ตอนที่แล้ว ได้เล่าไปว่าหากมี “พื้นที่ดาดแข็ง” อยู่รอบบริเวณบ้านเป็นปริมาณมากๆ จะส่งผลต่อ “สภาวะน่าสบาย” ของผู้อยู่อาศัยอย่างไรบ้าง ครั้งนี้เราจะมาแนะแนวทางการลดและปรับพื้นที่บริเวณรอบๆ บ้านให้เหมาะสมกันต่อ

เรามาเริ่มจากสัดส่วนที่เหมาะสมของ “บ้าน” สักหลังว่าควรมีพื้นที่แบบต่างๆ เท่าไรบ้างกันก่อน

หลักเกณฑ์มาตรฐานการประเมินอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน บอกไว้ว่า

บ้านเดี่ยว 

  • ควรมีพื้นที่เปิดโล่งมากกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ดิน
  • ควรมีพื้นที่พืชพรรณไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่เปิดโล่งทั้งหมด
  • ควรมีพื้นที่ร้อยละ 75 ขึ้นไปของพื้นที่ดาดแข็ง เป็นพื้นผิวที่น้ำซึมผ่านได้

บ้านแถวและอาคารอยู่อาศัยรวม

  • ควรมีพื้นที่เปิดโล่งมากกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ดิน
  • ควรมีพื้นที่พืชพรรณไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่เปิดโล่งทั้งหมด
  • ควรมีพื้นที่ร้อยละ 75 ขึ้นไปของพื้นที่ดาดแข็ง เป็นพื้นผิวที่น้ำซึมผ่านได้

รูปที่ 1 แสดงการเปรียบเทียบการทำพื้นที่รอบบ้านด้วย “ต้นหญ้า ต้นไม้” กับ “พื้นที่คอนกรีต” 

หลายคนอ่านหลักเกณฑ์ข้างต้นแล้วคงรู้สึกว่ายากเกินไปสำหรับบ้านของตัวเอง งั้นในช่วงเริ่มต้นเราลองลดความเข้มข้นลง และเลือกใช้วิธีการต่างๆ ที่เหมาะสมเหล่านี้ดู ด้วยการเลือกใช้วัสดุที่มีปริมาณพื้นที่ดาดแข็งให้น้อยที่สุด เช่น บล็อคปูหญ้า วัสดุที่มีรูพรุน เพื่อลดความร้อน ลดแสงจ้าแยงตา ลดเสียงดังรบกวน และสามารถให้น้ำซึมผ่านได้  ควบคู่ไปกับการออกแบบที่ลดทอนความต่อเนื่องจนเป็นผืนเดียวกันของพื้นที่ดาดแข็ง เช่น มีการเว้นจังหวะของวัสดุ สอดแทรกด้วยวัสดุอื่น หรือมีการเล่นระดับเนินดิน  ไปพร้อมๆ กับผสมผสานวัสดุพืชพรรณ ทั้งต้นไม้ใหญ่ ไม้พุ่ม และไม้คลุมดิน เพื่อให้เกิดร่มเงา ช่วยดูดซับสารพิษและดูดซับเสียง

รูปที่ 2 แสดงตัวอย่างการออกแบบสวนให้มีพื้นที่ดาดแข็งน้อยที่สุด หากจำเป็นต้องมี เช่น ทางเดิน ก็ทำสลับและผสมไปกับวัสดุพืชพรรณ

สำหรับการเลือกปลูกต้นไม้บริเวณถนนและที่จอดรถ ควรเลือกต้นไม้ที่มีใบใหญ่ เช่น สาเก สัก หมากเขียว เพื่อกรองเสียงรบกวนจากเครื่องยนต์ ซึ่งป็นเสียงคลื่นความถี่ต่ำ และปลูกไม้พุ่ม เช่น เศรษฐีเรือนใน พลูด่าง ยางอินเดีย เพื่อช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ที่เกิดจากไอเสียรถยนต์ (เมื่อก๊าซนี้รวมตัวกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง เรียกว่า “คาร์บอกซีฮีโมโกลบิน” จะขัดขวางไม่ให้ร่างกายได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ)

นอกจากนี้ เรายังสามารถใช้ “น้ำ” มาเป็นตัวช่วยในการสร้าง “สภาวะน่าสบาย” ผ่านการใช้น้ำตก น้ำพุ มาตั้งไว้ในบริเวณบ้าน ที่ทั้งสร้างไอเย็นให้บรรยากาศรอบๆ และสร้างคลื่นเสียงในช่วงคลื่นอัลฟา (ความถี่ 8-13.9 เฮิรตซ์) ซึ่งเป็นคลื่นเสียงที่สร้างความรู้สึกสงบและผ่อนคลายให้กับเรา

รูปที่ 3 แสดงแนวคิดของโครงการคอนโดมิเนียม Whizdom @ Punnawithi Station ที่มีการสร้างพื้นที่สีเขียวด้วยหญ้าและต้นไม้ให้พื้นที่รอบโครงการ ลดพื้นที่คอนกรีต เพื่อลดการสะสมความร้อน และยังมีการทำสวนหลังคา (Roof Garden) เพื่อลดความร้อนจากหลังคาอีกด้วย

สิ่งสำคัญที่ไม่ควรลืมก็คือ เราควรหลีกเลี่ยงการจัดวางพื้นที่ดาดแข็งที่มีขนาดใหญ่บริเวณ “ทิศใต้” และ “ทิศตะวันตก” ซึ่งเป็นทิศที่ได้รับอิทธิพลจากแสงอาทิตย์สูงสุดโดยเฉลี่ยในรอบปี

แน่นอนว่าการคิดและสร้างสรรค์บริเวณรอบๆ บ้านให้สวยงามและมีประโยชน์ใช้สอยอย่างเต็มที่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ หากแต่การพิจารณาอย่างรอบด้านมากขึ้น มาคำนึงรายละเอียดวัสดุของ “พื้นที่ดาดแข็ง” ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัย ก็จะสามารถช่วยสร้างให้ “บ้าน” เป็นพื้นที่ที่ตอบสนองความสบายของมนุษย์ได้มากยิ่งขึ้น

แบ่งปันข้อมูล : ฝ่ายวิจัยและพัฒนา

บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์  คอร์ปอเรชั่น จำกัด

http://www.whizdomsociety.com/

แบ่งปันข้อมูล : ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด