MRT สามย่าน… เป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคล อยู่ระหว่างสถานีปลายทางหัวลำโพงและสถานีสีลม ที่ตั้งของสถานีอยู่บนถนนพระราม 4 ตรงบริเวณแยกสามย่าน ซึ่งเมื่อพูดถึงสามย่านแล้วทุกคนคงจะนึกถึงมหาวิทยาลัยชื่อดังแถวสามย่าน หรือ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางหลักของสถานีนี้ โดยพื้นที่โดยรอบสถานีนี้ทางทิศเหนือเกือบทั้งหมดเป็นที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การพัฒนาพื้นที่ส่วนใหญ่จึงขึ้นกับการบริหารจัดการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหลัก ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะพื้นที่สำหรับการศึกษา แต่มีการพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์และสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยด้วย โดยพื้นที่บริเวณนี้นับได้ว่าเป็นเมืองมหาวิทยาลัยขนาดย่อมเลยทีเดียว
เพิ่มเติมข้อมูลสถานีใกล้เคียงได้ที่: มองหาทำเลน่าอยู่ใกล้รถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง (S2)

สิ่งอำนวยความสะดวกและสถานที่สำคัญโดยรอบ

ใกล้ทางออก 1
•    วัดหัวลำโพง
•    มูลนิธิร่วมกตัญญู
•    ศาลเจ้าพ่อเขาตก
•    ศูนย์อาหารสามย่านสเตชั่น

ใกล้ทางออก 2

•    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
•    จามจุรีสแควร์
•    สำนักงานใหญ่ DTAC (อาคารจามจุรีสแควร์)
•    สถานเสาวภา (สวนงู)
•    ยูเซ็นเตอร์
•    CU Sports Complex
•    ตลาดสามย่าน

แผนที่สถานี (คลิกเพื่อดูรูปใหญ่)

การคมนาคม

ด้านการคมนาคม ทำเลพื้นที่แถวสามย่านนี้นับว่าอยู่ใจกลางเมือง ใกล้ศูนย์กลางการค้าย่านสยามสแควร์และราชดำริ ใกล้ศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งได้แก่สถานีรถไฟหัวลำโพง อีกทั้งยังมีสถาบันการศึกษา ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หากไม่พูดถึงการจราจรที่ติดขัดทำเลนี้นับว่าเป็นทำเลที่การเดินทางค่อนข้างสะดวกพอสมควรทีเดียว เนื่องจากแยกนี้มีสะพานยกระดับข้ามแยกสุรวงศ์และสีลมทำให้รถที่จะไปสาทร วิทยุ หรือขึ้นไปทางด่วนเดินทางไปได้สะดวก ไม่ต้องติดไฟแดง หรือว่าจะไปแถวเยาวราช วงเวียน 22 กรกฎาคม เพื่อไปต่อทางราชดำเนินข้ามไปปิ่นเกล้าก็ถือว่าไม่ไกลนัก ในส่วนของถนนพญาไทเองก็สามารถขับรถตรงดิ่งไปถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิได้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นทำเลใจกลางเมืองที่สะดวกมากอีกแห่งหนึ่ง

สำหรับการเดินทางภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตและบุคลากรสามารถนั่งรถโดยสารภายในจุฬาฯ ซึ่งสามารถเดินทางไปยังคณะต่างๆ ทั้งฝั่งพระบรมรูปสองรัชกาล ฝั่งศูนย์กีฬาฯ หรือแม้แต่ไปสยามสแควร์ได้อีกด้วย

นอกจากนี้บริเวณหน้าจามจุรีสแควร์ยังมีสถานีจักรยาน ”ปัน ปั่น” โครงการจักรยานสาธารณะโดยกรุงเทพมหานคร ให้บริการฟรี 15 นาทีแรก ซึ่งสถานีจามจุรีสแควร์นี้นับเป็นสถานีนำร่องของโครงการ สำหรับผู้ที่ต้องการความแปลกใหม่ในการเดินทาง หรือต้องการออกกำลังกาย และหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด ให้เลือกเดินทางพื้นที่โดยรอบบริเวณนี้ได้อีกด้วย ปัจจุบันเพิ่งเริ่มเปิด 12 สถานี เมื่อ 1 พ.ค.56 ซึ่งทางเว็บของโครงการเองระบุว่าจะมีสถานีจักรยานในย่านนี้ครอบคลุมถนนสาทร พระราม 4 พญาไท พระราม 1 ราชดำริ สีลม ฯลฯ รวมกว่า 50 สถานี ซึ่งถือว่าเป็นคอนเซปต์ที่ค่อนข้างดีและเป็นประโยชน์ และปัจจุบันกระแสการเดินทางด้วยจักรยานก็เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่ชาวกรุงเทพมหานคร ซึ่งความสำเร็จของโครงการนี้คงจะต้องรอดูกันต่อไปครับ

เจาะลึกรอบสถานี

ทางออกที่ 1
(เส้นทางสำรวจ A) ด้านถนนสี่พระยา-ถนนทรัพย์
เรามาเริ่มสำรวจเจาะลึกด้วยการเดินเท้ากันเลยดีกว่าครับ เริ่มจากทางออกที่ 1 ด้านถนนสี่พระยา

สำหรับ ทางออกที่ 1 จะออกมาทางถนนพระรามที่ 4 หน้าวัดหัวลำโพง ตรงหัวมุมเลี้ยวจากพระราม 4 เข้าถนนสี่พระยา โดยเราจะเริ่มสำรวจโดยเดินไปทางสี่พระยาก่อนนะครับ


ภาพทางออกที่ 1 สถานีสามย่านครับ ด้านหลังกระจกที่เห็นเป็นวัดหัวลำโพง


หน้าวัดก็มีโซนขายอาหารครับ ช่วงแรกๆ เห็นมีเฉพาะตอนมีงานวัด แต่หลังๆ ไปทีไรก็มี คงจะถาวรไปแล้ว


ตรงหัวมุมเลี้ยวเข้าสี่พระยาครับก่อนถึงมูลนิธิร่วมกตัญญู เป็นแหล่งรวมหมอดู มีให้ดูหลายแบบแล้วแต่ความเชื่อ ทำบุญบริจาคโลงศพแล้วจะมาทำนายทายทักดวงชะตาเชิญทางนี้


มูลนิธิร่วมกตัญญู (หงีเต็กตึ๊ง) ครับ สำหรับท่านที่จะมาบริจาคโลงศพเพื่อต่อดวงชะตา มีเจ้าหน้าที่รับบริจาคอยู่ตลอดทั้งวัน ถ้าคิดว่ามูลนิธิป่อเต๊กตึ๊งไปยากเพราะรถไฟฟ้าเข้าไม่ถึงก็มาที่นี่ได้ครับ ใบเสร็จรับเงินนำไปเป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษีได้ครับ


ถัดมาก็จะเป็นศาลเจ้าพ่อเขาตกครับ มีคนมาไหว้หนาแน่นตลอดทั้งวัน คนที่มาบริจาคโลงศพก็จะนำใบเสร็จที่ได้รับมามาไหว้และเผาที่ศาลนี้ครับ (อ้าว แล้วเอาอะไรไปลดหย่อนภาษี??)


ติดกันก็จะเป็นโรงเรียนวัดหัวลำโพงครับ โรงเรียนที่ติดกับวัดหัวลำโพงมีสองโรงเรียนนะครับ อีกด้านนึงจะเป็นโรงเรียนพุทธจักรวิทยา


มาที่หัวเลี้ยวเข้าสี่พระยา เต็มไปด้วยสำนักโหราจารย์ทั้งหลาย


ห้องแถวที่เป็นสำนักงานของบริษัทยังมีอยู่


ตึกแถวตรงหัวมุมนี้ก็ประกอบธุรกิจที่สอดคล้องกับสถานที่ครับ ร้านดอกไม้… วัดหัวลำโพง เป็นวัดใหญ่ครับ เป็นพระอารามหลวง มีศาลาจัดงานไม่น้อยครับ สั่งพวงหรีดก็ข้างๆ วัดนี่เลย (สังเกตว่าวัดใหญ่ที่มีเมรุเผาศพแทบทุกวัดจะมีร้านดอกไม้อยู่ข้างๆ ครับ)


ถัดจากร้านดอกไม้ก็เป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับนิสิตจุฬาฯ ชื่อร้านนิสิตเลยครับ ขายชุดนิสิต ไม่รู้ว่าชุดนักศึกษาจะมีขายไหม


แล้วก็ ร้านดอกไม้ จัดพวงหรีด อีกร้านครับ


มุมที่เห็นเมื่อเดินเข้ามาบนถนนสี่พระยาแล้วมองกลับมาที่แยกสามย่าน


สองข้างทางบนถนนสี่พระยาจะเป็นอาคารพาณิชย์หรือที่เรียกกันว่าตึกแถวแบบเก่าครับ


สมัยนี้ไม่มีที่จอดรถแทบจะทำธุรกิจไม่ได้ ตึกแถวริมถนนสี่พระยาจำนวนมากจึงถูกปล่อยร้าง ไม่มีการดำเนินกิจการอะไร


จะมีบ้างก็บางบริษัทที่เก่าแก่ตั้งมานานแล้วครับ ตรงนี้ยังถือว่าใกล้รถไฟฟ้าใต้ดิน เดินมาไหว


ธุรกิจเก่าแก่ที่เป็นตึกแถวยังพอเห็นอยู่บ้าง


ตรงนี้ก็เป็นร้านทำกรอบรูปครับ แบบดั้งเดิม


นันยาง รองเท้าผ้าใบยี่ห้อเก่าแก่ที่คุ้นเคยสำหรับนักเรียนทุกคน บริษัทตั้งอยู่ตรงนี้ครับ


แถวนี้มีบริษัทรับสร้างบ้านอยู่ด้วย


เดินมาถึงแยกถนนทรัพย์แล้วครับ เลี้ยวซ้ายเข้าไปเป็นถนนทรัพย์ เดี๋ยวเราค่อยเข้าไปดู ตอนนี้เห็นข้างหน้าขวามือมีอะไรน่าสนใจเราเดินไปดูกันก่อน


ห้องแถวที่หัวมุมเข้าถนนทรัพย์ครับ ถูกปล่อยร้างเช่นกัน


จากตรงแยกนี้จะเห็นป้ายโครงการ Wish@Samyan ครับ


ข้ามแยกมามีร้านขายเครื่องจักสาน แถวนี้มีแต่ห้างร้านและบริษัทเก่าแก่ครับ


ซอยนี้อยู่ตรงข้ามกับ Wish@Samyan ครับ ดูจากชื่อแล้วคนในซอยคงฉลาดกันมาก


ในซอยก็เป็นชุมชนเก่าแก่ครับ


รูปหน้าโครงการ ถ่ายจากฝั่งตรงข้าม เนื่องจากถนนสี่พระยามีแต่ห้องแถวสี่ห้าชั้น มองหน้าโครงการก็คิดว่าเล็กๆ


ภาพเมื่อแหงนหน้ามองขึ้นไปครับ ตึกขนาดใหญ่ตั้งตระหง่าน โครงการไม่ได้เล็กเลย ทำเลตรงนี้เอาไว้สำหรับขายนิสิต อาจารย์ และบุคลากรของจุฬาฯ โดยเฉพาะเลย ตื่นสายไปทำงานได้ ถึงไม่ไกล้เท่าจามจุรีเรสสิเดนท์ (เริ่มต้น 13 ล้าน-Leasehold) แต่นับว่าใกล้มากแล้วครับ


กลับมาที่ถนนทรัพย์นะครับ เราจะเข้าไปสำรวจข้างในกัน


อาคารในถนนทรัพย์หรือบางคนเรียกซอยทรัพย์นี้ส่วนมากเป็นตึกแถวครับ ที่ยังประกอบธุรกิจก็มีอยู่บ้าง อย่างเช่นร้านทำตรายางที่เห็นครับ


ในนี้ก็มีซอยชื่อหน้าวัดหัวลำโพงครับ เชื่อมไปออกตรงวัดหัวลำโพง


บรรยากาศภายในซอยหน้าวัดหัวลำโพง


ร้านของชำ ร้านซักรีดก็ยังมีให้เห็นครับ แปลว่าในบริเวณนี้มีหอพัก


เจอแล้วครับหอพักในบริเวณนี้ สำหรับคนทำงานแถวนี้หรือต้องไปเรียนที่จุฬาฯ


ในนี้มีโครงการคอนโดด้วยครับ The Bangkok Sab Road คงสร้างมานาพอสมควรแล้ว


บริษัทขายเฟอร์นิเจอร์ในรูปแบบเก่า(ไม่อยู่ในห้าง)ก็ยังมีอยู่ครับ


อันนี้ก็บริษัทรับสร้างบ้านอีกแห่งหนึ่ง


ถัดมาเป็นอาคารบิสโก้ทาวเวอร์ครับ ศูนย์บริการลูกค้าทีโอทีตั้งอยู่ที่นี่


อีกรูปนึงให้เห็นป้ายชื่ออาคารชัดๆ ครับ


ตอนแรกคิดว่าแถวสถานีนี้จะไม่ค่อยมีที่พักเท่าไหร่ นอกจากจามจุรีเรสสิเดนท์ กับวิชแอทสามย่านแล้วก็ยังมีโครงการที่กำลังก่อสร้างอยู่ครับ ตรงนี้นับได้ว่าเป็นทำเลใกล้รถไฟฟ้าใต้ดินสามย่าน แถวนี้ใกล้ถนนสุรวงศ์แล้วครับ ถ้าทำงานแถวสีลมก็สามารถเดินเท้าไปจากที่นี่ได้เลย 5 นาที สบายๆ


ในซอยนี้ก็มีสถานทูตรัสเซียตั้งอยู่ด้วย


เดินมาจนเกือบถึงถนนสุรวงศ์ ตรงหัวมุมมีโครงการบ้านสุริยาศัยครับเป็นบ้านเก่า ปรับปรุงใหม่แบ่งพื้นที่ให้เช่าเป็นสำนักงานบ้านร้านอาหารบ้าง บรรยากาศค่อนข้างวินเทจครับ หน้าบ้านอยู่บนถนนสุรวงศ์ ที่เห็นในภาพคือเดินไปจนถึงหัวมุมแล้วเลี้ยวขวาครับ


ถนนทรัพย์ออกมาบรรจบกับสุรวงศ์ตรงแยกนี้ครับ ตรงข้ามไปเป็นซอยอนุมานราชธน สามารถเชื่อมไปออกอาคารไอทีเอฟ สีลม หรือไปออกสีลมซอย 6 ซอย 8 ตรงข้ามธนาคารกรุงเทพสำนักงานใหญ่ได้เลยครับ


เลี้ยวขวามาดูหน้าบ้านสุริยาศัยครับ มีคลีนิกของ BNH อยู่


ร้านกาแฟวาวีครับอยู่หน้าบ้านเลย


อีกด้านหนึ่งเป็นร้านอาหารครับ Scoozi


บรรยากาศภายในบ้าน ดูสวยงามร่มรื่น ยังไงขอจบการสำรวจด้านถนนสี่พระยา-ถนนทรัพย์ตรงนี้ก่อนครับ กลับไปเริ่มใหม่ที่ทางออก 1 อีกด้านหนึ่งครับ


ทางออกที่ 1
(เส้นทางสำรวจ B) ด้านถนนพระราม 4
เรามาสำรวจเจาะลึกกันต่อสำหรับทางออกที่ 1 ในอีกด้านนึงนะครับ ด้านถนนพระราม 4


สำหรับ ทางออกที่ 1 ออกมาทางถนนพระรามที่ 4 ออกจากทางออกแล้วเลี้ยวขวาก็จะเป็นถนนพระราม 4 ด้านที่ไปทางคลองเตยครับ


มุมมองที่เห็นเมื่อออกจากสถานีครับ มองไปฝั่งตรงข้ามถนนจะเห็นสะพานข้ามแยกสุรวงศ์-สีลม และอาคารที่เห็นคืออาคารสำนักงานของโครงการจามจุรีสแควร์ครับ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ดีแทค


เดินมานิดนึงก็จะเจอประตูใหญ่ของวัดหัวลำโพงครับ ที่จริงแล้วทางออก 1 ของสถานีนี้อยู่บริเวณหน้ารั้ววัดหัวลำโพงอยู่แล้ว วัดนี้เป็นวัดใหญ่ครับ เป็นพระอารามหลวง พระอุโบสถหลังใหญ่เพิ่งสร้างเสร็จไม่กี่ปีมานี้ ว่างๆ ลองแวะเข้ามาไหว้พระและชมความงามของพระอุโบสถได้ครับ


ตรงนี้เป็นซอยที่เห็นจากภาพเมื่อกี๊เมื่อเดินเข้าไปใกล้หน่อย ชื่อซอยหน้าวัดหัวลำโพงครับ ทะลุไปออกสุรวงศ์ คนเดินเข้าไปได้ แต่รถออกอย่างเดียวครับ เดินรถทางเดียวทางลัดมาจากสุรวงศ์


ลานโล่งด้านหน้าวัด เดิมเป็นที่จอดรถสำหรับผู้โดยสาร MRT ปัจจุบันไม่แน่ใจว่าเอาไว้ทำอะไร


ภาพถนนมองจากหน้าวัดครับ เห็นสะพานข้ามแยกสองสะพานขนานกันลอยเท้งเต้งอยู่


เดินมาอีกนิดเป็นศูนย์อาหารสามย่านสเตชั่นครับ มีร้านดัง Too Fast Too Sleep เปิด 24 ชม. นิสิตนักศึกษานิยมมาใช้เป็นที่นั่งอ่านหนังสือกันครับ เค้าเปิดร้านมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ แอร์เย็นๆ สั่งขนมสั่งน้ำมากินนิดหน่อย นั่งได้ทั้งคืน


บรรยากาศด้านในครับ ตอนสำรวจเป็นช่วงบ่าย บางร้านยังไม่เปิดครับ


มองจากด้านในศูนย์อาหารไปหน้าถนน ร้านที่อยู่ริมถนนเปิดอยู่นะครับ


อันนี้มาจากแฮรี่ พอตเตอร์เลยครับ Secret Chamber … เป็นร้านอาหารครับ


ตรงนี้เป็นร้านก๋วยเตี๋ยวด้านหน้า


มาเดินกันต่อครับ มีป้ายรถเมล์อยู่ตรงนี้สำหรับผู้ที่นิยมการเดินทางด้วยรถเมล์


ติดกับสามย่านสเตชั่นก็เป็น 7-11 ครับ แข่งกันเปิด 24 ชั่วโมง


ถัดมาหน่อยก็มีแหล่งบันเทิงนะครับ ไม่ต้องไปไกลถึงรัชดา RCA


จากหน้าผับที่เห็นข้างๆ เป็นซอย เลยเดินมาสำรวจดูครับ ข้างในเป็นอาคารพาณิชย์เรียงเป็นแถวอย่างที่เห็นครับ


มีร้านอาหารอยู่ด้วยครับ กวงเม้งโภชนา


เดินเข้าไปสุดซอยก็พบกับอาบอบนวดครับ บอกแล้ว ไม่ต้องไปไกลถึงรัชดา


เที่ยวอ่างเสร็จไม่แน่ใจว่าปลอดภัยหรือเปล่าก็เดินกลับมาปากซอยครับ ริมถนนมีคลีนิกอยู่ กลุ่มเป้าหมายชัดเจนครับ รับตรวจกามโรค แต่ก็ตรวจโรคทั่วไปด้วยนะครับ


เดินมาอีกหน่อยเป็นทางเข้าโรงแรมมณเฑียร และทางเข้าออกที่จอดรถ เข้าใจว่านี่เป็นด้านหลัง ด้านหน้าโรงแรมอยู่บนถนนสุรวงศ์ครับ

 


ริมถนนนี่ก็มีร้านสปาครับ ถัดไปหน่อยมีที่จอดรถบริการครับ

 


แถวนี้ก็มีห้างร้านตึกแถวอยู่จำนวนหนึ่ง ที่เห็นป้ายภาษาจีนนั่นเป็นร้านเช่าพระเครื่องครับ พระพุทธรูป เทวรูปต่างๆ สงสัยเน้นลูกค้าคนจีน

 


โรงเรียนสอนขับรถก็มีครับตรงนี้

 


ใกล้จะถึงสุรวงศ์แล้วก็มีซอยนี้ครับ ด้านนี้เหมือนชุมชนมีร้านอาหารต่างๆ แต่เข้าไปครึ่งซอยจะพบว่าเป็นสถานบันเทิงย่านพัฒน์พงศ์ครับ (ทะลุออกไปเป็นย่านพัฒน์พงศ์พอดีครับ)

 


เดินมาจนถึงหัวมุมถนนสุรวงศ์แล้ว ข้ามถนนไปดูอีกข้างของพระราม 4 หน่อยดีกว่า

 


ฝั่งตรงข้ามเป็นสถานเสาวภา สภากาชาดไทย

 


ตึกด้านในสวยงามเชียวครับ มีฝรั่งและเด็กๆ มาเที่ยวชมสวนงูกัน

 


เดินเข้าไปตามป้ายจะเจอกับสวนงูครับ ด้านในมีโชว์รีดพิษงูเป็นรอบๆ ในแต่ละวัน อ่อ ต้องเสียค่าบัตรผ่านประตูนะครับคนไทยสี่สิบบาท ต่างชาติสองร้อย

 


ด้านในอาคาร “๔มะเส็ง” แสดงงูหน้าตาคล้ายๆ กับของสวนสัตว์ดุสิตครับ มีงูชนิดต่างๆ อยู่ในตู้กระจกให้ดูกัน

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมของสวนงู สถานเสาวภา: http://www.saovabha.com/th/snakefarm_service.asp

 

ทางออกที่ 2 (เส้นทางสำรวจ A) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝั่งพระบรมรูปสองรัชกาล


สำหรับทางออกที่ 2 จะออกมาทางหัวมุมถนนพญาไทเลี้ยวเข้าถนนพระราม 4 บริเวณหน้าจามจุรีสแควร์ อย่างที่กล่าวไว้แต่แรกว่าจุดหมายปลายทางของสถานที่นี้ก็คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั่นเอง แม้กระทั่งบริเวณตัวสถานี MRT เองก็มีป้ายบอกไว้ว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หากเราจะไม่เข้าไปสำรวจจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเลยก็คงจะไม่ได้ แต่ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทุกคณะก็คงเป็นงานช้างเกินไป จึงขอออกตัวไว้ก่อนนะครับว่าการสำรวจครั้งนี้เป็นการสำรวจทำเลใกล้รถไฟฟ้าใต้ดิน เราคงไม่ได้ครอบคลุมถึงทุกบริเวณของจุฬาฯ นะครับ นิสิตปัจจุบันและนิสิตเก่าของคณะที่ผมไม่ได้เดินผ่านก็อย่าน้อยใจไปนะครับ ถือว่าเราพาไปดูบรรยากาศของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกันดีกว่า สำหรับนิสิตเก่าที่จบไปแล้วหลายปีอาจจะพบว่า ภาพจุฬาฯ ที่เห็นกับสมัยคุณเรียนอยู่ จะว่าคล้ายกันก็คล้าย จะว่าต่างกันก็มากครับ เนื่องจากจุฬาฯ มีการพัฒนาพื้นที่อยู่เรื่อยๆ ครับ ถือว่ามาเยี่ยมชมการเปลี่ยนแปลงแล้วกัน

แนะนำการสำรวจเส้นทางนี้ก่อนว่า สถานีนี้จะมีทางออกแค่สองทาง ผมจะพาสำรวจจุฬาฯ ทั้งสองฝั่งเลยครับโดยแบ่งเป็นเส้นทาง A ฝั่งพระบรมรูปฯ ตามแผนที่ข้างต้น และเส้นทาง B (ต่อเนื่องจากเส้นทาง A) เป็นการสำรวจฝั่งสนามกีฬาฯ โดยเส้นทางจะกลับมาบรรจบที่ทางออก 2 ครับ มาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ

สำหรับทางออกที่ 2 นี้เชื่อมเข้าสู่ชั้นใต้ดินของอาคารจามจุรีสแควร์เลย แต่การสำรวจนี้เราจะขึ้นมาบนทางออกปกตินะครับ จะได้เห็นภาพจากบนถนน


เมื่อออกจากทางออก 2 แล้วมองย้อนกลับไปครับ เป็นอาคารสำนักงานใหญ่ดีแทค

 


ตรงหัวมุมถนนมีสถานีจักรยานสาธารณะ”ปัน ปั่น” ของกรุงเทพมหานครครับ ตามที่เกริ่นไว้ก่อนหน้านี้


ภาพที่เห็นเมื่อมองไปทางตึกดีแทคครับ (เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจามจุรีสแควร์นะครับ)

 


จามจุรีสแควร์ เป็นห้างขนาดเล็กที่ออกแบบมาให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของชาวจุฬาฯ ครับ

 


ด้านหน้ามีศูนย์บริการทรูและร้านกาแฟทรูคอฟฟี่ครับ

 


ตึกสำนักงานใหญ่ดีแทค ไม่มีป้ายอะไรบ่งบอกว่าเป็นตึกดีแทคครับ นอกจากสัญลักษณ์ดีแทคที่ยอดตึก กับป้ายโฆษณาหน้าตึกอันใหญ่ๆ สองอันนี้

 


ภาพบรรยากาศภายในจามจุรีสแควร์ จะเป็นศูนย์การค้าที่เน้นการศึกษาหน่อยครับ ด้านล่างเป็นร้านอาหารและขนมต่างๆ เช่น MK, KFC, Swensen’s, Starbucks, เสวย, สมบูรณ์โภชนา ฯลฯ สำหรับนิสิตและอาจารย์ที่อยู่คณะแถวนี้จะมาเลี้ยงฉลองกัน ไม่ต้องไปไกลถึงสยามครับ นอกจากนี้ยังมีร้านหนังสือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นซีเอ็ดฯ นานมีบุ๊คส์ ร้านนายอินทร์ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ และบริการทางการเงินโดยสาขาของธนาคารต่างๆ เกือบครบทุกธนาคาร เปิดทุกวันครับ

 


เมื่อเราเดินออกมาด้านหลังจามจุรีสแควร์ก็เห็นประตูเล็กๆ ของจุฬาฯ อยู่ด้านข้างครับ

 


ภาพจามจุรีสแควร์เมื่อมองกลับไปจากประตู

 


ประตูนี้อยู่ติดกับสนามบาสเก็ตบอลของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีครับ เดินเข้ามาอยู่ด้านซ้าย

 


ถัดมาเป็นสนามหญ้าของคณะบัญชีครับ

 


ฝั่งตรงข้ามสนามหญ้าเมื่อครู่เป็นอาคารมหิตลาธิเบศร์ครับ อาคารเรียนใหม่ที่ใช้ร่วมกันระหว่างคณะบัญชีและเศรษฐศาสตร์

 


ทางเดินไปหน้าประตูบัญชีครับ เดี๋ยวนี้เค้าทำหลังคากันฝนหมดแล้ว ฝนตกก็ยังไปไหนมาไหนได้ สมัยผมเรียนอยู่ยังไม่มีเลย

 


เลี้ยวขวามาผ่านหน้าคณะเศรษฐศาสตร์ครับ คณะที่เรียนเรื่องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด จุฬาฯ เลยให้มาใช้แค่ตึกเดียว (ตอนหลังถึงมีขยายไปตึกมหิตลาธิเบศร์ครับ)

 


ภาพหน้าคณะเศรษฐศาสตร์

 


จากหน้าคณะเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นทางสามแพร่งเดินไปทางศาลาพระเกี้ยวครับ เห็นรถสีชมพูผ่านมา คันนี้เป็นรถโดยสารภายในจุฬาฯ ครับ ชาวจุฬาฯ นิยมเรียกว่ารถป๊อบซึ่งมีที่มาจาก”รถปอ.พ.”ครับ น่าจะยังจำกันได้ว่าสมัยหนึ่งเรามีรถเมล์ที่เรียกกันว่า”ไมโครบัส” 20 บาทตลอดสาย การันตีมีที่นั่ง และไม่ทอนตังค์วิ่งอยู่ทั่วไปใช่ไหมครับ ในช่วงแรกจุฬาฯ ก็ว่าจ้างบริษัทไมโครบัสให้มาเดินรถในจุฬาฯ นี่แหละครับ เลยได้รถหน้าตาเหมือนไมโครบัสหรือปอ.พ.ที่วิ่งข้างนอกมาวิ่ง เลยกลายมาเป็นรถไมโครบัส (คิดว่านิสิตปัจจุบันถ้ามาอ่านกันอาจจะเรียกรถป๊อบกันโดยไม่รู้ที่มาที่ไป และอาจจะนึกหน้าตาไมโครบัสที่ว่าไม่ออกนะครับ โปรด search ในกูเกิ้ลประกอบครับ)

ข้อมูลเกี่ยวกับรถป๊อบ พร้อมเส้นทางเดินรถ: http://www.chula.ac.th/about/visitor_map/visitor_map_shuttle/

 


ตรงนี้เป็นศาลาพระเกี้ยวครับ ด้านบนเป็นฮอลไว้จัดงานและกิจกรรมต่างๆ

 


ข้างใต้นี้เป็นที่ตั้งของร้านสหกรณ์จุฬาฯ ครับ มีขายของจิปาถะมากมาย

 


ถัดมาเป็นศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาในตำนานครับ (สาขาแรก) อยู่ใต้ศาลาพระเกี้ยวนี่เอง

 


อันนี้เพิ่งมีไม่นานครับ (สมัยผมเรียนไม่มี) ธนาคารไทยพาณิชย์มาเปิดสาขาเต็มเลยครับ เพื่อความสะดวกของคณาจารย์และนิสิต

 


อันนี้ก็เพิ่งมี CU Student Corner ไม่รู้ว่าคืออะไร

 


ศูนย์ถ่ายเอกสารใต้ศาลาพระเกี้ยว สิบปีก่อนอยู่ยังไง ตอนนี้ก็อยู่อย่างงั้นครับ เหมือนเดิมเปี๊ยบ

 


ถนนข้างๆ ศาลาพระเกี้ยวเป็นท่ารถป๊อบครับ พร้อมป้ายซึ่งหน้าตาเหมือนป้ายรถเมล์ข้างนอกมาก มีโฆษณาด้วยครับ

 


ทางเดินหน้า(อดีต)สระว่ายน้ำไปทางคณะวิทยาศาสตร์ ทำหลังคากันฝนแล้วเหมือนกันครับ ก่อนนี้ไม่มี

 


อดีตสระว่ายน้ำ 50 เมตรครับ ปัจจุบันน้ำแห้งไปหมดแล้ว ปิดไปแล้ว ไม่รู้จะทำโครงการอะไรแทน

 


หลังสระว่ายน้ำ หน้าตาไม่คุ้น สงสัยว่าจะเป็นอาคารใหม่ของคณะวิทยาศาสตร์

 


บริเวณใต้สระว่ายน้ำครับ เดิมเคยเป็นที่ตั้งของชมรมต่างๆ แต่ถูกย้ายออกไปอยู่สนามจุ๊บหมดแล้วกำแพงก็รื้อออกหมดครับ เป็นที่โล่งๆ แบบนี้

 


เราเดินต่อมาจนถึงบริเวณคณะวิศวกรรมศาสตร์นะครับ มีนิสิตมาซ้อมสันทนาการเตรียมงานบ้านรับน้องกันอยู่ (ขณะสำรวจเป็นช่วงเวลาปิดเทอมครับ)

 


เกียร์ของคณะวิศวฯ หน้าตาแปลกไปจากเดิมที่เคยเห็น

 


เราเดินเข้ามาด้านริมถนนอังรีดูนังต์ครับ ตรงนี้เรียกกันว่าลานเกียร์ เป็น Community ของนิสิตคณะวิศวฯ

 


อาคารเรียนของคณะวิศวฯ ครับ

 


ตึกสูงๆ นี่เป็นอาคารใหม่ครับ ชื่ออาคาร”วิศวฯ 100 ปี” ขณะสำรวจยังไม่เปิดใช้ครับ เห็นว่ากำลังเตรียมการต้อนรับสมเด็จพระเทพฯ มาทำพิธีเปิดอาคารก่อนครับ

 


ภาพด้านล่างของตึกวิศวฯ 100 ปีครับ

 


โรงอาหารคณะวิศวฯ ที่อาจไม่คุ้นตานิสิตรหัสก่อน 5X

 


มีชี่อเก๋ไก๋เชียวครับ i Canteen สงสัยสตีฟ จ็อบส์เคยมากิน

 


ภาพบรรยากาศด้านใน i Canteen ชั้นล่าง … ครับ เพราะว่ามันมีชั้นบน

 


ภาพจากด้านบนของ i Canteen ครับ

 


บนนี้มีห้อง VIP คาดว่าเป็นโซนสำหรับอาจารย์

 


ถัดมาจากโรงอาหารคณะวิศวฯ ก็เป็นโรงอาหาร… ไม่แน่ใจว่าคณะอะไรครับ จำได้ว่าเป็นโรงอาหารทำขึ้นชั่วคราวช่วงๆ ที่ปิดโรงอาหารคณะวิศวฯและอักษรฯ (ที่ตั้งอยู่ระหว่างคณะวิศวฯ และอักษรฯ) แต่ปัจจุบัน ณ ตำแหน่งเดิมของทั้งโรงอาหารวิศวฯ และอักษรฯ ก็มีโรงอาหารเปิดหมดแล้ว แต่ที่นี่ก็ยังอยู่ เอ๊ะ ยังไง??

 


ป้อมยามประตูเทวาลัยก็มีการเปลี่ยนแปลงครับ กะจะให้ร้อนเป็น Green House Effect กันเลยทีเดียว

 


เทวาลัย มุมสวยที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง มีความเชื่อกันว่าห้ามมาถ่ายรูปเล่นกันที่นี่ก่อนเรียนจบเพราะจะทำให้เรียนไม่จบ ไม่แน่ใจว่าสมัยนี้ยังเชื่อกันหรือเปล่า

 


มาถึงที่ตั้งเดิมของโรงอาหารคณะอักษรฯ ครับ ตอนนี้เป็นอาคารเรียนแล้ว ชื่ออาคาร”มหาจักรีสิรินทร”

 


ใต้อาคารก็มีโรงอาหารครับ

 


ข้างอาคารมีพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีครับ ชื่ออาคาร “มหาจักรีสิรินธร” ก็มาจากส่วนหนึ่งของพระนามเต็มครับ

 


ใต้อาคารดูหรูหรา มีร้านทรู คอฟฟี่ด้วย

 


ภาพอาคารมหาจักรีสิรินธรจากอีกมุมหนึ่งครับ

 


ถัดมาเป็นอาคารบรมราชกุมารี ของคณะอักษรศาสตร์ มาจากพระนามของสมเด็จพระเทพฯ เช่นเดียวกัน อาคารนี้สร้างมานานแล้วครับ

 


เดินถัดมาจากคณะอักษรศาสตร์มาทางด้านพญาไทก็จะเป็นคณะศิลปกรรมศาสตร์

 


ถัดมาเจออาคารหน้าตาไม่คุ้นอีกแล้วครับ สงสัยครับว่าคืออะไร

 


หน้าอาคารเขียนว่า “พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย”ครับ แหม เดี๋ยวนี้จุฬาฯ เราสร้างพิพิธภัณฑ์ของตัวเองแล้ว

 


ต่อมาก็เป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ครับ

 


คณะนี้มีหลายอาคารอยู่ ใกล้ถึงริมถนนฝั่งพญาไทแล้วครับ

 


ภาพมุมนี้ไม่ถ่ายไม่ได้ ต้องหันกลับไปกดซักแชะ สนามหญ้าหน้าพระบรมรูปสองรัชกาลครับ ด้านหลังเสาธงและพระบรมรูปฯ จะเป็นหอประชุมฯ

 


เมื่อออกประตูคณะสถาปัตย์ฯ เลี้ยวขวามานิดนึงก็จะเป็นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาครับ สำหรับนักเรียนที่เรียนที่นี่ยังถือว่าสามารถเดินทางมาเรียนด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินลงสถานีสามย่านแล้วเดินมาได้ครับ ไม่นับว่าไกล(สำหรับนักเรียน) สมัยก่อนจะมีรถใต้ดิน MRT หลังมีรถไฟฟ้า BTS หลายคนก็มา BTS ลงสถานีสยามแล้วเดินมาครับ นับว่าเดินได้ แต่ผมว่าไกลกว่าเดินจาก MRT

ครับจบการสำรวจจุฬาฯ ฝั่งพระบรมรูปฯ แล้ว เรามาข้ามฝั่งสำรวจจุฬาฯ อีกด้านหนึ่งดีกว่าครับ

ทางออกที่ 2 (เส้นทางสำรวจ B) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝั่งสนามกีฬาฯ


หลังจากสำรวจจุฬาฯ ฝั่งพระบรมรูปฯ มาแล้วเราก็ข้ามฝั่งมาด้านสำนักงานอธิการบดีเพื่อเดินสำรวจต่อกันเลยครับ

 


เรามาเริ่มจากการข้ามสะพานอันนี้เลยนะครับ สะพานลอยตรงประตูระหว่างโรงเรียนเตรียมอุดมฯ และคณะสถาปัตย์ครับ ตามแผนที่

 


ภาพจากบนสะพานลอยเมื่อมองไปทาง MBK และสยามครับ เห็นได้ว่ารถทิศไป MBK ติดหนึบเลย อีกข้างโล่ง

 


พอข้ามสะพานลอยแล้วเดินย้อนกลับมาก็จะเข้าทางประตูหลักนี่ครับ เป็นแยกไฟแดงที่รถวิ่งข้ามไปมาระหว่างจุฬาฯ ทั้งสองฝั่งด้วยครับ

 


เดินผ่านตึกสำนักงานอธิการบดีเข้าไปในหมู่ตึกจามจุรีครับ (ผมเรียกเองครับ ฟังดูคล้ายๆ หมู่เกาะ.. แต่ละตึกจะมีชื่อว่าจามจุรีตามด้วยหมายเลขต่างๆ)

 


เดินทะลุหมู่ตึกจามจุรีมาก็เจอกับอาคารมหาธีรราชานุสรณ์ครับ ชื่อนี้หลายคนอาจไม่คุ้น แต่ถ้าบอกว่า”หอกลาง”ชาวจุฬาฯ น่าจะถึงบางอ้อกันครับ เป็นแหล่งส่องสุมของนิสิตจุฬาฯ เวลาใกล้สอบครับ จับจองที่นั่งกันแน่นเลย

 


เลี้ยวซ้ายมาตรงถนนภายในจุฬาฯ ก็เจอกับโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถมครับ ฝ่ายมัธยมอยู่อีกล็อคนึงด้านหลังครับ (ทิศใต้)

 


เดินเลาะถนนมาเรื่อยๆ ก็จะเจอสนามกีฬาจุฬาฯ หรือที่ชาวจุฬาฯ นิยมเรียกกันว่า”สนามจุ๊บ”อยู่ด้านซ้าย

 


ด้านขวานี้นิสิตเก่าที่จบไปนานอาจจะไม่คุ้นครับ เป็นอาคารใหม่ CU Sports Center แอบมองจากข้างนอกเห็นว่ามีคอร์ดแบด รู้สึกว่าจะมีสระว่ายน้ำด้วย น่าจะเป็นศูนย์รวมกีฬาฯ หลายอย่างครับ ประตูไฮเทค ใช้สแกนลายนิ้วมือครับ แต่ก็มียามนั่งเฝ้าอีกที กันคนมั่ว

 


ภาพอาคาร CU Sports Center จากมุมกว้างออกมาหน่อยครับ ตั้งอยู่ข้างๆ กับสนามกีฬาในร่มฯ อันเก่าเลยครับ

 


เพื่อความสะดวกยิ่งขึ้น ทางจุฬาฯ จึงสร้างสะพานลอยเชื่อมระหว่างศูนย์กีฬาทุกอาคารเลยครับ ทั้งสนามจุ๊บ สนามกีฬาในร่ม และ CU Sports Center รวมๆ เรียกว่า CU Sports Complex ครับ

 


อันนี้หน้าตาของสนามกีฬาในร่ม น่าจะคุ้นหน้าคุ้นตาหลายคนดี

 


พื้นที่ระหว่างสนามจุ๊บและรั้วด้านหลังก็มีการติดตั้งเครื่องออกกำลังกายแบบกลางแจ้งไว้หลากหลายเลยครับ

 


แถมยังใจดีติดป้ายว่าสถานออกกำลังกายกลางแจ้ง บริการฟรี ให้ประชาชนในชุมชนแถวนั้นได้มีสุขภาพดีกันถ้วนหน้าโดยไม่ต้องเสียตังค์รายปีให้ฟิตเนสครับ

 


เมื่อเราเดินเลาะรั้วไปแล้วออกประตูสนามเทนนิสมาก็จะเจอกับมุมนี้ครับ มีโครงการพัฒนาใหม่อีกแล้ว จุฬาฯเรา

 


นี่ครับ ภาพประตูที่ผมเดินออกมา

 


ข้างซ้ายนี่เป็นรั้วจุฬาฯ นะครับส่วนขวามือก็จะเป็นชุมชนเซียงกง โดยแต่ละซอยก็จะเป็นห้องแถวเรียงเป็นตับ ชื่อซอยก็เป็นซอยจุฬาฯ ตามด้วยเลขต่างๆ ที่ดินแถวนี้เป็นของจุฬาฯ หมดครับ หมดสัญญาเซ้งจุฬาฯ ก็ขอพื้นที่คืนได้

 


แถวๆ นี้ที่เรียกกันว่าเซียงกงก็จะมีร้านอะไหล่รถยนต์เก่าเยอะเลยครับ รู้สึกว่าเค้าจะไปเอาของมาจากสุสานรถยนต์ที่ญี่ปุ่น ที่ 5 ปีก็โละรถแล้ว พี่ไทยว่า สภาพยังดีอยู่เลย ทิ้งซะงั้น เสียดาย

 


นี่ครับ ป้ายบอกชื่อซอย ที่เห็นนี่คือจุฬาฯ 26 เขียนประกาศที่ป้ายชัดเจนว่าที่ดินและทางเป็นกรรมสิทธิ์ของจุฬาฯ ครับ

 


ป้ายซุ้มเซียงกงครับ แถวนี้ขายแต่อะไหล่รถยนต์เก่า

 


อ๊ะ ร้านขายข้าวสารก็มีครับ

 


ในแต่ละซอยก็จะเป็นตึกแถวหน้าตาประมาณนี้ครับ เป็นบ้านของคนที่ทำค้าขายแถวนี้ด้วย

 


อีกมุมนึงครับ ให้เห็นสภาพตึกแถวชัดๆ ค่อนข้างเก่าแล้ว ไม่รู้ว่าจะถูกเรียกคืนเมื่อไหร่

 


ที่เปิดบริษัทห้างร้านทำธุรกิจอื่นก็ยังพอมีอยู่บ้าง อย่างห้องสีเหลืองนี่เป็นบริษัททัวร์ครับ

 


อันนี้เข้ากับธีมหน่อย ขายล้อแม็กซ์

 


ซอยเล็กๆ ที่เป็นหลังบ้านของตึกแถวเหล่านี้ครับ

 


ร้านนี้ขายอะไหล่เก่า ชัวร์…

 


ร้านซ่อมหม้อน้ำ แอร์ เกี่ยวข้องกับรถยนต์อีกแล้ว

 


เดินเลาะรั้วจุฬาฯ มาจนเห็นสะพานลอยหน้าตาคุ้นๆ นะครับ เป็นสะพานแบบเดียวกับที่เชื่อมอาคารศูนย์กีฬาฯ ทั้งสามอาคารในรั้วครับ อันนี้เชื่อมออกมานอกรั้ว ตรงเข้าชั้นสองของตลาดสามย่านเลย ออกกำลังกายเสร็จก็ไปกินข้าวกันเลยครับ หุหุ

 


หันตามสะพานลอยมาก็เจอกับภาพนี้ครับ ลองเข้าไปสำรวจหน่อยดีกว่า

 


ตลาดนี้สร้างใหม่ มีการบริหารจัดการที่ค่อนข้างดี ดูเป็นระเบียบสะอาดสะอ้านกว่าตลาดสามย่านเก่าเยอะเลยครับ

 


แผงขายของแต่ละแผงก็มีรูปพ่อค้าแม่ค้าเจ้าของแผงพร้อมชื่อเสียงเรียงนามแปะไว้ชัดเจนครับ

 


ด้านหลังตลาดมีกิจกรรมเต้นแอโรบิคกันด้วยครับ ตรงนี้ใกล้กับสำนักงานเขตปทุมวันด้วย เลยไม่แน่ใจว่าเป็นกิจกรรมของจุฬาฯ หรือว่าของสำนักงานเขต

 


นี่ครับ สำนักงานเขตปทุมวันที่ว่า ตั้งอยู่ข้างๆ ตลาดสามย่านเลย สถานีตำรวจปทุมวันก็อยู่ใกล้ๆ กันนี้

 


ลองขึ้นมาดูชั้นสองของตลาดสามย่านดีกว่าครับ เค้าเขียนไว้ว่ารับประทานอาหารเชิญชั้นสอง ขึ้นมาก็เจอร้านบุฟเฟต์ปิ้งย่างเลยครับ สมัยนี้ฮิตกันจริง อันนี้เป็นสิ่งที่ตลาดสามย่านเก่าไม่มี

 


ภาพนี้เป็นโต๊ะนั่งรับประทานอาหารของลูกค้าที่มารับประทานอาหารที่นี่ หน้าตาคล้ายของเดิมอยู่

 


แต่ก็ดูโปร่งและกว้างขวางขึ้นเยอะครับ ผมว่าเป็นการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น

 


ลงมาด้านล่างแล้วครับ ตรงนี้เป็นข้างๆ ตลาด เห็นกำลังก่อสร้าง ไม่รู้ทำโครงการอะไรอีกแล้วครับ จุฬาฯ….

 


ถัดมาก็เป็นสถานีตำรวจดับเพลิงปทุมวันครับ

 


เดินมาจนถึงแยกแล้ว ถ้าเดินต่อไปก็ถนนพระราม 4 แล้วครับ อันนี้ผมเลี้ยวมาทางซ้าย(ซอยจุฬาฯ 42) ไปทางหอพักยูเซ็นเตอร์ แล้วถ่ายรูปย้อนกลับไปครับ

 


ตรงนี้เป็นโครงการหอพักยูเซ็นเตอร์ครับ ตั้งมาน่าจะเกือบสิบปีแล้วนะครับ

 


เข้าไปดูด้านในกันดีกว่า ชั้นล่างแบ่งเป็นล็อคๆ ให้เช่าเปิดร้านครับ ตอนแรกเหมือนจะให้ตรงนี้คล้ายกับแถวสยามสแควร์ แต่ว่าไปๆ มาๆ ร้านที่มาเปิดค่อนข้างเฉพาะเจาะจง เจาะกลุ่มนิสิตมากกว่าสยามซึ่งมีลูกค้าทั่วไปด้วยครับ อันนี้ที่เห็นก็เป็นร้านเช่าการ์ตูน

 


ภาพบรรยากาศเมื่อมองไป ตรงนี้เป็นโซนหลัง ใกล้กับตลาดสามย่านครับ ร้านค้ายังเปิดไม่เต็มเท่าไหร่เลย

 


นี่เป็นส่วนของทางขึ้นหอพักชั้นบนครับ มีรปภ.เฝ้า บุคคลภายนอกขึ้นไปไม่ได้ครับ

 


เดินมาทางโซนด้านหน้า ร้านค้าจะเต็มมากกว่า หลายห้องก็เป็นโรงเรียนสอนพิเศษครับ

 


เป็นห้องกระจกให้เห็นการเรียนการสอนกันเลย ที่แคบครับ ทำไงได้

 


เดินออกจากโซนหอยูเซ็นเตอร์แล้วครับ หัวมุมนั่นร้านเค้กต้นกกครับ ร้านดังแถวนี้

 


ข้ามถนนเล็กๆ มายังมีต่อครับ โซนหน้าขึ้นมาอีก ใกล้ไปทางถนนพญาไท ร้านค้าเยอะขึ้น

 


ผ่านที่ตรงกลางนี่เป็นโซนกิจกรรมครับ มีเวทีไว้สำหรับการจัดกิจกรรมต่างๆ

 


เดินมาตั้งนานกว่าจะเจอป้ายสัญลักษณ์โครงการ U Center ครับ

 


ด้านหน้าค่อนข้างคึกคักหน่อย มีร้านอาหาร ธนาคารต่างๆ เปิดให้บริการ คล้ายๆ กับห้างเลยครับ

 


พ้นจากโซนยูเซ็นเตอร์ก็เจอรั้วก่อสร้างอีกแล้วครับ ตรงนี้เป็นที่ตั้งเดิมของคณะนิติศาสตร์และตลาดสามย่านเก่าครับ ตอนนี้เรียบเป็นหน้ากลองไปแล้ว

 


หันไปทางซ้ายเจอกับอาคารเรียนเทพทวารวดี ของคณะนิติศาสตร์ครับ เพราะโซนเดิมโดนทุบไปหมดแล้ว

 


นี่ครับสภาพเรียบเป็นหน้ากลองที่ว่า ลานโล่งเชียว ไม่แน่ใจว่าจะสร้างห้างอะไรขึ้นมาตรงนี้หรือเปล่า ตอนนี้เป็นที่จอดรถไปก่อนครับ ช่วงก่อนเห็นเปิดเป็นสวนสนุกชั่วคราวมาแล้วรอบนึง

 


เดินเข้ามาถ่ายรูปซักหน่อย อาคารเทพทวารวดีของคณะนิติศาสตร์

 


มาดูชื่อซอยกันครับ ซอยยูเซนเตอร์ที่เดินกันมาชื่อซอยจุฬาฯ 42 ครับ

 


เดินมาถึงถนนพญาไทแล้ว ผมจะเดินกลับไปทางทางออกที่ 2 ที่เรามาตอนแรกนะครับ นี่ก็เป็นรั้วที่ราบคณะนิติศาสตร์-ตลาดสามย่านเดิมที่ว่าตลอดแนวไปจนถนนพระราม 4

 


เดินมาถึงหัวมุมถนนพญาไทแล้ว มุมนี้มองไปฝั่งตรงข้าม เห็นจามจุรีเรสสิเดนท์แล้วครับ ทางออกที่ 2 อยู่ฝั่งตรงข้ามนี่เอง ยังไงก็ขออนุญาตจบการสำรวจแต่เพียงเท่านี้ก่อนนะครับ

 

เจาะลึกรวบยอด

สภาพแวดล้อมของชุมชน สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสามย่านนี้มีจุดหมายปลายทางที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง เนื่องจากพื้นที่โดยรอบส่วนมากเป็นพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงกล่าวได้ว่าเป็นชุมชนมหาวิทยาลัยหรือเมืองมหาวิทยาลัย ผู้ที่มองหาที่อยู่อาศัยบริเวณนี้ส่วนมากคงหนีไม่พ้นอาจารย์และนิสิตที่ต้องการที่อยู่อาศัยที่ใกล้กับจุฬาฯ ส่วนพื้นที่ด้านหลัง(ทิศตะวันตก)ของสนามกีฬาจุฬาฯ นั้นเป็นชุมชนเก่าแก่ที่เช่าที่ของจุฬาฯ ทำมาค้าขายมายาวนาน แต่ก็มีแนวโน้มที่อาจจะถูกขอคืนโดยจุฬาฯ ได้ในไม่ช้านี้ (เช่นเดียวกับบริเวณหน้าถนนพญาไทและตลาดสามย่านเก่า) การพัฒนาพื้นที่ในโซนระหว่างถนนบรรทัดทอง-พญาไท-อังรีดูนังต์ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจและการบริหารจัดการของจุฬาฯ ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับทิศใต้ของสถานี MRT นั้นก็เป็นด้านถนนสี่พระยาซึ่งล้วนแต่เป็นอาคารพาณิชย์เก่า บริษัทห้างร้านไหนยังคงดำเนินธุรกิจได้ก็ทำกันไป แต่คงจะไม่ค่อยมีใครมาเช่าตึกแถวเก่าทำออฟฟิศหรืออยู่อาศัยกันแล้วครับ จะเห็นก็มีแต่โครงการวิชแอทสามย่าน และโครงการที่พักอาศัยในถนนทรัพย์ ซึ่งเชื่อมระหว่างย่านธุรกิจเก่าคือถนนสี่พระยา ไปย่านธุรกิจปัจจุบันคือสุรวงศ์และสีลม เนื่องจากพื้นที่ย่านนี้เป็นย่านธุรกิจ ไม่ใช่ย่านที่อยู่อาศัย ดังนั้นจะมีความคึกคักเฉพาะเวลากลางวัน ส่วนเวลากลางคืนจะค่อนข้างเงียบเหงาครับ

การคมนาคม ผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณนี้ถือว่าอยู่ในศูนย์กลางของกรุงเทพฯ อีกจุดหนึ่งเลยครับ จะไปเรียนที่จุฬาฯ เตรียมอุดมฯ หรือทำงานแถวสีลม นับว่าอยู่ในระยะเดินเท้าได้ครับ แต่หากไกลออกไปอีกหน่อย เช่น สาทร สยาม คงจะเดินกันเหนื่อยอยู่ เดินทางด้วยรถยนต์ก็สะดวกครับเพราะใกล้ แต่คงจะหนีเรื่องรถติดเวลาเร่งด่วนไม่พ้น แต่ถ้านอกช่วงเวลาเร่งด่วนการเดินทางด้วยรถยนต์ในบริเวณนี้ถือว่าสะดวกมากครับ ถนนที่เป็นทางหนีรถติดในบริเวณนี้คือถนนสี่พระยาและสุรวงศ์(ช่วงที่เลยพัฒน์พงศ์ไปแล้ว) ซึ่งโดยปกติการจราจรจะไปได้เรื่อยๆ ครับแม้ในช่วงรถติด หากถนนสองเส้นนี้ยังติดแล้วล่ะก็ แปลว่าการจราจร ณ เวลานั้น วันนั้นเป็นอัมพาตหมดทั้งโซนครับ สำหรับการเดินทางไปยังโซนอื่นของกรุงเทพฯ ก็ค่อนข้างสะดวก ไม่ว่าปลายทางจะเป็นฝั่งพระนครหรือฝั่งธน และสามารถเดินทางไปยังโซนอื่นโดยใช้ทางพิเศษซึ่งเลือกขับไปขึ้นได้ทั้งทางพระราม 4 (คลองเตย)หรือสุรวงศ์ครับ

การเดินทางโดยไม่ใช้รถยนต์ ในโซนแถวนี้มีวินมอเตอร์ไซค์ค่อนข้างน้อยนะครับ แทบไม่เห็นบนถนนสี่พระยา (ในซอยอาจมีบ้าง) เป็นโซนที่ถ้าไม่ขับรถก็ต้องเดินออกกำลังกายกันหน่อยละครับ
การพัฒนาในอนาคต พื้นที่บริเวณโดยรอบสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสามย่านนั้น ทางทิศเหนือทั้งหมดเป็นพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งการพัฒนาพื้นที่นั้นขึ้นกับนโยบายของทางจุฬาฯ เพียงอย่างเดียว แต่ช่วงสิบปีกว่าที่ผ่านมาเราเห็นการพัฒนาที่ค่อนข้างเร็วและมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากครับ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนตึกร้างที่สร้างค้างๆ คาๆ มาตั้งแต่สมัยวิกฤตเศรษฐกิจมาเป็นจามจุรีสแควร์ จามจุรีเรสสิเดนท์ การย้ายตลาดสามย่านเก่าไปด้านหลัง และเคลียร์พื้นที่เตรียมทำโครงการใหม่ การสร้างอาคารเรียน อาคารอเนกประสงค์ต่างๆ ในจุฬาฯ ส่วนทางด้านถนนสี่พระยาซึ่งส่วนมากเป็นตึกแถวนั้นคาดหวังการพัฒนาได้ยากครับ นอกจากจะมีการซื้อพื้นที่ด้านหลังด้วยเพื่อสร้างโครงการ เช่น วิชแอทสามย่าน เพราะปัจจุบันนี้ธุรกิจเกิดใหม่ก็ไม่ค่อยมีใครซื้อหรือเช่าตึกแถวมาทำสำนักงานกันซักเท่าไหร่แล้ว  พื้นที่ในโซนสี่พระยาและถนนทรัพย์นั้น คาดได้ว่าจะอยู่กันไปแบบนี้ บรรยากาศแบบนี้ไม่เปลี่ยนแปลงไปอีกนานพอสมควรเลยครับ

สรุป พูดมายืดยาว มาสรุปกันสั้นๆ ง่ายๆ ดีกว่าครับ ทำเลที่อยู่อาศัยบริเวณนี้เหมาะสำหรับ
1. อาจารย์ นิสิต นักเรียน บุคลากร ของจุฬาฯ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลจุฬาฯ โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ และเตรียมอุดมฯ
2. ผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง ทำงานในบริเวณถนนสีลม สุรวงศ์ สี่พระยา
3. ชาวชุมชนเดิมที่อยู่ในพื้นที่แถวนี้อยู่แล้ว หรือคนที่เติบโตมาในโซนสี่พระยา สุรวงศ์ สีลม สาทร ซึ่งคุ้นชินกับบรรยากาศและชีวิตในโซนนี้
สำหรับผู้ที่แค่ต้องการหาทำเลติดรถไฟใต้ดิน MRT แต่ไม่ได้อยู่ในข่าย 3 ข้อข้างต้น แนะนำว่าลองมองตัวเลือกสถานีอื่นก่อนดีกว่าครับ เนื่องจากที่ดินแถวนี้ราคาค่อนข้างจะ”แพง”เกินไปซักหน่อยครับ
เพิ่มเติมข้อมูลสถานีใกล้เคียงได้ที่: มองหาทำเลน่าอยู่ใกล้รถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง (S2)

*อ่านสักนิด* ใน การเลือกทำเลใกล้รถไฟฟ้าแต่ละสถานีนั้น แต่ละคนมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน ให้น้ำหนักในแต่ละเรื่องที่ไม่เท่ากัน บางคนเลือกที่จะอยู่ใกล้สถานีที่อยู่ในตัวเมือง เพราะสภาพชุมชนรอบๆที่ คึกคัก สามารถไปไหนมาไหนด้วยรถยนต์ได้ด้วย ขอนั่งไปสองสามสถานีแล้วถึงที่ทำงานเลย คนพวกนี้ก็ต้องจ่ายแพง ในขณะที่บางคนบอกว่า ออกไปอยู่ไกลๆหน่อยก็ได้ สุดสายเลยก็ไม่ว่ากัน แค่ขอให้ติดรถไฟฟ้าก็พอ ยอมตื่นเช้าขึ้นซัก 15-30 นาที แต่จ่ายถูกกว่า และเงียบสงบกว่า ส่วนบางคนก็แปลก เลือกที่อยู่อาศัยใกล้สถานี ขอให้ใกล้ไว้ก่อน แม้ว่าตัวเองอาจจะไม่ได้เดินทางด้วยรถไฟฟ้าก็ตาม แล้วสถานีไหนล่ะจึงจะเป็นสถานีที่ดีที่สุด? อันนี้ก็ต้องอยู่ที่การตัดสินใจของแต่ละบุคคลครับ ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าสถานีใดเป็นสถานีที่ดีที่สุดดีเท่ากับตัวคุณเองหรอกครับ

สุดท้ายนี้ รบกวน ขอให้เพื่อนๆโดยเฉพาะเพื่อนๆที่อยู่ในพื้นที่ ช่วยกัน Comment แบ่งปัน เพิ่มเติมข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารอร่อย ทางลัดเล็กๆน้อยๆ หรือสภาพแวดล้อมทั้งดีและไม่ดี ให้กับผู้อ่านที่กำลังหาบ้านโซนนี้ด้วยนะครับ