เรียกได้ว่าใกล้เข้ามาทุกทีสำหรับ #ภาษีที่ดินใหม่ ที่แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย แต่ก็ยังไม่ทำให้เกิดความชัดเจนใดๆ ทั้งในมุมมองของเอกชน และคนธรรมดา….

เราได้ลองสรุปประเด็นคร่าวๆ จากการเสวนา รวมประเด็นสำคัญ ร่างพ...ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  ซึ่งจัดโดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในช่วงเปิดเวทีถามตอบกลยุทธ์รับมือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาให้ดูกันค่ะ

1. ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ควรบริหารจัดการอย่างไร เพื่อบรรเทาภาระภาษี (หรือเสียภาษีน้อยที่สุด)

  • นำที่ดินไปทำการเกษตรซึ่งเดี๋ยวจะมีกฏหมายลูกออกมาอธิบายว่าจะต้องมีการปลูกพืชอะไรสัดส่วนเท่าไหร่และมีการจดทะเบียนเป็นเกษตรกรหรือไม่
  • นำที่ดินไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะเช่นสนามกีฬาสนามเด็กเล่นหรือสวนสาธารณะโดยจะต้องมีการออกเอกสารให้ชัดเจนและได้รับการตรวจสอบโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

2. ที่ดินรกร้างจะมีการปรับราคาประเมินทุกปีหรือไม่ ?

ราคาประเมินจะปรับตามการคำนวณของกรมธนารักษ์ซึ่งจะพิจารณาตามการปรับเปลี่ยนพื้นฐานสภาพแวดล้อมต่างๆที่เปลี่ยนไปเช่นการมีถนนตัดผ่านหรือการมีสถานีรถไฟฟ้า

ปกติแล้ว พื้นที่รกร้างว่างเปล่าจะเก็บภาษีในอัตรา 0.3% ถ้าภายใน 3 ปีติดต่อกันไม่ได้เข้าไปทำอะไรเลยจะเสียภาษีเพิ่มอีก 0.3% รวมเป็น 0.6%

3. ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงประเภทที่ดินภายใน 1 ปี จะต้องคิดภาษีอย่างไร ?

ถ้าต้นปี 2562 เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ต่อมากลางปีมีการสร้างอาคารพาณิชย์เพื่อค้าขาย ในปีแรก 2562 จะเสียในอัตราเกษตรกรรม แต่ในปี 2563 จะต้องตัดในส่วนของพื้นที่ค้าขายเสียภาษีในอัตราพาณิชยกรรม

แต่ถ้าต้นปี 2562 ทำอาคารพาณิชย์ค้าขาย แล้วกลางปีมีการรื้อถอนเพื่อทำเกษตรกรรมทั้งหมด ในปีนั้นจะถูกคิดภาษีในอัตราพาณิชยกรรม โดยไม่มีการจ่ายชดเชยย้อนหลังให้ จนกว่าปีหน้า 2563 ที่เริ่มคิดภาษีในอัตราเกษตรกรรม

นี่คือแค่เริ่มต้น ข้อสงสัยยังเยอะขนาดนี้…ซึ่งตอนนี้หลายฝ่ายก็กำลังทำการบ้านกันอยู่ว่า จะออกกฏหมายยังไงให้ “ชัดเจน” และ “เป็นะรรม” กับทุกคนที่สุด