมถึงอีกจุดหนึ่งที่ควรระวังก็คือท่อระบายน้ำครับ โดยวิธีแก้ไขปัญหานั้นมีอยู่หลากหลายวิธีนะ ได้แก่

  • 1. การปรับปรุงพื้นที่รอบบ้าน
  • 2. การยกบ้านขึ้นทั้งหลัง (ดีดบ้าน)
  • 3. การยกระดับเฉพาะพื้นชั้นล่าง
  • 4. การปรับเปลี่ยนฟังก์ชันพื้นที่ใช้สอยชั้นล่างให้เหมาะสม

(ขอบคุณภาพประกอบจาก SCG)

1. การปรับปรุงพื้นที่รอบบ้าน

ปัญหาคือ : อย่าลืมครับว่าท่อระบายน้ำของตัวบ้านจะเชื่อมต่อกับท่อน้ำสาธารณะภายนอกที่ใต้ดิน พอเค้ามีการทำถนนภายนอกใหม่ ก็แน่นอนว่าต้องมีการวางท่อระบายน้ำใหม่ แล้วยกระดับความสูงให้สัมพันธ์กับตัวถนนใหม่ด้วย แต่ความสูงของท่อน้ำในบ้านนั้นยังเท่าเดิม

ซึ่งการไหลของน้ำจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ลองนึกสภาพว่าถ้าน้ำในท่อสาธารณะด้านนอกเต็ม แล้วมีระดับที่สูงกว่าในบ้าน แน่นอนว่าปริมาณน้ำเหล่านั้นก็จะต้องไหลทะลักย้อนกลับเข้ามาในบ้านของเราแน่นอนครับ ซึ่งก็จะขึ้นมาตามท่อน้ำบริเวณรอบๆบ้าน รวมถึงอาจผุดขึ้นมาจากท่อระบายน้ำในห้องน้ำชั้น 1 ได้อีกด้วย

(ขอบคุณภาพประกอบจาก SCG)

วิธีการแก้ปัญหา : ก่อนอื่นเลยเราต้องทำประตูกั้นน้ำตรงท่อของเรา (ปิดในเขตบ้านตัวเองเพื่อไม่ให้น้ำเข้า-ออกได้ ไม่ผิดกฏหมาย แต่ไปปิดของสาธารณะไม่ได้นะครับ) จากนั้นต้องทำบ่อพักใหม่ให้มีตำแหน่งสูงกว่าท่อสาธารณะ เพื่อเตรียมระบายน้ำออกสู่ภายนอกได้ตามปกติ แต่จะต้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบจากบ่อเก่าที่อยู่ต่ำกว่า ไปสู่บ่อใหม่ที่อยู่สูงกว่าด้วยครับ ซึ่งแนะนำว่าหากมีงบหน่อย ก็ให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำทั้งแบบอัตโนมัติ และแบบดีเซลเผื่อกรณีไฟดับด้วยจะดีครับ

(ขอบคุณภาพประกอบจาก SCG)

2. การยกบ้านขึ้นทั้งหลัง (ดีดบ้าน)

วิธีการแก้ปัญหา : เริ่มแรกจะต้องขุดดินรอบๆตัวบ้านให้ลึกถึงคานคอดินก่อน จากนั้นใช้แม่แรงไฮดรอลิคค้ำยันโครงสร้างของตัวบ้านเอาไว้ แล้วจึงทุบเสาเดิมออก (เสาระหว่างตัวบ้านกับตอม่อ) และใช้แม่แรงไฮดรอลิคยกตัวบ้านให้สูงขึ้นตามระดับที่ต้องการ จากนั้นจึงหล่อเสาคอนกรีตขึ้นมาใหม่ แล้วเมื่อเสาเซ็ตตัวเรียบร้อยแล้วจึงสามารถนำแม่แรงออกได้ครับ วิธีนี้จะไม่มีผลกระทบอะไรกับตัวบ้านเลยนะ แต่ก็เป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่สุดด้วยเช่นกัน

ขอบคุณภาพประกอบจาก changmuns channel และเพจ whiteengineer

3. การยกระดับเฉพาะพื้นบ้านชั้นล่าง ซึ่งรูปแบบนี้ผมจะขอแบ่งออกเป็น 2 กรณีนะครับ คือ กรณีที่พื้นบ้านและถนนมีระดับความสูงที่ต่างกันไม่มาก กับกรณีที่พื้นบ้านและถนนมีระดับความสูงที่ต่างกันมาก

กรณีที่ 1 วิธีการแก้ปัญหา : เราสามารถเสริมพื้นใหม่ให้มีความสูงขึ้นมาจากพื้นเดิมได้เลยครับ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่วิธีนี้ก็จะทำให้ความสูงของฝ้าเพดาน หน้าต่าง และปลั๊กไฟที่อยู่ในตำแหน่งเดิมนั้นดูเตี้ยลงครับ อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่าวิธีนี้เหมาะกับพื้นบ้านที่มีระดับความสูงต่างกับพื้นถนนไม่มาก เต็มที่คือประมาณ 20 – 30 cm. เพราะถ้าสูงกว่านี้ก็จะติดปลั๊กไฟแล้วนั่นเอง

ขอบคุณภาพประกอบจาก changmuns channel และเพจ whiteengineer

กรณีที่ 2 วิธีการแก้ปัญหา : ถ้าระดับพื้นบ้านและถนนต่างกันค่อนข้างมาก ซึ่งการเพิ่มความสูงของพื้นที่ที่มีความหนาขนาดนี้นั้น ก็จะต้องคำนึงถึงความสามารถในการรับน้ำหนักของฐานรากเดิมด้วยครับ ก่อนอื่นคือจะต้องทำการทุบพื้นเดิมทิ้งก่อน จากนั้นให้ทำคานเหล็กและคานปูนเสริมขึ้นมาเพื่อยึดกับเสาบ้าน เมื่อคานมีความหนาเพียงพอต่อการรับน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ก็สามารถปูพื้นใหม่ได้เลยครับ

ขอบคุณภาพจาก IKEA

4. การปรับเปลี่ยนฟังก์ชันพื้นที่ใช้สอยชั้นล่างให้เหมาะสม

เหมาะสำหรับคนงบน้อยและพร้อมจะยอมรับสภาพของพื้นที่ชั้นล่างบางส่วนที่อาจถูกน้ำท่วมขังได้ เช่น โรงจอดรถ ระเบียงข้างบ้าน หรือครัวหลังบ้าน ซึ่งเราสามารถเลือกเฟอร์นิเจอร์แบบที่มีขายกสูงจากพื้นบ้าน เผื่อกรณีน้ำท่วมในอนาคตจะได้ไม่ต้องกังวลว่าเฟอร์นิเจอร์จะแช่น้ำแล้วเสียหาย ต้องคอยยกไปย้ายมาอยู่ทุกครั้ง ส่วนพวกชั้นวางของก็ใช้วิธีติดแบบแขวนผนังทั้งหมดได้เลยครับ

เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับจุดสังเกต และการยกตัวอย่าง Case ต่างๆ พร้อมวิธีแก้ไขปัญหาที่ผมได้รวบรวมนำมาฝากกัน ซึ่งบ้านในชีวิตจริงของแต่ละคนก็มีปัญหา และมีจุดที่จะต้องระวังหรือต้องสังเกตที่แตกต่างกันออกไป ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ และช่วยให้ทุกคนสามารถเตรียมตัวรับมือกับปัญหาน้ำรั่วซึมของบ้านในหน้าฝนแบบนี้ไม่มากก็น้อยนะครับ คราวหน้า ThinkofLiving จะมีบทความดีๆอะไรมาฝากกันอีก อย่าลืมติดตามกันด้วยนะครับ ^^


ติดตามพวกเราได้ที่
Website : www.thinkofliving.com
Twitter : www.twitter.com/thinkofliving
YouTube : www.youtube.com/ThinkofLiving
Instagram : www.instagram.com/thinkofliving
Facebook : ThinkofLiving