1291355708

รัฐโล่ง “รถไฟไทย-จีน” เจรจาสำเร็จ ผลประชุมร่วมสองฝ่ายที่เฉิงตูได้ข้อสรุปชัด จีนลงขัน 40% รับทำระบบเดินรถ-ซ่อมบำรุงมูลค่า 1 แสนล้าน ไทยลงทุนงานโยธา เตรียมตั้งบริษัทร่วมทุนบริหารจัดการ “ประจิน” สั่งลุยเฟสแรก “กรุงเทพฯ-แก่งคอย-โคราช” เปิดประมูล 2 สัญญา ดีเดย์ตอกเข็ม 23 ต.ค.นี้

จากการประชุมคณะกรรมการร่วมรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 6 ที่เมืองเฉิงตู ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 6-8 สิงหาคม 2558 เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วปานกลาง เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 873 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท ได้ข้อสรุปเรื่องวงเงินก่อสร้าง รูปแบบการลงทุน แผนงานก่อสร้าง ตลอดจนแนวทางร่วมทุนระหว่างไทยกับจีนชัดเจนแล้ว ตามแผนที่วางไว้จะเปิดประมูลก่อสร้าง 2 สัญญาแรกภายในเดือน ต.ค.นี้ หรืออย่างช้าเดือน ธ.ค. 2558

รูปแบบลงทุนลงตัว-จีนร่วมเดินรถ

ล่าสุด รูปแบบการลงทุนของโครงการได้ข้อสรุปแล้ว โดยฝ่ายไทยจะลงทุนก่อสร้างโครงสร้างงานโยธา โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นผู้ดำเนินการ จะใช้เงินกู้ในประเทศก่อสร้าง คาดว่าโครงการนี้ใช้เงินก่อสร้างกว่า 2 แสนล้านบาท ส่วนนี้ต้องรอผลศึกษารายละเอียดโครงการซึ่งแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.นี้

ส่วน งานระบบเดินรถและซ่อมบำรุงซึ่งคาดว่าจะใช้วงเงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท ฝ่ายจีนตกลงจะร่วมลงทุนด้วย เบื้องต้นจีนร่วมทุนโดยใส่เม็ดเงินเข้ามาประมาณ 40% หรือ 4 หมื่นล้านบาท โดยใช้เงินกู้จากธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกของจีน (Eximbank) และฝ่ายไทยลงทุน 60% หรือประมาณ 6 หมื่นล้านบาท โดยตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาบริหารโครงการร่วมกัน

ตั้งแต่เริ่มติดตั้ง ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบไฟฟ้า จัดซื้อขบวนรถ บริหารจัดการเดินรถและซ่อมบำรุง และใช้สถานีเชียงรากน้อยเป็นศูนย์ควบคุมการเดินรถ (OCC) ส่วนนี้จีนเสนอขอให้ไทยยกเว้นหรือผ่อนปรนการจัดเก็บภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่า เพิ่ม (แวต) เพื่อช่วยลดภาระโครงการที่อาจจะขาดทุนจากการเดินรถในช่วง 10 ปีแรก

“ผลสรุปเรื่องนี้อย่างเป็นทางการจะต้องรอการประชุมครั้งที่ 7 ที่จะจัดประชุมที่พัทยาวันที่ 3-5 ก.ย. 2558 เนื่องจากผลการศึกษาความเหมาะสมทั้งโครงการที่จีนดำเนินการให้จะแล้วเสร็จ ทั้งหมด”

อัตราดอกเบี้ยยังไม่สรุป

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หากใช้เงินกู้จากจีนขณะนี้ยังไม่ได้ข้อ สรุปว่าจะคิดอัตราดอกเบี้ยเท่าใด เบื้องต้นไทยยังคงยืนยันหลักการเดิม ขอให้จีนจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ระยะเวลา 25-30 ปี ปลอดหนี้ 6-7 ปี แต่ติดปัญหาด้านกฎหมายเงินกู้ของ 2 ประเทศที่ไม่สอดคล้องกัน ทำให้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้

ส่วนการก่อสร้าง ทั้งฝ่ายไทยและจีนมีความเห็นร่วมกันว่าจะเริ่มก่อสร้างช่วง กรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 271.5 กิโลเมตรเป็นลำดับแรก โดยตั้งเป้าเริ่มประมูลและก่อสร้างวันที่ 23 ต.ค.นี้ หรืออย่างช้าวันที่ 5 ธ.ค. 2558 โดยจะเริ่มต้นที่แก่งคอยเป็นพื้นที่แรก จากนั้นจะก่อสร้างไล่มาจนถึงกรุงเทพฯ และก่อสร้างไป จ.นครราชสีมา

รื้อแนว 40 กม.หนีท่อก๊าซ ปตท.

ทั้ง นี้ หลังจากที่จีนได้ลงพื้นที่สำรวจโครงการแล้ว พบว่ามีแนวท่อก๊าซของ บมจ.ปตท.อยู่ในแนวเส้นทางรถไฟเป็นระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร จากรังสิต-ชุมทางบ้านภาชี ดังนั้นจะต้องปรับแนวเส้นทางเล็กน้อยเพื่อหลีกเลี่ยงท่อก๊าซ โดยจะขยับแนวรถไฟไทย-จีน ห่างออกไปจากท่อก๊าซอีกประมาณ 3 เมตร แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าก่อสร้างแต่อย่างใด

นอกจากนี้จะเพิ่ม สถานีเพื่อเป็นทางรอหลีกสำหรับขบวนรถขนสินค้าและขบวนรถโดยสาร จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ สถานีชุมทางบ้านภาชี สถานีแก่งคอย สถานีปางอโศก และสถานีโคกสะอาด เนื่องจากรถขบวนสินค้าจะวิ่งช้าใช้ความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขณะที่รถขบวนผู้โดยสารรถไฟไทย-จีนจะวิ่งด้วยความเร็ว 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น

ในส่วนของสถานีขณะ นี้ยึดตามจุดที่ตั้งของรถไฟความเร็วสูงสายอีสาน จากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มี 5 สถานี สร้างอยู่บนพื้นที่สถานีรถไฟเดิมและเปิดพื้นที่ใหม่ ได้แก่ 1.สถานีกลางบางซื่อ จะสร้างอยู่ที่เดิม สถานีอยุธยา จะสร้างในพื้นที่เดิม สถานีสระบุรี สร้างบนพื้นที่แห่งใหม่บริเวณคลองเพียว สถานีปากช่อง สร้างบนพื้นที่ใหม่บนแปลงที่ดินราชพัสดุบริเวณหนองสาหร่าย และสถานีโคราช สร้างอยู่ในพื้นที่เดิม

เวนคืนที่ดินจิ๊บ ๆ 10%

แหล่ง ข่าวกล่าวต่อว่า สำหรับการเวนคืนที่ดิน คาดว่าทั้งโครงการจะมีการเวนคืนประมาณกว่า 10% ของที่ดินทั้งหมดของโครงการ เนื่องจากก่อสร้างอยู่ในแนวรถไฟเดิมจึงเวนคืนไม่มาก ส่วนใหญ่จะเป็น

ผู้บุกรุก ซึ่งทางการรถไฟฯจะเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด ทั้งนี้ในส่วนของพื้นที่ก่อสร้างที่ทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ช่วงกรุงเทพฯ-บ้านภาชี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับญี่ปุ่นนั้น ยังไม่สรุปจะใช้ระบบอาณัติสัญญาณของประเทศจีนหรือญี่ปุ่น แต่ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ต้องการให้ทั้ง 2 โครงการใช้ระบบของยุโรปที่เป็นมาตรฐานกลาง โดยจะมีการหารือกับญี่ปุ่นกลางเดือน ส.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เตรียมแผนสำรองไว้ กรณีทางญี่ปุ่นไม่ยินยอม จะใช้วิธีปรับจุดเริ่มต้นโครงการรถไฟไทย-จีนใหม่ จากสถานีกลางซื่อเป็นเริ่มต้นที่สถานีเชียงรากน้อย แล้ววิ่งไปตามแนวเส้นทางโครงการผ่านแก่งคอย สระบุรี และนครราชสีมา ส่วนรถไฟไทย-ญี่ปุ่นจะเริ่มต้นจากสถานีกลางบางซื่อและไปตามแนวรถไฟสายเหนือ จนถึงเชียงใหม่ ระยะทาง 672 กิโลเมตร

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม วงเงินลงทุนตามผลการศึกษาของจีนเมื่อปี 2553 ซึ่งศึกษาโครงการเป็นรถไฟความเร็วสูง จากกรุงเทพฯ-หนองคาย ใช้เงินลงทุนประมาณ 330,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้าง 220,000 ล้านบาท และค่างานระบบเดินรถและซ่อมบำรุง 110,000 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโครงการรถไฟไทย-จีน น่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน

23 ต.ค.ปักหมุดแก่งคอย

ก่อน หน้านี้ พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ตั้งเป้าจะให้สถานีแก่งคอยเป็นจุดเริ่มต้นโครงการก่อสร้างระยะแรกช่วง กรุงเทพฯ-แก่งคอย-โคราช และเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงใหญ่ของโครงการ ส่วนศูนย์ควบคุมการเดินรถอยู่ที่เชียงรากน้อย คาดว่า เดือน ก.ย.นี้จะเปิดประมูลทันทีหลังได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเตรียมจะเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณาวันที่ 10 ก.ย. 2558

การ ประมูลจะใช้วิธีพิเศษ ให้ผู้รับเหมาไทยที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วมาร่วมงานก่อสร้างโครงสร้างทางหลัก สัดส่วนประมาณ 70% ด้านผู้รับเหมาจีนจะก่อสร้างงานที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่น อุโมงค์และสะพาน สัดส่วนประมาณ 30% ในระยะแรกจะแบ่งเป็น 2 สัญญา คือ กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กิโลเมตร และแก่งคอย-โคราช ระยะทาง 138.5 กิโลเมตร วางแผนเซ็นสัญญาก่อสร้างวันที่ 20 ต.ค.นี้ เริ่มก่อสร้างวันที่ 23 ต.ค.หรืออย่างช้าเดือน ธ.ค. 2558โดยได้กำหนดตารางการประชุมไว้ในครั้งที่ 7 จะต้องสรุปเงื่อนไขและข้อตกลงด้านการเงิน รูปแบบการลงทุน

งานสำรวจ ช่วงแรกที่จะสร้าง การเวนคืนที่ดิน และการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากนั้นจะลงนามใน Framework Agreement (กรอบทำงาน) วันที่ 10 ก.ย. ร่างสัญญาก่อสร้างวันที่ 11 ก.ย.-19 ต.ค. เซ็นสัญญาก่อสร้าง 20 ต.ค. 2558 และทำพิธีเปิดโครงการก่อสร้างซึ่งจะเริ่มสร้างที่สถานีแก่งคอย จ.สระบุรี เป็นจุดแรก ในวันที่ 23 ต.ค.นี้ แต่ถ้าไม่ทันจะเป็นเดือน ธ.ค. 2558 ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง กำหนดแล้วเสร็จปี 2561

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ทั้งฝ่ายไทยและจีนมีข้อตกลงร่วมกันเรื่องความร่วมมือว่า ช่วงกรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กิโลเมตร มีกลุ่ม CRC + CRCC หรือบริษัท การก่อสร้างทางรถไฟแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จำกัด จะก่อสร้างร่วมกับผู้รับเหมาไทย และเส้นทางแก่งคอย-โคราช ระยะทาง 138.5 กิโลเมตร กลุ่ม CRC + CREC หรือบริษัท วิศวกรรมทางรถไฟแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จำกัด กับผู้รับเหมาไทยจะร่วมกันดำเนินโครงการ

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ